
มนุษย์ต่างวัยชวนคุณมารู้จัก ‘disruption’ ใหม่ของโลก ผ่านวงสนทนาจากงาน Asian Health and Wellbeing Initiative Forum 2022
หากพูดถึง ‘ disruption’ หรือสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงโลกของพวกเราอย่างพลิกคว่ำคะมำหงาย คุณจะนึกถึงอะไร ?
ระบบ e-commerce ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีจับจ่ายใช้สอยของพวกเรา หรืออินเทอร์เน็ตที่ทำให้การจัดสรรเวลา การเสพสื่อ และการพบปะผู้คนของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ?
มนุษย์ต่างวัยชวนคุณมารู้จัก ‘disruption’ ใหม่ของโลก ผ่านวงสนทนาจากงาน Asian Health and Wellbeing Initiative Forum 2022 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกับพิธีมอบรางวัล HAPI Award (Healthy Aging Prize for Asian Innovation 2022) ที่มนุษย์ต่างวัยได้รับรางวัลพิเศษสำหรับการต่อต้านการเหยียดอายุ (Special Prize for Combatting Ageism)
ด็อกเตอร์ฮิโรยูกิ ฟุจิตะ Founder / CEO บริษัท Quality Electrodynamics , Chief Technology Officer แผนก CT-MR, Canon Medical Systems Corporation และสมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอกินาว่า ได้กล่าวในวงสนทนาว่าด้วยการแปรข้อมูลและนวัตกรรมมาสู่ภาคนโยบายและการปฏิบัติ ว่า ‘disruption’ ใหม่ล่าสุดของโลก ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตหรือแผงวงจรรวม ( integrated circuit) ที่บางครั้งเรียกว่าชิพ (Chip) สิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้พวกเรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์อย่างสมาร์ตโฟนใช้
แต่คือ “อายุยืนยาว” ของพวกเราต่างหาก
ยิ่งเทคโนโลยี องค์ความรู้ และคุณภาพชีวิตของพวกเราพัฒนาขึ้น พวกเราก็ยิ่งอายุยืนยาวขึ้น โดยการศึกษาจากสถาบันสุขภาพแม็คคินซีพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ทั่วโลก ได้เพิ่มจาก 30 ปี ในปีพ.ศ. 2343 มาสู่ 73 ปี ใน พ.ศ. 2560 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเลยทีเดียว
ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิมองว่า ด้วยอายุขัยเฉลี่ยที่กำลังเพิ่มขึ้น พวกเราอาจทำงานได้นานขึ้นด้วย ในปัจจุบัน มุนษย์ทำงานได้โดยเฉลี่ย 40 ปี หรือก็คือ ถ้าเราเริ่มทำงานในวัย 20 เราจะทำงานได้จนถึงวัย 60 ที่เป็นเกณฑ์เกษียณในปัจจุบัน
แต่หากมนุษย์เรามีชีวิตยืนยาวขึ้น พวกเราอาจทำงานได้นานขึ้นอีก ‘ 20’ ปี หรือก็คือ จากที่เราเริ่มทำงานตอนอายุ 20 และต้องตอนเกษียณตอนอายุ 60 ตอนนี้พวกเราอาจทำงานได้จนถึงอายุ 80 ปีด้วยซ้ำ
นี่หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่าพวกเราสามารถมี ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่อายุยืนยาวขึ้น และ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ นี้เอง ที่นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างธุรกิจ การลงทุน การผลิต หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิจึงมองว่า ภารกิจสำคัญของเราในตอนนี้ คือการรักษา ‘ทรัพยากรมนุษย์’ เอาไว้
พวกเราควรทำอย่างไรกับอายุขัย ‘ 20 ปี’ ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ?
พวกเราควรทำอย่างไรให้อายุขัยที่เพิ่มขึ้นมา ‘มีความหมาย’ และยัง ‘ส่งเสริม’ สังคมของเราได้ ?
“ หากแรงงานที่อายุมากกว่า 55 ปี ทำงานมากขึ้นอีกหนึ่งปี ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสามารถเพิ่มขึ้นถึง 1.5% ต่อปี หรือมากกว่าสามร้อนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี” ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิกล่าว
“และหากเราทำงานมากขึ้นอีก 5 ปี นั่นอาจหมายถึงเม็ดเงินกว่า 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว”
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิเรียกว่า “health-created value” หรือ “มูลค่า” ที่เกิดจาก “สุขภาพดี” นั่นเอง
หากเราสูงวัยอย่าง “สุขภาพดี” อายุขัยที่เพิ่มขึ้นของเราอาจสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับตัวเราและสังคม ซึ่งหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องสังคมสูงวัย สังคม และเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมูลค่าของชีวิตนี้ เพราะการมี “อายุยืนยาว” กับการ “มีสุขภาพดี” ยังคงเป็นคนละเรื่องกัน
รายงานจากสถาบันสุขภาพแม็คคินซีพบว่า ถึงแม้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะเพิ่มมากขึ้น แต่สัดส่วนของช่วงเวลาที่เราต้องมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพย่ำแย่ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การศึกษาจากศูนย์วิจัยพิวยังพบว่าประชากรสูงอายุในหลายๆ ประเทศอย่างญี่ปุ่น อิตาลี เกาหลีใต้ และเยอรมนี ‘ไม่มีความมั่นใจ’ ในคุณภาพชีวิตช่วงบั้นปลายของพวกเขา
ฉะนั้น การค้นหาว่าพวกเราจะสูงวัยอย่าง ‘แข็งแรง’ และ ‘มีพลัง’ ได้อย่างไรจึงเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อคมูลค่าจาก ‘disruptor’ ตัวล่าสุดของพวกเรา
AHWIN FORUM 2022 จัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่าง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia หรือ ERIA) และศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Center for International Exchange หรือ JCIE) โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอกินาว่า (OIST Foundation)
ภายในงาน AHWIN FORUM 2022 ได้มีการมอบรางวัลให้กับ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงวัยจากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมจาก 9 ประเทศ และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ 8 ท่านจากทั่วภูมิภาคเป็นผู้ตัดสิน โดยผู้ได้รับรางวัล Grand Prize ทั้ง 3 สาขา ได้แก่
รางวัล Grand Prize ประเภทสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรม – Orange Link จากประเทศญี่ปุ่น
รางวัล Grand Prize ประเภทโครงการริเริ่มโดยชุมชน – Longzhen Senior Care จากประเทศจีน
รางวัล Grand Prize ประเภทการสนับสนุนการพึ่งพาตัวเอง – Shanghai Jinmei Care for the Elderly จากประเทศจีน
โดยมนุษย์ต่างวัย ออนไลน์แพลตฟอร์มจากประเทศไทยได้รับรางวัลพิเศษต่อต้านการเหยียดอายุ Special Prize for Combatting Ageism
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ahwin.org/
ในปีนี้เพื่อเป็นการยกย่องแคมเปญการรณรงค์ระดับโลกเพื่อต่อต้านการเหยียดอายุ (Global Campaign to Combat Ageism) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะของสหประชาชาติ หรือ UN Decade of Healthy Ageing คณะกรรมการจึงได้มอบรางวัลพิเศษ 2022 Special Prize for Combatting Ageism ให้กับ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อออนไลน์ “มนุษย์ต่างวัย” ที่สนับสนุนการต่อต้านการเหยียดอายุ
Photo Credit : AHWIN FORUM 2022
เอกสารอ้างอิง
- AHWIN FORUM 2022 https://youtu.be/-K1S9PM2ngQ
- https://www.ahwin.org/
- https://www.weforum.org/agenda/2022/04/longer-healthier-lives-everyone/
- https://www.statnews.com/2017/02/14/living-longer-living-better-aging/
- https://www.rand.org/blog/2021/02/humans-are-living-longer-so-what-do-we-do-with-all.html
การมี ‘อายุยืนยาว’ ของมนุษย์จะเป็น disruption ใหม่ของโลก
-
วัน - เวลา