“เราชอบคิดว่าเราเก่ง ที่จริงเรามันโง่” สิ่งที่ ‘ลุงโปส’ เจ้าของร้านกาแฟ 29 Base ค้นพบในวัยเกษียณ

หากใครที่เดินทางไปน่านผ่านทางอำเภอสันติสุข – บ่อเกลือ ระหว่างทางบริเวณ กม. 29 ตรงกลางระหว่างอำเภอปัวและอำเภอท่าวังผา มีร้านกาแฟชื่อ ‘29 Base’ ที่เหมาะกับทั้งการพักรถ พักคน หรือแม้แต่พักร้อนแบบเพลินๆ ก็ทำได้ เพราะ สุทัศน์ ตั้งมารวย หรือ ‘ลุงโปส’ เจ้าของร้านวัย 66 ปี ที่เดิมทีตั้งใจทำพื้นที่นี้ไว้นั่งเล่นและทำห้องน้ำไว้ใช้เอง ก็ขยายเป็นร้านกาแฟที่เชื้อเชิญให้คนที่สัญจรบนเส้นทางนี้ได้แวะพัก นั่งปล่อยอารมณ์ไปกับกาแฟที่ลุงโปสคัดสรรเมล็ดจากดอยต่างๆ ในน่านมาดริปและขายในราคาเพียงแก้วละ 30 บาทเท่านั้น

จากชีวิตคนกรุงที่ผ่านอะไรมามากมาย เคยจับเงินหลักแสนต่อวัน ลุงโปสย้ายมาเป็นคนน่านเต็มตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่หลังเกษียณท่ามกลางแสงแดดและสายหมอกที่กรุ่นกลิ่นกาแฟ พร้อมกับการค้นพบว่า ความสุขที่แท้จริงคือการใช้ชีวิตให้มีความสุข มีสุขภาพที่ดี และสามารถช่วยเหลือหรือแบ่งปันให้แก่ผู้คนที่ลำบากกว่า

เบื้องหลังการค้นพบและรอยยิ้มที่มีพร้อมแบ่งปันให้กับทุกคนได้ของคนสูงวัยหัวใจหนุ่มในวันนี้ คือชีวิตในอดีตที่เรียกได้ว่าเป็นหนังคนละม้วนกับในปัจจุบัน

จากเงินแสน เหลือเงินศูนย์

ลุงโปสเป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 9 คน ครอบครัวของเขามีร้านโชห่วยเป็นธุรกิจหลัก ทั้งครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในบ้านย่านตรอกจันทน์

ป. 4 คือครั้งสุดท้ายของการเรียนในห้องเรียนของลุงโปส เขาเล่าว่าที่เลิกเรียนกลางคันเพราะมีปมฝังใจจากการถูกครูตีจนไม่อยากไปเรียนหนังสือ แต่ชีวิตในรั้วโรงเรียนที่จบลงในทางตรงกันข้ามกลับเป็นจุดเริ่มต้นของการหาความรู้นอกห้องเรียนของเด็กชายสุทัศน์ในวันนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่หัวหน้าครอบครัวอย่างพ่อไม่สามารถหารายได้ได้ชั่วคราว ลูกชายคนโตจึงต้องหาทางหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

ทั้งขี่จักรยานไปขายของ ขี่จักรยานไปเก็บขวดเหล้าตามร้านกาแฟแล้วไปซื้อเหล้ามาให้ที่ร้าน ไปจนถึงการกู้ยืมเงินจากข้างบ้านมาใช้เป็นเงินหมุนในการลงทุนเพื่อหากำไรเพิ่มจากการซื้อเหล้ามาขาย ลุงโปสทำมาตั้งแต่อายุน้อยจนนอกจากจะมีเงินช่วยครอบครัวแล้ว ยังมีเงินพอซื้อรถยนต์เพื่อขับส่งของ

“จำได้ว่าซื้อ Mazda Bongo คันละสามหมื่นหกมา ก็ผ่อนส่งไป ผมขับรถส่งของประมาณ 3-4 ปี น้องชายก็เริ่มเข้ามาช่วย ทำไปทำมามีรถขายของเพิ่มอีก 3-4 คัน ก็เลยให้น้องเป็นคนสานต่อธุรกิจนี้ เพราะการขายเหล้าจะต้องไปขายเอง ทำเองตลอด ผมอยากมีเวลาพักผ่อนบ้าง” ลุงโปสเล่าถึงเหตุผลที่ยกธุรกิจที่กำลังไปได้ดีให้น้องชายดูแลแทน

แม้จะบอกว่าอยากมีเวลาพักผ่อน แต่ในทางปฏิบัติ ลุงโปสกลับเลือกที่จะทำโรงงานกระดาษ สร้างธุรกิจในสายงานที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้ใดๆ มาก่อน การพักผ่อนของลุงโปสจึงดูเหมือนเป็นการหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองเสียมากกว่า

“ผมรวบรวมเงินที่มีไปซื้อเครื่องจักรมา เริ่มต้นศึกษางานใหม่แต่แรก จากที่ทำไม่เป็นเลยก็ค่อยๆ พัฒนาไปจนกระทั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้น ทำไปเรื่อยๆ น้องชายก็ตามมาทำด้วย ปัญหามาเกิดช่วงที่น้องชายมาทำจนบานปลายกลายเป็นหนี้เกือบ 20 ล้าน ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเยอะมาก ผมโดนฟ้องเพราะมีชื่อค้ำประกันสิ่งต่างๆ เราจึงล้มละลายไปด้วยกัน หลังจากล้มละลาย ผมเลยตัดสินใจออกจากบ้าน”

หลังออกจากบ้าน ลุงโปสออกเดินทางแบบหนุ่มพเนจร ทำงานเหนือจดใต้ อะไรที่ได้เงินเขายินดีทำทั้งนั้น ขอเพียงไม่ผิดกฎหมายเป็นพอ

การล้มละลายครั้งแรกยังส่งผลต่อสุขภาพของลุงโปสอย่างหนัก ทั้งที่ยังอายุไม่มาก แต่โรคดีซ่านเล่นงานจนลุกเดินแทบไม่ไหว เงินจะซื้อยาก็แทบไม่มี

“โชคดีได้เจอหมอจีนคนหนึ่งแถวบรรทัดทอง ตอนไปหาหมอ เขาบอกว่าถ้ามาช้ากว่านั้นวันเดียวก็อาจตายไปแล้ว หมอให้ยาจีนมากิน ต้มกินอยู่เป็นปีๆ ค่ายาหมอให้ผ่อนเอาได้

“จากคนที่เดินออกจากบ้านไปทำงานแล้วได้เงินทีละสองแสน ย้อนไปตอนนั้นเงินบาทเดียวก็ยังไม่มีเลย”

เลขศูนย์ครั้งที่ 2

“ชีวิตคนเราไม่แน่นอน”

ลุงโปสย้ำประโยคนี้หลายรอบ หลังจากที่ชีวิตผ่านการล้มละลายและความเป็นความตายมาได้ แต่อย่างที่เขาย้ำ ความไม่แน่นอนในชีวิตจึงมาเยือนเขาอีกครั้ง การล้มละลายครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในวันที่กำลังจะตั้งตัวได้ใหม่ และเป็นการล้มละลายที่ซ้ำรอยเดิม นั่นคือการทำโรงงานกระดาษ

“ช่วงปี 2536-2537 ผมเลือกกลับมาทำโรงงานกระดาษอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้เพื่อนช่วยโดยการเล่นแชร์ เพราะผมไม่มีเงินสักบาท ที่ทางก็ไม่มี ที่ที่ใช้ทำโรงงานก็ต้องเช่าเอา แล้วเอาเงินที่ได้จากการเล่นแชร์มาซื้อเครื่องจักร แต่พอมาปี 2540 ก็เจ๊งอีก เป็นหนี้อีกแล้ว โดนตามทวงเงินจนต้องย้ายเครื่องจักรไปหาที่เช่าเพื่อตั้งโรงงานใหม่ เสร็จแล้วก็ค่อยๆ ทำด้วยตัวเองอีกครั้ง ผมทำงานเองทั้งวันทั้งคืนเลย หาลูกค้าก็หาเอง

“ผมไม่เคยโกงลูกค้า ไม่มีการลดเกรดใดๆ ความต้องการของลูกค้าคือเรื่องสำคัญที่สุด จะซื้อของแค่ชิ้นเดียวผมก็ไปส่งให้ จนมีลูกค้าญี่ปุ่นมาซื้อสินค้ากับเราและไว้ใจซื้อขายกันต่อเนื่อง ผมฟื้นฟูกิจการจนกระทั่งกลับมามีออร์เดอร์เยอะ เลยคิดการใหญ่ด้วยการกู้เงินธนาคารมาขยายโรงงานเพิ่ม สักพักกิจการที่กำลังไปได้ดีก็มีปัญหาอีก คราวนี้เป็นเรื่องของจังหวะที่ไม่ลงตัวต่างๆ ทำให้ล้มละลายอีกครั้ง

“ตอนนั้นผมเองก็หาหนทางไม่เจอว่าจะลุกขึ้นมาอีกได้อย่างไร คิดแค่ว่าบั้นปลายชีวิตคงไปทำสวนอยู่ต่างจังหวัด”

เมื่อเผชิญกับความล้มเหลวอีก สิ่งที่เขายังคงทำเหมือนเดิมก็คือเดินทางต่อ งานไหนที่ทำแล้วได้เงิน เขาไม่เคยเกี่ยง ลุงโปสขายของมาสารพัด เวลามีงานประจำปีหรืองานประกวดนางงามที่ไหน เขาก็ขนเสื้อผ้า ขนรองเท้าไปขาย รับจ้างเข็นผักในปากคลองตลาดก็เคยทำ หรือเมื่อรู้สึกว่าในประเทศไม่มีอะไรให้ทำแล้ว เขาก็บินไปหาโอกาสที่ต่างประเทศ ทั้งจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศ

“ในชีวิตผม มี 3 เรื่องที่ผมยึดถือ หนึ่ง ใจต้องถึง สอง ถ้ามีโอกาสต้องคว้าไว้ให้ได้ เหมือนการลอยคออยู่ในน้ำ ขอนไม้เล็กหรือใหญ่ก็ต้องเกาะไว้ก่อนเพื่อไม่ให้จมน้ำ อย่างที่สาม ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จมากๆ ห้ามใช้ตัวเองหาเงิน เพราะถ้าคุณทำคนเดียว คุณก็จะทำได้แค่นั้น แต่ถ้ารู้จักบริหารคนมาทำงานให้คุณ คุณก็จะได้เงินเพิ่มมากขึ้น”

ในวันที่ความสุขไม่ได้หมายถึงความร่ำรวย

หากย้อนมองชีวิตโดยวัดจากการก่อร่างสร้างตัว ลุงโปสคือคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุเพียง 20 กว่าจากธุรกิจแรกของเขา ทั้งที่ไม่ได้เรียนสูงเท่ากับอีกหลายคนในวัยเดียวกัน

“ถ้าย้อนกลับไปมองชีวิต ผมโอเคกับการเดินทางของชีวิตตัวเองนะ ที่ผ่านมาผมไม่เคยดูถูกใคร ผมพยายามศึกษาคนอื่นๆ เพื่อจะเอาส่วนดีของเขามาใช้

“เราชอบคิดว่าเราเก่ง แต่ที่จริงเรามันโง่ คือความรู้ของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด แล้วคนเราจะไม่โง่ได้อย่างไรล่ะ คนเราถ้าคิดว่าตัวเองเก่งเมื่อไหร่ เราจะตายทันที เพราะฉะนั้นอย่าอวดเก่ง ช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ผมรู้ว่า ไม่มีใครเก่งที่สุดหรอก ห้ามคิดว่าตัวเองเก่ง ห้ามคิดว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น นี่คือความจริงข้อหนึ่งในชีวิตที่ผมได้เจอจากการท่องยุทธจักรในช่วงชีวิตที่ผ่านมา”

ถ้าเปรียบการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ของลุงโปสเป็นอาหารสักจาน อาหารจานนี้ก็คงเป็นอาหารที่รสชาติเข้มข้นและครบรส ในปี 2550 เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนรสชาติด้วยการย้ายห่างจากเครือญาติและพวกพ้อง ที่สำคัญ ห่างไกลจากความทะเยอทะยานในแบบที่ทำให้ชีวิตไม่ง่ายอย่างที่เคยได้รับบทเรียน โดยเลือกเชียงใหม่เป็นแหล่งเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังเกษียณ

ลุงโปสใช้เงินก้อนสุดท้ายซื้อที่ไว้ปลูกต้นไม้ ทำสวน แต่เหตุการณ์ในชีวิตทำให้เขาต้องโยกย้ายอีกครั้ง เพราะหลังจากใช้ชีวิตที่เชียงใหม่อยู่หลายปี พ่อตาของเขาซึ่งเป็นคนน่านไม่สบายจนต้องเข้าโรงพยาบาล น่านซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยาจึงกลายเป็นบ้านปัจจุบันของลุงโปส

ลุงโปสมีลูกๆ ทั้งหมด 5 คน คนโตอายุ 43 ส่วนคนเล็กอายุ 28 แม้จะไม่ได้เล่ารายละเอียดมากเท่าใดนัก แต่เขาก็บอกว่า ช่วงที่ลำบากก็ได้ลูกๆ ช่วยเหลือไว้ และทุกวันนี้ก็ยังมีลูกๆ ที่คอยช่วยเขาอยู่เช่นกัน

“ทุกอย่างไม่สามารถเป็นไปอย่างใจเราไปเสียหมด ชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน ส่วนผมเอง เพียงพริบตาก็เป็นคนแก่ไปแล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราทำเท่าที่เราทำได้ก็พอ

“ทุกวันนี้ผมมีความสุขนะ พูดง่ายๆ ว่าหลังย้ายจากเชียงใหม่มาอยู่ที่นี่ ผมได้รู้แล้วว่าบั้นปลายชีวิตผมไม่ได้คิดหวังอะไร คิดแค่ว่าทำอะไรที่มีความสุข เลี้ยงตัวเองได้ก็พอ พอทำร้านกาแฟไปก็มีคนมาช่วยอุดหนุน ทำให้เริ่มมีรายได้ รายได้ส่วนนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะได้เยอะแยะ เพียงแต่มันได้ความสุขกลับมามากกว่า เพราะพอทำแล้วคนชอบก็เท่ากับว่าเราทำให้เขามีความสุข

“พอคิดในมุมที่ว่า ถ้าเราสามารถสร้างอะไรสักอย่างให้คนอื่นมีความสุขได้ มันก็เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้นร้านกาแฟตรงนี้เราไม่ได้หวังว่ามันจะเติบโตอะไรขนาดนั้น ขอเพียงให้คนมาแล้วมีความสุขก็พอ”

ลุงโปสยอมรับว่าบางครั้งเขาก็ยังอยากเดินทางไปไหนมาไหนบ้าง แต่ในเมื่อเขาคือบาริสต้ายืนหนึ่งของร้านกาแฟ 29 Base และรู้ว่ามีคนตั้งใจ“เวลาที่เหลืออยู่ ผมตั้งใจว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้นในทุกวันๆ เพราะเราไม่ค่อยมีอะไรให้ห่วงแล้ว เวลาก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เราจะอยู่ได้อีกกี่ปี ผมเลยคิดว่าช่วงสุดท้ายของชีวิต เราทำอะไรก็ได้ที่ให้คนที่เจอเราเขามีความสุขดีกว่า”

Credits

Authors

  • อธิวัฒน์ อุต้น

    Author & Drawชื่อแดนซ์, ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อซ้ำกันไหมและหวังว่าจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ