‘ความฝันไม่ได้เป็นแค่ของคนหนุ่มสาว’ ทริปกลับบ้านจากฝรั่งเศสสู่ประเทศไทยกับการเดินทาง 20,000 กิโลเมตร ของคู่รักนักบิดวัยเกษียณ

หากคุณกำลังเดินทางเข้าสู่หลักไมล์ที่ 60 ปีของชีวิต คุณและคู่ชีวิตของคุณมีความคิดความฝันอยากทำอะไรอีกไหมในช่วงวัยหลังเกษียณ

เลี้ยงหลาน ทำธุรกิจ เดินจงกรม เข้าวัดฟังธรรม รำไทเก๊ก ฯลฯ คุณอยากทำอะไรแบบที่ว่ามาหรือเปล่าหรือแท้จริงแล้วยังมีอะไรที่คุณทั้งคู่ยังฝันอยากทำมากกว่านั้น

อาวรณ์ ถาสกุล และ ฮุก บองตองต์ คู่ชีวิตชาวไทยและฝรั่งเศสมีความฝันที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้างโดยมอเตอร์ไซค์คู่ใจด้วยกันสักครั้งในชีวิต สองสามีภรรยาไม่ใช่แค่คิดเล่นๆ หากแต่ยังต้องการจะลงมือทำมันจริงๆ อย่างไรก็ตามความปรารถนาของทั้งคู่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายนัก ทั้งอาวรณ์และฮุก อายุไม่ใช่น้อยๆ แล้ว ภรรยาชาวไทยอายุ 59 ขณะที่สามีจากเมืองน้ำหอมตัวเลขปาเข้าไปที่ 64 แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าความฝันไม่ได้มีเอาไว้ให้แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ลงมือทำมันได้ ทั้งคู่จึงท้าทายตัวเองด้วยการอยากจะลองทำมันให้สำเร็จสักทีจริงๆ

นี่คือเรื่องราวของคู่รักนักบิดที่กำลังจะบอกกับเราทุกคนว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไร คนเราก็ยังฝันได้

ในโลกใบนี้ไม่มีใครที่แก่เกินฝัน

ความฝันหลังแต่งงาน

อาวรณ์ ถาสกุล หญิงชาวไทยวัย 59 ปี และ ฮุก บองตองต์ ชายชาวฝรั่งเศสวัย 64 ปี แต่งงานและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสมาตั้งแต่ตอนอายุ 27 ได้สิทธิเป็นพลเมืองฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ อาวรณ์ตั้งใจว่าจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย เธอเปิดเกสต์เฮาส์อยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานจะมีโอกาสได้รู้จักกับฮุกชายชาวเมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ทั้งคู่ค่อยๆ ทำความรู้จักกัน โดยเริ่มจากความเป็นเพื่อน ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันในที่สุด

“ด้วยความที่เราต่างก็สูงวัยกันแล้วทั้งคู่ ความรักของเรามันจึงไม่ใช่ความรักที่หวานแหววหรือมีอะไรที่หวือหวาเหมือนคนหนุ่มสาวหรือวัยรุ่น แต่เป็นความรักที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ เราคุยกันรู้เรื่อง เราคิดอะไรแบบเดียวกัน ชอบอะไรเหมือนกันเรามีความเป็นคนรัก แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นเพื่อน นี่คือเหตุผลที่เรายอมเลิกธุรกิจที่เราทำอยู่ที่เมืองไทย แล้วก็ย้ายกลับไปอยู่ที่ฝรั่งเศสอีกครั้ง”

ชีวิตคู่ของทางอาวรณ์และฮุก นับได้ว่าเป็นชีวิตคู่ที่ลงตัว ทั้งคู่อยู่กันด้วยความเข้าใจ ขณะที่ในด้านหน้าที่การงานและฐานะครอบครัวก็ไม่เดือดร้อน ฮุกมีอาชีพขายรถยนต์หรูจำพวก เฟอร์รารี่ ปอร์เช่ ฯลฯ ส่วนอาวรณ์ ธุรกิจร้านซูชิที่เธอเปิดอยู่ก็ขายดิบขายดีมีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนไม่เคยขาด

ชีวิตคู่ก็ดี หน้าที่การงานก็ประสบความสำเร็จ จนชีวิตแทบไม่หลงเหลือความท้าทายอะไรอีก อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยังมีความฝันที่อยากจะทำมันในวัยเกษียณด้วยกัน ซึ่งจะว่าไปมันอาจไม่ได้เหมาะกับคนวัยอย่างพวกเขามากนัก

ความฝันของทั้งคู่คือการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์กลับประเทศไทยด้วยกัน

ชีวิตแบบที่ต้องการอยู่บนหลังอานมอเตอร์ไซค์

สิ่งหนึ่งที่ทางอาวรณ์และฮุกต่างมีความชอบและหลงใหลเหมือนๆ กันก็คือมอเตอร์ไซค์ ทั้งคู่ชอบไปไหนมาไหนด้วยเจ้าเครื่องยนต์สองล้อดังกล่าวอยู่บ่อยๆ บางทีก็ออกทริปกับเพื่อนๆ ในเมืองใกล้ๆ หรือไม่แทนที่จะขับรถเข้าไปทำธุระในตัวเมืองน็องต์ก็ใช้การขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปแทน

“เราชอบมอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว บ้านเราที่เชียงใหม่จะมีมอเตอร์ไซค์ Vespa 90 ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่าคลาสสิกเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว เวลาไปไหนในเชียงใหม่เราก็จะขับมอเตอร์ไซค์ไปตลอด น้อยครั้งมากที่จะนั่งรถยนต์

“เราว่าเสน่ห์ของมอเตอร์ไซค์มันอยู่ที่ความอิสระ เห็นวิวทิวทัศน์และได้สัมผัสกับบรรยากาศจริงๆ ถ้าเรานั่งรถยนต์ถามว่าเห็นวิวเห็นทิวทัศน์ไหม มันก็เห็นนะ แต่มันไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศรอบตัวเหมือนมอเตอร์ไซค์ ไม่รู้ว่าร้อน ไม่รู้ว่าหนาว ไม่รู้ว่าฝน แต่นี่เราได้สัมผัสทุกอย่างชัดเจน”

ไม่ใช่แค่เพียงชอบแต่อาวรณ์ยังมีความฝันว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะออกเดินทางไปกับคนที่รักทั่วประเทศไทยโดยใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะ

“ตอนที่กลับมาอยู่เมืองไทยแล้วยังไม่ได้เจอฮุก เราเคยมีความคิดว่าจะทำรถเป็นมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง แล้วพาแม่นั่งมอเตอร์ไซค์เที่ยวไปทั่วประเทศไทยด้วยกัน คือเราคิดว่ายังไงเสียเมื่อตอนที่เริ่มสูงวัยเราจะออกเดินทางท่องเที่ยวแน่นอน”

อาวรณ์นำเอาสิ่งที่เคยฝันเอาไว้ไปบอกกับสามี ชายชาวฝรั่งเศสไม่ได้มีท่าทีขัดแย้งหรือคล้อยตาม เขาบอกภรรยาไปแต่เพียงว่า เมื่อฉันเกษียณแล้วฉันจะพาเธอเดินทางจากฝรั่งเศสกลับเมืองไทย

โดยเราจะนั่งมอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน

ฝันแล้วต้องเตรียมตัว

แม้จะอยู่ในช่วงสูงวัยแต่อาวรณ์และฮุก บองตองต์ ก็ไม่ได้เอาแต่ฝันเฟื่องไปวันๆ โดยไม่ทำอะไรเลย

เมื่อวาดความฝันร่วมกันไว้ว่าวันหนึ่งจะขับมอเตอร์ไซค์จากฝรั่งเศสกลับเมืองไทย สองสามีภรรยาก็ทำการเตรียมตัวทันที ก่อนที่จะออกไปทำความฝันให้มันสำเร็จ

“สิ่งแรกที่เราต้องเตรียมก่อนเลยคือการเตรียมข้อมูล เตรียมแผนที่ ดูเส้นทางว่าเราต้องเดินทางเป็นระยะทางกี่กิโลเมตร ต้องผ่านเมือง ผ่านประเทศอะไรบ้าง ต้องใช้เวลาประมาณกี่วัน ต้องเดินทางตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน เราจะได้ปะติดปะต่อเส้นทางได้ถูก รู้เป้าหมายในแต่ละวัน ว่าวันนี้จะเดินทางแค่ไหน ไม่ใช่คิดว่าจะเดินทางไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้จุดหมายอะไรเลย”

การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ 20,000 กิโลเมตร ผ่าน 15 ประเทศ โดยใช้เวลาทั้งหมด 101 วัน หรือกว่า 3 เดือน ในวัย ร่วม 60 ปี ย่อมไม่ใช่ความฝันที่จะทำให้สำเร็จได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักเดินทางไม่มีร่างกายที่แข็งแรงเพียงพอ เมื่อกำหนดเป้าหมายการเดินทางในแต่ละวันลงในแผนที่แล้ว มาดามอาวรณ์และกัปตันฮุกก็เตรียมฟิตร่างกายให้แข็งแรงและพร้อมที่สุดก่อนที่จะถึงวันเดินทาง

“ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความจริงว่าเราอายุมากแล้ว ไม่ใช่คนหนุ่มคนสาวที่ร่างกายแข็งแรง ทนแดด ทนฝน ทนหนาวได้โดยไม่เป็นอะไร การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์มันไม่ใช่เครื่องบินที่นั่งไปไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง แต่นี่เราเดินทางร่วม 3 เดือนครึ่ง ถ้าเราไม่เตรียมร่างกายให้ดี สิ่งที่เราตั้งใจกันไว้ก็จะไม่สำเร็จ”

ในวันที่ชีวิตกำลังอยู่ในวัยใกล้แซยิด สองสามีภรรยาพาตัวเองเข้าฟิตเนสแทบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัปตันฮุกผู้เป็นสามีซึ่งทำหน้าที่เป็นคนขับ ฟิตซ้อมอย่างจริงจังด้วยการปั่นจักรยานครั้งละ 100 กว่ากิโลเมตรทุกๆ 2-3 วัน นอกจากนั้นยังมีการตรวจเช็กสุขภาพ เช็กสภาพความพร้อมของหัวใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ

นอกเหนือจากการเตรียมสภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว คู่รักนักบิดทั้งสองยังเตรียมพร้อมในด้านสภาพจิตใจด้วยการทดลองออกไปผจญภัยในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา หรือในแถบทะเลทราย เพื่อทดลองสภาพจิตใจไปในตัว เนื่องจากในระหว่างการเดินทางอาจมีสิ่งที่ไม่คาดคิดและน่ากลัวเกิดขึ้นได้เสมอ หากสภาพจิตใจไม่พร้อมหรือถอดใจระหว่างทางง่ายๆ เป้าหมายก็คงเป็นเรื่องยากที่จะไปถึง

เตรียมพร้อมในเรื่องข้อมูลการเดินทางแล้ว สภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือการเตรียมความพร้อมในด้านทุนทรัพย์ ทำอย่างไรให้มีเงินมากพอที่จะทำให้ตัวเองไม่ลำบากตลอดการเดินทาง

“ต้องบอกเลยว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ ทุกอย่างต้องใช้เงิน มอเตอร์ไซค์ก็ต้องใช้เงินในการเติมน้ำมัน ไหนจะค่าอาหารค่าใช้จ่ายต่างๆ อีก แล้วยิ่งเราอายุมากแล้วเดินทางไกลๆ หลายวันติดกัน เราก็อยากสบาย บางวันเราก็อยากนอนโรงแรมหรือที่ดีๆ บ้าง เมื่อรู้กำหนดว่าจะต้องเดินทาง เราสองคนก็ทำงานเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”

เมื่อข้อมูลพร้อม ร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม และเงินในกระเป๋าพร้อม คู่รักนักบิดจึงได้เวลาออกเดินทาง

สิ่งที่สำคัญกว่าเป้าหมายคือเรื่องราวระหว่างทาง

สำหรับอาวรณ์และฮุก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเดินทางทุกครั้งไม่ใช่จุดหมาย หากแต่เป็นมิตรภาพ ประสบการณ์ และเรื่องราวระหว่างทาง

แม้จะเตรียมตัวมาอย่างดี แต่สิ่งที่ทำให้การเดินทางทุกๆ ครั้ง มีเสน่ห์นั่นก็คือความไม่รู้ สองสามีภรรยาไม่มีทางล่วงรูัได้เลยว่าบนระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตรทั้งคู่จะต้องเจอกับอะไร ไม่รู้ว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ซึ่งความไม่รู้นี่เองทำให้การเดินทางของทั้งสองเต็มไปด้วยเรื่องราวครบรส

“ต้องบอกว่าเป็นการเดินทางที่ครบรสมาก เราได้พบเจอทั้งความสวยงามของธรรมชาติ ได้เจอเรื่องราวที่ชวนตื่นเต้น ได้เห็นน้ำใจของผู้คน ได้เพื่อนและมิตรภาพมากมายระหว่างทาง ซึ่งถ้าเราไม่ตัดสินใจออกเดินทางเราจะไม่มีวันรับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้เลย”

สิ่งที่ทั้งอาวรณ์และฮุกประทับใจมากที่สุดก็คือ มิตรภาพและน้ำใจของผู้คนตลอดเส้นทางทั้ง 15 ประเทศ ทั้งสองพบเจอแต่คนดีๆ มากมาย แม้ในบางประเทศจะมีคนเตือนตั้งแต่ก่อนมาว่าอันตรายและน่ากลัว

“เราพบเจอแต่คนดีมีน้ำใจตลอดเส้นทาง ประเทศที่เราประทับใจมากๆ ในน้ำใจของผู้คนคืออิหร่าน ซึ่งถ้าเราเห็นในสื่อทั้งหลายอิหร่านดูเป็นประเทศที่น่ากลัว มีสงคราม ก่อนมาก็มีคนเตือนเรา แต่พอมาถึงจริงๆ กลายเป็นว่าทุกคนในประเทศนี้ที่เราเจอใจดีมากๆ เชื่อไหมว่าตลอดเวลา 3 อาทิตย์ที่เราเดินทางในอิหร่าน มีแต่คนชวนให้ไปนอนและไปกินอาหารที่บ้านของเขา เด็กผู้หญิงชาวอิหร่านยังพาเราสองคนไปเที่ยวถ้ำที่สวยงามติด 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งสวยชนิดที่ว่าเห็นแล้วรู้สึกเลยว่าชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด

“นอกจากที่อิหร่าน กรีซก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราพบเรื่องราวประทับใจ จำได้ว่าเราซ่อมรถในอู่แล้วลืมกระเป๋าไว้ที่นั่น กระเป๋านั้นมีทุกอย่าง ทั้งเงินดอลลาร์ เงินยูโร หนังสือเดินทาง เอกสารสำคัญทั้งหมด เรียกได้ว่าถ้าหายไปการเดินทางนี่จบเลย ไม่มีทางได้ไปต่อ เราเดินทางออกมาจากอู่แล้ว 50 กิโลเมตรถึงนึกได้ เมื่อกลับไปถึงที่อู่ยังไม่ทันจะพูดอะไรเลย เจ้าของอู่ก็เอากระเป๋ายื่นให้ทันที เราให้เงินตอบแทนเขาก็ไม่รับ

“ตลอดทางไม่ว่าจะเกิดเรื่องร้ายๆ อะไรขึ้น ก็จะมีผู้คนคอยช่วยเหลือเราตลอด อย่างที่อินเดียรถเสียก็มีคนซ่อมให้ ถึงที่สุดเขาซ่อมให้เราไม่ได้ แต่เขาก็ทำเต็มที่ชนิดที่ไม่ยอมกินข้าวกินปลา เราเจอคนแบบนี้เยอะมาก หรืออย่างรถเราน็อกที่พม่าก็มีคนช่วยเข็นให้มาถึงด่านที่แม่สอด

“นอกจากนี้เรายังได้เจอคนไทยในต่างแดนด้วยนะ เขามาขายผัดไทยอยู่ที่แอลเบเนีย เจอแล้วก็ทักทายคุยกันทั้งเรื่องอาหาร เรื่องชีวิต เรื่องตลก เขาบอกว่าผัดไทยของเขาขายดีมากที่นี่ ถูกปากคนแอลเบเนียอย่างมาก”

ไม่ใช่แค่มิตรภาพ หากแต่เรื่องน่ากลัวและตื่นเต้นระหว่างทางคู่รักนักบิดวัยเกษียณก็ผ่านมาไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้ามพรมแดนประเทศอิหร่านเข้าสู่ปากีสถาน

“ช่วงที่เราเดินทางถึงปากีสถานต้องบอกเลยว่าน่ากลัวมาก พื้นที่ที่เราไปเป็นพื้นที่สีแดงที่มีสงครามกลางเมือง เสียงปืน เสียงระเบิดนี่ดังตลอด ไม่ว่าจะเดินทางไปตรงไหนของพื้นที่จะเห็นปืน รถถัง ลวดหนามเหมือนกับว่าเป็นของปกติ พูดได้ว่าเราสองคนรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังสงครามเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเราไม่มีสภาพจิตใจที่ดีพอ เราสองคนอาจล้มเลิกกลางคันมากกว่าที่จะไปต่อก็เป็นได้”

ทั้งหมดเป็นแค่เพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งในระหว่างการเดินทางกว่า 3 เดือน เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยสีสัน ประสบการณ์ รอยยิ้ม มิตรภาพ ความประทับใจ ที่สำคัญการเดินทางในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้โลกในช่วงสูงวัยของสองสามีภรรยากว้างใหญ่ขึ้นกว่าเดิม หากแต่มันยังทำให้ทั้งคู่ได้รู้ว่าในโลกใบนี้

ไม่มีใครแก่เกินฝัน

ไม่มีใครแก่เกินฝัน

1 สิงหาคมถึง 11 พฤศจิกายน 2019 คือวันเวลาที่อาวรณ์และฮุก สองคู่รักนักบิดเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์จากประเทศฝรั่งเศสกลับถึงเมืองไทย

วินาทีที่ถึงเส้นชัยทั้งสองรู้สึกเหมือนกับนักกีฬาที่ได้แชมป์โลก เป็นความรู้สึกที่ทั้งภาคภูมิใจในตัวเอง และรู้สึกประสบความสำเร็จในการได้ทำตามความฝัน

“มันเป็นความรู้สึกที่สุดยอดนะ มันอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทั่วไปหรือคนที่เขาเคยทำอะไรยิ่งกว่านี้ แต่สำหรับคนสูงวัยอย่างเราสองคนไม่ง่ายเลยในการจะทำให้สำเร็จ หลังจากถึงเส้นชัยมันทำให้เรารู้สึกเลยว่าถึงแม้เราจะสูงวัย แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจจะทำมัน”

สำหรับอาวรณ์และฮุก ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะแก่เกินฝัน และความฝันก็ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ให้คนหนุ่มสาวเท่านั้น คนสูงวัยก็มีสิทธิที่จะฝันได้ แล้วก็มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่ากันที่จะทำมันให้สำเร็จ เพียงแต่ว่าต้องเตรียมตัววางแผนให้ดีและยืนอยู่บนความเป็นจริงของชีวิต

“ความฝันมันไม่ใช่เรื่องของอายุนะ ทุกคนมีสิทธิฝันได้ ต่อให้แก่กว่าเราก็ฝันได้ การทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องของอายุเหมือนกัน บางคนแก่กว่าเราเขายังทำในสิ่งที่มันยากยิ่งกว่าเราสองคนได้เลย เพียงแต่เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่ได้อายุ 20-30 เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี ให้มั่นใจจริง ๆ ก่อนที่จะลงมือทำ

“สำหรับเราไม่มีใครแก่เกินฝันนะ เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ หรือพี่ๆ ที่สูงวัย ถ้าใครมีความฝันอะไรเตรียมตัวให้พร้อมแล้วออกไปทำมันเลย อาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องที่ผจญภัยอย่างเราสองคนก็ได้ จะเป็นเรื่องการดูแลตัวเอง เดิน วิ่ง เต้น แต่งกาย ฯลฯ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น

“ขอให้มีเป้าหมายและทำมันให้สำเร็จ แค่นั้นก็สุดยอดแล้ว” 

Credits

Author

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ