แป๊ะเซี้ย ขนมจีบลูกเล็กรสโตสูตรบรรพบุรุษ 100 ปี ที่ขายหมดใน 3 ชั่วโมง

มนุษย์ต่างวัยชวนทุกท่านเจาะเวลาหาอดีตบนถนนแปลงนาม เยาวราช กับขนมจีบแป๊ะเซี้ยเจ้าดังที่สืบทอดเคล็ดลับความอร่อยมายาวนานกว่า 100 ปี จนวันนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แถมยังกลายเป็นขวัญใจเด็กรุ่นใหม่อีกต่างหาก เพราะนิยมซื้อรับประทาน แล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนแห่แหนมาอุดหนุนแป๊ะเซี้ยไม่ขาดสาย จนกลายเป็นตำนานขนมจีบลูกเล็กรสโตที่ขายหมดภายใน 3 ชั่วโมง แต่กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ขอบอกว่าไม่ง่ายเลย มาติดตามเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของแป๊ะเซี้ยวัย 80 ด้วยกันเลย

100 ปีก่อน เร่ขายขนมจีบสูตรดั้งเดิมจากเมืองจีนด้วยการ “หาบ”

“สมัยก่อนยังไม่มีรถเข็น ทุกคนจึงต้องใช้หาบ หาบออกไปขายตั้งแต่เช้าถึงหกโมงเย็น ตั้งแต่ตรอกข้าวสารเรื่อยไปจนถึงสะพานหัน จัดว่าเป็นเส้นทางที่ยาวไกลมากสำหรับเด็กสิบกว่าขวบในสมัยนั้น หาบไปก็ร้องตะโกน เสียวบี้ ยัวะ ยัวะ แปลว่าขนมจีบร้อนๆ มาแล้ว ดังก้องไปทั่วทั้งถนน ตั้งแต่รุ่นอากง รุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่นผม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ลูกค้าได้ยินก็ถือจานออกมาซื้อ บางคนก็ใส่กระทงใบตองแห้ง ใครจะกินเลย ผมก็ใส่จานให้”

“แป๊ะเซี้ย” ฟื้นความหลังในวัย 80 ปี พร้อมเล่าถึงบรรพบุรุษว่าเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในตรอกข้าวสารใกล้ๆ วัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ย่านสำเพ็ง เริ่มจากรุ่นอากง อาม่า และพ่อ (กิมเจ็ก แซ่อื๊อ) ที่ชวนกันนั่งเรือมาจากเมืองจีน และยึดอาชีพขายขนมจีบ ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เมืองจีน

“ตอนผมเด็กๆ ลำบากมากๆ ข้าวต้มหม้อหนึ่งกินกันสิบกว่าคน กับข้าวมีอย่างเดียวคือซื้อหมูมา 2 บาท มาผัดกับผัก ที่เราเคยเห็นในหนังจีนว่ามีคนนั่งล้อมวงถือถ้วยข้าวต้มเปล่า แล้วแขวนปลาเค็มไว้ตรงกลาง เวลาจะกินข้าวก็เงยหน้ามองปลาเค็ม จินตนาการไปว่า ได้กินกับข้าวต้มนี่เรื่องจริงเลย”

ความลำบากทำให้แป๊ะเซี้ยต้องสู้ชีวิตเหมือนกัน และเริ่มหาบขนมจีบขายตั้งแต่อายุ 12 แล้ว เรียกได้ว่าศีรษะยังสูงแทบไม่พ้นหาบด้วยซ้ำ ทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านพูดเขียนภาษาไทยไม่ได้ กว่าจะพูดไทยได้อายุก็ปาเข้าไป 30 กว่าปีแล้ว โดยค่อยๆ จดจำ และพูดคุยกับลูกค้า ทั้งขาจร ขาประจำที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

ในวันนี้เรี่ยวแรงของแป๊ะเซี้ยยังเหลือเฟือ เพราะการเข็นรถเข็นออกมาขายขนมจีบคือชีวิตทั้งชีวิตของแป๊ะเซี้ย ทำให้กลิ่นขนมจีบจากซึ้งวันนี้หอมกว่าทุกวัน

“ขนมจีบสูตรบรรพบุรุษ” ผู้หญิงทำ ผู้ชายขาย

แป๊ะเซี้ยเล่าว่า พวกผู้หญิงในบ้าน นับแต่อาม่า อาโกว อาแม่ และอาเจ๊-พี่สาวของแป๊ะเซี้ย 3 คน จะรับหน้าที่ทำขนมจีบลูกเล็ก แป้งบาง ที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ทุกวัน ส่วนอากง พ่อ แป๊ะเซี้ย และน้องชาย-อาเหลียง ก็รับหน้าที่หาบขนมจีบออกไปขาย

“โตมาก็เห็นอาม่าทำขนมจีบแล้ว พออากงเสีย อาม่าก็ยังทำอยู่ แล้วให้พ่อผมขาย อาม่าตื่นตั้งแต่ตีสอง มาทำแป้งขนมจีบ เมื่อก่อนแป้งตีเอง ผสมเอง เอกลักษณ์แป้งเราจะเหนียวๆ บางๆ นุ่มๆ ลูกค้าชอบมาก สมัยนี้ทำเองไม่ไหว ก็ใช้แผ่นเกี๊ยวสั่งทำให้บางพิเศษ เพราะแป้งต้องบางถึงจะอร่อย ส่วนผสมของไส้ก็มีหมูบดที่ต้องเลือกขาหน้าเท่านั้น เพราะไม่มีมัน มันแกวสับ กุ้งแห้ง ไข่ เห็ดหอม พริกไทย และน้ำมันงา เมื่อก่อนใช้ปลาตาเดียวแห้ง หลังๆ หายากเลยเปลี่ยนมาเป็นน้ำมันงา ส่วนผสมทั้งหมดต้องมี 10 อย่าง”

“ไส้ขนมจีบทำแล้วต้องหมักเข้าตู้เย็นเพื่อให้เข้าเนื้อ แล้วพรุ่งนี้ค่อยนำออกมาห่อ หม้อนึ่งทองเหลืองอากงก็ใช้ตั้งแต่ขายที่เมืองจีน มาถึงเราก็ยังใช้หม้อนึ่งทองเหลืองอยู่ ข้อดีคือ เก็บความร้อนได้นาน นึ่งก็ร้อนเร็ว แผ่นเกี๊ยวไม่ติด ถ้ามีติดก็น้อยมากๆ ต่างจากพวกหม้ออลูมิเนียม”

จากค้าขายเพื่อยังชีพกลายมาเป็นอาชีพที่รัก เพราะไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการยืนบนลำแข้งของตัวเอง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แป๊ะเซี้ยยังคงเดินตามรอยการค้าที่ซื่อสัตย์จากรุ่นสู่รุ่น โดยย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ต้องไม่ซี้ซั้ว” ตั้งแต่หาบขายลูกละสลึง จนมีรถเข็นป้ายแดง เมื่ออายุแตะที่เลข 30 กว่าๆ

ปักหลักบนถนนแปลงนาม เยาวราช ตั้งแต่ปี 2540

เมื่อครอบครัวขยาย สมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น พี่น้องแต่ละคนต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง ประกอบกับแม่ของแป๊ะเซี้ยมีอายุมากขึ้น ถึงเวลาที่จะต้องพักจากการทำขนมจีบ แป๊ะเซี้ยจึงแยกครอบครัวย้ายมาอยู่ในซอยเท็กซัส หรือถนนผดุงด้าว ถิ่นเดิมของภรรยา ซึ่งยังมีพี่น้องอยู่ในย่านนี้ ขณะที่ครอบครัวน้องชาย-อาเหลียง ยังขายอยู่บนถนนทรงวาด

“ที่ย้ายมาย่านนี้เพราะภรรยาผมมีพี่น้องอาศัยอยู่ย่านนี้ ย้ายมาแล้วผมยังเข็นไปขายเส้นเดิมที่เคยขาย เพราะมีลูกค้าเดิมอยู่ แต่เพิ่มขนมจีบให้เยอะขึ้น จะได้มีรายได้พอเลี้ยงลูกสองคนได้ไม่ลำบาก”

แม้จะต้องเข็นรถเป็นระยะทางไกลมากขึ้น และขายจนดึกดื่นกว่าจะหมด แต่แป๊ะเซี้ยก็ไม่หวั่น ก่อนจะตัดสินใจปักหลักจอดรถเข็นขายอยู่หน้าวัดญวน บนถนนแปลงนามเป็นการถาวร

“พอเข็นขายเส้นเดิมเสร็จ ก็เข็นมาจอดที่หน้าวัดญวนตรงนี้ ขายจนถึงหกโมงเย็น ได้เวลาวัดปิดประตู ก็เข็นไปขายต่อที่ถนนเยาวราช ถนนใหญ่ ทีนี้พอมีลูกค้าประจำเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสน เจอบ้างไม่เจอบ้าง ก็เลยจอดขายประจำหน้าวัดญวณที่นี่เลย”

เมื่อตั้งขายเป็นหลักแหล่ง คนก็เริ่มรู้จัก อยากกินเมื่อไรก็มาซื้อ ลูกค้าเก่าแก่จากย่านเดิมที่เคยหาบเคยเข็นขายก็กลับมาหา ขายดีขึ้นก็ทำเพิ่มขึ้น จากเดิมวันละ 500 กว่าลูก ก็เพิ่มเป็น 1,000 ลูก ขายถึงเย็นค่ำ บางคืนยาวถึง 3 ทุ่มเลย พอออกทีวี ลงหนังสือพิมพ์ ทำให้ชื่อ “ขนมจีบแป๊ะเซี้ย” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

คิวจะยาวไปไหน ตอนนี้ 3 ชั่วโมงขายหมดเกลี้ยง !

เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น หลังรถไฟใต้ดินสถานีวัดมังกรเปิด นำพาลูกค้ามาหาแป๊ะเซี้ยได้ง่ายขึ้น ชิมแล้วชอบจึงถ่ายรูป เขียนรีวิวลงในสื่อโซเชียล แบบปากต่อปาก แต่ละวันคิวยาวไม่ขาดสาย แม้จะขายหมดแล้ว ลูกค้าประจำยังผ่านมาทักทายแป๊ะเซี้ยด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อกัน

“ของเราดี อร่อยด้วย ทำได้เต็มที่วันละ 2,000 กว่าลูก ผมยึดหลักการค้าขายมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ที่พ่อผมเคยสอนว่า บริการต้องดี ลูกค้าเขาเอาเงินมาให้เรา เราต้องคุยกับเขาดีๆ”

คำสอนนี้ ปัจจุบันตกทอดถึงเฮียวรพงศ์ อรศิริสกุล ลูกชายคนโตของแป๊ะเซี้ย อนาคตผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ซึ่งเริ่มเข้ามาช่วยพ่อสืบทอดกิจการ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 โดยช่วยดูแลเรื่องส่วนผสมของขนมจีบเป็นหลัก

“ใจจริง ผมไม่อยากให้ลูกมาสืบทอด อยากให้เขาเรียนหนังสือสูงๆ ไปทำงานบริษัท แต่เขาบอกว่า เติบโตมาจากการทำขนมจีบ มีความรัก ความผูกพัน”

ถึงตรงนี้ เฮียวรพงศ์ช่วยเสริมว่า “ผมช่วยอาป๊าเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ ลูกค้าชมว่าอร่อย อยากให้มีคนสืบต่อ เมื่อก่อนผมเคยทำงานธนาคาร ทำๆ ไปไม่ค่อยมีความสุข ไม่มีความมั่นคง ไม่เห็นอนาคต ผมคิดมาตลอดว่าเราควรเป็นตัวกลางเชื่อมให้ลูกหลานเราสืบทอดต่อไปได้ ตอนนี้ลูกสาวผมก็เข้ามาช่วยอากงด้วยอีกคน”

แป๊ะเซี้ยในวัย 80 เรี่ยวแรงมีเท่าไหร่ ทุ่มให้กับการขายขนมจีบทั้งหมด

จากขนมจีบที่ริเริ่มโดยอากง วันนี้แป๊ะเซี้ยกลายเป็นอากงของหลานๆ แล้ว ความสุขที่สุดคือการรอคอยที่จะได้เข็นรถออกมาขายขนมจีบทุกๆ เช้า และเข็นกลับเมื่อขายหมด สุขภาพยังแข็งแรง สมองยังแจ่มใส มือจิ้มขนมจีบลงกล่องว่าเร็วแล้ว แป๊ะเซี้ยยังคิดเงินได้เร็วกว่า

“ดีใจที่ลูกค้าชอบ ขายหมดเร็วก็ชื่นใจ จะได้กลับบ้านไปนอนพัก” แป๊ะเซี้ยพูดด้วยใบหน้าอิ่มเอิบ ขณะที่ฝั่งลูกชายยังคงมีความสุขที่ได้เป็นมือขวาของพ่อ เพราะยังอยากให้พ่อทำงาน ไม่อยากให้หยุด เพราะรู้ว่าพ่อมีความสุข และกลัวว่าหากให้หยุดอยู่กับบ้านเฉยๆ แล้วจะป่วย

ไม่ว่าโลกธุรกิจจะหมุนเร็วเพียงใด สองพ่อลูกยังขอก้าวเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคง แม้ไม่ได้ร่ำเรียนเรื่องการค้าขาย หรือรู้เรื่องธุรกิจใดๆ แต่ความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิตคือวิชาเอกที่สอน และหล่อหลอมให้ต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวัง ไม่คิดอะไรที่เกินตัว

ใหญ่ๆ ไม่ เล็กๆ ทำ เป็นเหมือนดังขนมจีบลูกเล็กแต่รสใหญ่โต ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ จนมาเป็น “แป๊ะเซี้ย”ตำนานขนมจีบ 100 กว่าปี แห่งถนนแปลงนาม เยาวราช 

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ