3 ฮาว ทู รอดทางการเงินในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้ทำร้ายแค่สุขภาพแต่กัดเซาะไปถึงกระเป๋าสตางค์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง หลายคนชีวิตสะดุด รายได้หดหาย แต่หนี้สินทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่าหนี้บัตรเครดิต ยังต้องจ่ายเท่าเดิม เราจะเป็นผู้ที่อยู่รอดในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร มนุษย์ต่างวัย ชวนคุยกับ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เพื่อรับมือกับวิกฤตทางการเงินในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อย่างมีสติ

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อปากท้องของคนไทยอย่างไร

“วิกฤตโรคระบาดโควิด -19 ไม่ได้ทำร้ายแค่สุขภาพแต่ยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจลดลง ร้านอาหารคนไปน้อยลง ห้างสรรพสินค้าคนไปเดินน้อยลง การเดินทางสาธารณะผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเป็นความหวาดระแวง เกิดเป็นความซบเซา เกิดเป็นความกังวลที่ซ่อนอยู่ในแววตาของคนไทย เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้อยู่ดีๆ รายได้ที่เคยได้รับหายไป ที่เรียกกันว่า Income shock ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

“คนที่มีเงินออมก็รอด แต่ถ้าคนไม่มีเงินออมจะทำอย่างไร และที่แย่กว่านั้นคือ บางคนรายได้ที่รับไม่ใช่รายได้ประจำ ไม่ใช่เงินเดือนประจำ แต่เป็นรายได้จากการเป็นนายหน้า เซอร์วิสชาร์จ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตปรากฏว่ารายได้หายไปครึ่งหนึ่ง หรือบางคนรายได้เท่ากับศูนย์ไปเลย ในขณะที่ภาระหนี้สินยังมีอยู่เท่าเดิม และกำลังเดินหน้าต่อ แต่จะทำอย่างไร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโรคระบาดโควิด -19 ที่ทุกคนกลัว”

วิธีเอาตัวรอดทางการเงินจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

“ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่านี่ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกที่เราเคยเจอ แต่เราเจอวิกฤตแบบนี้มาตั้งแต่โรคระบาดซาร์ส เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 การประท้วงบนท้องถนน กระทั่งวิกฤตในครั้งนี้ที่เรียกว่าภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่มาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บและสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อ คนที่กำกับดูแลสถาบันการเงินหรือที่เราเรียกว่าเจ้านายของสถาบันการเงิน เขารู้ว่าผลกระทบมันจะค่อยๆ รุนแรง สิ่งที่เขาทำก็คือปี 2563-2564 จะเป็นมหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ทุกคนเดินผ่านจุดวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ คำถามคือคนที่เป็นลูกหนี้ควรทำอย่างไร เพื่อเอาตัวรอดทางการเงินในวิกฤตโรคระบาดโควิด -19”

วิธีเอาตัวรอดขั้นที่ 1 คุยกับเจ้าหนี้

“สำรวจรายได้ของตัวเองที่เคยได้รับก่อนเกิดวิกฤตและหลังเกิดวิกฤต ว่ามีรายได้เท่าไหร่ และรายได้ที่คิดว่าจะได้รับในระยะที่อยู่ในช่วงวิกฤตไปจนถึงสิ้นปี 2563 และสิ้นปี 2564 จะมีรายได้เท่าไหร่ สำรวจหนี้สินที่ต้องจ่ายมีค่าอะไรบ้าง เป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องจ่าย ห้ามหลอกตัวเอง จากนั้นเดินไปหาเจ้าหนี้เพื่อเจรจาการชำระหนี้ บอกข้อมูลรายได้และแจกแจงรายจ่าย และเงินที่จะเหลือมาผ่อนชำระหนี้ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

“กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ จะประกอบไปด้วย การปรับโครงสร้างหนี้แบบป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย การปรับโครงสร้างหนี้แบบที่เราเรียกว่าเป็นหนี้เสียไปแล้ว และการพักชำระหนี้ แขวนต้นจ่ายแต่ดอก หรือชำระบัตรเครดิต เช่น จ่าย 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ไหวขอจ่ายแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามช่องทางที่เจ้าหนี้ระบุ

“การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่ตราบาป ไม่ใช่ความผิด แต่เป็นการปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ ให้เข้ากับการเงินที่จะไหลเข้ามา และเงินที่จะต้องใช้จ่ายออกไป เป็นการปรับสมดุลรายรับรายจ่าย เพื่อให้เราอยู่รอดในช่วงระยะเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูง เพราะฉะนั้นเมื่อเขาได้เปิดประตูให้แล้ว ตัวเราต้องมั่นใจ ยอมรับความจริง และเดินผ่านประตูนั้นเข้าไป”

ช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

“ประชาชนทั่วไปที่เป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ช่องทางช่วยเหลือในเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือ (โทร) 1213 ศูนย์ให้ความคุมครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเข้าเว็บไซต์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จะมีข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมจัดการกับหนี้ของธนาคารต่างๆ เพื่อให้ลูกหนี้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่การเจรจากับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้”

วิธีเอาตัวรอดขั้นที่ 2 ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

“เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เริ่มมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้น แต่ความคล่องตัวทางการเงินเกิดจากการที่เราทำไม่ได้ตามสัญญาแรกที่ทำไว้กับเจ้าหนี้ ทำให้ต้องทำตามสัญญาที่สอง การปรับสมดุลตรงนี้เราไม่รู้ว่ามันจะถาวรหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้นทุนตอนนี้ ไม่ควรเอาตัวเองไปแบกภาระอะไรอีก ดังนั้นความอยากทั้งหลายต้องหยุด เราต้องตระหนักก่อนว่าสิ่งของจำเป็นคืออะไร ไม่ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เลิกใช้คำว่าของมันต้องมี เพราะความอยากกับความจำเป็นวันนี้มันจะเป็นเครื่องมือที่พิสูจน์สติปัญญาของเราว่า เราจะสามารถแบ่งแยกได้หรือไม่ เรามีวิธีจัดการความคิดของเราอย่างไร ถ้าเราใช้เงินอย่างไม่คิด สิ่งที่ไม่คาดคิดจะตามมา เหมือนกับคำที่มีคนบอกว่า ถ้าเราซื้อของที่ไม่จำเป็นในวันนี้ วันข้างหน้าเราอาจจะได้เอาของที่จำเป็นออกมาขาย

วิธีเอาตัวรอดขั้นที่ 3 อดออมเงิน

“จงอดออม อดทน ไม่กินไม่ใช้ยามที่ไม่จำเป็น เพื่อนำมาใช้ยามจำเป็น วันนี้คนที่มีเงินออมกับคนที่ไม่มีเงินออม แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนบางคนที่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี เขาจะมีเงินอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่คนที่ไม่มีเงินเก็บเดือนชนเดือน เพราะฉะนั้นความกดดัน ความเครียด มีไม่เท่ากัน พิสูจน์ให้เห็นเลยว่าเงินออมช่วยให้อยู่รอดได้ในยามวิกฤต คนที่มีเงินออมจะเป็นคนที่ยังสามารถยืนหยัดได้

“จงตั้งสติในการใช้ชีวิต แล้วเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน”


        สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ