สิ้นลมอย่างสงบงดงาม ตามวิถีแห่งสมณะ ‘สันติภาวัน’ สถานพำนักภิกษุอาพาธระยะท้าย

การมั่นใจว่าเราจะมีคนดูแลและมีบ้านอันสงบร่มเย็นเป็นที่พักพิงในวันที่อายุมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ยิ่งถ้าสถานที่นั้นมีมิตรสหายคอยช่วยประคับประคองใจในวาระสุดท้าย ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการจากไปอย่างสงบสุขได้ ยิ่งถือว่าเป็นการมีชีวิตยามแก่เฒ่าอย่างมีคุณภาพ

เรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นไปได้ยากสำหรับคนธรรมดาแล้ว แต่กับกลุ่มคนที่เลือกอุทิศชีวิตภายใต้ผ้าเหลืองอย่าง “พระภิกษุสงฆ์” นั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากกว่า เนื่องจากพระภิกษุทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาล้วนต้องจากบ้าน ห่างเหินจากญาติพี่น้อง และใช้เวลาเกือบทั้งหมดที่วัด เมื่อต้องอาพาธจึงปราศจากผู้ดูแล และสถานที่พักพิงที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาจิตใจอย่างเหมาะสมในช่วงบั้นปลายของชีวิต

มนุษย์ต่างวัยพาทุกคนไปพูดคุยกับ พระวิชิต ธมุมชิโต (อายุ 57 ปี ) ผู้ริเริ่ม “ศูนย์พระวิชิต ธมุมชิโตี่ดูแลภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย ที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุผู้ที่ตั้งใจบวชอุทิศตนต่อพระศาสนาจนถึงวันที่ต้องมรณภาพอย่างสงบภายใต้วิถีแห่งสมณะอย่างที่ควรเป็น

หลวงพ่อวิชิตเล่าให้มนุษย์ต่างวัยฟังว่า “ในฐานะพระรูปหนึ่งที่อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา อาตมาพบว่าทุกวันนี้มีภิกษุอาพาธระยะสุดท้ายจำนวนมาก ที่ปรารถนาจะมรณภาพอย่างสงบภายใต้ผ้าเหลือง โดยไม่ขอยื้อชีวิต ไม่ขอพึ่งพิงเทคโนโลยีเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ขอลาสิกขาไปสิ้นลมที่บ้าน แต่จะอยู่อย่างสงบที่วัดก็ขาดผู้ดูแลกับทักษะเบื้องต้นในการทำหน้าที่ดังกล่าว ฉะนั้นการมีสถานที่ดูแลพระอาพาธระยะท้าย เพื่อเตรียมการให้ท่านจากไปอย่างสงบงดงามและเกื้อกูลต่อจิตใจของพวกท่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”

ศูนย์สันติภาวัน เริ่มต้นที่วัดป่า “สุคะโต” จังหวัดชัยภูมิ เมื่อต้นปี 2563 โดยมีพระวิชิตเป็นผู้ก่อตั้ง และ “พระไพศาล วิสาโล” เป็นประธานกิตติมศักดิ์ โดยเริ่มจากปรับปรุงกุฏิด้านหน้าวัดเพื่อรองรับการดูแลพระอาพาธ ซึ่งไม่จำกัดสำนัก นิกาย และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อพบว่าโครงการเป็นที่ยอมรับของหมู่สงฆ์และญาติโยม ประกอบกับได้มีผู้ศรัทธาถวายพื้นที่อันสัปปายะให้ 15 ไร่ ที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ให้ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอสอยดาวตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน

ความตั้งใจของหลวงพ่อวิชิตร คือการสร้างศูนย์ที่สามารถดูแลพระอาพาธระยะท้ายแบบประคับประคองเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อรักษาให้หายขาด ทางศูนย์จึงไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่และไม่มีเทคโนโลยีซับซ้อนในการรักษา แต่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่พักพิงแห่งสุดท้ายให้แก่พระอาพาธที่ขาดที่พึ่งพิงยามแก่เฒ่า และให้พวกท่านได้สิ้นลมภายใต้ผ้าเหลืองอย่างที่ปรารถนา

หลวงพ่อวิชิตร แบ่งพระที่ทางศูนย์สันติภาวันรับดูแลเป็น 3 กรณี
กรณีที่ 1 พระอาพาธระยะสุดท้ายที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง หมดทางรักษา และกำลังจะมรณภาพอีกไม่นาน
กรณีที่ 2 พระอาพาธที่มีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่อยากใช้เวลาช่วงสุดท้ายเพื่อพัฒนาจิต
กรณีที่ 3 พระอาพาธที่ติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือญาติพี่น้องและทางวัดดูแลไม่ไหว

“สถานที่ของเราล้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม อากาศปลอดโปร่ง ต้นไม้ร่มรื่น ลำธารไหลผ่าน และมีอาคารสำหรับพักอาศัยแค่ไม่กี่หลัง เพื่อให้ดูแลพระอาพาธได้อย่างใกล้ชิด โดยบรรยากาศแบบนี้เอื้อต่อการทำสมาธิ รักษาจิตใจให้สงบ ซึ่งที่นี่ก็มีกิจวัตรประจำเหมือนวัดทั่วไปคือตื่นตี 4 มาสวดมนต์ เสร็จแล้ว ตี 5 จึงมาดูแลพระอาพาธ หลังจากนั้นออกบิณฑบาต แล้วกลับมาเตรียมอาหารให้พระอาพาธฉัน ถ้าท่านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เราก็ต้องป้อน กว่าจะเสร็จก็ 10 โมง ช่วงบ่ายก็ซักผ้า ทำกิจส่วนตัว ทำวัตรเย็น แล้วจึงกลับมาดูแลพวกท่านก่อนเข้านอนอีกรอบ

“เราจะช่วยให้พวกท่านสบายกายสบายใจมากที่สุด ทั้งช่วยพลิกตัว เช็ดตัว ทำแผล ให้ฉันยาลดไข้ ยาแก้ปวดเพื่อรักษาไปตามอาการ คอยอยู่เป็นเพื่อนคุย ถามสารทุกข์สุกดิบ สวดมนต์เป็นเพื่อนเพื่อไม่ให้พวกท่านรู้สึกโดดเดี่ยว ถึงแม้พระอาพาธส่วนใหญ่ที่เรารับมาดูแล จะอยู่ในภาวะหลงๆ ลืมๆ และสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่หลายๆ รูปก็ยังคงมีรอยยิ้ม และความเบิกบาน แสดงออกมาให้เราเห็นชัดเจน เพราะพวกท่านคงเกิดความสบายใจที่มีกัลยาณมิตรช่วยประคับประคองใจให้สงบเย็นในวาระสุดท้าย และเมื่อถึงวันที่พวกท่านมรณภาพ เราจะจัดพิธีศพแบบเรียบง่าย โดยนำไปเผาวัดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงและให้ญาติที่เหลือมาส่งท่านเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจึงนำอัฐิท่านมาฝังดินเพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ที่ศูนย์สันติภาวัน”

ปัจจุบันศูนย์สันติภาวันมีแค่ 6 เตียงสำหรับรับรองพระอาพาธที่แวะเวียนกันมาตลอดเวลาจากทุกทิศทั่วประเทศไทย ซึ่งทุกรูปเป็นพระที่ทางวัดและทางบ้านไม่สามารถดูแลได้ แต่ทางศูนย์นั้นก็มีคนดูแลน้อยเช่นกัน โดยมีแค่หลวงพ่อวิชิตรที่อยู่ประจำและทำหน้าที่ทุกอย่างเป็นหลักแค่รูปเดียว ส่วนพระรูปอื่นที่อยากมาช่วยงานนั้น มักอยู่ทำหน้าที่ได้ไม่ได้นาน เนื่องจากติดภาระจากวัดเดิม ทำให้พระที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของการมาศึกษาดูงาน เพื่อนำความรู้กลับไปดูและพระอาพาธที่วัดตัวเองมากกว่าจะมาอยู่ถาวร…แต่เพียงเท่านี้หลวงพ่อวิชิตรก็ปลื้มใจมากแล้ว

“อาตมาไม่ได้คาดหวังว่าที่นี่จะขยายใหญ่โตจนรองรับพระอาพาธทั่วประเทศได้มากขึ้น แต่อาตมาอยากให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบของการดูแลพระอาพาธทั่วประเทศ ทำให้เห็นว่ามันง่าย ให้ทุกคนพบว่าทำที่วัดตัวเองหรือที่จังหวัดตัวเองก็ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงขอศูนย์สันติภาวัน

“พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าไว้ว่า ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด ซึ่งเราอาจจะตีความว่าการทำบุญกับพระอาพาธ เทียบได้กับการทำบุญกับพระพุทธเจ้า แต่จริงๆ แล้วอาตมามองว่าเป็นการการเห็นคุณค่า และการมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรือ พ่อแม่ของเรา เมื่อพวกท่านชราลงก็ต้องการดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสมกันทั้งนั้น

“ความตั้งใจของอาตมาคืออยากให้ท่านทั้งหลายที่ได้ฟังเรื่องราวนี้ นึกถึงผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ตัวท่านเป็นหลัก ซึ่งศูนย์สันติภาวันยินดีต้อนรับจิตอาสาทุกท่านที่อยากเข้ามาเรียนรู้วิธีดูแลพระอาพาธระยะสุดท้าย จะมาเป็นจิตอาสาหนึ่งอาทิตย์หรือหนึ่งเดือนก็ได้ เผื่อวันหนึ่งท่านจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากเรา ไปดูและผู้สูงอายุใต้ชายคาบ้านและวัดของท่านเมื่อถึงคราวจำเป็น

“การดูแลผู้สูงอายุใกล้ตัวท่านนี่แหละ คือการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หากเราสามารถดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยในบ้าน และดูแลพระอาพาธในชุมชนของตัวเองได้เมื่อไหร่ พระพุทธศาสนาในสังคมของเราก็จะมั่นคง แข็งแรงไม่เสื่อมคลาย และมีอายุยืนยาวไปอีกหลายพันปี”

สำหรับใครที่สนใจสนับสนุน “ศูนย์สันติภาวัน” ทั้งการเป็นอาสาสมัคร และบริจาคสิ่งของ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่เว็บไซต์ https://santibhavan.or.th

บริจาคผ่านบัญชีธนาคาร สามารถโอนเข้า “บัญชีมูลนิธิสันติภาวัน”
ธนาคารกรุงไทย สาขาบางกรวย เลขที่ 109-0-30655-5
ธนาคารกสิกรไทย สาขาสอยดาว เลขที่ 075-8-10936-4

Credits

Author

  • นิติภัค วรนิติโกศล

    Authorปรกติไม่ชอบความวุ่นวาย เวลาว่างชอบอ่านหนังสือกับเล่นเกม ความฝันสูงสุดของชีวิตคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ