ใครว่ามีแต่ผู้สูงวัยไทยเป็นเหยื่อนักต้มตุ๋น ส่องผลสำรวจ จาก 3 ประเทศ ที่จะบอกว่าผู้สูงวัยแบบไหน คือเป้าหมายมิจฉาชีพ
read : SOCIETY
read : SOCIETY
มีผลสำรวจที่น่าสนใจบอกไว้ว่า…
เพศชายมีแนวโน้มถูกมิจฉาชีพหลอกมากกว่าเพศหญิง คนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ (55-64 ปี) มีแนวโน้มเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากกว่าคนสูงอายุมากๆ คนที่ถูกมิจฉาชีพหลอก ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความรู้ รู้จักใช้เทคโนโลยี
ผู้สูงอายุที่ถูกหลอกจำนวนมาก เลือกไม่ไปแจ้งความหรือติดตามเอาเงินคืน มีเพียงแค่ 6.5% ที่ตามเอาเงินคืน . ความสามารถในการแยกแยะของสมองว่าใครน่าไว้ใจ ไม่น่าไว้ใจ (สมองส่วน anterior insula) ของผู้สูงวัยจะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้สูงวัยตกเป็นเหยื่อได้ง่ายกว่า
การโดนหลอก โดนโกง จากมิจฉาชีพกลายเป็นประเด็นยอดฮิตที่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกวัย ต่างหวาดกลัว เพราะแม้ว่าจะมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยๆ จากข่าวหลายช่องทาง แต่ก็ยังมีคนที่พลาดโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก จนต้องเสียเงิน เสียทรัพย์สิน ของตนเองให้มิจฉาชีพไปอย่างน่าเจ็บใจ
มนุษย์ต่างวัยมีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและดูแลผู้สูงวัย ถึงข้อมูลผลสำรวจจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ๆ อย่าง จีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ยกระดับการระบาดของแก๊งมิจฉาชีพเป็นวาระระดับชาติมานานกว่า 8 ปีแล้ว
ข้อมูลต่อจากนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับการต้มตุ๋นก่อนที่จะเงินจะหมดบัญชีจากกลลวงของแก๊งมิจฉาชีพ
“การระบาดของแก๊งมิจฉาชีพที่เกิดขึ้น ไม่ได้ระบาดหนักแค่ประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศอเมริกามีการประชุมระดับประเทศ ในเรื่องของผู้สูงอายุ และจัดให้เรื่องของการละเมิดในผู้สูงอายุว่าเป็น 1 ใน 4 เรื่องสำคัญระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากที่สุด และได้จัดให้ปัญหานี้เป็นประเด็นหลักที่ต้องมีการสำรวจระดับชาติ
“ในปี พ.ศ. 2560 (2017) David Burnes และคณะได้สังเคราะห์งานวิจัยที่สำรวจกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงทำกิจกรรมต่างๆ อย่างแอคทีฟและไม่ได้มีปัญหาด้านสมองและความจำ โดยการสำรวจครอบคลุมผู้สูงอายุถึง 41,711 คน พบว่ามีผู้สูงวัยที่ตกเป็นเหยื่อราวๆ ร้อยละ 5-6 คน ซึ่งถือว่าสูงมาก (ผู้สูงวัยเดินมา 18 คน พบเหยื่อยที่เคยถูกหลอก 1 คน) ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล และไม่แค่นั้นการหลอกลวงนี้ยังส่งผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจ หรือสุขภาพจิตของผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก แตกต่างกับผู้สูงวัยที่มีการทำงานของสมองและความจำไม่ได้สมบูรณ์เท่าผู้สูงวัยปกติ ซึ่งมีจำนวนคนที่ถูกหลอกน้อยกว่ามาก อธิบายได้ว่าผู้สูงวัยกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ
“การหลอกลวงที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัยถูกแบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรก เป็นการละเมิด ฉ้อโกง หลอกลวงจากคนใกล้ชิดที่ผู้สูงอายุไว้ใจ มีความเชื่อใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ส่วนใหญ่กรณีนี้ก็จะเป็นมรดกของผู้สูงวัย เอกสารต่างๆ ที่มีผลต่อทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก แบบที่สอง คือการละเมิด ฉ้อโกง หลอกลวง จากแก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก ซึ่งมีเทคนิคทางการตลาดและเล่ห์เหลี่ยมมากมาย
“ผลการสำรวจระบุไว้ว่า เทคนิคในการหลอกลวกมีตั้งแต่ 3 ถึง 22 ประเภท ซึ่งที่น่าตกใจคือ เทคนิคการหลอกลวง 22 ประเภทนี้ คือการสำรวจเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ลองคิดดูว่าผ่านมาจนถึงปัจจุบันเทคนิคกลโกงของมิจฉาชีพจะอวตารเพิ่มขึ้นขนาดไหน เปรียบได้ว่าความรู้ในการหลอกลวงในปัจจุบันอาจจะมีมากกว่าความรู้ในการป้องกันเสียอีก”
“งานวิจัยของ Anderson สำรวจคนอเมริกันที่เป็นเหยื่อการฉ้อโกง โดยตั้งคำถามว่า คนวัยไหนมีโอกาสเป็นเหยื่อการถูกหลอกมากกว่ากัน ซึ่งผลการสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 9.1 ของผู้ที่เป็นเหยื่อ มีอายุช่วง 55 ถึง 64 ปี (มากที่สุด) ช่วงอายุ 65-74 ปี รองลงมา และน้อยที่สุดคือ อายุ 75 ปี
"อธิบายได้ว่าคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยสูงอายุมีแนวโน้มเป็นเหยื่อมากกว่า เพราะกลุ่มนี้ยังมีเงินอยู่ จึงมักถูกคนใกล้ตัวหลอกเรื่องทรัพย์สิน และถูกทอดทิ้งเมื่อหมดประโยชน์ โดยมีคำอธิบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับสารในสมองว่า ความสามารถในการแยกแยะของสมองว่าใครน่าไว้ ไม่น่าไว้ใจของคนสูงวัยจะลดลง และจะยิ่งลดลงเรื่อยๆ อีก เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจาก UCLA (2012) บอกไว้ว่า สมองส่วน anterior insula (สำคัญต่อการสังเกตใบหน้าที่ไม่น่าไว้วางใจ) ทำงานน้อยลง ทำให้ผู้สูงวัยจึงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายกว่า”
“การสำรวจระดับประเทศ โดยอาจารย์จาก Hiroshima University ในหัวข้อที่ว่า ใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของการหลอกลวงฉ้อโกงเงิน ผลการสำรวจพบว่า คนญี่ปุ่นทุกวัยมีความเสี่ยงในการถูกหลอกลวง ไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ลักษณะของการหลอกนั้นจะมีการพัฒนาไปคนละแบบให้เหมาะกับเป้าหมาย
“ถ้าเป็นกลุ่มผู้ชายที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ไม่ค่อยพอใจในสถานภาพทางการเงินของตนเองมากนัก มักเป็นตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงเช่น หลอกให้ช่วยเหลือแล้วจะตอบแทนและเรียกเก็บเงินก่อน หากเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นใจมากหน่อยก็มักจะตกเป็นเหยื่อในรูปแบบการชักชวนให้ลงทุน หรือทำธุรกิจที่จะได้รับผลตอบแทนสูงๆ
“ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีหลักทรัพย์ แต่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องทางการเงิน กลุ่มนี้มักจะตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ ถูกหลอกให้เสียเงินเพื่อหวังได้รับของที่มีมูลค่าสูง การศึกษานี้ยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่มีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงฉ้อโกงเงิน คือคนที่มีนิสัยซื้อของแบบไม่ค่อยระมัดระวัง ไม่ดูตัวเลขในใบเสร็จ และคนที่กำลังมีความทุกข์จากความเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง
“ในสังคมไทยมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่มีความเหงา ชีวิตต้องการความตื่นเต้น ให้ความรู้สึกแบบได้ลุ้นของในกล่องสุ่ม ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เสี่ยงโชคก็อาจตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงฉ้อโกงเงิน ซึ่งอาจไม่ใช่กลลวงที่สูบเงินผู้สูงอายุไปเยอะ แต่สามารถหลอกผู้สูงวัยกลุ่มนี้ได้ในระยะยาวเลยก็ได้
“ในทางจิตวิทยามีคำอธิบายที่เรียกว่า Sunk Cost Fallacy หรือ หลุมพรางทางจิตวิทยา ที่ระบุว่าไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เมื่อเราหลวมตัวลงทุนไปแล้ว จ่ายไปแล้ว ถ้าหยุดกลางคันตอนนี้เท่ากับว่า ที่ทำมาทั้งหมดสูญเปล่า จึงดันทุรังพยายามที่จะไปต่อเป็นเหตุถูกหลอกต่อไปเรื่อยๆ”
“ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานสถิติคดีอาญาตั้งแต่ปี 2544-2558 พบแนวโน้มผู้สูงอายุถูกฉ้อโกงทรัพย์สินสูงขึ้น 10 เท่า และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) ปี พ.ศ. 2560 พบว่า กลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60-69 ปี มีความเสี่ยงที่สุด ซึ่งมีความใกล้เคียงกับผลสำรวจของต่างประเทศที่บอกไว้ว่า คนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัย มีแนวโน้มเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากกว่าคนอายุมากๆ”
“เมื่อผู้สูงอายุถูกหลอกไปแล้ว มีเพียง 25.75% ที่ไปแจ้งความไว้กับตำรวจ ขณะที่ 46.75% เลือกโพสต์ประจานหรือประกาศลงสื่อสังคมออนไลน์ และมีเพียง 6.5 % ที่แจ้งความและติดตามเอาเงินคืน อาจเพราะด้วยจำนวนเงินไม่มาก คิดว่าแจ้งความไปก็ไม่คุ้มค่าเสียเวลา จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้มิจฉาชีพลอยนวล และก่อเหตุซ้ำ”
“ข้อแรก คือการให้ข้อมูลผู้สูงอายุให้มากที่สุด การเตือนภัยล่วงหน้าทำให้ท่านเกิดความตระหนัก ยิ่งผู้สูงอายุทราบว่ามิจฉาชีพจะมีกลวิธีไหนบ้างที่ใช้หลอกเขา ท่านจะยิ่งระวังมากขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยได้เยอะมากเป็นอันดับหนึ่ง
“ข้อต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การช่วยกันแชร์ข้อมูลประสบการณ์การถูกหลอกให้คนรู้มากที่สุด การแจ้งความอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป หลายๆ ที่รับมือด้วยการการทำแบบฟอร์มว่าใครโดนหลอกบ้าง โดนอย่างไร ลักษณะของคนหลอกเป็นแบบไหน แล้วกระจายข้อมูลให้ทราบโดยทั่วกัน หรือสมัยนี้ง่ายที่สุดเลยคือการแชร์เรื่องราวลงโซเชียลมีเดียให้มีคนรับรู้มากที่สุด จะยิ่งลดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
“ข้อสุดท้ายช่วยให้ผู้สูงอายุ ทราบว่าจะแจ้งเรื่องนี้แก่ใคร อย่างไร ก็จะทำให้ท่านมีภูมิต้านทานต่อการถูกหลอกได้ดีขึ้น การแจ้งเหตุการณ์ทันที การระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นับเป็นการช่วยหยุดวงจรได้อย่างรวดเร็ว”
“ในระดับครอบครัวการเตือนตรงๆ หลังจากเกิดหตุการณ์โดนหลอกไปแล้ว อาจกลายเป็นผลเสียมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะหากจังหวะไม่เหมาะสม เช่น ผู้สูงอายุยังตกใจ หรือมีความสะเทือนใจ ช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจมีความรู้สึกเสียหน้า ถูกหยามเกียรติ หรือรู้สึกเหมือนถูกลบเหลี่ยม หนำซ้ำอาจรู้สึกว่าตนเองเป็นต้นเหตุทำให้ลูกหลานจะมาเดือดร้อน
“กรณีนี้ลูกหลานอาจจะต้องดูท่าทีผู้สูงอายุด้วย ไม่รีบเตือนด้วยอารมณ์หงุดหงิด โกรธ หรือกล่าวโทษกัน และควรให้เวลารอให้ท่านเป็นฝ่ายเล่าเรื่องราวทั้งหมดเอง หรือหากจังหวะเหมาะสมอาจถามด้วยความเข้าใจ และอยากช่วยเหลือ แล้วจากนั้นค่อยหาทางแก้ปัญหากัน
“ในด้านของผู้สูงวัยหากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ จะต้องรีบตั้งสติ และเริ่มทำใจให้ได้ว่าอะไรที่เสียไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้มันกลับคืน ฉะนั้นอย่าไปจมอยู่กับความเจ็บช้ำใจนานเกินไป ถ้าเอากลับมาได้ก็ดี แต่ถ้าเอาคืนไม่ได้ให้ยอมรับและเข้าใจ เอาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตต่อไป ช่วยกันระมัดระวังในครอบครัว หรือคนรอบตัวตลอดเวลา อาจจะต้องเพิ่มเรื่องนี้เข้าไปอีกเรื่องหนี่ง ของการพูดคุยบนโต๊ะอาหาร เพื่อเตือนสติตนเองตลอดเวลา”
ข้อมูลโดย
ศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและดูแลผู้สูงวัย
เพจสุขสูงวัยใจลั้ลลา (โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มและผลิตสื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีความสุข สุขภาวะ และสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ)