ฮาวทูชราอย่างสดใสในไตล์ ‘สดใส ขันติวรพงศ์’

ในช่วงวัยหนึ่ง ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเฝ้าฝัน อยากแต่งงานและอยากเป็นแม่คน

และเมื่อถึงวัยหนึ่ง หญิงโสดหลายคนกลัว ‘ความโดดเดี่ยว’ เพราะไร้ลูกหลานดูแลในวัยชรา

ในวัย 72 ปี ชีวิตของ สดใส ขันติวรพงศ์ นักแปลระดับตำนานแห่งวงการวรรณกรรมไทยยังคงสถานะเป็น ‘สาวโสด’ โดย อาศัยอยู่ในทาวน์เฮาส์แฝด 2 ชั้นหลังเล็กๆ กับสุนัขพันธุ์ทาง 3 ตัว ที่เก็บมาเลี้ยงด้วยความสงสาร

ได้ยินเท่านี้ หลายคนคงจินตนาการถึงภาพคนแก่ขี้เหงาที่มีเพียงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน แต่ความจริงนั้นกลับตรงข้าม เพราะนักแปลสาวโสดพูดถึงความเหงาว่า

“จะเหงาไปทำไม ในเมื่อเรามีหนังสือดีๆ เป็นเพื่อนร่วมทางมาตลอดชีวิต ทุกวันนี้ชีวิตเรารู้ตื่น รู้เบิกบาน เรียกว่า fulfilled มีความสุขสมบูรณ์แล้ว”

เส้นทางชีวิตที่สดใส

เด็กหญิงสดใส ขันติวรพงศ์ เป็นบุตรสาวคนที่ 6 ของหนุ่มจีนที่ล่องเรือจากโพ้นทะเลมาอาศัยอยู่ที่บ้านแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และแต่งงานกับหญิงลูกครึ่งไทย – จีน ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 7 คน แต่หลังจากน้องคนสุดท้องเสียชีวิตในวัยเยาว์ เด็กหญิงสดใสจึงถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นน้องคนเล็กสุดโดยอัตโนมัติ

เป็นธรรมดาของครอบครัวยุคก่อนที่มีลูกมาก น้องเล็กของบ้านมักได้รับความรักและโอกาสในการเรียนมากกว่าพี่ๆ คนเป็นพี่มักจะต้องเสียสละอนาคตทางการศึกษาเพื่อช่วยพ่อแม่ดูแลน้องๆ ที่คลานตามกันมาอีกหลายชีวิต

การเสียสละของพี่ทำให้น้องลำดับท้ายๆ ได้เรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวของเด็กหญิงสดใสเองก็เป็นแบบที่ว่ามา

บันทึกบนเฟซบุ๊ก ‘สดใส ขันติวรพงศ์’ เล่าถึงช่วงเวลานี้เอาไว้ว่า

“ฉันเรียนหนังสือชั้นประถมอย่างไม่ได้คิดถึงอนาคต ว่าต่อไปชีวิตจะเป็นอย่างไร เรื่องการเรียนหนังสือต่อหลังจากจบ ป.สี่ไม่อยู่ในหัวเลย รู้แต่ว่าถ้าอยู่ที่บ้านก็ไม่อดตาย ได้ยินแม่พูดบ่อยๆ ว่าทะเลให้เราทุกอย่าง การเรียนต่อเพื่อมีงานทำจึงเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน”

แต่หลังจบชั้นประถม 4 ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียนประชาบาลบ้านแหลมสักเมื่อ 60 ปีก่อน เด็กหญิงสดใสต้องจากบ้านริมทะเลของเธอ นั่งเรือนาน 7 ชั่วโมง มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองกระบี่เพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมต้น หน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่เรียนหนังสือ แต่ต้อง ‘เรียนหนังสือให้เก่ง’ เพื่อตอบแทนความรักและการเสียสละที่พี่ๆ มีให้กับน้องเล็ก

นับตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ชื่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหมุดหมายที่นักเรียนหัวกะทิใฝ่ฝันถึง สำหรับเด็กเมืองกรุงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะสอบติดโรงเรียนแรก แล้วเรียนต่อในมหาวิทยาลัยรั้วติดกันได้

แต่สำหรับเด็กนักเรียนจากท้องทะเลอันดามันชื่อสดใส การสอบติดสถาบันทั้ง 2 แห่งนับเป็น ‘ข่าวใหญ่’ ของครูบาอาจารย์ที่เคยสอนเธอมาเลยทีเดียว เพราะเธอเป็นตัวแทนเด็กนักเรียนจากหมู่บ้านเล็กๆ บนชายฝั่งทะเลอันดามันคนแรกที่สอบติดทั้ง 2 สถาบันการศึกษาตามลำดับ ได้เป็นนิสิตใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2511 และเรียนจบพร้อมกับเกียรตินิยมอันดับสอง

ชีวิตเมืองกรุงที่สะดวกสบายอาจน่าดึงดูดใจจนเด็กจากต่างจังหวัดหลายคนไม่อยากหวนคืนบ้านเกิด ทว่าสำหรับเด็กสาวจากท้องทะเลอันดามันคนนี้ เธอกลับคิดถึงหาดทราย สายลม และทะเลแสนงามที่เติบโตมามากกว่า

อาชีพครูคือทางเลือกของบัณฑิตสดใส ขันติวรพงศ์ เธอนึกถึงอาชีพนี้เพราะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือช่วยเปิดโลกกว้างให้ตัวเอง จึงอยากถ่ายทอดทั้งความรู้และความรู้สึกเดียวกันนี้ให้กับนักศึกษา ด้วยความตั้งใจนี้ทำให้หลังเรียนจบจากรั้วจุฬาฯ ชื่อของเธอจึงอยู่ในทำเนียบอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูสงขลา นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา

หลังจากทำงานได้ 1 ปี สดใสกลับไปกรุงเทพ ฯ อีกครั้งเพื่อคว้าปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์จากคณะเดียวกัน ก่อนจะกลับไปเป็นอาจารย์ต่อในปี 2520 ซึ่งช่วงเวลาที่เรียนปริญญาโทนี้เป็นช่วงเดียวกันกับที่เธอเริ่มเข้าสู่วงการนักแปล

งานแปลวรรณกรรมเรื่องแรกเริ่มต้นในวัยเพียง 24 ปี ประเดิมด้วยหนังสือเรื่อง บทเรียน (The Prodigyของเฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมันรางวัลโนเบล ผลงานชิ้นแรกนำไปสู่การแปลงานของเฮสเสอย่างต่อเนื่องเรื่อยมารวมทั้งหมด 13 เล่ม จนได้ฉายาว่า “ลูกสาวเฮสเส”

ในเวลาต่อมา เธอเริ่มทำงานแปลงานวรรณกรรมทางศาสนา รวมทั้งงานเชิงปรัชญาความคิดเพื่อยกระดับจิตวิญญาณ จนถึงวันนี้ มีผลงานแปลและงานบรรณาธิกรณ์ ร่วม 100 เล่ม ในจำนวนนั้นมีเล่มที่ใช้เวลาแปลยาวนานที่สุดถึง 2 ปี คือ ภควัทคีตา พระเจ้าสนทนากับอรชุน คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งมีความหนารวม 2 เล่ม รวม 1,209 หน้า

หากนับจำนวนอายุการทำงานแปลจนถึงวันนี้นับได้ 48 ปีแล้ว เมื่อเทียบกับอายุ 72 ปีในปัจจุบัน หนังสือจึงเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางชีวิตของนักแปลท่านนี้มายาวนานจน หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและจิตวิญญาณ

“การแปลก็เหมือนตัวเราได้เข้าไปอยู่ในนั้น ถ้าเรามีนิสัยแบบไหน ถ้อยคำที่เราเลือกใช้ก็จะออกมาแบบนั้น งานที่เราทำอยู่ต้องมีความประณีต เวลาทำงานเราจะเป็นตัวละครทุกตัวเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราควรจะใช้คำอย่างไร

“การเป็นนักแปล เราต้องเห็นใจตัวละครในเรื่อง บางเรื่องทำงานไปก็ร้องไห้ไป บางทีต้องหยุดสะอื้นสักนิดก่อนแล้วค่อยทำต่อ”

แม้ว่าจะมีหนังสือเป็นเหมือน ‘เพื่อนแท้’ แต่คงยากจะปฏิเสธว่า ความรักแบบหนุ่มสาวก็เป็นสิ่งที่หญิงสาวทุกคนเคยวิ่งตามหา

“ผู้หญิงทุกคนอยากแต่งงานมีครอบครัว เราเองก็เคยรู้สึกแบบนั้น ตอนทำงานเป็นครูปีแรกก็มีหนุ่มมาจีบและขอแต่งงาน เราก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเราต้องกลับไปเรียนปริญญาโทก่อน ตอนนั้นเสียใจอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเราตัดสินใจแล้วก็ควรเคารพการตัดสินใจของตัวเอง พอตอนหลังมีผู้ใหญ่อยากให้เราแต่งงานก็เลยจับผู้ชายนัดมาเจอกัน ครั้งนั้นเครียดมาก เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่

“หลังจากนั้นก็คิดว่า เราคงไม่มีดวงชีวิตคู่ แต่ไม่เคยรู้สึกเหงา ไม่เคยอยากให้ใครมาดูแล เพราะเราอยู่กับญาติ มีกลุ่มเพื่อน เราชอบอ่านหนังสือ มีหนังสือเป็นเพื่อน เลยไม่ได้รู้สึกว่าการไม่มีคู่ครองเป็นความเหงา”

แต่ชีวิตไม่ได้มีแค่สูตรสำเร็จ คือ การแต่งงานและมีลูกเท่านั้น โชคชะตาอาจกำหนดมาให้คนบางคนมีลูกโดยไม่ต้องแต่งงาน

เหมือนอย่างที่อาจารย์สดใสกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวทันที เมื่อต้องอุปการะหลานสาววัย 9 ขวบ และหลานชายวัย 5 ขวบ ที่พ่อแม่เลิกรากันเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน

“การที่เราไม่ได้แต่งงาน แล้วเราคิดว่าสูญเสีย บางทีอาจเป็นพรสำหรับเราก็ได้”

ในวัย 51 ปี ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันอาจมีลูกเรียน มหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงานกันแล้ว แต่แม่ลูกสองคนนี้กลับเพิ่งเริ่มต้นรับ – ส่งลูกวัย อนุบาลและประถม

ใครเคยเป็นแม่คนจะรู้ว่า บทบาทนี้ไม่ง่ายเลย

แม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น

เมื่อต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น อาจารย์สดใส ตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดตอนอายุ 51 ปี เพราะต้องดูแลเด็ก 2 คนด้วยตัวเอง เพื่อนร่วมงานต่างห่วงใยเรื่องรายได้ที่ไม่มั่นคง แต่เพราะเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าการอุปการะเด็กทั้งสองด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ เทวดาบนฟ้าคงจะช่วยดูแลทั้งตัวเธอเองและเด็กๆ

หลังลาออกจากราชการ อาจารย์สดใสได้รับเชิญให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ ซึ่งเธอเลือกตอบรับตามที่สามารถจัดสรรเวลาได้ และทำงานแปลควบคู่กันไปด้วย

ดูเหมือน ‘เทวดา’ จะคอยส่งงานมาให้แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้จนพอที่จะดูแลลูกๆ ได้โดยไม่ลำบาก

“เราอุปการะเด็กๆ เพราะทนเห็นเขาอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ครูบาอาจารย์สอนว่า การบูชามีหลายแบบ ถ้าเราดูแลคน ดูแลสัตว์ เทวดาก็จะดูแลเรา เราแค่รู้สึกว่าเราต้องให้การศึกษา เลี้ยงดูไปจนกว่าเขาจะดูแลตัวเองได้ เราไม่ได้คาดหวังอะไรจากเขา แค่เขาดูแลตัวเองได้ เท่านี้เราก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องมาดูแลเรา”

แน่นอนว่า การเลี้ยงเด็ก 2 คนที่มาจากครอบครัวแตกร้าวไม่ใช่งานง่าย ลำพังอาหารกายยังเติมเต็มได้ด้วยสิ่งที่มองเห็น แต่อาหารใจต้องเติมด้วยความรักและความเข้าใจ เด็กถึงจะเติบโตอย่างถูกทาง

“การเลี้ยงเด็กไม่ได้ราบรื่นตลอด เหนื่อยก็เหนื่อย หนักก็หนัก บางทีก็รับไม่ไหว เครียดมาก แต่เราเชื่อว่าเราดูแลเขาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เงินที่ใช้ทุกบาททุกสตางค์ก็เป็นเงินบริสุทธิ์จากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา เงินตรงนี้จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นเด็กดี แม้จะมีเกเรไปบ้างตามประสาวัยรุ่นก็เป็นเรื่องธรรมดา”

หากการแปลหนังสือคือภาคทฤษฎีของชีวิต การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ถือเป็นภาคปฏิบัติ บทเรียนจากการเลี้ยงเด็กทำให้อาจารย์สดใสมองเด็กรุ่นใหม่ด้วยสายตาที่เข้าใจมากขึ้น

“เมื่อก่อนเราจะคาดหวังกับนักเรียนว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เด็กทุกคนก็มีจุดบกพร่องของตัวเอง การเลี้ยงเด็ก 2 คนนี้สอนเราเยอะ ยังเคยพูดกับเพื่อนเลยว่า ฉันขอบใจที่ได้เลี้ยงเด็ก 2 คนนี้ ไม่อย่างนั้นฉันอาจจะเป็นคนที่เอาตัวเองเป็นเกณฑ์ตัดสินหมด เอาจากทฤษฎีไหนก็ไม่รู้ ทั้งที่ชีวิตจริงมันไม่ใช่ พอเราทำความเข้าใจ เราก็จะเห็นใจเขามากขึ้น รับรู้สุขทุกข์ไปกับเขา ความเข้าใจทำให้เราอ่อนโยนลง

“เราตัดสินคนอื่นน้อยลง ฝึกทำความเข้าใจมาตลอด 20 กว่าปีที่เลี้ยงเขา เขามาเพื่อสอนเรา ศึกษากันและกัน เรียนรู้การปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่น อย่าไปหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน แต่ถ้าเขาจะตอบแทนอะไรมาก็ดีกับตัวเขาเอง

“หนังสือที่เราแปลเหมือนเป็นภาคทฤษฎี แต่เด็ก 2 คนที่เลี้ยงมาเหมือนเป็นภาคปฏิบัติในชีวิตจริง”

หลังจากทำหน้าที่แม่เลี้ยงเดี่ยวจนลูกบุญธรรมทั้งคู่เติบโต เรียนจบ มีงานทำ และแยกออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ชีวิตของนักแปลสูงวัยก็กลับมา ‘โสด’ อีกครั้ง

“เลี้ยงเด็กมาตั้ง 20 กว่าปี เมื่อก่อนพอเขากลับดึก เราก็นอนไม่หลับเพราะเป็นห่วง ตอนนี้รู้สึกเป็นอิสระมาก ไม่เหงา ไม่เศร้า

“จะเหงาทำไม เสียเวลาเหงา ชีวิตมันต้องเบิกบานสิ (ยิ้ม)”

สดใสวัยชรา

“ตามตำราฝรั่งบอกว่า นอน 3 ทุ่ม ตื่นตี 5 ชีวิตจะยืนยาวถึง 90 ปี ทุกวันนี้ เราก็ตื่นตี 5 ปล่อยหมาไปวิ่งเล่นถึงเกือบ 6 โมง หลังจากนั้นก็วาดรูปพร้อมใส่กลอนบรรยายภาพ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กทุกเช้าเพื่อบริหารสมองทุกวัน สายหน่อยก็เริ่มทำงานแปลวันละ 3 – 4 ชั่วโมง

“การคิดคำภาษาไทยให้สละสลวยก็เหมือนเด็กเล่นเกม สมองเราก็จะไม่หยุดนิ่ง เราสนุกกับการแปล สนุกกับการคิดว่าเราจะถอดออกมาเป็นคำภาษาไทยได้อย่างไร พอตกบ่ายถ้าง่วงก็งีบหลับ ตกเย็นอยากออกไปพบปะใครก็ขับรถออกไปเอง 3 ทุ่มก็เข้านอน ไม่เคยรู้สึกเหงา”

เพื่อนในวัยชราของคนส่วนใหญ่มักเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ ‘เพื่อน’ ของนักแปลมือรางวัลท่านนี้ ส่วนใหญ่กลับเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักถิ่นฐานบ้านเกิด ในช่วงหลายปีมานี้ คนหนุ่มสาวที่เคยไปเรียนในเมืองกรุงต่างทยอยกลับมาทำธุรกิจที่สงขลา ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟชิคๆ ร้านหนังสือเล็กๆ หรืออาร์ตแกลเลอรีที่ฉายหนังนอกกระแสทุกวันศุกร์ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก จนทำให้เมืองสงขลามีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์

“เราเป็นครู ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กรุ่นใหม่มาตลอดชีวิต การทำงานแปลตลอดเวลาทำให้เราทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่คิดอะไร ที่สงขลาตอนนี้มีคนรุ่นใหม่กลับมาฟื้นฟูบ้านเกิด อยู่กับเด็กรุ่นใหม่แล้วมีความสุขมาก ได้เห็นการเติบโต เห็นอนาคต เห็นสิ่งที่เขาทำ”

การคบเด็กต่างยุคสมัย หัวใจของผู้ใหญ่ต้องลบอคติเก่าออกไปเสียก่อน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทัศนคติคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามา

“เวลาเข้าเมืองจะเจอเด็กรุ่นใหม่มากกว่าเพื่อนวัยเกษียณ เพราะเพื่อนวัยเดียวกันจะคุยแต่เรื่องสุขภาพ หรือบ่นลูกหลาน ฟังมากๆ ก็หดหู่ แล้วพอเราเป็นผู้สูงวัย เราจะพูดเรื่องซ้ำซากโดยไม่รู้ตัว เด็กก็จะเบื่อ ขนาดเรารุ่นเดียวกัน เรายังเบื่อเลย แล้วเด็กเขาจะมาฟังเราเหรอ ช่วงที่เราเลี้ยงเด็ก 2 คน เราก็เคยพูดเรื่องเดิมซ้ำเป็นสิบครั้งโดยไม่รู้ตัว แล้วเราก็มาหงุดหงิด โกรธเด็กที่ไม่สนใจฟังผู้ใหญ่”

“คนแก่ส่วนมากห่วงลูก ห่วงหลาน เราควรจะปล่อยวางได้แล้ว ชื่นชมชีวิตรอบตัว ตื่นเช้ามาเห็นดวงอาทิตย์ ต้นไม้ใบหญ้า พบปะกับพวกเด็กรุ่นใหม่ก็สบายใจดี เราสามารถเป็นคนแก่ที่น่ารักกับคนหนุ่มสาวได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการที่เรารู้สึกดีกับเขาก่อน ต้องเข้าใจว่าเขาเกิดในยุคสมัยที่แตกต่างจากเรา อย่าไปตั้งแง่กับเขาก่อนว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

คนรักการอ่านจะรู้ว่า โลกของหนังสือคือเพื่อนแท้ที่พาเราท่องเที่ยวไปได้กว้างไกล ทั้งสถานที่ที่มีอยู่จริงและในจินตนาการ ใครมีหนังสือเป็นเพื่อน คนคนนั้นก็แทบจะไม่มีที่ว่างสำหรับความเหงา

ตลอด 48 ปีบนเส้นทางนักแปลวรรณกรรมระดับโลกที่เน้นเนื้อหาการยกระดับจิตใจของอาจารย์สดใส ไม่เพียงจำนวนผลงานแปลที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 เล่มเท่านั้น แต่ระดับความลึกของเนื้อหาที่ก้าวข้ามกรอบคิดของศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ช่วยยกระดับจิตใจของผู้แปลให้เกิดความเมตตาต่อทุกคนที่พบเจอด้วยเช่นกัน

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า หนังสือเหล่านี้ได้สร้างอาณาจักรของกัลยาณมิตรให้กับนักแปลระดับตำนานท่านนี้ เพราะไม่ว่าจะไปไหนอาจารย์สดใส มักจะมีคนรู้จัก ชื่นชม และหยิบยื่นมิตรไมตรีมาให้จนชีวิตไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย

“การอ่านช่วยหล่อหลอมโลกทัศน์มาตั้งแต่เด็กๆ เรารู้สึกว่างานที่เราทำมีความหมายทั้งต่อตัวเราเองและคนอ่าน งานของเฮสเสจะเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตคนอื่นและกับธรรมชาติ ทำให้เราอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจคนอื่น เราได้ความอ่อนไหวต่อมนุษย์จากการอ่านงานพวกนี้

“การทำงานแบบนี้ทำให้เราเรียนรู้ที่จะมีชีวิตที่มีชีวิตจริงๆ หรือ Live my life. ชื่นชมสิ่งรอบตัว ถ้าเราเห็นสิ่งรอบตัวมีคุณค่า เราก็จะไม่ได้หวังความสำเร็จใหญ่โต

“สิ่งที่เราได้รับคือการมองโลกว่าความงามคืออะไร เราไม่เคยเรียน art appreciation มาก่อน แต่การแปลงานของเฮสเสมาตลอดได้หล่อหลอมสิ่งนี้ให้อยู่ในตัวเรา แค่นี้ก็เป็นรางวัลชีวิตแล้ว การได้แปลวรรณกรรมเอกของโลกเป็นเหมือนสมบัติอันมีค่า เรารู้สึกว่าเรามั่งคั่งมาก (หัวเราะ)”

เมื่อ 1 ปีก่อน อาจารย์สดใสป่วยเป็นโรคงูสวัดอยู่นานหลายเดือน ระหว่างที่ไม่สบายจนลุกขึ้นมาทำงานไม่ได้นั้น เพื่อนๆ จึงส่งอุปกรณ์วาดรูปมาให้คลายเบื่อ ทำให้ความสุขจากการทำงานศิลปะเริ่มก่อตัวขึ้น

จากการวาดด้วยปากกาแท่งเดียวบนกระดาษ ขยับสู่การวาดรูปด้วยพู่กันบนเฟรมผ้าใบทุกเช้า พร้อมใส่คำกลอนประกอบภาพ หากเช้าวันไหนไม่เห็นโพสต์ภาพวาดจากเฟซบุ๊ก สดใส ขันติวรพงศ์ บรรดาเพื่อนในเฟซบุ๊ก ก็จะเริ่มสงสัยว่าเธอหายไปไหน

“เพื่อนบางคนบอกว่า นอนซึมเซาเพราะไม่มีเหตุผลที่จะตื่นเช้า บางคนถามว่า ทำไมเธอขยันวาดรูปจัง เราก็บอกว่า ไม่ได้ขยันหรอก แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผลที่จะตื่นตอนเช้าเพื่อวาดรูปส่งให้พวกเธอดูไง บางคนไม่กล้าโพสต์รูปที่ตัวเองวาด เราบอกว่า เจ็ดสิบแล้วจะไปอายอะไรเล่า เราไม่กลัวใครตำหนิ ไม่ได้ส่งไปประกวดนี่นะ

“บางคนก็วิจารณ์ว่าไม่สวย เราวาดไม่เหมือน เราก็บอกว่า จะทำให้เหมือนทำไม ถ้าอยากดูรูปเหมือนก็ไปดูรูปถ่ายสิ อันนี้มันมีตัวเราอยู่ในนั้น เราเห็นดอกนี้เป็นแบบนี้ เราไม่ได้โกรธคนที่วิจารณ์นะ เพราะเราข้ามพ้นทฤษฎีไปหมดแล้ว ถ้ารูปที่วาดมันมีวิญญาณเราอยู่ในนั้น เราก็โอเคแล้ว ใครดูได้ก็ดู

“เรามั่นใจว่าความงามมีในตัวทุกคน ไม่มีถูกมีผิด เรารู้จักตัวเราเองว่าเป็นแบบนี้ สิ่งเหล่านี้เราได้มาจากการอ่านงานเฮสเสทั้งนั้น”

ขอบใจวัยชรา

ชีวิตบั้นปลายของหลายคนมักหันหน้าเข้าวัด แต่หากใครทำบ้านให้เป็นวัดได้ ชีวิตคนนั้นก็อิ่มเอมในธรรมะได้เช่นกัน เพราะคำว่า ธรรมะ คือการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในทุกๆ ขณะของชีวิต

“เราจะทำบ้านให้เป็นวัด เป็นที่อยู่ของคน สัตว์ ​ต้นไม้ ทุกวันนี้มื้อเย็นก็กินเป็นอาหารเบาๆ ถ้าจำเป็นต้องออกไปงานเลี้ยงก็กิน ไม่ได้เคร่งครัด จนชีวิตไม่มีความสุข ”

คนส่วนใหญ่มักมองเห็นการเติบโตของร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนจึงมุ่งแสวงหาอาหารดีๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทว่ากลับลืมเติมอาหารทางจิตวิญญาณให้ตัวเอง กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อถึงวัยชราแล้ว จิตวิญญาณจึงสึกหรอจนยากจะซ่อมแซม หรือหาวิตามินบำรุงใดๆ มาเสริมได้ทันเวลา สุดท้ายจึงกลายเป็นคนชราที่มีแต่ความทุกข์รอบตัว

“ถ้าเราไม่กล่อมเกลาตัวตนของเราบ้าง ตัวตนก็จะยิ่งใหญ่ ‘ฉัน’ มันยิ่งใหญ่ ฉันถูกอยู่คนเดียว เราจะตัดสินคนรุ่นใหม่ตามเกณฑ์ยุคเก่าที่สั่งสมมาแล้วก็จะทุกข์เองนะ เพราะเรามองคนอื่นเป็นปัญหา เขาไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ กลายเป็นพลังงานลบ คนแก่ที่มีตัวตนมากก็ทุกข์มาก เพราะมองคนอื่นผิดหมด จนบางทีลูกหลานก็ถอยหนีไป”

หนังสือ ขอบใจวัยชรา เป็นหนึ่งในหนังสือที่อาจารย์สดใสแปลและเผยแพร่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแปลหนังสือเล่มนี้ทำให้มองเห็นแง่งามของวัยชราและมีความสุขกับชีวิตยิ่งขึ้น

“ตอนแปล ขอบใจวัยชรา เหมือนแปลให้ตัวเองอ่าน เขาบอกว่า ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องไปกลัว หนังเหี่ยว ผมหงอก ก็ให้ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ บางคนผมหงอก 1 เส้นก็เป็นทุกข์แล้ว พอเราปล่อยวางเรื่องความสวยงาม เราก็ทุกข์น้อยลง เสียสตางค์น้อยลง

“คนชราป่วยเป็นอัลไซเมอร์กันมาก คนส่วนใหญ่จะคิดแต่เอ็กเซอร์ไซส์ร่างกาย แต่ลืมไปว่าสมองก็ต้องการการเอ็กเซอร์ไซส์ด้วย ตัวเราพยายามดูแลให้เซลล์สมองทำงานตลอดเวลา เช่น การวาดรูป เขียนกลอนโพสต์เฟซบุ๊กทุกวัน งานแปลก็ช่วยได้ ถ้าเราคิดซ้ำซากอยู่แต่กับเรื่องเดียว สมองจะทำงานอยู่ส่วนเดียว แต่ถ้าถึงวันหนึ่ง เราแก่หง่อมไปตามสภาพ ต้องให้คนอื่นดูแลก็ค่อยหาคนมาดูแล เราไม่ได้อยู่กับความกลัว เราพร้อมจะรับตลอดเวลา”

ตลอดชีวิตการเดินบนถนนนักแปลเกือบ 50 ปี รางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่น สุรินทราชาจากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 นับเป็นหนึ่งในรางวัลอันน่าภาคภูมิใจของชีวิต นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรางวัลอันทรงเกียรติ รวมถึงคำชื่นชมที่น่าภาคภูมิใจ จากนักคิด นักเขียน และนักอ่านในวงการวรรณกรรม

“ต้องขอบคุณชีวิตตัวเองที่เกิดมาท่ามกลางท้องทะเลอันดามันและสังคมที่อบอุ่น ถ้าเราสามารถอยู่อย่างแข็งแรงได้โดยไม่เป็นภาระให้กับใครก็อยากอยู่ให้นานที่สุด อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น ตอนนี้พร้อมจะตายวันไหนก็ได้ เพราะรู้สึกว่าใช้ชีวิตมาคุ้มแล้ว สิ่งที่ควรทำก็ทำแล้วตามกำลังของตัวเอง ทิ้งมรดกเป็นหนังสือไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านกัน”

หากคุณเป็นสาวโสดที่ได้อ่านเรื่องนี้ ให้รู้ไว้ว่าคุณอาจเป็นคนโชคดีที่ได้รับ ‘พรอันประเสริฐ’ ไม่ต้องห่วงกังวลกับลูกหลานหรือคนรัก แต่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุขได้เหมือนนักแปลชั้นครูท่านนี้

“ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิต ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่เสีย ไม่มีอะไรเสียโดยไม่ได้มา ทุกอย่างคือการเรียนรู้ชีวิต ความสุขอยู่ตรงที่เราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในทุกขณะของชีวิตนั่นเอง ”

Credits

Author

  • วันดี สันติวุฒิเมธี

    Authorนักเขียนสารคดีชายขอบ ชอบทำงานจิตอาสา เป็นลูกครึ่งนิเทศศาสตร์ผสมมานุษยวิทยาที่ชอบเล่าเรื่องคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจงดงาม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ