เมื่อหลานชายวัยละอ่อน สอนคุณยายให้เป็นเกมเมอร์

หากคุณอายุ 82 ปี ที่ชีวิตในแต่ละวันมีแค่ตื่นเช้า ทำความสะอาดบ้าน ดูทีวี เดินเล่นในสวน และสวดมนต์ไหว้พระ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณอยากแต่งเติมชีวิตให้มีสีสันและความท้าทาย จะมีสิ่งใดบ้างที่คุณอยากทำ

เที่ยว วาดรูป เล่นไพ่นกกระจอก ออกกำลังกาย แต่งตัวโฉบเฉี่ยวกระชากวัย ฯลฯ

ไม่ว่าคุณจะเลือกข้อไหนก็ไม่ผิด เหมือน คุณยายประพิศ ม่วงคู ที่ไม่เลือกอะไรสักอย่างที่ว่ามา หากแต่เลือกที่จะเล่นเกมกับหลานชายวัย 22 แทน แถมไม่ได้เล่นเฉยๆ เพราะหลานชายยังถ่ายทำคอนเทนต์ลงใน TikTok ช่อง ‘ละอ่อน Live Game’ จนโด่งดังกลายเป็นขวัญใจในหมู่เกมเมอร์วัยรุ่น

“แรกๆ เราก็บ่นหลานว่าเล่นเกมอะไร เสียงดัง แต่พอหลานชวนเล่นก็เลยลองดู มันก็สนุก ตื่นเต้นดี ชีวิตมีสีสันขึ้นกว่าเดิมเยอะ” คุณยายวัย 82 ว่าพลางหัวเราะ

มานั่งคิดดู คนอายุปูนนี้กับการเล่นเกมออนไลน์ ไม่น่าจะเป็นอะไรที่มาบรรจบพบกันได้ แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทุกอย่างได้เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน

เหตุเกิดจากความซวยของหลานชาย ที่แทบไม่เคยได้ ไอเทม ดีๆ เวลาเล่นเกม


 คลิปคุณยายเล่นเกมทำยอดพุ่ง 300,000 วิว ในคืนเดียว

แม้ไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด แต่ คุณยายประพิศ ม่วงคู ก็นับได้ว่าเป็นแม่อีกคนในชีวิตสำหรับ ‘อ้น’ – ชิตวร นามเสถียร

เด็กหนุ่มวัย 22 เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของคุณยายที่มีอายุแก่กว่าถึง 60 ปี เนื่องจากแม่แท้ๆ ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องออกไปทำงานหารายได้เข้าบ้าน ด้วยเหตุนี้อ้นกับคุณยายจึงมีความสนิทสนมกันมาก อย่างไรก็ตามด้วยความที่เติบโตมาคนละยุคสมัย การมองโลกและความเข้าใจในอะไรหลายๆ อย่างจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงไลฟ์สไตล์และความชอบส่วนบุคคลด้วย

ในขณะที่ยายชอบไหว้พระ สวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบอยู่เงียบๆ หลานอย่างอ้นกลับหลงใหลในการเล่นเกม และมักส่งเสียงดังโวยวายขณะเล่น ซึ่งทุกครั้งก็จะตามมาด้วยเสียงบ่นของยาย

“ความฝันของเราคือการทำในสิ่งที่ชอบและเลี้ยงครอบครัวได้ เราเป็นคนชอบสร้างความบันเทิง ชอบอยู่เบื้องหน้า ก็มานั่งค้นหาว่าจะทำอะไร สุดท้ายเราก็เลือกที่จะเล่นเกมอีกครั้ง หลังจากหยุดพักไป 4 ปี ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นสมัยเรียนมัธยม เราเคยเป็นเกมแคสเตอร์ (Game Caster) หรือที่ภาษาคนเล่นเกมเรียกว่านักแคสเกม มาก่อน ก็คือการเล่นเกมให้เป็นคอนเทนต์แล้วนำมาตัดต่อลง YouTube หรือสื่อโซเชียลต่างๆ จากนั้นก็จะมีรายได้จากสปอนเซอร์ จากยอดวิวและโฆษณาใน YouTube แต่ถ้าเป็นสตรีมเมอร์ (Streamer) ก็จะเป็นการเล่นเกมแบบไลฟ์สดไม่ต้องมาตัดต่อทีหลัง

“พอเราตัดสินใจเดินหน้าสายเกมเมอร์เต็มตัว ด้วยการกลับมาเล่นเกมอีกครั้ง ยายก็จะบ่น เพราะบางทีเราจะเสียงดังเวลาที่ตื่นเต้น ซึ่งยายก็ไม่เข้าใจหรอก เพราะเขาเล่นไม่เป็น ยายจะบ่นว่าเล่นอะไรเสียงดัง ไร้สาระ ไม่เห็นจะมีอะไรดี ฯลฯ จะบ่นไปสารพัดตามแต่ยายจะหามาบ่นได้

“คราวนี้ในการเล่นเกมมันจะมีการสุ่มเอาไอเทม เอาของต่างๆ เราสุ่มเองทีไรจะดวงซวย ได้แต่ของไม่ดีทุกที พอดีเราเห็นว่ายายไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน คิดว่าน่าจะมือดี ก็เลยชวนยายมากดสุ่มไอเทมให้เรา แล้วก็อัดคลิปเอาไว้ ปรากฏว่าสุดท้ายได้ของไม่ดีพอกัน เราก็แซวยายไปว่าอุตส่าห์ยืมมือยาย นึกว่าจะได้ของดี ยายเขาก็บ่นว่าพามาทำอะไรก็ไม่รู้ พอบ่นมากเข้าเราก็เลยคิดว่า ไหนๆ บ่นมากนักก็เลยชวนยายเล่นเกมเสียเลย จะได้เข้าใจเรา ยายก็ไม่อิดออด ให้ลองก็ลอง”

หลังจากยืมมือยายมาสุ่มไอเทมหาของดี กลายเป็นว่าสุดท้ายยายมานั่งจับเมาส์จับจอยเล่นเกมเสียเอง ซึ่งหลานอย่างอ้นก็ไม่พลาดที่จะอัดคลิปทุกอิริยาบถของคุณยายวัย 82 เอาไว้ด้วย ก่อนทำการอัปลงโซเชียลฯ ในวันต่อมา

“พออัปคลิปยายเล่นเกมครั้งแรกลงไป ปรากฏว่าแค่คืนเดียวยอดพุ่งไป 300,000 วิว เราเองทำมาตั้งนาน ยังไม่เคยได้ยอดวิวขนาดนี้มาก่อน มีแต่คนดูเข้ามาแสดงความคิดเห็น บอกอยากดูยายอีก ยายน่ารักดี ขอให้เอาคลิปยายมาลงอีกเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นช่อง TikTok ในปัจจุบันนี้”

‘ละอ่อน Live Game’ กลายเป็นช่อง TikTok ที่มีบรรดาเกมเมอร์และผู้ติดตามมากกว่า 100,000 คน แน่นอนว่าคนที่ทำให้ยอดผู้ติดตามพุ่งสูงมากขนาดนี้คงหนีไม่พ้นสุภาพสตรีวัย 82

ด้วยอายุขนาดนี้ ในคนวัยเดียวกันอาจเดินเหินลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย หรือนั่งสนทนากับความเหงาเดียวดาย ยากที่จะหาผู้สูงอายุคนไหนมานั่งสวมหูฟัง จับจอยเล่นเกมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ดังเช่นคุณยายประพิศ

บุคคลที่ทำให้จักรวาลเกมต้องสั่นสะทือน


 เกมเมอร์วัยเก๋า

“อย่าว่าแต่เรื่องเล่นเกมเลย เอาแค่เปิดทีวีดูบางทียังมีปัญหา สมมติถ้าเราบอกให้ยายปิดคอมพิวเตอร์ เข้าใจว่ายายน่าจะเดินตรงไปชักปลั๊กออกทันที”

ประโยคที่อ้นกล่าวมาข้างต้นบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่น้อยนิดในตัวคุณยาย ดังนั้นการจะฝึกให้ยายเป็นเกมเมอร์คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ อย่างไรก็ตามโค้ชอย่างอ้นก็ไม่ได้คิดจะไปรีบเร่ง แต่ค่อยๆ ปูพื้นฐาน ให้ยายเรียนรู้อย่างช้าๆ หากเปรียบยายเป็นนักฟุตบอล เขาก็เริ่มต้นจากการสอนพื้นฐานอย่างการเลี้ยง ส่ง โหม่ง ยิง ให้ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยปล่อยลงไปเล่นในสนาม

“เราเริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐานเลยว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างเรียกว่าอะไร ใช้ทำอะไรบ้างในการเล่นเกม จากนั้นก็ลองให้ยายสัมผัส การจับเมาส์ต้องจับยังไง คีย์บอร์ดต้องกดตรงไหน วางนิ้ววางมืออย่างไร ปุ่มไหนใช้เดินปกติ ปุ่มไหนใช้ย่องหรือเดินเบา จะเปลี่ยนกระสุน จะยิงต้องทำอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อยให้ยายลองเล่น พอเล่นจริงๆ จากที่ยายเคยบ่นเราว่าเสียงดัง ยายนี่เสียงดังยิ่งกว่าเราอีก”

Valorant คือเกมที่อ้นลองให้ยายประเดิมเล่นเป็นครั้งแรก ถือเป็นเกมที่ยากอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งหัดเล่นเกมใหม่ๆ เนื่องจากเป็นเกมแนวยิงปืน ปะทะกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม จึงต้องใช้ทักษะพร้อมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนซุ่มโจมตี การหลบหลีก ความเร็ว สายตา การควบคุมสภาพจิตใจในสถานการณ์ที่กดดัน ตื่นเต้น ฯลฯ ผิดกับเกมรูปแบบอื่น

“ถ้าเป็นเกมธรรมดา ฝ่าด่านผจญภัยไปเรื่อยๆ ก็ไม่น่าจะใช้ทักษะอะไรมาก แต่เกม Valorant ที่เราปล่อยให้ยายเล่นนี่ถือว่ายากเลย เราอยากท้าทายยาย ก็เลยให้เล่นเกมที่ใช้ทักษะหลายอย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งยายก็ทำได้ดีเลย เรียนรู้ไวมาก แต่ตอนเข้าสู่สถานการณ์กดดันก็จะทำอะไรไม่ค่อยถูกบ้าง”

นับถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้วที่คุณยายวัย 82 จะมานั่งเล่นเกมกับหลานชายวัยต้น 20 โดยอ้นจะกำหนดให้ยายเล่นเพียงวันละประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จะมีเพิ่มให้บ้าง 20-30 นาทีในกรณีที่คุณยายติดลม แต่ก็จะควบคุมไม่ให้เกินกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการ Motion Sickness หรือที่คนเล่นเกมเรียกว่าอาการเมาภาพจากหน้าจอ

“ยายจะเล่นเกมก่อนละครหลังข่าวมา โดยเราจะกำหนดเวลาให้เล่นอยู่วันละประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ยายเขาก็จะรู้ตัวเองว่าเล่นแค่ไหนถึงพอ อาจจะมีติดลมบ้าง แต่ถ้าไม่ไหวเขาจะบอกเองว่าพอแล้ว”

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีปริมาณที่พอดีเป็นของตัวเอง หากเรารักษาความเหมาะสมนั้นเอาไว้ได้ มันก็จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต

เกมและเทคโนโลยีก็เช่นกัน หากควบคุมให้ผู้สูงวัยเล่นและใช้เวลาให้พอดี มันก็จะกลายเป็นความสุขชั้นดีในชีวิตปู่ย่าตายายของเรา


 ความเปลี่ยนแปลงของคุณยาย

เมื่อได้สัมผัสกับการเล่นเกม หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของคุณยายประพิศก็เกิดความเปลี่ยนแปลง หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

“สิ่งแรกที่เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของยายหลังจากที่เล่นเกมคือ ประสาทการรับฟังและตอบโต้ของคุณยายไวขึ้น เมื่อก่อนเวลาเราคุยหรือถามอะไรไป ยายจะไม่ค่อยได้ยินหรือพอได้ยินก็ตอบช้า พูดก็ไม่ชัดถ้อยชัดคำ ผิดกับตอนนี้ที่ถามอะไรไปจะตอบกลับมาเลย พูดชัดไม่ต้องเงี่ยหูฟัง เรียกว่าตื่นตัวมากกว่าเดิม

“อีกอย่างที่เรารู้สึกได้ก็คือยายดูมีความสุขขึ้น ร่าเริงขึ้นกว่าเมื่อก่อน คือถ้าไม่ได้มาเล่นเกม กิจกรรมแต่ละวันของยายก็จะเป็นกิจกรรมที่เรียบๆ ไม่หวือหวา เช่น ทำความสะอาดบ้าน เดินเล่นในสวน สวดมนต์ ไหว้พระ ฯลฯ แต่เมื่อมาเล่นเกมมันทำให้เลือดลมสูบฉีด มีอะไรให้ตื่นเต้นตลอดเวลา ทำให้ยายรู้สึกว่าชีวิตไม่เงียบเหงา ไม่น่าเบื่อ”

สิ่งที่หลานชายวัย 22 สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของคุณยายตรงกับที่เกมเมอร์วัย 82 รู้สึกกับตัวเองเช่นกัน

“ตอนแรกที่อ้นมาชวนเล่นเกม ยายก็กล้าๆ กลัวๆ นะ แต่ก็คิดว่าเปิดใจลองดู พอเริ่มเล่นก็เก้ๆ กังๆ กดผิดกดถูก เดินไม่ไป ยิงไม่ถูก แต่กลับรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่าลุ้นตลอดเวลา จนต่อมาเรายิงได้ มันดีใจสุดๆ เลย รู้สึกว่าเราทำได้แล้ว ก็จะเฮกันดังมาก”

สำหรับผู้สูงวัยหลายๆ คน การเปิดใจต้อนรับเทคโนโลยี อาจนำมาซึ่งหลายสิ่งหลายอย่าง บางคนได้ความรู้ บางคนได้ความสุข บางคนนำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดนำมาซึ่งรายได้งดงาม แต่สำหรับคุณยายประพิศ หากจะถามว่าการเล่นเกมมอบอะไรให้กับตัวเองมากที่สุด ก็น่าจะเป็นความปลาบปลื้มและการรู้สึกได้ถึงคุณค่าในตัวเอง

“การเล่นเกมมันเปิดโลกของเรา ทำให้เราดีขึ้นแล้วก็ไม่เหงา ที่ว่าไม่เหงา ไม่ใช่เพราะเราได้เล่นกับหลาน แต่เป็นเพราะทุกครั้งหลังจากเราเล่นเกม อ้นจะเอาความคิดเห็นของคนที่เขาติดตามเรามาอ่านให้ฟัง เราฟังแล้วก็ปลื้มใจที่คนหนุ่มคนสาวเขาชื่นชอบในตัวเรา ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

“การเล่นเกมทำให้ชีวิตบั้นปลายของยายมีความหมายมากๆ เลย”  


 ความเปลี่ยนแปลงของหลานชาย

การได้เล่นเกมด้วยกันไม่ได้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดีของคุณยายเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่มุมมองและทัศนคติของหลานชายที่เคยมีต่อผู้สูงวัยก็แปรเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน

“เมื่อก่อนเราจะมองคนแก่ว่าเป็นคนที่ไม่ควรทำอะไรแล้ว เป็นวัยที่ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดู แต่พอเราได้เล่นเกมกับยาย ได้สอนยายเล่นเกม ใกล้ชิดกับยายมากขึ้น ความคิดก็เปลี่ยนไปเลย เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ผู้สูงวัยทุกคนมีความสามารถที่จะทำอะไรก็ได้เหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่เราพร้อมที่จะเปิดใจ และให้โอกาสพวกเขาหรือเปล่า”

ในมุมมองของอ้น ‘ความคิด’ และ ‘ความกลัว’ คืออุปสรรคอันใหญ่หลวงที่ตัดตอนศักยภาพของผู้สูงวัยหลายๆ คนไม่ให้เฉิดฉายออกมาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นความคิดของลูกหลาน หรือความคิดของตัวผู้สูงวัยเองก็ตาม

“ความคิดและความกลัวคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ถ้าเรากล้าที่จะเปิดใจและให้โอกาส เขาก็สามารถทำอะไรได้มากมาย ผู้สูงวัยบางคนยังเล่นกีฬาได้ ยังบริหารงานได้ หรือยายของเรายังสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีอย่างการเล่นเกมออนไลน์กับเด็กวัยรุ่นได้ นั่นก็เพราะเขาก้าวข้ามกำแพงความคิดและความกลัวออกมาได้

“เราอยากให้ผู้สูงวัยหลายๆ คนเชื่อมั่นในตัวเองว่าเรามีดีกว่าที่คิด แล้วก้าวออกมาทำในสิ่งที่อยากทำ จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ จะไปเที่ยว จะเล่นกีฬา ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกมหรือเทคโนโลยีก็ได้ เพียงแต่ถ้านำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับสิ่งที่ชอบได้ ทุกอย่างมันก็จะง่ายดายขึ้น”

ขอแค่ก้าวข้ามอุปสรรคที่อยู่ในใจออกมา แล้วจะพบความจริงว่า ‘ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะสนุกกับชีวิต’

 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ