‘โดนัทซินนามอน’ เมนูซิกเนเจอร์ แห่งซีเปียวพาณิชย์ ร้านเบเกอรี่อายุยาวนานกว่า 70 ปี

 

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักกับ ‘ซีเปียวพาณิชย์’ ร้านเบเกอรี่แห่งแรก ๆ ของ จ.เชียงราย ที่เปิดกิจการมาแล้วกว่า 70 ปี เป็นร้านในความทรงจำของคนเชียงรายตั้งแต่คนรุ่นปู่ ย่า ตา ยายจน ถึงรุ่นหลาน กับเมนูซิกเนเจอร์ “โดนัทซินนามอน” ที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรจากมิชชันนารี ซึ่งเปิดเตาอบขนมส่งต่อความอร่อยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคสงครามโลกจนถึงปัจจุบัน

  

ซีเปียวพาณิชย์ธุรกิจครอบครัวอายุ 70 ปี ที่เกิดและเติบโตที่เชียงราย

“สวัสดีครับ มีโต๊ะนั่งหรือยัง  เชิญนั่งได้เลยตามสบายเลยครับ”

นี่คือเสียงที่ลูกค้าคุ้นเคยเมื่อมาถึงซีเปียวพาณิชย์ และเจ้าของเสียงก็คือ   คุณพ่อปรีชา พฤกษ์พงศาวลี วัย 71 ปี   ทายาทรุ่นที่ 3  แห่งซีเปียวพาณิชย์ที่คอยทักทายลูกค้าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม และเมื่อมีโอกาสก็จะเริ่มเล่าประวัติร้านให้ทุกคนฟังอย่างไม่เคยเบื่อ

คุณพ่อปรีชา เริ่มต้นเล่าว่า ซีเปียวพาณิชย์ เริ่มมาตั้งแต่ยุคของคุณตาคือนายอาน แซ่กว่าง เป็นชาวจีนไหหลำที่อพยพจากมณฑลยูนนานประเทศจีนมายังประเทศไทย และตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ จ.เชียงราย เนื่องจากเป็นเมืองการค้าที่เชื่อมต่อทั้งลาวและพม่า

ตอนเริ่มแรกอาชีพที่ครอบครัวทำก็คือ ทำท่าเรือ ขายยาสูบ และเปลี่ยนธุรกิจมาเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย จนกระทั่งมาเริ่มต้นทำขนม

“จนกระทั่งหมดยุคของสงคราม ในยุคนั้นย่านธนาลัยมีความเจริญทางด้านการค้ามาก มีทั้งโรงหนัง โรงแรม ผู้คนคึกคัก เปรียบเสมือนเมืองที่ไม่เคยหลับใหล

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนมองการณ์ไกลและหัวการค้าจึงเริ่มเปิดร้านโชห่วยที่ขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ขายทุกอย่างตั้งแต่ตะปู น้ำมันก๊าดอาหารสำเร็จรูป โดยกลุ่มลูกค้าสำคัญก็คือชาวอเมริกันที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย

“พอลูกค้าเป็นมิชชันนารี เป็นกลุ่มจิตอาสาชาวอเมริกัน คุณพ่อกับคุณแม่ของผมจึงได้เริ่มขายเครื่องกระป๋อง เช่น นม แป้งสาลี เนย รวมถึงขายอุปกรณ์ทำเบเกอรี่เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า เมื่อสมัย 70 ปีก่อน ร้านของเราจึงเรียกได้ว่าทันสมัยที่สุดใน จ.เชียงราย”

จากร้านขายอุปกรณ์ สู่ร้านเบเกอรี่ที่ได้สูตรขนมมาจากมิชันนารี

คุณพ่อปรีชาพาไปดูวิธีการทำขนมเก่าแก่ที่สืบทอดสูตรมากว่า 70 ปีซึ่งทุกวันนี้ยังคงสูตรเดิมแบบไม่ผิดเพี้ยนไปจากอดีตและเล่าว่า พอหลังจากที่ขายอุปกรณ์ทำเบเกอรี่ คุณแม่ก็รู้สึกว่าวัตถุดิบที่ร้านก็มีทุกอย่าง น่าจะต่อยอดทำขนมขายเองเสียเลย

“ในยุคนั้น คนเชียงรายไม่รู้จักเบเกอรี่ ขนมที่เขากินเล่นที่ใกล้เคียงความเข้าใจมากที่สุดคือ ขนมไข่ที่วางขายตามตลาด ตามโช่ห่วย หรือสภากาแฟ ดังนั้นโดนัท หรือเบเกอรี่แบบที่ชาวอเมริกันกิน ซีเปียวพาณิชย์ถือเป็นร้านแรก ๆ ที่นำเบเกอรี่หลายชนิดเข้ามาวางขาย โดยเรียนสูตรมาจากมิชชันนารีที่เป็นลูกค้าประจำ”

“เมนูเก่าแก่ที่สุดในร้าน เป็นสูตรที่คุณแม่ของผมเรียนรู้มาจากมิชชันนารี ก็คือ “โดนัทซินนามอน” หรือ “โดนัทอบเชย” ซึ่งจะไม่ใช่เนื้อโดนัทร่วน ๆ แบบยุคนี้ แต่โดนัทอบเชยจะมีลักษณะเหมือนแป้งเค้ก ไม่มีการใช้ยีสนำไปทอดกับน้ำตาลทรายแดง รสชาติจะมีความหอม เนื้อสัมผัสก็จะแน่นไม่นุ่ม

หน้าตาก็อาจจะดูคลาสสิค แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีร้านไหนขายแล้ว แทบจะเหลือร้านเดียวในเชียงรายที่ยังมีเมนูนี้เสิร์ฟอยู่ คนสมัยก่อนโดยเฉพาะรุ่นปู่ย่าตายาย ที่เป็นลูกค้าประจำก็คือคนที่คิดถึงและคุ้นชินกับขนมโดนัทในรสชาติแบบนี้”

พ่อปรีชาเล่าต่อว่า ทุกวันนี้คนที่เป็นคนทำขนมมาเสิร์ฟในทุก ๆ วันก็อายุเยอะแล้ว คนทำก็คือ มาลัย อินทรทิพย์ อายุ 67 ปี เป็นน้องสาวของพ่อฟรีชา และ แสงหล้า แซ่จ๋าว ลูกมืออายุ 62 ปี คนทำดั้งเดิม ทำให้โดนัทชินนามอนสมกับความเป็นเมนูโบราณหากินยาก

จากยุคเฟื่องฟู กลายเป็นร้านที่มีแต่คนเก่าแก่แวะเวียนมาซื้อวันละ 2-3 คน

“ใบยา”  จันทร์เจ้า พฤกษ์พงศาวลี พี่สาวคนโตในฐานะ ทายาทรุ่นที่ 4 เล่าต่อจากพ่อปรีชาถึงความเปลี่ยนแปลงว่า ธุรกิจของบ้านเริ่มเงียบมาตั้งแต่ปี 2540 เพราะมีการย้ายแหล่งการค้าที่สำคัญหลายอย่างไปอยู่ตรงหอนาฬิกา ตรงนั้นก็เป็นผลกระทบหนึ่ง ทำให้ร้านเริ่มเงียบ รวมถึงเทรนด์การกินเปลี่ยนไป ขนมเบเกอรี่สมัยใหม่มีหลากหลายมากขึ้น ในที่สุด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีแค่คนรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ ที่คุณเคยกับขนมโบราญ เป็นลูกค้าประจำกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่

ซึ่งก็เป็นธรรมดาของธุรกิจที่อยู่มาเกือบ 100 ปี สักวันอาจจะหมดความนิยม

“ถึงแม้วันหนึ่งจะมีคนมาซื้อแค่ 2 – 3 คน แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือทุกคนที่บ้าน ยังมาเปิดร้านทุกวัน เพราะกลัวลูกค้ามารอแล้วจะไม่เจอ ต่อให้มีลูกค้าแค่คนเดียวก็ยังเปิด ยังอบขนมตลอดเพราะรู้ว่ายังมีคนอยากกิน ร้านนี้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็น น้า อา หรือพ่อ กับแม่ ก็คือผู้สูงอายุ ที่ยังอยากรักษาสมบัติของต้นตระกูลไว้ให้ได้นานที่สุด”

“ใบตอง” ชิดเดือน พฤกษ์พงศาวลี ลูกสาวคนกลางของพ่อปรีชา เล่าเสริมว่า พวกเราเดินทางมาถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า อิ่มตัวกับงานประจำ และอยากกลับมาเริ่มต้นที่บ้านบวกกับ สามคนพี่น้องชื่นชอบในการทำอาหารเหมือนกัน จึงตัดสินใจอยากสร้างธุรกิจอะไรสักอย่างที่บ้านเกิด ยิ่งมองย้อนกลับมาเห็นร้านเดิมภาพในอดีตของครอบครัวที่มีร่วมกันกำลังเงียบเหงาลง จึงได้ตัดสินใจว่า ลองมาปรับปรุงร้าน ลองมาทำกันดูสักตั้งว่าจะทำให้ร้านกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้หรือไม่


ยากที่สุดคือการปรับตัวเข้ากับผู้สูงอายุในครอบครัว

“หลายคนอาจจะจิตนาการ ว่าการกลับมาอยู่กับครอบครัว เป็นภาพที่อบอุ่น มีแต่ความสุข แต่เบื้องหลังคือการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ เพราะแนวคิดในการทำธุรกิจของคนรุ่นพ่อ กับรุ่นลูกมองต่างกันโดยสิ้นเชิง

“เริ่มแรกที่เราทำคือการขึ้นราคา เรามองเห็นปัญหาต้นทุน กลายเป็นภาระที่เรากำลังแบกรับ และอาจจะขาดทุน เราก็อยากขึ้นราคาให้สมเหตุสมผล ปรากฏว่าก็ทะเลาะกันอยู่หลายเดือน เพราะพ่อให้เหตุผลว่า ถ้าเราขึ้นราคา คนที่มีรายได้น้อยเขาก็จะลำบากไม่มีโอกาสได้กินขนมที่เขาคุ้นเคย เพราะสมัยนี้เบเกอรี่มีแต่ของราคาแพง สุดท้ายก็ประนีประนอมโดยการขึ้นราคาแค่เล็กน้อย เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้แบบไม่ขาดทุน”

“ยกที่สองของการปรับความเข้าใจ พ่อโตมาในยุคที่ลูกค้าคือพระเจ้า แต่เรามองธุรกิจแบบผสมผสานความเป็นตะวันตก เรารู้สึกว่าการให้ลูกค้าบริการตัวเองในการหยิบช้อน เก็บช้อน เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่สำหรับพ่อสิ่งนี้คือบ่งบอกถึงการไม่ใส่ใจลูกค้า เขาก็จะคอยบริการลูกค้า เสิร์ฟนั่นนี่ตลอดเวลา ก็กลายเป็นต้องค่อย ๆ ปรับวิธีคิดกันพอสมควร”

“ใบไผ่” ตะวัน พฤกษ์พงศาวลี น้องคนเล็กของพี่น้อง 3 ใบ เล่าเสริมต่อว่า พ่อเคยโกรธมากที่เราเอาป้ายไปติดหน้าร้านว่าเต็มแล้ว เพราะเขาถือว่าลูกค้าอุตส่าเดินทางมา เราต้องต้อนรับทุกคน ขนาดเราเตรียมโต๊ะไว้พอดีกับที่เราทำไหว แต่คุณพ่อวัย 71 มีไฟในการบริการลูกค้าอย่างมากสามารถแบกโต๊ะ ยกเก้าอี้ มาเสริม จนแน่นร้าน

“กลายเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัว แรก ๆ ก็อาจจะหงุดหงิดบ้าง เพราะทำร้านอาหารมันเหนื่อย หลัง ๆ ก็ค่อย ๆ มองว่าจริง ๆ เราเติบโตมาในโลกที่ตางกัน พวกเราก็อาศัยการสื่อสาร และเวลา ค่อย ๆ ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้”

“การกลับมาถ้าทำขนมอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อาจจะไม่เข้ายุคสมัย พวกเราจึงได้ ลองคิดกันว่าถ้าเป็นร้านอาหารเช้าน่าจะดี อย่างน้อยถ้าคนเข้ามาทุกวัน โอกาสที่สูตรขนมของครอบครัวก็จะยังขายได้ มีคนแวะเวียนมาอุดหนุน ซีเปียวพาณิชย์ในเวอร์ชั่น ทายาทรุ่นที่ 4 จึงได้เปลี่ยนรูปแบบหน้าร้านเป็นการขายไข่กระทะเข้ามาด้วย

“เรามีหลากหลายเมนู มีทั้งไข่กระทะธรรมดา ๆ เบรกฟาสต์แบบอเมริกัน รวมถึง ‘ชัคชูก้า’ ไข่กระทะแบบตะวันออกกลางที่ใช้เครื่องเทศแบบแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นสูตรที่พวกเราเคยกินตอนไปเที่ยว และดัดแปลงกันมา”  ใบไผ่ เล่าเสริม

“แต่สิ่งที่ยังคงไว้คือสูตรขนมแบบดั้งเดิม อย่างเมนูโดนัทซินนามอน เมนูประจำครอบครัวที่เคยขายมากว่า 70 ปี ก็ยังเป็นสิ่งที่รักษาไว้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร เพื่ออนุรักษ์และคงคุณค่าของขนมที่อยู่มาเหนือกาลเวลา แต่การทำไข่กระทะเป็นการเปิดประตูให้คนเข้ามาในร้าน เปลี่ยนจากร้านที่เงียบ รอคนเข้าเก่าแก่เข้ามา ก็มีโอกาสเปิดรับนักท่องเที่ยวหลากหลายวัยให้ได้มาลิ้มลอง” ใบยา ช่วยเล่าเสริม

“ทุกวันนี้คนทำขนมก็ยังเป็นคุณอา ซึ่งเป็นคนที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรมาจากคุณยาย ถึงแม้คุณอาจะป่วย แต่การที่ได้ทำขนมอยู่ก็เหมือนเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเขาด้วย”

ใบยา จันทร์เจ้า พฤกษ์พงศาวลี ทิ้งทายว่า คุณค่าของการกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว มันเรียบง่ายมากเลยคือถ้าร้านยังมีชีวิต คนที่อยู่และผูกพันกับร้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ อา แม่ น้า หรือแม้กระทั่งพวกเรา ก็มีความสุขไปด้วยเราได้สังเกตเห็นรอยยิ้มและความสุขของคนวัยใกล้ 80 ที่มีแรงตื่นขึ้นมาทุกเช้า พร้อมรอต้อนรับลูกค้า

“ใครกลับมาอีกรอบก็อาจจะเห็นว่าคุณพ่อจะยังคงทำหน้าที่เล่าเรื่องเดิม ๆ ให้ทุก ๆ โต๊ะฟังเหมือนเดิมอย่าเพิ่งเบื่อที่จะฟังกันนะ นี่อาจเป็นความสุขเล็ก ๆ และความภาคภูมิใจ ที่คนวัยคุณพ่อพอที่จะสามารถทำได้”

จากวันนั้นจนวันนี้คนรุ่นใหม่รู้จักซีเปียวพาณิชย์เยอะขึ้นมาก ขนมของที่บ้านก็เริ่มมีคนรู้จักและแวะเวียนมาชิมกันเยอะขึ้นด้วย หรือคนเก่าคนแก่ที่เกือบลืมไปแล้วว่ามีร้านนี่อยู่ ก็ได้กลับมาเที่ยว กลับมานั่ง กลับมาชิมอาหาร เคล้าบรรยากาศที่หอมหวานเหมือนเช่นในอดีต

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ