มนุษย์ต่างวัยชวนติดตามเรื่องราวชีวิตที่อบอวลไปด้วยมวลความสุขของ ‘ลุงหมึก’ ชำนาญ มณีวงศ์ เจ้าของภูผาตาด โฮมสเตย์ วัย 72 ปี ที่ยังคงไม่หยุดต่อยอดความฝันและความสุขบนพื้นที่เล็ก ๆ ที่เปรียบเหมือนลมหายใจของตัวเอง
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวจุดเริ่มต้นชีวิตที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและลุกขึ้นมาตั้งหลักใหม่ในวัย 50 ปี ด้วยการใช้เงินก้อนสุดท้ายและแรงกายแรงใจค่อย ๆ พลิกฟื้นผืนดินขึ้นมาใหม่ ลงมือปลูกต้นไม้ทีละต้น และเริ่มสร้างโฮมสเตย์เล็ก ๆ อันแสนอบอุ่นที่ภูผาตาดแห่งนี้
เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ชีวิตของลุงหมึกค่อย ๆ มั่นคงขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของต้นไม้มากมายหลายชนิดในพื้นที่ 23 ไร่ วันนี้อีกหนึ่งความสำเร็จที่ออกดอกผลจากรากฐานที่ลุงสร้างไว้คือการทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการทำสวนทุเรียนให้สำเร็จจนได้รับมาตรฐาน GI (เครื่องหมายบ่งบอกอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อระบุถึงคุณภาพของผลผลิตในพื้นที่นั้น ๆ) และเป็นที่รู้จักของนักชิมราชาแห่งผลไม้ในชื่อ ‘ทุเรียนน้ำแร่’ ชื่อที่ลุงหมึกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทุเรียนทองผาภูมิมีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น
“ลุงอยากให้ทุเรียนทองผาภูมิมีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะทุเรียนทองผาภูมิได้ GI ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกอัตลักษณ์ของผลผลิตในพื้นที่ เหมือนอย่างมะม่วงอกร่องแปดริ้ว ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ลุงคิดว่าที่นี่มีน้ำแร่อยู่ใต้ดิน ก็เลยปรึกษากับคนที่ดูแลเรื่อง GI ว่าเราสามารถใช้คำว่าทุเรียนน้ำแร่ทองผาภูมิได้ไหม เพราะน้ำที่อยู่ใต้ดินที่ลุงนำมารดต้นทุเรียนก็เป็นน้ำแร่ ลุงก็เลยใช้คำว่า ‘ทุเรียนน้ำแร่’ เพื่อโปรโมตให้ทุเรียนทองผาภูมิเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
กว่าจะเป็นทุเรียนน้ำแร่ทองผาภูมิ
“ลุงปลูกผลไม้อื่นอยู่แล้ว พอเห็นว่าคนแถวนี้เขาปลูกทุเรียนกันก็เลยอยากลองปลูกบ้าง อีกอย่างลุงชอบกินทุเรียนอยู่แล้วด้วย เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน ลุงเริ่มปลูกทุเรียนรุ่นแรก ปลูกได้ไม่ถึงปีก็ตาย เพราะ ไม่มีความรู้ จนมาถึงรุ่นที่ 3 ลุงได้เจอคนที่มีความรู้เรื่องทุเรียนเข้ามาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลทุเรียนให้ถูกต้อง ทุเรียนมันเกิดโรคง่าย พอเชื้อราเข้า เราดูแลไม่ไหว มันก็ยืนต้นตาย ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าทุเรียนจะออกดอกออกผลแล้วตัดขายได้อย่างทุกวันนี้
“การทำสวนทุเรียนธรรมชาติเอาไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่การดูแล เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ปีนี้บางสวนไม่ได้ผลผลิตเลยก็มี เพราะไม่มีน้ำรด ทุเรียนก็ยืนต้นตาย ช่วงที่ลุ้นที่สุด คือ ช่วงตาดอกกับช่วงที่ดอกจะติดเป็นลูก เป็นช่วงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยปกติทุเรียนจะออกผลผลิตปีละครั้งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม ปีนี้ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าน่าจะได้ผลผลิตถึง 600 ลูก เพราะทุเรียนออกดอกเยอะมาก แต่พอเจอฝนติดต่อกันหลายวัน ดอกมันก็ร่วง ทำให้ไม่ได้ผลผลิตออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ เหลือที่ตัดขายได้อยู่แค่ประมาณ 200 ลูก
“ตอนนี้รวม ๆ แล้วลุงมีทุเรียนอยู่ประมาณ 30 กว่าต้น ลุงปลูกแค่นี้เพราะจะได้ดูแลได้เอง ลุงปลูกเอง รดน้ำเอง แต่ตอนเก็บจะมีคนช่วย เวลาตัดทุเรียนลุงจะเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก 3 อาทิตย์สุดท้ายก่อนตัดจะใช้ปุ๋ยชีวภาพทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย ส่วนใหญ่พอทุเรียนสุกประมาณ 70% คนก็จะเริ่มตัดขาย แต่ลุงจะตัดทุเรียนตอนสุกประมาณ 90% เป็นระยะที่ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วันก็กินได้ เนื้อเนียน แป้งได้ กลิ่นครีมได้ ความหวานกำลังพอดี
“เอกลักษณ์ของทุเรียนทองผาภูมิ คือ เนื้อเนียน สีเหลืองอ่อน เม็ดจะลีบ กลิ่นไม่ฉุนแรง สีไม่จัดจ้าน ไม่เข้มเหมือนของที่อื่น แต่ที่เด่นมากที่สุดคือเรื่องกลิ่น ขนาดสุกแล้ว กลิ่นก็ยังไม่ฉุน พอกัดเข้าปากจะสัมผัสถึงเนื้อครีมได้ ถ้าเป็นทุเรียนอ่อนหรือเละ ก็จะนิยมนำไปทำขนม เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ทุเรียนเชื่อม ฯลฯ
“ทุเรียนทองผาภูมิเป็นทุเรียนน้องใหม่ เพิ่งทำกันมาได้ 4-5 ปี ยังต้องใช้เวลาในการสั่งสมชื่อเสียง ลุงก็พยายามพัฒนาทุเรียนที่สวนให้ดีขึ้นทุก ๆ ปี ลุงอยากทำทุเรียนพรีเมียม ผลักดันให้ทุเรียนทองผาภูมิเข้าสู่ตลาดในประเทศ ให้ทุกคนยอมรับมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศก็มีคุย ๆ ไว้เบื้องต้นกับเจ้าของร้านอาหารที่ดูไบไว้ว่าเราอยากไปเปิดตลาดที่นั่น”
ชีวิตที่สุขใจในวัยเลข 7
แม้ชีวิตจะเข้าสู่ปีที่ 72 แต่ลุงหมึกก็ยังคงเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งความตั้งใจอยากผลักดันทุเรียนทองผาภูมิให้เป็นที่รู้จัก การจัดกิจกรรมใหม่ ๆ ให้แขกที่มาเข้าพักที่โฮมสเตย์ ยังไม่นับรวมโปรเจกต์ฟาร์มวาซาบิที่คิดว่าอยากจะทำร่วมกับชาวเกาหลีใต้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับลูกชายที่ชอบกินอาหารญี่ปุ่น คิดว่าตราบใดที่ลุงหมึกยังมีแรงทำไหว เราอาจจะได้เห็นดอกผลความสำเร็จอีกมากมายจากพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้
“ตอนนี้ลุงมีที่อยู่ประมาณ 23 ไร่ ทำโฮมสเตย์มีบ้านให้แขกเข้าพักอยู่ 4 หลัง ทำสวนผลไม้ที่ปลูกแทบทุกอย่างตลอดทั้งปี เช่น มะไฟ มะยงชิด ขนุน ฝรั่ง ชมพู่มะเหมี่ยว ทุเรียน เงาะ มังคุด ระกำ ส้มโอ มะพร้าว ละมุด เมื่อก่อนเคยปลูกกาแฟด้วย แต่ขั้นตอนมันเยอะ ทำแล้วไม่มีเวลาดูแลผลไม้ชนิดอื่นก็เลยเลิกไป นอกจากสวนผลไม้ ลุงแบ่งที่อีกโซนไว้ปลูกไม้เศรษฐกิจด้วย พวกไม้สัก ไม้พะยูง ไม้แดง ปลูกมาประมาณ 7 ปีแล้ว เก็บไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลาน
“ความสุขของลุงในวัยนี้คือการที่เรามีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ อายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ สิ่งที่จะเป็นข้อจำกัดคงเป็นปัญหาสุขภาพ ทุกวันนี้ลุงก็พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลเรื่องอาหารการกิน ทำอาหารกินเอง ไม่ปรุงเยอะ
“ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ลุงคิดว่าคำว่าประสบความสำเร็จของหลาย ๆ คน อาจจะดูจากขนาดบ้าน เสื้อผ้าที่ใส่ หรือการใช้ชีวิต แต่สำหรับลุง ลุงไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่ลุงคิดว่าตัวเองสำเร็จ มันไม่เหมือนกันนะ เพราะทุกวันนี้ลุงก็ยังกินกับข้าวอย่างเดียว ใช้ชีวิตอย่างสมถะ แต่จากจุดที่ต้องพึ่งพาภรรยา พึ่งพาครอบครัว วันนี้ลุงสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว
“ชีวิตลุงลำบากมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็เลยอยากช่วยเหลือ อยากแบ่งปันให้คนที่เขาขาดโอกาส ลุงเอารายได้ส่วนหนึ่งที่มีไปเลี้ยงอาหารเด็กที่ศูนย์เด็กเล็กตามโรงเรียนที่อยู่ในป่า หรือไปดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่สังขละบุรี ซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้าไปให้เขา”
พื้นที่ที่เป็นความหมายของชีวิต
บ้านสวนภูผาตาดแห่งนี้เป็นเหมือนที่หลบมาพักใจของใครหลายคน บางคนมีปัญหาชีวิตบางอย่าง ก็หนีร้อนมาพึ่งเย็นที่นี่ ลูกค้ามักจะเขียนลงในสมุดเยี่ยมว่า ‘เหมือนได้มาเที่ยวมาบ้านญาติ’ สิ่งที่ลุงหมึกประทับใจมากที่สุดคือทุกคนที่มาที่นี่รู้จักลุง ลงรถมาก็สวัสดี เหมือนคนที่คุ้นเคยกันมาก่อน
“ภูผาตาดเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของลุง บ้านทุกหลังลุงเป็นคนตั้งชื่อเอง ออกแบบเอง ดูแลเอง อาจจะไม่ได้ตอกตะปูข้างฝาเองทุกแผ่น แต่ลุงก็มีส่วนร่วมกับบ้านทุกหลัง ต้นไม้ในสวนก็ปลูกเองเกือบทั้งหมด ลงทุน ลงแรงเอง ไม่มีเครื่องจักรเหมือนคนอื่น ใช้แค่จอบกับเสียม ลุงเลยต้องใช้เวลาในการทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าคนอื่น ถ้าถามว่ามีช่วงเวลาที่ท้อไหม มันก็มีบ้าง เพราะมันเหนื่อยมาก กว่าจะพลิกแผ่นดินขึ้นมาแล้วปลูกต้นไม้ได้ แต่ลุงคิดว่าเราตัดสินใจแล้ว เราก็ต้องเดินหน้าฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ลุงอยากทำให้ครอบครัวภูมิใจ
“เรื่องที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตก็ชื่อเสียงของภูผาตาดที่ลุงสร้างมากับมือนี่แหละ ภูมิใจนะที่สร้างมาได้ขนาดนี้ การที่ทุกคนตั้งใจที่จะมาเจอ มาคุยกับลุง เขามาพักแล้วรู้สึกสบายใจกลับไปเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลุงยังมีกำลังใจที่จะทำที่นี่ให้ดีต่อไป”
สำหรับใครที่อยากลองชิมทุเรียนน้ำแร่อาจต้องอดใจรอในฤดูกาลหน้า แต่สามารถไปสั่งจองไว้ก่อนได้ หรือจะแวะไปทักทาย เติมพลังใจกับลุงหมึกที่ภูผาตาด โฮมสเตย์ ก็สามารถติดต่อไปสำรองบ้านพักไว้ล่วงหน้าได้ ลุงหมึกยังรอต้อนรับทุกคนด้วยความอบอุ่นอยู่เสมอ
ภูผาตาด โฮมสเตย์ พิกัด : 123/3 หมู่ 5 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
โทร : 087 922 6187
Facebook : ภูผาตาดโฮมสเตย์