เช็กลิสต์ 4 อาการ เริ่มต้นเสี่ยงเป็นโรคสโตรกที่สังเกตได้ด้วยตัวเอง

4 อาการเริ่มต้นเสื่ยงเป็นสโตรก ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง

บุพการีที่เคารพ พูดคุยกับ ผศ.นพ. ภาริส วงศ์แพทย์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เจ้าของเพจ : Stroke BOOT CAMP ถึงสัญญาณเตือนโรคสโตรกที่สังเกตได้ด้วยตัวเอง

“เวลาเป็นโรคสโตรกสามารถมีอาการได้ทุกระบบ ความคิด ความจำ การพูด การวางแผนการเคลื่อนไหว ความรู้สึก เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมดเพราะมันเป็นหน้าที่ที่สมองทำงานควบคุม ที่นี้เราจะสามารถมองเห็นอาการเริ่มต้นที่เรียกว่า ‘MiniStroke’ หรืออาการขาดเลือดชั่วคราว ได้อย่างไรบ้าง”

“การมองเห็นผิดปกติ อยู่ ๆ มีจังหวะที่เห็นภาพมืดไปอาจจะเป็นข้างเดียว แล้วกลับมาเห็นปกติอีกครั้ง ร่างกายบางส่วนอ่อนแรงลงชั่วขณะ เช่น มือยกไม่ขึ้น แล้วก็กลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติอีกครั้ง การสื่อสารผิดปกติ ฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่เป็นภาษา อยู่ ๆ ลิ้นไก่แข็งพูดไม่ชัดนึกคำที่จะพูดไม่ออก แต่ชั่วขณะก็กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ร่างกายมีอาการชา และอ่อนแรงไปครึ่งซีก ในชั่วขณะก็กลับมาปกติอีกครั้ง”

“เหล่านี้เป็นอาการเตือนที่ตัวเอง และคนรอบตัวถ้าสังเกตเห็นแล้วต้องระวัง และรีบพาไปโรงพยาบาลทันที บอกอาการเพื่อรับการตรวจสอบเส้นเลือด สแกนสมองดูร่องรอยความผิดปกติ เพื่อรับยาป้องกันก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้นจนเป็นโรคสโตรกจริง สิ่งเหล่านี้หากรู้ทัน รู้เร็ว และไม่นิ่งนอนใจก็สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้”

“แม้โรคสโตรกเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือน คนที่แข็งแรงอยู่ ๆ วันหนึ่งก็อาจเหมือนโดนฟ้าผ่า แต่เราจะเอาแต่วิตกกังวลไปก็คงไม่ดี เราลองมาทำเหตุปัจจัยให้ดีขึ้นดีกว่า เปลี่ยนความกังวลเป็นการหาทางป้องกัน เพราะโรคสโตรกเป็นโรคที่จะมีปัจจัยเสี่ยง ลองมองย้อนกลับมาที่ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ของครอบครัว และพ่อแม่ของเรา ช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคสโตรก เช่น การกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย แม้กระทั่งผู้ที่ติดเหล่าบุหรี่ ก็ไปทำปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ให้ดีขึ้น

“รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรัง อาทิเช่น กลุ่มผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ก็ควบคุมให้อยู่ในระดับปลอดภัย หรือผู้ที่มีโรคที่อาจจะก่อให้มีลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย ผู้ที่มีโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบของเส้นเลือดอยู่ตลอดเวลา คือแพ้ภูมิตัวเอง ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดเส้นเลือดแตกหรืออุดตันได้ ก็ควบคุมเสียต้นแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นการตั้งรับที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

“และการตั้งรับอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจ จากข้อมูลการรักษาคือผู้ที่มีการศึกษาสูง มี IQ สูง มีความหลายหลากของประสบการณ์มาก เช่น เล่นกีฬาหลายประเภท เล่นดนตรีได้ พูดได้หลายภาษา เวลาที่คนเหล่านี้เป็นสโตรกเท่า ๆ กับคนอื่น แต่ดูเหมือนว่าสามารถฟื้นตัวได้มากกว่าคนที่มีความสามารถไม่กี่อย่าง

“เพราะการฟื้นฟูหลังเป็นสโตรกคือการเรียนรู้ การที่เราจะกลับมาสื่อสารได้ เดินได้ ต้องอาศัยการเรียนรู้ใหม่ แม้โรคสโตรกจะเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือน แต่สโตรกเป็นโรคที่ดีขึ้นทุกวัน คือวันที่เป็นมันแย่ที่สุด แต่หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น เหมือนกับเรากำลังกู้สุขภาพ กู้ความสามารถของเราคืนมา ดังนั้นให้ลองเรียนรู้ประสบการณ์หรือทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการตั้งรับกับโรคสโตรกที่อาจเกิดขึ้นได้”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ