รับไม้ต่อธุรกิจอย่างไร ให้ไปต่อได้ในวันที่โลกเปลี่ยน บทเรียนจาก 3 ทายาทธุรกิจร้านอาหาร

เมื่อโลกหมุนไว เทรนด์ธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนในแวดวงธุรกิจจะต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อครองพื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดและครองใจลูกค้าไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน

แต่สำหรับทายาทผู้มาสานต่อธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ นอกจากบทบาทในการทำงานหรือบริหารธุรกิจ ยังมีอีกบทบาทสำคัญที่ต้องจัดการนั่นก็คือบทบาทของการเป็นลูกหลานหรือคนในครอบครัว ดังนั้น นอกจากดูแลกิจการให้ดีแล้ว ก็ต้องดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มั่นคงไปพร้อม ๆ กันด้วย

มนุษย์ต่างวัยสรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งจากเวที Main State หัวข้อ “Next Gen, New Game ทายาทรุ่นสองกับสนามธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม” โดย คุณเกียร์ – เอกพล พฤกษ์ไพบูลย์ ทายาทรุ่นที่ 3 ร้านโกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ, คุณเป้ – ชาตยา สุพรรณพงศ์ CEO of Food Passion Co., Ltd. และคุณเบนซ์ – ภเดช กันตจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัทนิตยาไก่ย่าง จากงาน “Thailand Restaurant Conference 2025” หรือ TRC2025 ณ IMPACT Exhibition Center Hall 7 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568

ความท้าทายของการกลับมาสานต่อหรือทำธุรกิจที่บ้านที่ทายาทหลายคนต้องพบเจอ คือ ความกดดันที่เกิดจากมาตรฐานที่ถูกสร้างไว้เป็นอย่างดีจากคนรุ่นก่อนที่ก่อตั้งหรือสร้างธุรกิจนั้นมากับมือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัวยังคงเติบโตต่อไปด้วยจุดเด่นที่แข็งแรง และไม่กลายเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะในวันที่ต้องเปลี่ยนมือมาสู่คนในเจเนอเรชันถัดไป

สื่อสารให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันให้มากที่สุด

สำหรับทายาทที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอะไร จะต้องสื่อสารให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันก่อน ต้องอัปเดตความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจให้ Gen 1 หรือพ่อแม่รู้อยู่เป็นระยะ ๆ รวมทั้งสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจตรงกันตั้งแต่เจ้าของธุรกิจไปจนถึงพนักงานตำแหน่งเล็ก ๆ ในร้าน

ส่วน Gen 1 หรือคนรุ่นพ่อแม่ก็จะต้องไว้วางใจให้ Gen 2 หรือทายาท ได้บริหาร จัดการ แก้ปัญหาต่าง ๆ ในองค์กร ถึงจะทำให้เขาเติบโต และรับมือกับความท้าทายในธุรกิจได้ด้วยตัวเอง

ระบบที่ดีคือหัวใจของธุรกิจที่มั่นคง

การที่ Gen 1 สร้างและบริหารธุรกิจให้อยู่มาได้จนถึงวันนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีคนที่มีประสบการณ์และความสามารถเป็นหนึ่งในจุดแข็งของธุรกิจ แต่หากเราบริหารจัดการธุรกิจโดยอาศัยความเก่งของคนเป็นหลัก หากคนคนนั้นไม่อยู่ หรือไม่สามารถทำงานต่อได้แล้ว ธุรกิจก็จะไปต่อไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องสร้างระบบที่ชัดเจน เพื่อให้เจเนอเรชันถัดไป สามารถบริหารจัดการต่อได้ง่าย รวมทั้งต้องมีความยุติธรรมและรู้จริงในสิ่งที่สั่งงานลงไปด้วย ไม่ยึดระบบพรรคพวกหรือลูกรัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับคนทำงาน

ข้อดีของ Family Business

  • ธุรกิจครอบครัวถึงแม้จะเล็ก แต่ก็มี Super Power เพราะทำงานกันแบบ 24/7, 365 วัน แบบไม่มีวันหยุด
  • การทำธุรกิจกับพี่น้องหรือคนในครอบครัว มักจะมีความเชื่อใจ หรือไว้วางใจกันค่อนข้างสูง เพราะต่างรู้จักนิสัยใจคอ ข้อดีข้อเสีย หรือคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
  • ได้รับสิทธิพิเศษหรือโอกาสในการคิดหรือวางแผนระยะยาว เช่น ครั้งละ 3 ปี 5 ปี ซึ่งจะทำให้มองภาพได้ไกลกว่า และอาจทำให้เปลี่ยนวิธีคิดหรือตัดสินใจในธุรกิจได้
  • สามารถเข้าไปทำต่อได้ โดยไม่ต้องหาคำตอบเองทุกอย่าง เพราะคนรุ่นก่อนใช้ประสบการณ์ลองผิดลองถูก หรือวางแผนไว้ให้แล้ว
  • ช่วยเพิ่มความมุ่งมั่น หรือภาวะผู้นำในการบริหารจัดการและการทำงาน เพราะการเป็นเจ้าของ หรือต้องดูแลชีวิตคนอื่น ไม่สามารถเลิกหรือหยุดทำได้ง่าย ๆ เหมือนการเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน
  • เสน่ห์ของธุรกิจครอบครัวคือการมีคนทำงานที่อยู่ด้วยกัน ผูกพันกันมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ บางครั้งเขาจะมองเห็นปัญหาหรือช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเราได้ และการที่เราได้ดูแลและช่วยพัฒนาเขา เราก็จะภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของเขาด้วย

3 สิ่งที่อยากบอกคนที่กลับมาทำที่บ้าน

คุณเกียร์ –  อย่าลืมแบ่งบาลานซ์ระหว่าง “งาน” กับ “ครอบครัว” หา Safe Space ที่เราสามารถ relax ได้ อย่าคุยเรื่องงานกันตลอดเวลา การทำงานระหว่าง Gen ที่ดี จะต้องมีการสื่อสารและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าไปคุยกันเฉพาะในเวลางาน มันจะหาสมดุลได้ลำบาก

คุณเป้ – มองธุรกิจครอบครัวให้เป็น “ของขวัญ” อย่ามองเป็น “ภาระ” เพราะเวลาที่เราเจอความท้าทายในการทำธุรกิจมันจะทรมานมาก และอย่าลืมเบลนด์ความเป็นตัวเองเข้าไปในธุรกิจด้วย เพื่อให้เรารู้สึกสนุกและมีแพสชันในการทำ เวลาต้องเจอปัญหาเราจะได้ไม่ท้อ

คุณเบนซ์ – สำหรับคนรุ่น 2 ให้มองหาจุดเด่นและกลุ่มลูกค้าในธุรกิจของเราให้เจอ และมองให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเปลี่ยน และอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรเปลี่ยน

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ