อาชีพ ‘นักออกแบบความตาย’ “เพราะเราอยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องความตายมันพูดได้” กอเตย-ปิญชาดา ผ่องนพคุณ แห่ง เบาใจ แฟมิลี (Baojai Family)

ถ้านี่คือวันสุดท้ายในชีวิต คุณมีใครสักคนไหมที่อยากขอโทษ ? ใครที่อยากขอบคุณ ?

หากวันนั้นมาถึง คุณอยากจากโลกนี้ไปแบบไหน ? การหลับตาครั้งสุดท้ายของคุณจะไปด้วยความรู้สึกแบบใด ? จะยังมีห่วงไหม ? อยากได้รับการยื้อชีวิตหรือเปล่า ? หรือได้จัดการฝากฝังสิ่งต่าง ๆ ไว้กับคนใกล้ตัวหรือยัง ?

แม้จะไม่มีใครรู้ว่าวันสุดท้ายของชีวิตจะเป็นแบบใด แต่เชื่อว่าทุกคนคงปรารถนาอยากจากโลกนี้ไปอย่าง “ตายตาหลับ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจากโลกนี้ไปแบบที่เรียกว่าตายดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรารู้จักการวางแผน

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักอาชีพ ‘นักวางแผนการตาย’ หรือ ‘Death Planner’ กับบริการที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถออกแบบช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ตามปรารถนา ไปกับ กอเตย- ปิญชาดา ผ่องนพคุณ แห่ง เบาใจ แฟมิลี (Baojai Family)

เมื่อโลกกว้างทั้งใบเหลือเพียงแค่ในห้องสี่เหลี่ยม

ในอดีต กอเตยคือเด็กสาวคนหนึ่งที่มีพลังและความฝัน หลังเรียนจบ เธอเลือกเดินในสายอาชีพที่รักและสนใจ การได้ทำงานที่ออกไปเจอโลกกว้างและพบปะผู้คนมากมายกลายเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความสนุก ความสุข หน้าที่การงานกำลังไปได้สวย จนกระทั่งวันที่พ่อล้มป่วย

“หลังเรียนจบรัฐศาสตร์ เราเรียนต่อด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานด้านสิทธิมาโดยตลอด เรื่องนโยบาย คนไร้บ้าน ไร้สัญชาติ เป็นเรื่องที่เราอินมากเพราะสนใจด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก ระหว่างนั้นเรามีรับงานพิธีกรเสริมด้วย ไม่ว่าจะงานแต่งงาน งานหมู่บ้าน มีงานที่ไหนเราไปหมด ตอนนั้นเราสนุกกับชีวิตมากเพราะได้ทำทั้งงานประจำที่สนใจและงานเสริมที่ชอบ เรารักงานของเรามาก มองเห็นตัวเองกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างชัดเจน

“เราสนุกกับงานทุกวันจนกระทั่งช่วงอายุ 27 ปี ก็ได้รับข่าวร้าย หมอแจ้งว่าพ่อมีเนื้อร้ายขนาด 10 cm. ในปอด ตอนนั้นมันเหมือนโลกทั้งใบถล่มลงมา

“เราต้องแบ่งเวลาจากงานประจำเพื่อไปดูแลพ่อที่โรงพยาบาล ไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนั้นจนกระทั่งพ่ออาการเริ่มทรุดลง

“หลังพ่อเข้ารับเคมีบำบัดครั้งที่ 2 หมอแจ้งว่าพ่อกำลังเข้าสู่ระยะท้ายและอยากให้พาพ่อกลับบ้านเพื่อให้เขาอยู่ในที่ที่สบายใจที่สุด วินาทีนั้นเรารู้เลยว่าของจริงกำลังจะมาถึงแล้ว มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ”

ช่วงสุดท้ายของพ่อ เราขอนะ

กอเตยเล่าว่าไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กร่วมกับพ่อนัก เพราะพ่อต้องทำงานหนักตลอดไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว การที่วันหนึ่งต้องมารู้ว่าพ่อจะอยู่ได้อีกไม่นานแล้วมันทำให้เธอรู้สึกใจหาย อยู่ ๆ เวลาทั้งหมดมันกลับหดสั้นลงไปอีก

“พ่อเราเป็นข้าราชการ ต้องเดินทางตลอด ส่วนแม่เป็นแม่บ้านทำให้ตอนเด็ก ๆ เราจะอยู่กับแม่เป็นหลัก เราไม่ได้ใกล้ชิดหรือมีเวลาอยู่กับพ่อมากนัก เราคิดว่าจากนี้คงเหลือเวลาอยู่ด้วยกันน้อยมากแล้วจริง ๆ ช่วงชีวิตสุดท้ายกับพ่อ เราอยากขอมันเถอะ เราจึงเลือกจะลาออกจากงานเพื่อมาดูแลเขาเต็มตัว”

กอเตยเล่าว่าในช่วงเวลานั้นเป็นเหมือนบททดสอบของชีวิต การต้องออกจากงานที่รักกลับมาอยู่ที่บ้าน ทำให้ขาดรายได้ และการดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายร่วมกับแม่ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอยังคิดเสมอว่านี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

“ตอนนั้นเรากลับมาอยู่บ้านเพื่อดูแลทั้งพ่อและแม่ มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เราหารายได้ด้วยการขายเสื้อผ้า ขายอาหารหน้าหมู่บ้าน ทำขนมส่งโรงเรียน อะไรที่ได้เงินเราทำหมด ตอนนั้นเหนื่อยมาก แต่ไม่เคยนึกเสียใจเลย คิดเสมอว่านี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะเรามีความสุขมากที่ได้มีช่วงเวลาอยู่กับพวกเขา”

พาพ่อกลับบ้าน วันที่ได้พาใจกลับมารู้จักกันอีกครั้ง

พ่อต้องต่อสู้กับมะเร็งนาน 6 ปี ก่อนจะจากไปในวัย 65 ปี กอเตยทำหน้าที่เป็นแคร์กิฟเวอร์อย่างเต็มตัวตลอด 4 ปีสุดท้าย

“ในวัยเด็ก พ่อเราต้องทำงานหนักเพราะเขาเป็นเสาหลักของบ้าน ทุกครั้งที่พ่อกลับบ้าน พวกเราจะสัมผัสได้ถึงความเครียดตลอดเวลา ตอนนั้นเรายังเด็กมาก ยังไม่เข้าใจอะไร เลยเลือกที่จะไม่อยู่ใกล้เขา ทำให้ใช้เวลาวัยเด็กกับเขาน้อยมาก

“แต่ในช่วงเวลาที่เราได้ดูแลเขาไม่กี่ปีสุดท้ายก่อนจากไป มันกลับชดเชยช่วงเวลาที่ขาดหายไปทั้งหมด เราได้รู้จักพ่อในอีกหลายมิติ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเป็นคนตลกมาก (หัวเราะ) หรือแม้แต่เราเคยคิดว่าพ่อไม่รักเรา ไปมีสังคมนอกบ้าน แต่จริง ๆ มันไม่ใช่เลย

เพราะกอเตยคือหญิงสาวที่เริ่มดูแลพ่อเต็มตัวในวัยเพียงยี่สิบปลาย ๆ เท่านั้น แม้จะอยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอยังคงอยากไปเจอโลกกว้าง อยากไปดูคอนเสิร์ต อยากไปเที่ยวหาเพื่อนฝูงไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป แต่การพลาดโอกาสบางอย่างไปกลับกลายเป็นการได้รับโอกาสใหม่ที่แสนมีค่าแทน

“เรายอมรับว่าตอนนั้นเคยคิดว่า เราอายุแค่ยี่สิบปลาย ๆ แต่ทำไมไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นคนอื่นเขาบ้าง เราเห็นคนอื่นได้ไปเที่ยว ได้ไปใช้ชีวิต แต่ทำไมต้องเป็นเราที่มาอยู่ตรงนี้ เรากำลังเสียโอกาสอะไรไปหรือเปล่า ? หรือเรามีปมว่าพ่อไม่รักเรา รักแต่พี่ชาย แต่วันนี้เรากลับกลายเป็นคนที่ต้องมาดูแลเขา เรารู้สึกผิดกับความคิดแบบนี้ แต่ก็ต้องกลับมาเจอความรู้สึกแบบนี้ซ้ำวนไปทุกวัน

“จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อพูดว่าที่อยากให้เราอยู่กับเขาตรงนี้เพราะเขารู้สึกปลอดภัยและวางใจ ที่ผ่านมาเขาอาจไม่ได้ดูแลเรามากนักเพราะรู้ว่าเราดูแลตัวเองได้ดี เราได้ยินพ่อพูดว่าจริง ๆ แล้วเขารักเรามากแค่ไหน

“มันทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่เราที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อ แต่พ่อก็ขาดความรักจากเราเหมือนกัน หลังจากนั้นปมทุกอย่างในใจเรามาตลอด 30 ปีกลับถูกคลี่คลายออกในช่วงเวลาแห่งการดูแลนี้เอง”

วันที่พ่อจากไป กับ สมุดเบาใจ-พินัยกรรมของชีวิต

ในช่วงระหว่างดูแลพ่อ กอเตยหาความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปร่วมงาน ‘Happy Deathday – งานที่จะเปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข’ ที่จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา นั่นเป็นครั้งแรกที่กอเตยได้รู้จักกับ ‘สมุดเบาใจ’

สมุดเบาใจเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘Living Will’ หรือหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ภายในจะเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ทำให้ผู้เขียนได้กลับมาใคร่ครวญชีวิต รวมถึงระบุเจตจำนงในการเลือกรักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถสื่อสารได้ สมุดเบาใจจึงเปรียบเสมือน ‘พินัยกรรม’ ที่หากเจ้าของระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว เมื่อถึงวันที่ตัวเองเจ็บป่วยจนสื่อสารไม่ได้หรือหมดสติไป ทั้งญาติ หรือบุคคลากรทางกรรแพทย์จะรู้ว่าต้องตัดสินใจดูแลเจ้าของสมุดนั้นอย่างไรโดยไม่ต้องเดาใจให้เหนื่อยเลย

“วันนั้นเป็นครั้งแรกที่เรารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สมุดเบาใจ’ มันทำให้เรารู้ว่ามันมีสิ่งที่จะช่วยให้คนรอบตัวรู้ได้จริง ๆ ว่าผู้ป่วยต้องการการดูแลแบบไหน หรืออยากตายดีได้อย่างไร

“ช่วงนั้นพ่ออาการทรุดหนักและอยู่ในระยะท้ายแล้ว มันทำให้เราติดใจกับคำว่า ‘ตายดี’ มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ว่าจะส่งพ่อให้จากไปได้อย่างดีได้จริง ๆ

“เย็นวันนั้น เรากลับบ้านมาพร้อมกับสมุดเบาใจ แต่เชื่อไหมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ต้องคุยเรื่องความตายกับคนที่กำลังจะตายจริง ๆ มันเจ็บปวดเหลือเกิน แต่ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำ”

กอเตยเลือกใช้สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารเจตจำนงที่แท้จริงของพ่อ แม้จะเป็นไปได้อย่างยากลำบากและกินเวลายาวนานหลายเดือน แต่สุดท้ายเธอก็ทำได้สำเร็จและส่งพ่อตายดีได้ตามปรารถนา

“แต่ละวันเราคุยกับพ่อได้ไม่กี่คำ เราพยายามถามพ่อว่าในช่วงท้ายของชีวิตพ่ออยากทำอะไร ? หรืออยากไปไหน ? แต่ด้วยความที่เขาอยู่ในระยะท้ายแล้ว สติสัมปชัญญะบางอย่างถูกลดทอน การพูดคุยจึงกินเวลายาวนานหลายเดือน และในที่สุด เราได้คำตอบว่า ‘พ่อแค่อยากกลับไปตายที่บ้าน’

“วันนั้นเราพาพ่อกลับบ้านทันที ช่วงเวลาที่กลับมาอยู่บ้าน เราเตรียมพร้อมให้พ่อหลายอย่าง พ่อมีเสื้อสีขาวและดำเป็นตัวโปรด เราจะถือไปให้เขาเลือกว่าอยากใส่ตัวไหนในวันที่เขาตาย เราให้พ่อลงชื่อที่กระเป๋าผ้าเพื่อใช้เป็นของชำร่วยในงานศพ เราอยู่ด้วยกันแบบนั้นนาน 8 เดือน จนกระทั่งเขาจากไป”

คุณค่าที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้กอเตยเลือกที่จะแจกสมุดเบาใจเป็นของชำร่วยในงานศพเพราะอยากให้ทุกคนรู้จักการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าและอยากส่งต่อประสบการณ์การตายดีของพ่อเพื่อว่าจะได้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น

“ในงานศพทั่วไป เราจะพูดแต่ประวัติผู้ตาย และยืนไว้อาลัย แต่เรามองว่างานศพควรเล่าถึงคุณค่าในตัวผู้จากไปมากกว่า เช่น เขาเคยทำอะไรตอนยังมีชีวิต หรือ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนที่เหลืออยู่ได้อย่างไร

“ในงานศพพ่อ เราจึงเลือกที่จะเขียนบทความชิ้นหนึ่งเพื่อเล่าเรื่องราวการเตรียมตัวตายของพ่อ ข้อมูลการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และแจกสมุดเบาใจ เพราะตอนนั้นสังคมยังรับรู้เรื่องเหล่านี้อยู่น้อย”

หลังงานศพ เริ่มมีแขกที่มาในงานติดต่อกลับมาว่าได้ลองทำสมุดเบาใจแล้วมันดีมากแต่ยังติดขัดหลายจุด นั่นทำให้กอเตยเห็นว่ามันเป็นเครื่องมีอที่มีประโยชน์กับสังคมจริง ๆ เลยเริ่มศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยยังไม่ได้คิดถึงด้านการทำธุรกิจเป็นหลัก

“เราเริ่มจากการฝึกเป็นกระบวนกรชุมชนเพื่อใช้สมุดเบาใจกับทาง Peaceful Death ตอนนั้นเราพบว่าตัวเองมีความสุขมากที่ได้พูดเรื่องที่เรามีประสบการณ์ตรงและมันยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นในเครื่องมือ

“ในระหว่างนั้นเราพยายามเข้าเวิร์คชอปต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มันทำให้เราได้เห็นว่าสังคมกำลังมี Pain Point หรือความยากลำบากอะไรอยู่ สุดท้ายเราเจอว่ามันคือเรื่องการสื่อสารและความรู้ที่ไม่พอ เราจึงเชื่อว่าหากมีใครสักคนเป็นคนนำคุยหรือเป็นตัวกลางในครอบครัวได้น่าจะสะดวกมากขึ้น ซึ่งยังไม่มีใครทำหน้าที่นั้น”

นักออกแบบความตาย กับ บริการเบาใจแฟมิลี เพราะความตายพูดได้

ไอเดียการสร้างบริการเพื่อช่วยเหลือสังคมของกอเตยจึงเกิดขึ้นในนาม ‘เบาใจ แฟมิลี’ บริการให้คำปรึกษาวางแผนการเตรียมตัวตาย (Pre-death planning) ทั้งแพ็กเกจสำหรับคนโสด คู่รัก และครอบครัว โดยใช้สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือหลัก และเธอเองทำหน้าที่เป็น ‘Death Planner’ หรือ ‘นักออกแบบความตาย’

“เราตั้งชื่อบริการนี้ว่า ‘เบาใจ แฟมิลี’ เพราะคำว่า ‘เบาใจ’ เชื่อมโยงกับสมุดเบาใจ และใช้คำว่าแฟมิลีเพราะเราคิดว่าครอบครัวคือพื้นที่ที่คุยเรื่องความตายได้ยาก จึงอยากทำงานกับครอบครัวเป็นหลัก และเรียกตัวเองว่าเป็น ‘death planner’ หรือ ‘นักออกแบบความตาย’ เพราะเราอยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องความตายมันพูดได้

“ตอนทำเคสแรก ๆ เรายังกล้า ๆ กลัว ๆ ทุกอย่างมันยากไปหมด ไม่แน่ใจว่าองค์ความรู้ที่เรามีเพียงพอไหม ตอนนั้นเรามีเป้าหมายเดียวเลยคืออยากให้ทุกคนเขียนสมุดเบาใจให้เสร็จ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าได้

“แต่เราพบว่าจริง ๆ แล้วสมุดเบาใจไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะปัญหาของผู้คนจริง ๆ กลับเป็นเรื่องความสัมพันธ์ บางคนมีสภาวะ หรือ trauma บางอย่างต่อคนในบ้านเลยทำให้คุยเรื่องยาก ๆ กันไม่ได้ และการเตรียมตัวตายไม่ใช่แค่การเขียนสมุดเบาใจ แต่มันคือการจัดการสิ่งที่ติดค้างแล้วก้าวเดินต่อไปให้ได้มากที่สุด

กอเตยเลือกที่จะปรับรูปแบบของบริการใหม่ เน้นให้ผู้เข้ารับบริการทบทวนชีวิต คุณค่า และความสัมพันธ์ ผ่านการพูดคุย คำถาม และเครื่องมือต่าง ๆ เพราะมันคือการกลับมาดูแลชีวิตและความสัมพันธ์ในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ละเคสที่มารับบริการ จะมีการออกแบบกระบวนการที่แตกต่างกันไป โดยใช้แบบฟอร์มสัมภาษณ์และมีสมุดเบาใจเป็นเครื่องมือหลัก

“ถ้าวันหนึ่งคุณต้องตายจากไป จะมีสิ่งใดที่ยังติดค้างและทำให้เราตายได้ไม่สงบ ? – น้อยคนนักที่จะตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเองใช่ไหม มันเป็นคำถามที่จะทำให้เขาเห็นทิศทางของชีวิตมากขึ้นว่าอะไรที่จะพาเขาไปสู่การตายอย่างสงบ ถึงมันจะอยู่นอกเหนือจากมิติทางการแพทย์ แต่มันเป็นการดูแลภายในที่สำคัญมาก”

เพราะ Pain Point ของคนในสังคม คือ ‘ความสัมพันธ์’

กว่า 200 เคสของเบาใจ แฟมิลี กอเตยพบว่าเคสจะมีบริบทแตกต่างกัน แต่เกือบทุกเคส ไม่ว่าจะมาแบบเดี่ยว แบบคู่ หรือแบบครอบครัว กลับมี pain point ที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่งคือเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’

“ในเคสที่มาเป็นคู่หรือครอบครัว มักพบปัญหาว่าสื่อสารไม่ตรงกัน อีกฝ่ายอีกคิดว่าสิ่งหนึ่งดีที่สุด แต่อีกฝั่งกลับไม่เห็นด้วย

“ส่วนคนโสด มักมีปัญหาว่าไม่รู้จะสื่อสารกับใคร เพราะไม่มีทั้งพ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง เราเจอว่าทุกคนอยากมีความสัมพันธ์กับใครสักคน ได้คุยเรื่องการเตรียมตัวตาย แต่เชื่อไหมว่ามีบางคนที่ไม่มีใครจริง ๆ นะ ให้ตายก็ยังไม่มีใคร สุดท้ายเขาก็ฝากฝังไว้กับเรานี่แหละ แม้เราจะเข้าไปช่วยจัดแจงทุกอย่างไม่ได้ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อย่างน้อยเขาจะมีเราอยู่ตรงนี้เสมอ ทุกวันนี้คนกลุ่มนี้กลายมาเป็นเพื่อน เป็นสังคม และเป็นชุมชนที่น่ารักของเราไปแล้ว (หัวเราะ)

“อีกกลุ่ม คือ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หลายคู่ที่ครอบครัวไม่ยอมรับ และหากวันหนึ่งมีฝ่ายใดกำลังจะจากไป จะยื้อหรือไม่ยื้อชีวิตนั้น ทางแพทย์จะต้องยึดตามการตัดสินใจของครอบครัวทางสายเลือดอยู่ดี ทั้งที่คนรักคือคนที่อยู่ด้วยตลอดเวลาและน่าจะเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยมากกว่า

“เราเคยคิดว่าการวางแผนการตายสำเร็จคือเป้าหมายในการทำงาน แต่สุดท้ายแล้วจริง ๆ มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบตัวต่างหาก การเตรียมตัวตายที่ทรงพลังที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดคือการทำร่วมกับคนในครอบครัว อาจเป็นครอบครัวทางสายเลือด หรือครอบครัวที่เราเลือกเอง (chosen family) ก็ได้ ควรมีใครสักคนที่อยู่ตรงนั้นและสื่อสารกัน เพราะสุดท้ายแล้วมันคือการสื่อสารว่าคุณต้องการอะไร

“สุดท้ายแล้ว ต่อให้เราชัดเจนว่าอยากตายแบบไหน แต่ถ้าแต่ละวันไม่ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมาย อนาคตจึงเป็นไปได้ยากที่จะเป็นตามที่เราต้องการ สิ่งที่เราเตรียมกันมาทั้งหมดนี้มันคือการอยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าวันนี้จะอยู่อย่างไร ต้องอยู่กับคนรอบตัวแบบไหนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายและแผนนั้นให้สมบูรณ์ที่สุด

“และเมื่อชีวิตเดินมาถึงเวลานั้นจริง ๆ ก็ขอให้เป็นนาทีที่เรานึกถึงแต่ความตายของตัวเอง ไม่ต้องมีภาพติดค้างหรือความสัมพันธ์ที่ยังไม่ได้จัดการอีกต่อไป”

จากวันที่ต้องดูแลพ่อที่ป่วยหนักจนกระทั้งเสียชีวิต การพยายามจัดการและมองเห็นช่องว่างในสังคมกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากส่งต่อองค์ความรู้และการจัดการเพื่อให้ทุกคนในสังคมไทยไปสู่การตายดีได้ตามปรารถนา

วันนี้ กอเตย-ปิญชาดา ในวัย 36 ปี เปิดให้บริการเบาใจ แฟมิลีมาแล้วกว่า 3 ปี ผู้คนกว่า 200 เคส ที่ผ่านเข้ามา แต่ไม่เคยมีวันไหนไหนเลยที่ทำให้รู้สึกท้อถอย เพราะเธอยังเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้สังคมไทยเปิดรับการพูดคุยเรื่องความตายจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมากขึ้น

“วันที่เราต้องลาออกจากงานมาดูแลพ่อ เราคิดว่าเราคงเสียโอกาสบางอย่างไปแล้ว แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าโอกาสที่เสียไปวันนั้น มันทำให้เราได้รับโอกาสใหม่ในวันนี้

“เมื่อก่อน เราคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว คุยกับใครไม่ได้แม้แต่ในบ้าน เรามีความฝันว่าอยากออกไปสู่โลกกว้าง แต่เชื่อไหมว่าวันนี้เรายังยืนอยู่ที่เดิม แต่โลกของเรากลับกว้างขึ้น เราได้เจอผู้คน ได้เรียนรู้จากพวกเขา ได้มีสังคมที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยจากงานที่ทำ มันกลายเป็นสิ่งที่เกินฝันไปมาก” กอเตยกล่าวทิ้งท้ายด้วนน้ำเสียงแห่งความสุข

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ เบส-ปิยธิดา เทพประดิษฐ์ วัย 33 ปี หนึ่งในผู้ใช้บริการเบาใจ แฟมิลี ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวถึง 11 คน ที่มีทั้งสามี ครอบครัวของทั้งสอง 2 ฝ่าย รวมถึงเด็ก ๆ วัยน่ารักอีก 3 คน คุณเบสเล่าให้เราฟังว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ากับครอบครัวมาก

“เราเป็นพยาบาลและกำลังมาเรียนต่อที่ต่างประเทศ มีความเข้าใจเรื่องการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าอยู่แล้ว เราเห็นว่าในต่างประเทศมีคอนเซปต์เรื่อง End of Life มานาน ทำให้คนจึงเปิดใจเรื่องการคุยเรื่องความตายได้มากกว่าคนเอเชีย สำหรับบ้านเรา การคุยเรื่องนี้กับคนในบ้านอาจะเป็นเรื่องยาก การมีคนกลางเข้าไปช่วยย่อมง่ายกว่า จนกระทั่งมาเจอกับเบาใจ แฟมิลี จึงติดต่อขอให้มาทำกับครอบครัว

“ในระหว่างทำกระบวนการ เราพบว่าหลายคนในบ้านทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างออกไป ไม่เหมือนกับที่เราจินตนาการไว้เลย การได้มีพื้นที่สะท้อนสิ่งที่แต่ละคนคิดจริง ๆ มันทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น ทำให้เรารู้ว่า คุณค่าสูงสุดของแต่ละคนอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด

“หลังจบกระบวนการ เราคิดว่าทุกคนในครอบครัวเราได้อะไรบางอย่างกลับไปไม่มากก็น้อย สำหรับเรา วันนั้นเราร้องไห้เยอะมาก กระบวนการทำให้เราเห็นว่าเรากดดันตัวเองมาตลอด ในขณะที่พ่อแม่แค่อยากเห็นเรามีความสุข มันเต็มไปด้วยความรู้สึกหลายอย่างที่ไม่เคยพูดออกไปมาตลอด 30 ปี และวันนี้เราได้ขอโทษ ขอบคุณ และโอบกอดกันกับคนในครอบครัว นี่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดแล้ว”

ท้ายที่สุด เรื่องความตายเป็นเรื่องที่เราควรพูดกันในวันนี้ที่ยังมีสุขภาพดี และจะไปถึงตรงนั้นได้ การปลดล็อกความสัมพันธ์กับคนรอบตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“หากรอให้เป็นโรคร้ายแล้วค่อยจัดการเรื่องนี้ เราอาจสูญเสียความสุขที่จะมีกับครอบครัวไปอีกหลายปี หากเริ่มพูดกับคนในบ้านได้เร็ว เราจะมีความสุขได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะไม่มีวันไหนดีเท่ากับวันนี้อีกแล้ว” เบสกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพจาก: ปิยธิดา เทพประดิษฐ์

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ