‘บริจาคร่างกาย’ ความตั้งใจที่จะมอบร่างกาย เป็นวิทยาทานหลังลมหายใจสุดท้าย

อะไรคือเหตุผลที่คนๆ หนึ่งตัดสินใจมอบร่างกายที่ไร้ลมหายใจของตนเองเพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่”

มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเรื่องราวการตัดสินใจบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแพทย์ของผู้บริจาคทั้ง 4 ท่าน ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ร่างกายในวันที่หมดลมหายใจ ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และได้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป


ผมไม่ได้ต้องการขอพระราชทานเพลิงศพ ผมเพียงอยากเป็นครูจนวาระสุดท้าย

“คนเราหนีความตายไม่พ้น ในตอนสุดท้ายที่หมดลมหายใจต่อให้จัดงานยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือขอพระราชทานเพลิงศพได้ สุดท้ายก็เหลือเพียงเถ้ากระดูกเท่ากันทุกคนอยู่ดี เพราะฉะนั้นพิธีกรรมไม่ใช่ใจความสำคัญของชีวิตหลังความตายสำหรับอาจารย์”

อาจารย์ประเศียร สำเร็จกิจ อายุ 85 ปี เล่าถึงการตัดสินใจบริจาคร่างกาย เมื่อกว่า 10 ปีก่อน

“ผมเป็นข้าราชการบำนาญ เกษียณมาด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการ ตลอดชีวิตการทำงานของผมคือการเป็นครู สมัยก่อนเราสอนแทบทุกวิชา ตั้งแต่สมัยที่โรงเรียนยังเป็นทุ่ง ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีรถ ต้องเดินหรือนั่งเรือเท่านั้น เราสอนเด็กๆ อย่างเต็มที่ด้วยหัวใจ ด้วยความหวังให้เด็กๆ ได้เติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ ไม่เคยหวังกำไรหรือขาดทุนจากการทำอาชีพนี้ สิ่งเดียวที่เราคิดคือเราเป็นข้าราชการ เป็นข้าของแผ่นดิน หากทำอะไรเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินได้ เราก็ยินดีทำ

“แม้กระทั่งวันที่เกษียณ ความเป็นครูก็ยังคงอยู่ในตัว แต่เปลี่ยนบทบาทจากการสอนเด็กเป็นการสอนผู้สูงอายุ ผมเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุวัดสารอด และผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุวัดราษฎร์บูรณะ แม้ปีนี้จะอายุ 85 แล้วก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่ซึมอยู่ในสายเลือดคือความเป็นครู”

แม้ในยามสุดท้ายของชีวิตผมก็ยังอยากเป็นครู

“ผมตัดสินใจบริจาคร่างกายมา 10 กว่าปี โดยที่ไม่นึกเสียดายโอกาสที่จะไม่ได้มีงานศพใหญ่โต หรือมีการพระราชทานเพลิงศพเหมือนคนอื่นๆ เหตุผลคือเราอุทิศตัวเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ในฐานะข้าราชการ เพื่อตอบแทนแผ่นดิน สุดท้ายต่อให้เราใหญ่โตแค่ไหน สิ่งที่เหลืออยู่ก็เป็นแค่เถ้าถ่านอยู่ดี แต่ก่อนที่จะไปถึงเถ้าถ่าน ก็อยากให้ร่างกายเราได้ทำประโยชน์สูงสุดเพื่อนักศึกษาแพทย์ เป็นบุญกุศลและสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้

“ผมก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายร่างกายผมจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์แค่ไหน เพราะผมตัวผอมบาง แต่สิ่งที่ตั้งใจทำมาตลอดคือเราก็บริจาคเงินให้สภากาชาดไทยปีละ 1 ครั้งทุกปี ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากบำนาญทุกๆ เดือน เพื่อที่ว่าหากร่างกายเราไม่สามารถนำไปเรียนรู้ต่อได้ ก็จะขอให้ทางสภากาชาดเผาศพเราอย่างเรียบง่าย ไม่ให้ลูกหลานต้องลำบากในการเตรียมพิธีการใหญ่โต และเงินบริจาคของเราจะได้ไปช่วยเหลือการทำงานของสภากาชาดต่อไป

“วันสุดท้ายของการตายเราคงไม่รู้สึกอะไร แต่จิตสุดท้ายที่เรารู้ว่าร่างกายเราจะยังคงเป็นประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ ผมมองว่ามันคือกุศลที่จะพาเราไปอยู่ในที่ดีๆ”

เพราะลูกสาวคือหนึ่งในคนที่ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่จนจบมาเป็นทันตแพทย์

กัลป์ชัย อารีสินพิทักษ์ อายุ 68 ปี ตัดสินใจบริจาคร่างกายกันทั้งครอบครัว หลังจากลูกสาวเป็นหนึ่งในคนที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่จนกระทั่งจบมาเป็นทันตแพทย์ ครอบครัวจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะขอบริจาคร่างกายเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของอาจารย์ใหญ่

“สมัยก่อนเราไม่ได้มีความคิดที่จะบริจาคร่างกายเลย จนกระทั่งลูกสาวได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ ในตอนนั้นทำให้รู้สึกว่าถ้านักเรียนแพทย์เหล่านี้ไม่มีอาจารย์ใหญ่ในการเรียน เขาอาจจะไม่สามารถจบมาเป็นแพทย์เพื่อรักษาคนไข้ได้อย่างชำนาญต่อไป ร่างกายเราสุดท้ายถ้าเผาก็คือจบ ไม่หลงเหลืออะไรเลย ดังนั้นผมถือว่าการบริจาคร่างกายเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่สิ่งสุดท้ายที่เราจะทำได้ เพราะหากนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ศึกษาร่างกายเราจนชำนาญก็จะช่วยชีวิตคนได้อีกเป็นจำนวนมาก

“ตอนนั้นผม ภรรยา ลูกชาย และลูกสาว จึงตัดสินใจชวนกันไปบริจาคร่างกายทั้งครอบครัว

“ผมศึกษาธรรมะมาบ้างจึงได้เรียนรู้ว่า ร่างกายที่สมบูรณ์ตายไปไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมาสมบูรณ์ครบ 32 แต่สิ่งสำคัญคือวาระจิตสุดท้ายจะนำพาเราไปที่ไหนต่างหาก ผมเชื่อว่าจิตสุดท้ายเรานึกถึงการบริจาคร่างกายซึ่งเป็นการสร้างบุญใหญ่ ก็จะนำพาผมไปในที่ที่ดีต่อไปแม้ครอบครัวจะไม่ได้ทำพิธีทางศาสนาให้เลยทันที”

ผมดูแลร่างกายให้ดีที่สุดเพื่อเป็นครูใหญ่ที่สมบูรณ์

“สิ่งสำคัญคือผมออกกำลังทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เพื่อให้ในตอนมีชีวิตเราจะไม่เป็นคนป่วยมีโรคภัยให้ลูกๆ เดือดร้อนต้องมาดูแลเรา และในยามสุดท้ายของชีวิต ผมจะเป็นครูใหญ่ที่ร่างกายสมบูรณ์ให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาต่อไป”

แม่อัญชลี หยกสกุล อายุ 68 ปี ตัดสินใจบริจาคร่างกายเพื่อตอบแทนบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ที่ได้สละร่างกายให้ศึกษาจนสำเร็จเป็นพยาบาล และขอตอบแทนกลับโดยการมอบร่างกายให้เป็นอาจารย์ใหญ่ต่อไป

“แม่เป็นพยาบาลอยู่ในห้องผ่าตัด ตอนนี้แม่เกษียณมาได้ 8 ปีแล้ว สิ่งที่อยู่ในใจของแม่คือบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ ซึ่งนักศึกษาแพทย์และพยาบาลทุกคนจะระลึกถึงร่วมกัน สมัยแม่เรียนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้น ร่างอาจารย์ใหญ่มีให้ศึกษาไม่มากนัก เพราะคนไม่นิยมบริจาคร่างกายเลยต้องรอคิวนำร่างอาจารย์ใหญ่ที่เชียงใหม่มาเรียน ตอนนั้นเรียนกับร่างที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย เราต้องเรียนอยู่กับอาจารย์ใหญ่เป็นเทอม”

“แม้ในยุคหลังๆ เราจะมีหุ่นจำลองที่มีระบบร่างกายมนุษย์ที่เหมือนจริงมากให้ศึกษา แต่การศึกษากับร่างกายคนจริงๆ ก็ยังจำเป็นอยู่ ไม่มีอะไรทดแทนได้ เหมือนกับเลือดที่ยังไม่มีกระบวนการวิทยาศาตร์ที่จะคิดค้นสิ่งที่ใช้ทดแทนเลือดได้ ดังนั้นอาจารย์ใหญ่สำหรับแม่คือสิ่งสำคัญที่สร้างบุคลากรทางการแพทย์เพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป สิ่งนี้จึงอยู่ในใจแม่มาโดยตลอด”

“วันนี้แม่ในฐานะพยาบาลปลดเกษียณ ร่างกายเราก็โรยราไปตามกาลเวลา เมื่อวันที่หมดลมหายใจ เราเอาอะไรไปไม่ได้เลยแม้กระทั่งร่ายกาย แม่เลยคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเราได้บริจาคร่างกายกลับคืนให้เป็นวิทยาทานในการศึกษา จะช่วยให้ร่างที่ไร้วิญญาณยังได้คงช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้”

“ทุกวันนี้แม่คิดว่าเรามีอาจารย์ใหญ่อยู่น้อยมาก ตั้งแต่ยุคที่แม่เป็นนักเรียนพยาบาล ดังนั้นความตั้งใจสูงสุดของแม่คือให้ร่างกายสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์เหมือนที่แม่เคยได้รับประโยชน์นั้นจนมีอาชีพติดตัวเลี้ยงดูครอบครัวได้”

แม่หมวย พิมชยา ธนาสุภาพันธ์  อายุ 62 ปี ตัดสินใจบริจาคร่างกายเพราะนิทรรศการภาพถ่ายของลูกชาย  ทอม-ธีรภัทร โพธิสิทธิ์ ช่างภาพแฟชั่นและนักอนุรักษ์ ทำให้เธอเปลี่ยนความกลัวและความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับการบริจาคร่างกาย

“สมัยก่อน แม่คือแม่ค้า เราเป็นคนต่างจังหวัดคนหนึ่ง เรื่องการบริจาคร่างกายไม่เคยอยู่ในความคิดของแม่เลยเพราะความเชื่อที่พูดต่อๆ กันว่าตายไประวังจะร่างกายไม่ครบ 32 แม่ก็เลยฝังใจว่าถ้าบริจาคร่างกาย ดวงตาหรืออวัยวะ พอตายไปก็จะเป็นผีที่มีไม่ครบ 32 หรือเกิดใหม่ก็มีไม่ครบ ซึ่งแม่คิดว่าคนแก่ตามต่างจังหวัดหลายๆ คนคิดไม่ต่างกับแม่

“สมัยก่อนลูกชายก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องบริจาคร่างกาย เขาจะอาจจะไม่ได้คิดแบบเดียวกับแม่ แต่น่าจะเป็นเพราะจังหวะชีวิตที่กำลังทำนั่นทำนี่ ทำงานตามความฝัน การบริจาคร่างกายจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะคุยกันเท่าไร จนกระทั่งปี 2557 คือปีที่ลูกชายล้มป่วยด้วยอาการไตติดเชื้อจากผลพวงที่ทอมมีไต 3 ข้าง เขาก็ตกตะกอนความคิดและเปลี่ยนมาสนใจเรื่องการบริจาคอวัยวะและร่างกาย

ทอม-ธีรภัทร โพธิสิทธิ์ เล่าว่า “พอเราป่วยเราถึงเข้าใจความสำคัญว่าการบริจาคอวัยวะอาจจะส่งมอบชีวิตใหม่ให้ใครอีกครั้งได้ เราไปค้นข้อมูลจนเจอว่าแต่ละวันมีคนตายเป็นหมื่น แต่มีคนบริจาคร่างกายและอวัยวะแค่วันละ 1-2 คน อาจเพราะความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับศาสนา เลยนำมาสู่โปรเจกต์ภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวการรณรงค์บริจาคอวัยวะ และเราก็เป็นหนึ่งในคนที่ตัดสินใจบริจาคอวัยวะ”

“ภาพที่ลูกถ่ายที่เป็นโครงกระดูกนอนอยู่บนเตียงผ่าตัด ข้างหลังคือภาพผู้หญิงถือหัวใจ มันทำให้แม่รู้สึกว่าสุดท้ายเราตายไปก็ไม่รับรู้อะไรอีกแล้ว ถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นได้ ร่างกายเราไปเป็นครู หรืออวัยวะเราไปช่วยเหลือคนให้รอดตายได้ มันน่าจะดีกว่าเผาทิ้งเป็นเถ้าถ่าน”

“สุดท้ายพิธีกรรมต่างๆ จะใหญ่แค่ไหน จะเคาะโลงให้มากินของดีแค่ไหน เราก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาชื่นชมดอกไม้ มาอร่อยกับของเซ่นไหว้ได้ การได้มอบร่างกายให้กับคนที่เขาจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ต่อไป มันน่าจะดีกว่ามานั่งคิดว่าจะไปเกิดไม่ครบ 32 เพราะจะได้เกิดอีกไหมก็ไม่มีใครตอบได้”

“ลูกชายเคยบอกแม่ว่าโปรเจกต์ภาพถ่ายของเขาสำเร็จมากที่สุด เพราะสามารถเปลี่ยนใจให้แม่มองในมุมที่ต่าง และตัดสินใจบริจาคร่างกาย”

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์อุทิศร่างกายกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยสามารถยื่นความจำนงได้ 3 วิธี

1. ยื่นความจำนงผ่านช่องทางออนไลน์ที่นี่ https://anatomydonate.kcmh.or.th/

2. ยื่นความจำนงโดยตรงที่ ศาลาทินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มของโรงพยาบาล 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะออกบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ไว้เป็นหลักฐาน

3. ยื่นความจำนงทางไปรษณีย์ โดยกรอกข้อความลงในแบบฟอร์ม แล้วส่งมาทางไปรษณีย์ 1 ฉบับ เจ้าหน้าที่จะส่งบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกายให้ภายหลัง เมื่อผู้อุทิศร่างกายถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิ์คัดค้านไม่มอบศพให้กับโรงพยาบาลได้โดยต้องแจ้งการคัดค้านไม่มอบศพกับโรงพยาบาลฯ ภายใน 24 ชั่วโมง

สามารถสอบถามรายละเอียดการอุทิศร่างกายเพิ่มเติม

ศาลาทินทัต โทรศัพท์ 02  256 5079

ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ ศูนย์ฝึกผ่าตัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โทรศัพท์  02  256 4281, 02  256 4737

สำหรับผู้ที่มีความประสงค์อุทิศร่างกายกับ โรงพยาบาลศิริราช สามารถยื่นความจำนง

โดย ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อกรอกข้อมูลที่ลิงก์นี้ : http://bit.ly/2ZLQiEQ พร้อมแนบเอกสารดังนี้

  • รูปถ่ายหน้าตรง 1-2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ พร้อมเขียนชื่อ-นามสกุลด้านหลังรูปให้ชัดเจน
  • สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ พร้อมเซ็นต์สำเนาถูกต้อง

ส่งแบบฟอร์มแสดงความจำนง และเอกสารไปที่ : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 พร้อมวงเล็บมุมซองว่า (บริจาคร่างกาย)

สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดมีความประสงค์อุทิศร่างกาย สามารถแสดงความจำนงโดยติดต่อได้ที่คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีเกณฑ์การรับอุทิศร่างกายต่างกัน

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ