‘BOT Symposium 2023’ สำรวจทุกความท้าทาย เพื่อเตรียมพร้อมคุณภาพชีวิตคนไทย ก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด

งานเสวนาครั้งสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยกับงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 หรือ BOT Symposium 2023 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘คน : The Economics of Well-Being’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี บทประพันธ์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ที่พูดถึงความหวังและความฝันของอาจารย์ป๋วยที่อยากเห็นคนไทยทุกคนได้รับโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่ถือกำเนิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

งานในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยชวนคนไทยร่วมสำรวจ ออกแบบ และหาแนวทางในการพัฒนาโอกาสและคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย โดยวงเสวนาได้รับการร้อยเรียงให้เข้ากับบทประพันธ์ของ อ.ป๋วย ประกอบด้วยหัวข้อเยาวชนและการพัฒนามนุษย์ แรงงานและโอกาสทางเศรษฐกิจ ผู้สูงวัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน นำเสนอผ่านนักวิชาการระดับแนวหน้าและอินฟลูเอนเซอร์จากหลากวงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยน

มนุษย์ต่างวัยจึงนำเนื้อหาจากวงเสวนา “ ผู้สูงวัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน” มานำเสนอ เพราะ นับจากนี้ไปอีก 15 ปี โดยประมาณ สังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society หนึ่งในประเด็นสำคัญที่อยากชวนทุกคนตั้งคำถามและหาคำตอบไปพร้อมกัน คือ ประเทศไทยในวันนี้ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ทั้งในเรื่องของมิติโครงสร้างทางสังคม สวัสดิการที่ตอบโจทย์ ตลอดจนบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยในปัจจุบันและผู้ที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต

ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลัง https://www.youtube.com/watch? 

หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pier.or.th/conferences/ 2023/ symposium

อาจารย์ป๋วยได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา และผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดีและรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันรักษาโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการทางการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูก อย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใด หาหมอ หาพยาบาลได้สะดวก” ดร.เศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวถึงสังคมสูงวัยในบางช่วงบางตอนของการกล่าวเปิดงาน

“ปัญหาที่พบในการที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคม Aged Society หรือสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์แล้ว คือ ภาวะที่ผู้สูงวัยแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย กล่าวคือ ช่วงชีวิต หรือ Life Span ยาวนานขึ้น แต่ช่วงชีวิตสุขภาพที่ดี หรือ Health Span ไม่ยาวนานตาม และขาดความมั่นคงทางการเงิน หรือ Wealth Span คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอในการจับจ่ายใช้สอยและรักษาสุขภาพ ซึ่งเห็นได้จากผลการศึกษาที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุในปัจจุบันมีแหล่งรายได้หลักที่มาจากบุตร ธิดา และอีก 1 ใน 3 มาจากการทำงาน ในขณะที่ส่วนที่เหลือมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุบ้าง จากบำเหน็จ บำนาญบ้าง มีเพียง 1.5 % ที่มีรายได้หลักจากดอกเบี้ยหรือเงินออมของตน

“การจะทำให้สังคมไทยในระยะยาวเป็นสังคมสูงวัยที่ไม่อ่อนแอ จำเป็นต้องเพิ่มทั้ง Wealth Span และ Health Span ให้ยาวนานขึ้นตาม Life Span ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับทุกช่วงชีวิต เพื่อทำให้วัยชรามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

“ถึงแม้ว่าคุณภาพของชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นกว่า 50 ปี ที่แล้วในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายเรื่องทั้งเก่าและใหม่ที่พวกเราต้องฝ่าฟัน เพื่อยกระดับการกินดีอยู่ดีของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราหมดหวังไม่ได้ เพราะความหวังเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้นสร้างได้ด้วยมือของพวกเราเอง”

“สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยเอง มุ่งสร้างโอกาส ตลอดช่วงชีวิตให้แก่คนไทย ทั้งโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดีในยามชราภาพ เช่น การพัฒนาระบบการเงินให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงการสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนไทยมีชีวิตในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

“และการทำให้ความหวังของคนไทยเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธกิจในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยความเจริญเติบโตนี้จะช่วยสร้างรายได้ที่เป็นดอกผลของการลงทุนในการศึกษาและประกอบอาชีพของผู้คน

“อย่างไรก็ตาม ความเจริญเติบโตจะต้องควบคู่กับความมีเสถียรภาพด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อที่สูงมาก หรือหนี้สินที่ควบคุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่อันเป็นการทำลายความหวังของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

“อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเลื่อนขั้นสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อย้อนกลับมามองภาพผู้สูงอายุในปัจจุบัน เราจะเห็นภาพผู้สูงอายุไทย 2 ด้าน คือ ผู้สูงอายุที่มีลักษณะโปรดักทีฟ แอ็กทิฟ และเฮลที ยังทำงานและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม สามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือสังคมได้ อีกด้านหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง หรือภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย ผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังซึ่งมีมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

“นอกจากนี้ ร้อยละ 19 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตจากเบี้ยยังชีพ ร้อยละ 1.3 อยู่ในภาวะติดเตียง และผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 93 อาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม

“ในส่วนของผู้สูงอายุในอนาคตมีหลายประเด็นที่น่าห่วง ทั้งสัดส่วนของการมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น สัดส่วนของการครองโสดถาวรมากกว่า สัดส่วนของผู้ที่ไม่มีบุตรมากกว่า หรือถ้าหากมีบุตรก็มีในจำนวนน้อยกว่าผู้สูงอายุในปัจจุบัน

“สถานการณ์เหล่านี้ส่งสัญญาณบอกเราว่ารูปแบบการอยู่อาศัย และการมีหลักประกันด้านต่าง ๆ จากครัวเรือนจะเปลี่ยนไปมาก ผู้สูงอายุในอนาคตอาจจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุตร

“อีกประเด็นที่สำคัญ คือ เรื่องระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ตามไม่ทันไดนามิกของตลาดแรงงานในปัจจุบัน คนออกจากงานที เคลียร์ระบบที ก็ขาดทุน นั่นทำให้เราอาจจะต้องคิดเรื่องการวางระบบการคุ้มครองทางสังคมที่สอดรับกับชีวิตของคนมากขึ้น เพราะชีวิตคนมีความลำบากมากขึ้น เขาอาจจะไม่ได้ออกจากงานประจำไปประกอบอาชีพอิสระ แต่อาจจะออกไปเลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่ ซึ่งทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างหลักประกันไป ในระหว่างนั้น เราจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมได้อย่างเหมาะสม

“เราเริ่มเห็นความหลากหลายของผู้สูงอายุในอนาคตผ่านภาพ “ประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะ” ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุในภาวะพิการและทุพพลภาพ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุไร้บ้าน ผู้สูงอายุที่อยู่โดยลำพัง  ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความเปราะบางทางสุขภาพ ความเปราะบางทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เกิดความทับซ้อนกับความเป็นผู้สูงอายุมากขึ้นไปอีก ความท้าทายของประชากรสูงอายุเหล่านี้ ก็คือ ภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เเละความซับซ้อนของปัญหาจากลักษณะที่เป็นกลุ่มเฉพาะ

“เรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่เราต้องวางกลยุทธ์ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง แบ่งขอบเขตและบทบาทหน้าที่รับผิดชอบสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งสร้างกลไกที่ชัดเจนในการจัดการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการแยกเรื่องของการสร้างหลักประกันยามชราภาพและการช่วยเหลือคนยากจน คนด้อยโอกาสออกจากกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะถ้าเราไม่มองประเด็นปัญหาเป็นเรื่อง ๆ ท้ายที่สุดเราก็จะวนกลับมาที่เดิม”

“หากมองผู้สูงวัยในปัจจุบัน ก็เปรียบเหมือนคนที่ตกเหวไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง มีความยากลำบากในหลายด้าน จะพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้สูงวัยที่จำใจต้องทำงานอยู่ อยากจะหยุด แต่หยุดไม่ได้ ซึ่งเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ถ้าหากคิดวิธีการจัดการปัญหาเร็ว ๆ เราก็ต้องอัปสกิล รีสกิลให้พวกเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสกิลที่นำไปสร้างรายได้เท่านั้น เช่น การอัปสกิล รีสกิลให้กับปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านเลี้ยงหลาน สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ผู้สูงวัย เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย แล้วภาครัฐจ่ายเงินให้ เพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“ส่วนกลุ่มที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต เราควรสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ในเรื่องของการเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล และความรอบรู้ด้านสุขภาพ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ผมตกหลุมรักมาก คือ ทักษะทางอารมณ์และสังคม เพราะทักษะนี้จะทำให้รู้จักและเข้าใจตนเอง มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น นำไปสู่การสร้างครอบครัว ชุมชน และสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่ต้องลงทุนเยอะ และลดความเหลื่อมล้ำได้ดีมาก สอดคล้องกับผลสำรวจของเวิลด์แบงก์ที่พบว่า การพัฒนาทักษะนี้ช่วยให้สังคมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมสูงวัย คือ เด็กเกิดน้อยลง และเกิดในครอบครัวที่ไม่พร้อม แน่นอนว่าจะต้องพัฒนาให้ครอบครัวมีความพร้อม แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นนโยบายที่ท้าทายและอยากฝากไว้ คือ การให้สัญชาติเด็กต่างด้าว ซึ่งมีทั้งที่เกิดในไทย และเกิดนอกประเทศแต่ตามครอบครัวเข้ามา ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับโครงการพัฒนาเด็กเล็กด้วย เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อสังคม

“ผมคิดว่าเรื่องที่เราพูดกันมานานว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เราต้องทำแบบจริงจัง ต้องลงมือทำจริงไม่ใช่แค่พูด ซึ่งจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิด นำปัญหาที่มีหลาย ๆ เรื่องมารวมกัน โดยใช้คนเป็นศูนย์กลางแล้วไล่ดูว่าคนแต่ละช่วงวัยมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังบ้าง เมื่อเจอแล้วต้องรีบแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้เรารอไม่ได้จริง ๆ เพราะจำนวนประชากรในสังคมกำลังลดลงเรื่อย ๆ แล้ว”

“จุดเริ่มต้นของการทำเพจมนุษย์ต่างวัย เกิดจากความตั้งใจที่อยากชวนคนมองสังคมสูงวัยในมิติใหม่ ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องของคนทุกเจนเนอเรชัน เพราะถ้าหากผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนเจนเนอเรชันอื่นก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย

“เราคิดว่าการจะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องเริ่มจากมายเซ็ตก่อน ถ้าหากผู้สูงอายุมีมายเซ็ตที่ดี เขาจะเข้าใจว่าการที่เขาแก่ตัวลงเป็นแค่อีกสเตจหนึ่งของชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าหากทำให้เขามองเห็นภาพได้ว่าชีวิตจะเดินทางไปทางไหน หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สามารถออกแบบได้หรือไม่ ถ้าเราค่อย ๆ จูนมายเซ็ตแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม สังคมจะค่อย ๆ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนภาพที่มองว่า แก่แล้วต้องอ่อนแอ แก่แล้วต้องพึ่งพาคนอื่น อยู่บ้านเฉย ๆ ไปสู่การพยายามสร้างตัวเองให้แอ็กทิฟ แข็งแรงให้ยาวนานที่สุด ช่วงเวลาป่วยและติดเตียงสั้นที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าสเตจนั้นของชีวิตมันจะมาถึง แต่ถ้ามีการเตรียมความพร้อมที่ดีจังหวะการแลนดิ้งก็น่าจะราบรื่น

“เรื่องมายเซ็ตนั้นไม่ได้หมายถึงตัวผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่เราเชื่อมโยงไปถึงคนเจนเนอเรชันอื่น ๆ ด้วย เวลาพูดเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ คนมักจะตั้งคำถามว่า เอาเงินมาจากไหน คนหนุ่มสาวทั่วโลกก็จะรู้สึกเหมือนกันว่าจะต้องเป็นเงินภาษีที่เราควักกระเป๋าจ่ายแน่ แล้วก็ตั้งคำถามต่อว่า การที่เรามองผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลางนั้น แล้วความเท่าเทียมของคนเจนอื่นจะอยู่ตรงไหน ซึ่งคำถามนี้เขามีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามได้

“แต่ถ้าหากเราพยายามทำความเข้าใจว่า จริง ๆ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียว แต่คนในเจนเนอเรชั่นอื่นๆ ก็มีส่วนร่วมด้วย เพราะถ้าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดี ลูกๆ หลานๆ ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าหากเรามีความสามารถในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนสูงอายุ คุณพ่อ คุณแม่ หรืออากงอาม่าที่บ้านเราได้ ถ้าเขาสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น เรียกแกร็บได้ คุณภาพชีวิตเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย อย่างน้อยเขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องให้เราคอยไปรับไปส่ง ไม่ต้องยืนตากแดดร้อน ๆ รอเรียกแท็กซี่ ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจเรื่องมายเซ็ตทั้งในส่วนของผู้สูงอายุ และคนเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ สิ่งนี้จะช่วยทำให้เราสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพได้

“ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ได้อยากใช้ชีวิตแบบพึ่งพาคนอื่น เขาอยากพึ่งพาตนเองได้ แล้วอะไรที่จะทำให้เขาไปสู่จุดนั้น ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี พึ่งพาคนอื่นเท่าที่จำเป็น และออกแบบชีวิตด้วยตนเองได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างวัยพยายามสื่อสารมาตลอด”

 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ