‘เฮียยุทธ’ มนุษย์ล้อผู้ขับเคลื่อน ‘ดำเนินแคร์รี สอร์ท’ ธุรกิจที่อยากให้คนพิการและสูงวัยใช้ชีวิตของตัวเอง

บ่อยครั้งที่เราเห็นสูงวัยค่อยๆ ไต่บันไดเพื่อขึ้น BTS หรือกลุ่มคนช่วยกันยกวีลแชร์ขึ้นทางต่างระดับตรงทางเข้าร้านอาหาร ภาพแห่งน้ำใจเกือบทำให้เราอมยิ้มไม่หุบก่อนฉุกคิดถึงความจริงว่า สภาพแวดล้อมบ้านเมืองที่คนพิการและสูงวัยไม่อาจใช้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้นั้นต่างหากที่ควรปรับปรุง

“จริงๆ แล้วสังคมเราไม่มีคนพิการ มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ ถ้าสภาพแวดล้อมไม่พิการ หมายถึงสามารถอำนวยความสะดวกได้ เราก็จะไม่มีคน พิการ”

เฮียยุทธ-วรยุทธ กิจกูล มนุษย์ล้อสูงวัยไอดอลของเราว่าไว้ เพราะหากสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานพร้อม นอกจากไม่ต้องขอความช่วยเหลือใครเกินจำเป็น การพึ่งพาตัวเองก็มีแต่จะเพิ่มความภูมิใจและทำให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงความเท่าเทียมในสังคม นี่คือแนวคิดกำเนิดของ ดำเนินแคร์รีสอร์ท ที่อยากให้ทุกคนมีช่วงเวลาแห่งความสุขได้ด้วยตัวเอง

นัดเดียวเปลี่ยนชีวิต คลิกเดียวเปลี่ยนความคิด

หลังจากกระสุนนัดนั้น ชีวิตของเฮียยุทธก็เปลี่ยนไปตลอดกาล จากอดีตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์พ่วงตำแหน่งพี่ชายคนโตผู้เป็นความหวังของครอบครัว ขณะเฮียยุทธมุ่งมั่นสืบทอดกิจการเคมีเกษตร พ่อแม่ก็วางใจว่าอนาคตลูกชายคนนี้คงไปได้ไกล ทุกอย่างกำลังราบรื่น แต่ในเดือนที่ 7 เขากลับได้ลิ้มรสชาติลูกปืนเป็นครั้งแรกเพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจ “กระสุนตัดเส้นประสาทไขสันหลังข้อที่ 8 ทะลุไหล่ ปอด ไขสันหลัง นอกจากเดินไม่ได้ความรู้สึกมันหายไปครึ่งตัว ระบบขับถ่ายเสียทั้งหมด ตอนนั้นนอกจากรักษาตัว ใจก็ต้องประคองให้ผ่านไปได้ ผมปิดร้านทันทีหนีภัยมืดไปอยู่กรุงเทพฯ” เฮียยุทธเล่า

ด้วยความเป็นลูกชายคนโตครอบครัวจีน พ่อแม่หวังให้เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสืบทอดงานที่บ้าน “ตอนนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ได้ยินพ่อคุยกับเพื่อนว่าเราเป็นแบบนี้ให้ตายเสียดีกว่า มาหนักสุดๆ ตอนผ่านมาครึ่งปี ตอนนั้นอาศัยคนอื่นทั้งหมด แฟนเบิกค่ารักษาได้ ครอบครัวก็พอเลี้ยงดูเราได้ กลับบ้านไปอยู่เฉยๆ วันๆ อ่านหนังสือฆ่าเวลา ข่มตาหลับเพื่อฝันว่าตื่นขึ้นมาเราจะหายแล้วกลับมาเดินได้อีก หลอกตัวเองทุกวัน ครั้งสุดท้ายเราอยากหนีไปเกิดใหม่ เคยคิดจะทำร้ายตัวเอง แต่มองย้อนกลับไปถ้าวันนั้นตายวันนี้คงเสียดาย น่าดู

“มองกลับมาปัจจุบันเราเหลืออยู่ครึ่งตัวก็น่าจะมีความสุขกับครึ่งตัวนี้ได้สิ มันทำให้คิดเริ่มต้นใหม่ แล้วจะอยู่อย่างไรให้มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี คำตอบคือเราต้องทำมาหากิน หาเงินได้เอง ไหนจะภรรยาที่ต้องเสียสละตัวเองมาดูแล พ่อแม่อีก เราจะมาเป็นภาระครอบครัวแบบนี้ไม่ได้ วันนั้นตัดสินใจว่า เราะจะก้าวข้ามความตาย ผ่านความพิการนี้ไปให้ได้ เหลือครึ่งตัวยังดีกว่าไม่เหลืออะไรเลย ลองมองรอบๆ คนลำบากกว่าเราเยอะแยะ เรายังมีสองแขนที่ใช้งานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรใช้ประโยชน์มันให้เต็มที่ พอคิดได้แบบนั้นผมก็เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ จากการเป็นช่างตัดผม ขยับขยายเรื่อยๆ จนมาถึงทุกวันนี้”

‘ดำเนินแคร์’ รีสอร์ทที่ออกแบบอย่างเข้าใจคนพิการ

ในวัย 64 ปี หลายคนคงฝันถึงวันเกษียณ มีครอบครัวพร้อมเงินใช้สบายๆ แต่ไม่ใช่เขาคนนี้ เฮียยุทธฝ่ามรสุมชีวิตมาได้จนย่างเข้าสูงวัย แต่ทุกวันเขายังตื่นเต้นกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะครั้งนี้ที่มาจากความตั้งใจอันแรงกล้าของเขาเอง

“ใครๆ ก็อยากเที่ยว กินอาหารอร่อย และพักผ่อนสบายๆ ไม่เว้นแต่คนพิการ” ดำเนินแคร์รีสอร์ท จึงเกิดจากช่องว่างที่รู้ซึ้งและเข้าใจถึงปัญหาของคนพิการโดยมีเฮียยุทธเป็นหัวเรือใหญ่ จนถึงวันนี้ 7 ปีเต็ม “ครั้งหนึ่งครอบครัวมนุษย์ล้อ เราไปเที่ยวยุโรปทั้งหมด 9 ครอบครัว 9 วีลแชร์ แต่ในเยอรมันไม่มีโรงแรมไหนที่พร้อมรับวีลแชร์ถึง 9 ห้อง มากที่สุดก็แค่ 4 ห้อง เราแก้ปัญหาด้วยการเวียนสลับห้องกันวันเว้นวัน วันหนึ่งพักแบบมีห้องน้ำวีลแชร์ ถัดอีกวันไม่มี วนอยู่แบบนี้ พอกลับมาประเทศไทยเลยตั้งใจปรับปรุงบ้านติดตลาดน้ำที่ปิดมานานกว่า 20 ปีเป็นรีสอร์ต เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ใช้วีลแชร์โดยเฉพาะ

รีสอร์ตเรามีทั้งหมด 15 ห้องเป็นอารยสถาปัตย์ หรือที่เรียกว่า Universal Design ทั้งหมด จะวีลแชร์ผู้สูงวัยหรือคนทั่วไปก็ใช้ได้ เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ผมใช้ประสบการณ์นั่งวีลแชร์ของตัวเองเป็นโจทย์ เรารู้ว่าต้องการอะไรจึงทำสิ่งนั้นขึ้นมา ตอนนี้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องนั่งวีลแชร์เหมือนผมก็ทำได้ หาความรู้ในกูเกิล ใน ยูทูป มีหมด ทำง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ” เฮียยุทธใส่หัวจิตหัวใจลงไปในทุกอณู เริ่มจากทำให้พื้นที่จอดรถเป็นทางเรียบระดับเสมอกัน มีทางลาดเชื่อมต่อทุกส่วนสัดตั้งแต่ลงจากรถไปจนถึงระเบียงที่ชมวิว ประตูถูกออกแบบให้กว้างถึง 90% พอที่รถวีลแชร์ไฟฟ้า วีลแชร์ทั่วไป และวีลแชร์โรงพยาบาลขนาดใหญ่พิเศษผ่านได้แบบสบายๆ ไร้รอยต่อและธรณีประตู บานประตูห้องน้ำทำเป็นบานเลื่อนกว้าง 1 เมตร ใช้อ่างล้างหน้าลอยเพื่อให้วีลแชร์สามารถสอดช่วงตัวไปข้างใต้ได้ ส่วนชักโครกมีราวจับ 2 ข้าง ระยะห่างคำนวณมาแล้วว่าพอดิบพอดี

“บางคนไม่เข้าใจ คนเป็นอัมพาตเขาไม่มีแรงพยุงตัว เลยต้องติดราวจับใกล้ๆ กันเพื่อจะได้มีแรงยกตัวเพื่อย้าย อีกส่วนสำคัญคือลิฟต์ ลิฟต์โดยสารตัวนึงราคาเป็นล้าน แต่ชั้นบนของดำเนินแคร์รีสอร์ทมีแค่ 4 ห้อง ไม่คุ้มการลงทุน เราเลยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำลิฟต์ขึ้นมาง่ายๆ แต่ปลอดภัย ใครก็สามารถเอาไปใช้เป็นแม่แบบทำในจังหวัดตัวเองได้ ใช้งบน้อยแถมยังให้ช่างในพื้นที่ทำได้”

สภาพแวดล้อมเป็นใจ คนพิการหรือสูงวัยก็อยากเที่ยว

“ดำเนินแคร์ลงทุนทำท่าน้ำและเรือสำหรับวีลแชร์ เพราะอยากให้ลูกค้าทุกกลุ่มเสพสุขจากสายน้ำที่เป็นเสน่ห์ของดำเนินสะดวก อย่างกิจกรรมใส่บาตรทางน้ำ กิจกรรมล่องเรือไหว้พระ “ในสังคมสูงวัยตลาดนี้โตขึ้น ผู้สูงวัย คนพิการเองมีกำลังใช้จ่ายและออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น อย่างผู้สูงวัยก็เป็นโยมอุปัฏฐาก วัดจึงควรเป็นสถานที่ที่มีอารยสถาปัตย์ให้กับผู้สูงวัย วัดแถวนี้ทำท่าเรือวีลแชร์กันมากขึ้น กิจกรรมล่องเรือไหว้พระทางน้ำเลยเป็นที่นิยม ปรกติวีลแชร์จะขึ้นเรือต้องช่วยกันยก แต่ของเราเอาเรือมาดัดแปลง เปลี่ยนท้ายเรือที่มีกาบให้เป็นทางลาดออกมายาวๆ เข็นวีลแชร์ขึ้นไปได้ประมาณ 4 คัน เราล่องตั้งแต่หลักหนึ่งถึงหลักแปด ล่องไปทางทิศหลักห้า แต่ก่อนโด่งดังมากนะ ตลาดน้ำโพธิ์หักจะมีแม่ค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้ากันตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เรือหนาแน่นมาก ส่วนตลาดน้ำดำเนินสะดวกต่างชาติก็ร้องขอว่าต้องมาให้ได้ เพราะเป็นจุดสำคัญ 1 ใน 10 สถานที่ที่ ททท. ประกาศเอาไว้

“อีกกิจกรรมยอดนิยมสำหรับสูงวัยคือใส่บาตรพระ พระจะพายเรือลำเล็กๆ คล้ายเรือแคนูมารับบาตร กิจกรรมนี้สืบต่อเป็นร้อยปีแล้ว ริมถนนตอน 7 โมงเช้ามีพระเดินรับบาตรนะ แต่หลายคนก็ยังชอบใส่บาตรทางน้ำอยู่ดี ก่อนโควิดก็มีนักท่องเที่ยวอิสราเอล เยอรมัน มาเที่ยวเยอะ เราจัดกิจกรรมสอนอาหารไทย ตำส้มตำ พาล่องเรือเมล์โบราณเรียกว่า เรือหัวดาบหัวแหลม และเรามีรถบัสสำหรับวีลแชร์โดยเฉพาะ พาท่องเที่ยวรอบๆ หรือจะไปเพชรบุรี กาญจนบุรี ก็ได้ ตัวรถบัสจากปรกติที่เป็นบันไดแคบ มีบันไดวนสูงโอกาสที่วีลแชร์ขึ้นยากมาก ถ้าเป็นคนที่นั่งรถไฟฟ้าจะไม่มีโอกาสเลย เพราะรถไฟฟ้าคันนึงหนักประมาณ 80 กิโลกรัม บวกกับคนนั่งเข้าไปอีก ถ้าไซซ์ยุโรป หนักเป็น 100 กิโลกรัม รวมแล้วคันนึงเกือบ 200 กิโลกรัม พอเจอทางแคบๆ แบบนี้เราจะยกยังไง ยิ่งคนยุโรปถ้าพิการเยอะๆ เขาไม่ยอมให้อุ้มนะ ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัว เพราะบางทีไปช่วยยกผิดยกถูกเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา แล้วในทางกฎหมายเขาไม่ให้แตะเนื้อต้องตัว ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานคือ สิ่งที่ต้องมีอารยสถาปัตย์ของเราก็ง่ายๆ คือเจาะประตูท้ายรถให้มันใหญ่ขึ้น ถอดเก้าอี้บางส่วนออก ติดลิฟต์ให้ยกรถวีลแชร์ขึ้นไป ด้านบนมีทางให้เข็นวีลแชร์ มีที่จอดรถคล้ายๆ รถไฟฟ้า BTS MRT แค่นี้เอง”

ความภูมิใจสร้างได้ ด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน

เครื่องอำนวยความสะดวกที่มนุษย์ล้อใช้ได้ ผู้สูงวัยยิ่งใช้ดี “เรามองเห็นความสำคัญของคนทุกกลุ่ม มองเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก ไม่ว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร จะวัยไหนก็ควรเข้าถึงสถานที่ที่เป็นสาธารณะได้ ในอดีตสังคมมักลืมคนพิการและผู้สูงวัย แต่ตอนนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น เราได้รู้ได้เห็นข้อมูลในต่างประเทศว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไร แม้แต่เบี้ยคนพิการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญถ้าเราใช้เต็มที่ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม

“สิ่งอำนวยความสะดวกพวกนี้ไม่ได้ดีต่อคนพิการเองเท่านั้น มันยังดีต่อใจคนรอบข้างและคนที่ดูแลคนพิการเอง อย่างลูกสาวผมถ้าเห็นที่ไหนจะดีใจมากเลย ตัวเราก็ดีใจ ภูมิใจ ภูมิใจตรงที่เราไม่ต้องพึ่งพาใครให้ช่วยยกช่วยแบก เราไปของเราเองได้ อย่างในต่างประเทศ เมืองไหนที่ผู้สูงวัยเยอะๆ เขาใช้สกู๊ตเตอร์วิ่งบนฟุตบาทผ่านลงถนนแล่นเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตได้สบาย ในต่างประเทศที่เจริญแล้วค่าใช้จ่ายในการดูแลแพงมาก ปัจจัยแวดล้อมต้องเอื้อประโยชน์ให้เขาต้องช่วยตัวเอง ผมว่ารัฐลงทุนพวกนี้ในระยะยาวคุ้มกว่าการจ้างอาสาสมัครมาดูแล แล้วมันให้ความภูมิใจกับผู้ใช้เอง”

“นอกจากความสบายที่ผู้เข้าพักจะได้รับ เฮียยุทธเองก็ถูกเติมเต็มความสุขและมิตรภาพจากลูกค้าเช่นกัน “บางคนมาไกลตั้งใจแวะค้างคืนที่นี่ก่อนต่อไปกรุงเทพฯ ลูกค้าเราเป็นตลาดกลุ่มเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต) และเราตอบรับความต้องการของเขาได้ชัดเจน แม้แต่ชาวต่างชาติที่นั่งวีลแชร์ก็เริ่มรู้จัก รีสอร์ตนี้ทำให้ผมมีเพื่อนนั่งวีลแชร์จากทั่วโลกกว่า 10 ประเทศ หลายคนช่วยแนะนำธุรกิจของผมให้กับบริษัทต่างชาติ โดยปกติถ้าเราไม่มีคนแนะนำขอเข้าไปเองมันยากมาก แต่พอมีดีลเลอร์ช่วยเหลือก็ทำให้เราต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น”

เปลี่ยนมุมมองความพิการด้วยธุรกิจ

บางธุรกิจที่เราลงทุนคนอื่นเขาไม่ทำเพราะว่ามันไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นตัวเงิน แต่กลับมาเป็นความสุขทางใจ มันเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เราได้ทำ” ทุกวันนี้วรยุทธตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อขับรถไปดูโรงงานแพคเกจจิ้งที่ราชบุรีสลับไปดูรีสอร์ตที่ปราจีนบุรี อ่าวมะนาว และเพิ่งลงทุนทำสวนทุเรียนไปกว่า 50 ไร่ รวมๆ แล้วเขากำธุรกิจในมือกว่า 7-8 แห่ง แต่เราไม่เห็นความเหนื่อยล้า หรือหมดเรี่ยวแรงในแววตาของเขา

“ผมทำธุรกิจแบบไม่ได้หาข้อมูลจริงจังเหมือนศึกษาวิจัย ตั้งใจทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ชอบให้เป็นเหมือนงานอดิเรก บางทีเราก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไรถึงทำ แต่คิดว่าเพราะโอกาสกับใจรักมากกว่า เรามองเห็นโอกาสเป็นธุรกิจได้เสมอ

“ผมชอบต่อยอดทางธุรกิจ ผมมีสยามนิชชินเมื่อประมาณ พ.ศ 2538 มีโรงพิมพ์พรรณีเมื่อ พ.ศ. 2538 สยามนิชชินก็ต่อยอดมาสู่ดำเนินแคร์รีสอร์ท มาทำลิฟต์ จริงๆ เราใช้ตัวเองเป็นหลักว่าต้องการอะไร และตลาดยังมีช่องว่างตรงไหน พอเราหามาใช้เอง เพื่อนๆ ก็จะคอยถามว่าไปหามาจากไหน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราอยากทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนในประเทศไทย อีกใจก็อยากทำให้เป็นโมเดลให้เห็นว่า คนพิการ หรือคนสูงวัยก็มีกำลังซื้อ ควรจะมีสินค้าตอบสนองความต้องการกลุ่มนี้มากขึ้น ผมมีแนวคิดเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning By Doing) ซึ่งเป็นการลงมือทำโดยไม่กลัว เรียนรู้ไปทำไป ไม่มีอะไรแย่เท่าคิดแล้วไม่ทำ เพราะฉะนั้นถ้าผมคิดอะไรได้ผมจะลงมือทำทันที”

พักหลังธุรกิจของเฮียยุทธไม่เพียงแต่ทำกำไรหรือตอบสนองผู้บริโภค เพราะเขาอยากเปลี่ยนมุมมองสังคมที่มีต่อคนพิการ นั่นอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หัวใจของเขาไม่แห้งแล้ง และยังอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ทุกวัน

“ผมมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันนั่งวีลแชร์เหมือนกันเพราะเป็นโปลิโอตั้งแต่กำเนิด วันหนึ่งเขาไปทำบุญที่ภาคใต้ระหว่างนั่งพักเหนื่อยในวัด อยู่ๆ ก็มีคนเอาเงินมาให้ 20 บาท เพราะนึกว่าเป็นขอทาน แต่จริงๆ เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก นี่คือมุมมองที่สังคมมีต่อเรา ทั้งที่เราทำอะไรได้หลายอย่าง และทำได้ดีด้วย ความพิการสำหรับผมมันไม่ใช่ปมด้อย แต่มันช่วยให้ธุรกิจผมเติบโตขึ้นอย่างทุกวันนี้ ผมเชื่อมั่นตลอดว่าคนพิการมีพรสวรรค์ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจผมประสบความสำเร็จคือ ผมจ้างงานคนพิการเยอะมาก เราเป็นบริษัทเล็กๆ อย่างสยามนิชชินเป็นบริษัทแรกๆ ในไทยที่จ้างคนพิการกว่า 60% เรามีคนพิการที่ทำงานเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ให้กับ บริษัท AIS อยู่ในนามมูลนิธิที่ผมขับเคลื่อน ทุกธุรกิจเราจะดึงคนพิการเข้ามาเป็นส่วนร่วม ให้เขาได้โอกาสในการทำงาน เพราะโอกาสคือสิ่งสำคัญ

“สมัยเป็นนักศึกษา ผมไปจีบแฟนที่โรงพยาบาลศิริราช เราเห็นคนไข้นั่งรถเข็นผ่านไปผ่านมา มีคนพิการทำกายภาพแต่ผมไม่เคยสนใจ จนวันหนึ่งผมมาพิการเองเลยรู้ซึ้งถึงความลำบากและความต้องการของคนพิการ เขาไม่ได้อยากร้องขอความช่วยเหลือถ้าหากทำเองได้ ผมอยากเห็นคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลยเริ่มโครงการและธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยและคนพิการ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ดำเนินแคร์รีสอร์ทเป็นโครงการที่ผมพยายามสร้างให้สมบูรณ์ที่สุดสำหรับผู้สูงวัยและคนพิการ ผมตั้งใจทำให้ที่นี่เป็นที่พักผ่อน เป็นโมเดลสถานที่ตัวอย่างที่คนพิการและผู้สูงวัยใช้ชีวิตประจำวันได้เอง อยากให้เป็นที่ที่ใครสนใจก็มาร่วมเรียนรู้ แล้วร่วมสร้างสังคมดีๆ ไปด้วยกัน”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ