เอ็กโซสูท (Exosuit) ชุดบอดี้สูทเสริมแรงกล้ามเนื้อ นวัตกรรมไทยช่วยให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่แอคทีฟได้อย่างใจ

เคยรู้สึกไหมว่า ผู้สูงวัยที่แม้จะอายุมาก แต่ยังมีพลังในการลุกขึ้นมาสนุกกับชีวิต ยังออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน มักจะดูอ่อนกว่าวัย นี่อาจจะไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่เราคิดกันไปเอง แต่มีงานวิจัยที่ยืนยันกับเราว่า การมีไลฟ์สไตล์แบบนั่ง ๆ นอน ๆ (Sedentary Lifestyle) ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายจะเป็นตัวเร่งให้แก่ชราเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงกลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม และภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) หรือพูดง่าย ๆ คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

แต่ภาวะแก่ชราและโรคเรื้อรังทั้งหมดที่ว่ามานี้มักพบได้น้อยในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีสมรรถภาพร่างกายดี มีกิจกรรมทางกายหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การทำกิจกรรมทางร่างกายเป็นทางหนึ่งที่ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงวัย แต่ยังช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยให้ยาวนานขึ้นได้อีกด้วย

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัย เราได้เห็นผู้สูงอายุจำนวนมากยังแอคทีฟอยู่ ยังพอดูแลตัวเองได้ และยังอยากใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่พวกท่านย่อมมีความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวผิดท่าและการพลัดตกหกล้ม เมื่อเกิดการบาดเจ็บแล้ว ก็จะเปลี่ยนจากคนที่แอคทีฟ กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตติดบ้านทันที เราเห็น Pain Point ตรงนี้ จึงคิดกันว่าทำอย่างไรดีที่เราจะสนับสนุนให้ท่านยังคงมีอิสระ ใช้ชีวิตใกล้เคียงแบบเดิมได้โดยลดการพึ่งพาคนอื่นให้ได้มากที่สุด”

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ได้เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดที่มาของเอ็กโซสูท (Exosuit) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ถูกออกแบบมาในรูปของบอดี้สูท 2 รุ่น ในชื่อ “ราเชล (Rachel)” ชุดบอดี้สูทช่วยเสริมแรงสำหรับผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกขึ้น และ “รอส (Ross)” ชุดพยุงหลังสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ศราวุธ เล่าถึง “ราเชล” ว่า ถูกออกแบบตัดเย็บออกมาให้เป็นเสมือนกล้ามเนื้อจำลอง เมื่อสวมใส่แล้วจะช่วยเสริมแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่เสื่อมถอยไปตามอายุ โดยเฉพาะหลัง สะโพก และต้นขาซึ่งเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากที่สุด โดยจะช่วยให้ผู้สวมใส่ก็จะมีการเคลื่อนไหวในภาพรวมดีขึ้น

“การลุกขึ้นยืนแต่ละครั้ง ต้องใช้แรงจากต้นขา หนุ่มสาวอาจใช้กล้ามเนื้อได้เต็มที่ทั้ง 100% แต่ผู้สูงวัยอาจใช้แรงได้แค่ 80% ในส่วนที่เหลือชุดบอดี้สูทจะช่วยเสริมแรงให้ ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บหกล้ม ยกของหรือการขึ้นลงบันได ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยแล้วว่าสามารถช่วยได้จริง ๆ

“บางคนเชื่อว่ามีตัวช่วยพยุงกล้ามเนื้อแบบนี้แล้ว ผู้ใส่จะใช้กล้ามเนื้อตัวเองน้อยลงไหม จริง ๆ แล้วชุดนี้ช่วยเสริมแรงกล้ามเนื้อให้ใช้งานได้มากขึ้นต่างหาก จากเดิมที่อาจจะออกกำลังกายได้น้อย พอสวมชุดแล้วก็ทำให้ร่างกายกระชับ เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ออกกำลังกายได้มากขึ้น นานขึ้น”

นอกจากจะช่วยพยุงกล้ามเนื้อแล้ว “ราเชล” ยังมีเซนเซอร์คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ เพื่อส่งสัญญาณเตือนในกรณีที่มีการใช้ร่างกายในท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น การยกของผิดท่า แต่แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่การสวมใส่ชุดแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงความสบายของผู้สวมใส่เป็นหลัก ไม่เป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวัน ไม่งั้นแล้ว จะกลายเป็นของที่ลูกหลานซื้อให้ด้วยความหวังดีแต่สุดท้ายก็นอนเหงาอยู่ในตู้ ไม่อยากหยิบมาใส่อยู่ดี

“เราต้องทำอะไรที่เป็นแรงจูงใจให้ท่านอยากใช้ นอกจากจะช่วงลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ในแง่มุมของการออกแบบดีไซน์ ผู้สูงอายุต้องใส่แล้วหุ่นกระชับ เก็บหน้าท้องได้ รู้สึกมั่นใจ นี่จะเป็นฟีเจอร์หนึ่งที่ทำให้ท่านอยากใส่ เรามีการใช้วัสดุผ้าที่มีการทอเสริมความกระชับกล้ามเนื้อที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสิ่งทอ ทำให้สามารถใส่ได้สบายตลอดวันโดยไม่อึดอัด เรามองว่าการออกแบบให้ผู้ใช้อยากสวมใส่เป็นโจทย์สำคัญและเป็นความท้าทาย”

กว่า 3 ปีที่ผ่านมานี้ นวัตกรรมชุดบอดี้สูทได้ผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเก็บข้อมูลจากผู้ใช้จริงอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยพบว่าผู้ทดลองสวมใส่จริงรู้สึกชื่นชอบ สวมใส่ได้สบายสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์ และยังมีการวิเคราะห์ถึงความต้องการผู้ใช้ คำนวณต้นทุนที่เป็นไปได้เพื่อให้สามารถวางขายได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนักให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

“ชุดแบบนี้ในต่างประเทศขายกันหลักหมื่น แต่เราตั้งใจให้มีราคาหลักร้อย หรือหลักพันต้น ๆ เท่านั้น เราอยากให้คนไทยสามารถซื้อหาได้อย่างสบายใจ ใช้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาล และตอนนี้เรามีการพูดคุยกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเพื่อขยายผลให้เทคโนโลยีนี้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้เร็วยิ่งขึ้น”

ในส่วนของ “รอส” หรือชุดพยุงหลัง เป็นชุดที่เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เวรเปล หรือพยาบาล และลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน เพียงแค่สวมชุดพยุงหลังรอสก่อน เคลื่อนย้าย พลิกตัว ประคองผู้ป่วย หรือยกของที่มีน้ำหนักมาก ชุดจะช่วยลดภาระของหลังด้วย กลไกเสริมแรงที่เรียกว่า “ทอร์กเจเนอเรเตอร์ (Torque generator)” ทำให้ลดการบาดเจ็บระยะยาว และยังสวมใส่ได้อย่างง่ายดาย

ปัจจุบัน ทั้งราเชลและรอสยังไม่ได้ผลิตออกมาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ ทั้งราเชลและรอสจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุในบ้านเราให้เป็นสูงวัยที่มั่นใจอยากขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว และออกจากบ้านไปดูโลกสดใสได้มากกว่าที่เคย และยังเป็นตัวช่วยดี ๆ ให้กับผู้ดูแลให้มีชีวิตในแต่ละวันได้ง่ายดายขึ้น

ขอบคุณภาพ

  • ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เนื้อหา

  • https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3654306/

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ