คุยกับ ‘ลูกคนเดียว’ ถึงสิ่งที่ลูกทุกคนต้องเตรียมตัวและเตรียมใจ เมื่อถึงวัยดูแลผู้สูงวัยในบ้าน

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ คนรุ่นก่อนหน้ากำลังขยับไปสู่ช่วงวัยชรา หนุ่มสาววัยทำงานมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับความรับผิดชอบในการดูแลผู้สูงวัยในบ้านที่กลับเพิ่มมากขึ้น

วัยทำงานนับเป็นวัยแห่งการแสวงหา ที่กำลังต้องเผชิญฉากชีวิตที่เข้มข้นในสังคม พวกเขาแบกกระเป๋าเดินหน้าไปตามวิถีที่เลือก สร้างรากฐานให้ชีวิตมั่นคงทั้งทางใจและความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้ใหญ่ในบ้านซึ่งเข้าสู่ขวบวัยแห่งการเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมาก โรคภัยและอาการเจ็บป่วยยิ่งมากตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อถึงรอยต่อนี้ หลายครอบครัวเริ่มประสบปัญหา

จากสังคมไทยแบบครอบครัวขยายที่พี่น้องหลายคนอยู่ร่วมกัน สู่ครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกรุ่นลูกรุ่นหลานแค่หนึ่งถึงสองคน ลมที่เปลี่ยนทิศเช่นนี้ย่อมนำพาความหนักอึ้งเข้ามาปะทะวัยทำงานซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกคนเดียว ที่ต้องแบกรับความกดดันในการดูแลผู้สูงอายุหลายคนในครอบครัว

มนุษย์ต่างวัยจึงชวน ‘ ลูกคนเดียว ’ จาก 2 ครอบครัว มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวและบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการดูแลพ่อแม่สูงวัย เพื่อถอดบทเรียนสิ่งที่ลูกคนเดียวต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อให้ทั้งเราและพ่อแม่มีความสุข เก็บเกี่ยวสะสมความทรงจำแห่งชีวิตไว้ด้วยกัน

สิ่งที่ลูกคนเดียวต้องแบกรับ

‘แชมป์’ – นนธยา คุ้มญาติ ตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ทำงานประจำในวัย 35 ปี เพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา เขาอยากมีธุรกิจส่วนตัวที่สามารถเป็นเจ้านายตัวเองทั้งในเรื่องการงานและเวลา ส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะต้องคอยดูแลผู้สูงวัยในบ้านที่ล้วนอายุมากกว่า 70 ปี คือพ่อ แม่ และป้า

“เมื่อผู้สูงวัยอายุเยอะขึ้น ก็ต้องไปหาหมอบ่อยขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาคือต้องลาหยุดงานเพื่อพาป้าไปหาหมอ ปีหนึ่งก็สองสามครั้ง และปีต่อๆ ไปคิดว่าต้องหยุดงานมากขึ้นแน่นอน การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เราจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดเหมือนตอนทำงานบริษัทหรือองค์กร ที่แม้จะมีวันหยุดให้พอสมควร แต่ถ้าใช้วันลาซึ่งเป็นวันพักร้อนไปหมด ก็จะไม่เหลือเวลาให้ตัวเอง

“บางทีเราเลือกหยุดแบบ leave without pay ให้บริษัทหักเงินค่าจ้างไปเลย เพราะไม่อยากเสียวันลา จริงๆ มันจะไม่กระทบวันหยุดของเราเท่าไหร่หรอก ถ้าสามารถพาป้าไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่ที่ต้องเลือกรักษาที่โรงพยาบาลรัฐก็เพราะเรื่องค่าบริการ ไปเอกชนแต่ละครั้งมันเสียเงินเยอะ”

แชมป์เล่าว่า ตอนที่ป้ายังไม่ได้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ป้าซึ่งไม่เคยป่วยเป็นอะไรมาก่อน มักจะโทร . มาคุยมาปรึกษากับเขา ความเครียดจากงานผสมกับเรื่องครอบครัวที่ต้องแบกรับ ทำให้แชมป์รู้สึกถึงความกดดันที่ปะทุอยู่ภายใน

“เคยไปปรึกษาเพจเฟซบุ๊กที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแรงงาน ว่าการต้องพาผู้ป่วยไปหาหมอ สามารถทำให้เป็นการลากิจ ลาป่วยได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เราควรได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมในการดูแลผู้สูงวัยจากรัฐบาลมากกว่านี้ เพื่อมาสนับสนุนตรงนี้ เราคิดว่าวันลาหยุดงานเพื่อพักผ่อน กับวันลาพาผู้สูงอายุไปหาหมอ ควรแยกกันไปเลย สมมติว่าทั้งปี ต้องไปดูแลผู้สูงวัยแบบต่อเนื่องทุกสองเดือน เท่ากับปีนั้นจะลาไปไหนไม่ได้อีกแล้ว”

บริบทสังคมที่เป็นดาบสองคม

แชมป์อธิบายว่า ด้วยบริบทของสังคมไทย หากปล่อยให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั่งรถไปโรงพยาบาลเองก็จะโดนคนภายนอกตัดสินว่า ‘ทำไมบ้านนี้ถึงปล่อยคนแก่มาคนเดียว ลูกหลานไปไหนหมด’ คำพูดเหล่านี้สร้างความกดดันให้กับคนเป็นลูกเป็นหลาน ทำให้ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุบางรายเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า

แชมป์มองว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุมากพอ ความรับผิดชอบทุกอย่างจึงถูกโยนไปให้คนในครอบครัว รวมถึงความกตัญญูที่เป็นค่านิยมทางสังคมก็ทำให้คนในครอบครัวไม่สามารถปล่อยมือไปทำอย่างอื่นได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศทางตะวันตก ที่ผู้สูงวัยมีค่านิยมในการพึ่งพาตัวเอง โดยมีรัฐสวัสดิการที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีใครต้องเดือดร้อนใคร

“ประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทยคือประเด็นบ้านพักคนชรา ‘เป็นลูกก็ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ได้’ รุนแรงถึง ‘ลูกที่ส่งพ่อแม่ไปบ้านพักคนชราเป็นลูกอกตัญญู’ เรามองว่าถ้าไม่พร้อม บ้านพักคนชราก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่อาจจะเหมาะกับบางครอบครัวกว่าก็ได้”

ทุกวันนี้ แชมป์ลาออกจากงานมาเรียนปริญญาโท โดยจะเรียนแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ เป็นเวลาอ่านหนังสือ เขาจึงสามารถพาผู้สูงวัยที่บ้านไปโรงพยาบาลได้ แม้จะต้องขอลาจากที่เรียนบ้างบางครั้ง แต่แชมป์บอกว่าสบายใจกว่าการขอลาหยุดจากที่ทำงานมากทีเดียว

แชมป์วางแผนไว้ว่าหลังจากเรียนจบปริญญาโท จะเปิดคลินิกบำบัดรับฟังปัญหาปรึกษาพูดคุย เขาบอกว่า

“ตอนนี้ต้องดูแลรักษาป้าที่แก่กว่าพ่อแม่ แต่ในอนาคตหากต้องเป็นเคสของพ่อแม่บ้าง ถ้าหมอนัดมากขึ้นแล้วต้องคอยมานั่งระแวงเรื่องวันหยุดอีกก็เป็นเรื่องลำบาก มันไม่มีคนมาผลัดเปลี่ยนอยู่แล้วเพราะเราเป็นลูกคนเดียวไง แม้จะทำเงินไม่ได้เยอะ และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีลูกค้าแค่ไหน แต่สิ่งที่ต้องการคือเรื่องของ work life balance มันต้องมีเวลา”

เส้นทางที่ต้องเลือกเดิน

เรื่องราวของลูกคนเดียวอีกคนอย่าง ‘ฝน’ – รวิพร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์ อายุ 41 ปี จากบ้านเกิดที่เชียงใหม่ เธอลุยเดี่ยวไปเรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ ร่วม 20 ปี งานไปได้ดี ตำแหน่งไปได้สวย เงินเดือนสูงขึ้น เธอวางแผนชีวิตไว้ว่าจะยังคงทำงาน มีครอบครัว ซื้อบ้าน พร้อมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง แต่เมื่อชวนพ่อและแม่ให้มาอยู่ด้วยกัน กลับไม่เป็นไปตามแผน เพราะฝ่ายหลังซึ่งไม่ใช่คนกรุงเทพฯ บอกว่าไม่ชอบ ไม่อยากอยู่ในเมืองใหญ่

“วันหนึ่งขณะแม่กำลังซักผ้า เกิดล้มลงบาดเจ็บเข่าเลือดไหล วันนั้นพ่อไม่อยู่บ้าน เราทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่คนละที่ มีความคิดแวบขึ้นมาว่าถ้าพวกเขาอายุเยอะขึ้นกว่านี้ แล้วเรายังอยู่ที่กรุงเทพฯ ในระยะยาวใครจะเป็นคนดูแล เลยเปลี่ยนความคิดว่า สุดท้ายเรานี่แหละที่ต้องดูแลพวกเขา จึงตัดสินใจกลับมาอยู่เชียงใหม่

“หลังกลับมาบ้าน เราปรับพฤติกรรมตัวเองให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะอยากแข็งแรงเพื่อดูแลพ่อแม่ ห้าปีต่อมา พบว่าแม่เป็นมะเร็ง ตอนนั้นเราทำงานตอนกลางคืนเป็นผู้จัดการร้านอาหาร เข้าบ่ายสามโมงครึ่งเลิกตีหนึ่ง ต้องตื่นเช้าพาแม่ไปโรงพยาบาล ไปผ่าตัดติดตามผล ช่วงที่รู้ว่าแม่ป่วย พ่อก็มาโดนรถชนต้องพาไปล้างแผลทุกวัน กลายเป็นเข้าออกๆ โรงพยาบาลเหมือนเป็นชีวิตประจำวันไปเลย”

ความเจ็บปวดเมื่อไม่มีพี่น้องช่วยแบ่งเบา

“อาการแม่ก่อนจะไม่สบาย คือตัวเหลือง ซูบ น้ำหนักลงเร็วมาก ทั้งๆ ที่แม่ไม่เคยป่วย ออกกำลังกายเต้นแอโรบิกมาเป็นสิบๆ ปี เขารับไม่ได้เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ หมอบอกว่าน่าจะอยู่ได้ประมาณสองปี ช่วงระยะท้ายๆ ต้องทำคีโม ผ่าตัดใหญ่ ไม่ได้เตรียมวางแผนอะไรไว้ก่อนเลย เรื่องค่ารักษาต่างๆ ความรู้เรื่องผู้ป่วยมะเร็งคือศูนย์ รู้แค่ว่าคนที่เป็นส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน เราทำตามขั้นตอนที่หมอบอก บังคับตัวเองไม่ให้วิตกกังวลเกินไป ไม่เสพข้อมูลเกินขนาด เรื่องงานก็พยายามประคองไว้ พยายามดูแลตัวเองไม่ให้น็อก ไม่ให้ป่วย บิลด์ตัวเองให้เข้มแข็งเข้าไว้ ”

ฝนอธิบายว่า พ่อแม่ของเธอใช้สิทธิ์บัตรทองในการรักษาพยาบาล ที่แม้จะครอบคลุมการรักษาในระดับหนึ่ง แต่ก็มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย เช่น ค่าตรวจ MRI ค่าห้องที่เข้าแอดมิต อาหารเสริมหลังผ่าตัด การทำ CT scan รวมถึงค่าใช้จ่ายจุกจิกอีกมากมาย

นอกจากสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว แม้ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ’ เพื่อใช้จ่ายในขั้นพื้นฐาน เดือนละ 600-1,000 บาท แต่ก็น่าคิดว่าเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละไม่ถึง 1,000 บาท นั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน

“บางอารมณ์ก็มีน้อยใจ ถ้าเรามีพี่น้อง คงแบ่งเบาภาระได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะคิดแบบนั้นทำไมในเมื่อมันไม่มีอยู่แล้ว ก็ต้องหาทางออกอื่นๆ ไป การตัดสินใจกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่นี้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองคิดผิด เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เราไม่สามารถอยู่แค่ตัวคนเดียวได้ นอกจากครอบครัว อย่างอื่นมันคือของนอกกาย บ้านซื้อใหม่ได้ ทำงานได้เงินเดือนน้อยลงเกือบครึ่งไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือเราได้ใช้เวลากับท่านอย่างเต็มที่”

ชีวิตระยะยาวที่ไกลกว่าการดูแลพ่อแม่

งานดูแลผู้สูงอายุจะเป็นงานที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพความเจ็บไข้ ในขณะเดียวกันคนดูแลก็จะต้องอยู่ในภาวะที่ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่ได้ดูแลตัวเอง ไม่ได้เข้าสังคม พักผ่อนน้อย เครียด กินอาหารไม่เป็นเวลา ขาดการออกกำลังกายและบำรุงสุขภาพ พร้อมๆ กับที่ต้องแบกรับความกตัญญูเอาไว้บนบ่า ทำให้เกิดความรู้สึก ‘หมดไฟ’ เอาได้ง่ายๆ

หากร่างกายและจิตใจส่งสัญญาณเช่นนั้น คนที่ทำหน้าที่ ‘ดูแล’ คนอื่นอยู่เสมอ ก็ควรจะได้รับการดูแลเช่นกัน หนทางหนึ่งซึ่งตอบโจทย์สังคมที่เป็น aging society ก็คือสถานรับดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งแบบ ไป-กลับ เพื่อให้คนดูแลได้พักผ่อน ทำธุระ หรือใช้ชีวิตของตัวเองในระหว่างวัน และมีทั้งแบบที่สามารถอยู่ได้เป็นรายเดือน

ปัจจุบันสถานรับดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะของบริษัทเอกชนนั้นก้าวหน้าไปถึงขนาดที่ว่ามีการออกแบบโปรแกรมเฉพาะตามเงื่อนไขด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น โปรแกรมดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณ โปรแกรมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะอัลไซเมอร์ และโปรแกรมดูแลผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เพราะฉะนั้นการใช้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจึงไม่ได้หมายถึงการปล่อยปละละเลยหรือการทอดทิ้ง แต่หมายถึงการพาผู้สูงอายุในบ้านไปอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้ มีทักษะ และมีประสบการณ์มากกว่า

สิ่งที่สังคมไทยจะต้องมาปรับความเข้าใจกันใหม่ก็คือ การใช้บริการสถานรับดูแลผู้สูงอายุไม่ได้หมายถึงความอกตัญญู และสถานรับดูแลผู้สูงอายุก็ไม่ใช่บ้านพักคนชรา แต่เป็นสถานที่ที่ให้บริการเรื่องการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุตามมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนผู้สูงอายุที่ยังพอจะเดินทางได้สะดวก ไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ให้อยู่ติดบ้านตลอดเวลา ก็จำเป็นจะต้องเปิดหูเปิดตา และได้เข้าสังคมใหม่ๆ บ้าง ชมรมผู้สูงอายุที่รวมกันทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอาสา กิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพจึงเป็นอีกคำตอบที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุได้สังสรรค์กับคนในวัยใกล้เคียงกันแล้ว ก็ยังเป็นช่องว่างที่ลูกหลานหรือผู้ดูแลสามารถ ‘ เบรก ’ เพื่อไปทำธุระหรือใช้ชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน

เพราะสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือสภาพจิตใจของผู้ดูแลที่ควรได้รับการดูแล ฟื้นฟู และผ่อนคลายเพื่อไม่ให้ต้องจมอยู่กับความเครียดติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดความเจ็บป่วยที่จะพัฒนาไปเป็นภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในกลุ่มลูกหลานที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นในฐานะกำลังหลัก การดูแลสุขภาพใจตัวเองก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้

ปัจจุบันความรู้เรื่องอาการเจ็บป่วยทางใจถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่คนยอมรับได้ เพราะฉะนั้นหากพบว่าตนเองมีความเครียดในระดับที่มากเกินปกติจนส่งผลกับชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และการดูแลผู้สูงอายุ อย่าลังเลที่จะขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ

สิ่งที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องคิดเผื่อไว้ คือชีวิตหลังจากภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุเสร็จสิ้นลง หลังจากที่ทิ้งงานประจำมานานหลายปี หลังจากที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจต้องเตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตของตัวเองต่อ ทั้งเรื่องความมั่นคงทางการเงิน อาชีพ และชีวิตส่วนตัว เพื่อให้การจากไปของผู้สูงอายุไม่กลายเป็นจุดที่ทำให้ชีวิตสะดุด จนกลายเป็นความป่วยกายและป่วยใจไปในท้ายที่สุด

ฝนบอกว่า ตั้งแต่รู้ว่าแม่ป่วย ความคิดของเธอเปลี่ยนไปมาก จากชีวิตสุดเฟี้ยวสมัยเรียนและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มี เธอกลับมาอยู่เชียงใหม่ ใช้ชีวิตด้วยสติมากขึ้น ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองและเก็บเงิน ใช้ชีวิตให้ทุกวันเป็นวันที่ดีที่สุด เพื่อดูแลพ่อกับแม่

“เพราะมีพี่น้องเป็นผู้ชาย เลยติดความคิดว่าลูกผู้หญิงก็ไม่ควรอ่อนแอให้ใครเห็น ทุกวันนี้เราพยายามเสริมพลังให้ตัวเอง เพราะต้องดูแลพ่อแม่อีกสองคน พลังลดลงไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ ออกกำลังกายให้แข็งแรง ตอนพ่อรู้ว่าแม่ไม่สบาย เราได้เห็นพ่อที่เป็นผู้ชายนิ่งๆ ร้องไห้ออกมา เราเห็นแล้วก็อดร้องไห้ไม่ได้ แต่ก็ต้องดูแลจิตใจให้ตัวเองเข้มแข็งเข้าไว้ ”

จากประสบการณ์ทำงานตำแหน่งดูแลลูกค้ามาอย่างยาวนาน เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่เชียงใหม่ ฝนผันตัวเองไปเป็นทั้ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ในโรงแรม เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร เป็นผู้จัดการร้านอาหาร จนทุกวันนี้เธอเป็นฟรีแลนซ์ รับงานหลากหลาย

“เราพยายามมองหาธุรกิจที่ทำควบคู่ไปด้วย เพื่อเสริมความมั่นคงทางรายได้ ที่บ้านเป็นโรงงานเต้าหู้ ตั้งแต่รุ่นอากงทำเต้าหู้ยี้ เรากินน้ำเต้าหู้ของที่บ้านมาตั้งแต่เด็กๆ เราเลยเอาความรู้ประสบการณ์การทำงานต่างๆ มาปรับใช้ สร้างแบรนดิ้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นน้ำเต้าหู้ Have a Nice Bean ขายในตลาดเกษมมาร์เก็ตที่เชียงใหม่ รวมถึงทำเต้าหู้ก้อนส่งไปที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เรายังสามารถดูแลพ่อแม่ไปพร้อมสร้างอาชีพที่มั่นคงขึ้นในอนาคตได้ ”

ในวันที่ประเทศไทย มีผู้คนอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในอีก 20 ปี หรือเร็วกว่านั้น กลุ่มคนวัยทำงานจะมีน้อยลง สถานการณ์ที่แชมป์และฝนกำลังเผชิญอยู่จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาส่วนตัวของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่กำลังจะกลายเป็นปัญหาในระดับสังคมที่ภาครัฐต้องวางนโยบายในการจัดสรรระบบสวัสดิการให้เหมาะกับโครงสร้างประชากรของประเทศ เพื่อให้ประชากรในแต่ละเจเนอเรชันสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันสิ่งที่คนวัยทำงานในวันนี้จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือเรื่องการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ เพื่อในอนาคตไม่ว่าจะมีลูกหลายคน ลูกคนเดียว หรือไม่มีลูกเลย ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคงด้วยตัวเองได้จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

Credits

Authors

  • อธิวัฒน์ อุต้น

    Author & Drawชื่อแดนซ์, ยังคงตามหาว่ามีใครใช้ชื่อซ้ำกันไหมและหวังว่าจะพบในสักวัน บางครั้งก็จับกีตาร์ บางครั้งก็จับปากกา บางครั้งก็จับกล้อง (แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ไล่จับความฝัน)

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ