คนไทยโดนหลอกทางออนไลน์ กว่า 700 คดี/วัน เสียหายกว่า 38,000 ล้านบาท เหยื่อมีทั้งหมอ นักธุรกิจ และ คนจบดอกเตอร์

เชื่อไหมช่วงปีที่ผ่านมานี้ คนไทยที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในโลกออนไลน์ไม่เว้นแต่ละวัน แน่นอนว่าเรื่องยอดฮิตคงหนีไม่พ้นการซื้อขายของออนไลน์ แต่นั่นยังไม่สร้างความเสียหายเยอะเท่ากับการหลอกให้ลงทุน ที่สร้างความเสียหายให้กับเหยื่อไปแล้วรวมหลายหมื่นล้านบาท แถมผู้ที่ถูกหลอกลวงก็ไม่ใช่ตาสีตาสา หรือคนแก่ที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่กลับมีทั้งหมอ นักธุรกิจ นักการเมือง รวมถึงคนที่มีการศึกษาสูงระดับดอกเตอร์ด้วย

“เราเปิดแจ้งความออนไลน์มา 14 เดือน มีคดีแจ้งความจากการหลอกลวงออนไลน์ สร้างความเสียหายแล้ว 38,000 ล้านบาท แต่ทางตำรวจตามเงินคืนให้ผู้เสียหายได้แค่ 683 ล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าท่านถูกหลอกเงินไป 100 บาท ท่านมีโอกาสได้เงินคืนแค่ 1.60 บาทเท่านั้น และมีการแจ้งความเกิดขึ้นกว่า 700 คดี/ วัน นั่นหมายความว่ามีคนโดนหลอกทุกวัน”

พันตำรวจโทธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบ และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มาแชร์ให้ฟังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังกลลวงของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ให้ฟังภายในงาน “CREATIVE TALK Conference 2023” ภายใต้หัวข้อ “INSIDE CRIMINAL MIND: พี่มิจเค้าคิดอะไรอยู่”

ซึ่งทางมนุษย์ต่างวัยฟังแล้วก็โอ้โหกับเทคนิคสุดล้ำที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนระดับเศรษฐี คนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่มีการศึกษาสูงกลับตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย ตอนนี้ พวกมิจฉาชีพมีกลลวงแบบไหนบ้างแล้ว ลองมาดูกัน

กลลวงข้อความปริศนา “วันก่อนเห็นแฟนพี่เดินกับใครไม่รู้ ลองกดดูคลิปนี้สิ !”

บางทีก็มีข้อความปริศนาแบบนี้ส่งมาในมือถือไม่ว่าจะเป็นทางไลน์หรือ SMS ข้อความที่ส่งมามักชวนให้เหยื่ออยากรู้อยากเห็น กระตุกต่อมเผือกเสียจริง ไม่ว่าจะเป็น “ในคลิปนี่แฟนพี่หรือเปล่า เห็นเดินกับใครก็ไม่รู้” หรือบางทีอาจจะเป็นคลิปอุบัติเหตุพร้อมข้อความส่งมาว่า “คนที่อยู่คลิปคือแฟนพี่รึเปล่า ?

แถมเป็นเส้นทางบนท้องถนนที่เราใช้กันเป็นประจำอีก เป็นเรา เราจะไม่กดเชียวหรือ? เชื่อหรือไม่ว่าข้อความพวกนั้นมักเป็นข้อความที่ถูกวิเคราะห์มาแล้วว่าจูงใจเหยื่อรายนั้น ๆ โดยเฉพาะ ชนิดที่ว่าถ้าเห็นข้อความแบบนี้ ยังไงก็ต้องกดเข้าไป หรือบางทีมิจฉาชีพก็มาในรูปแบบของความหวังในการหารายได้เสริม

“บางครั้งจะมี SMS ส่งมาชวนให้หารายได้เสริม กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นชาวบ้านในต่างจังหวัดหรือหนุ่มสาวออฟฟิศตกงาน พอเห็นข้อความแบบนี้เขาก็จะมีความหวัง และสุดท้ายก็หมดตัว”

โดยเฉพาะ SMS ที่ตอนนี้มิจฉาชีพมีเทคนิค ส่ง SMS ปลอมปะปนกับ SMS จริงของธนาคารหรือหน่วยงานภาครัฐได้แล้ว และเมื่อเราหลงเชื่อกดเข้าไป และมีการใส่รหัส PIN นั่นเหมือนประตูนรกที่เปิดต้อนรับเหล่ามิจฉาชีพทันที

“มิจฉาชีพจะจ้างคนขับรถวนไปในที่ที่มีคนพลุกพล่าน แล้วส่ง SMS เข้าไปให้คนละแวกนั้นด้วยกลวิธีโจมตีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือตั้งสถานีสัญญาณปลอม ที่เรียกว่า false base station ทำให้คนร้ายสามารถส่ง SMS ปลอม เข้าไปปะปนกับ SMS จริงของธนาคารหรือหน่วยงานราชการได้ เชื่อไหมว่าคนขับรถแบบนี้ได้ค่าหัวคิวกว่า 80,000 บาท/ เดือน”

“วิธีการแบบนี้เรียกว่า Social Engineering คือการสร้างเรื่องราวเพื่อให้คนกดเข้าไปในลิงก์ เมื่อเหยื่อกดเข้าไปแล้วจะเข้าไปสู่ที่หน้าเฟซบุ๊กให้ล็อกอินโดยกรอก username และ password จากนั้น ข้อมูลของเราก็จะไปอยู่ในมือเหล่ามิจฉาชีพเรียบร้อย วิธีการง่าย ๆ แบบนี้ที่คนร้ายทำ เราอาจจะคิดว่าเขาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เก่งกาจ หรือแฮกเกอร์ในตำนานใช่ไหม เปล่าเลย คนพวกนี้จบแค่ป.4 ที่อาศัยความชำนาญ แต่สามารถหลอกคนระดับดอกเตอร์มาแล้ว”

“มีคดีที่ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุดคือ เมื่อไม่นานมานี้เด็กชายวัย 15 ปี อยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่เลยไปสมัครดูยูทูบเพื่อหารายได้เสริม เด็กคนนี้ใช้เงินเก็บ 15,000 บาทในการสมัคร สุดท้ายมิจฉาชีพไม่คืนเงิน เด็กคนนี้เลยส่งข้อความไปบอกว่าถ้าไม่คืนเงินเขาจะไม่อยู่แล้วนะพร้อมกับส่งรูปเชือก คนร้ายตอบกลับมาว่า “Good Luck” จากนั้นเขาก็ผูกคอตาย”

รักลวงใจในโลกออนไลน์ อะไรก็ยอมเธอ

กลวิธีที่สุดแสนคลาสสิคคู่มิจฉาชีพมาอย่างยาวนานแต่กลับหลอกลวงเหยื่อได้สำเร็จตลอดกาลแบบไม่เคยแผ่ว เราเรียกการหลอกลวงแบบนี้ว่า “romance scam” เชื่อไหมว่าการหลอกลวงแบบนี้พบในเหยื่อทุกเพศทุกวัยไม่จำกัดการศึกษาและหน้าที่การงานเลย

วิธีที่มิจฉาชีพใช้คือ การเริ่มจากเข้ามาทำความรู้จัก ชวนคุย แต่งเรื่องราวหลอกลวงสารพัด เหยื่อทุกรายพูดตรงกันว่า เขาเหมือนคนรู้ใจแบบฟ้าประทานมา คุยอะไรก็ถูกคอกันไปหมด แต่นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มิจฉาชีพจะมีการวางแผนกับเหยื่อรายหนึ่งนานหลายปี ศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ครอบครัว รสนิยม นิสัยใจคอ รวมถึงกำลังจ่าย ท้ายที่สุด เหยื่อมักถูกหลอกให้เปิดบัญชีเพื่อวางแผนครอบครัว

บางทีอาจหลอกให้โอนเงินให้ 2 หมื่น แล้วโอนคืนมา 3 หมื่น เป็นแบบนี้เรื่อย ๆ และมีจำนวนเงินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขอให้โอน 1 ล้าน แล้วโอนคืนมา 1.5 ล้าน เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหยื่อตายใจแล้วค่อยชิ่งหนี แบบนี้ต่อให้เป็นใครก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน

“นี่คือเทคนิคหลอกลวงแบบ old school ของแท้ เหมือนเป็นเครื่องหมายการค้าของพวกผิวสี มิจฉาชีพจะทักเฟซบุ๊กมาหา อ้างว่าเป็นทหารอเมริกันเคยอยู่ที่อิรัก ตอนนี้เกษียณแล้ว อยากมองหาใครสักคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน และโชคดีเหลือเกินที่พระเจ้าทำให้ได้พบกับคุณ..(เหยื่อ) จากนั้นเขาจะขอให้คุณแอดไลน์คุย แล้วส่งรูปภาพพูดคุย แต่อย่าลืมนะว่าไลน์นิยมใช้ที่ประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย เท่านั้น ชาวอเมริกันส่วนมากเขาไม่ใช้ไลน์กัน”

ฉะนั้นแล้ว หากมีชาวต่างชาติทักมาทำความรู้จักแล้วขอแอดไลน์ ให้พึงระวังไว้ให้ดีเพราะเป็นไปได้ยากที่ฝรั่งจะเริ่มคุยกับเราผ่านทางช่องทางนี้ หากอยากลองทำพูดคุยดูแล้วละก็แนะนำให้ลองเปิดวิดีโอคอลพูดคุยจะดีกว่า

“พวกมิจฉาชีพจะแอดไลน์คุย ส่งรูปภาพให้คุณทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาจะไม่ทำคือการเปิดวิดีโอคอล อาจอ้างว่าเป็นกฎทางทหารบ้าง หรือกำลังรบอยู่ในสงครามบ้าง มีบางรายยอมเปิดกล้องเหมือนกัน แต่หารู้ไม่ สิ่งที่เปิดคือคลิปวิดีโอ เพราะพวกมิจฉาชีพรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีจุดอ่อนเรื่องภาษา

“บางทีเราเห็นหน้าฝรั่งหล่อ ๆ ก็จะเขิน ยิ้มกันไปกันมาแล้ววางสาย หลงเชื่อไปว่านี่ตัวจริงแน่นอน ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแน่ วิธีหนึ่งที่ง่ายมากคือ ให้ลองสั่งให้พี่ฝรั่งพวกนั้นยักคิ้วหลิ่วตา กะพริบตา หรือแคะขี้มูกโชว์ก็ได้ จะได้รู้เป็นเบื้องต้นว่านี่ตัวจริงไม่ใช่แค่คลิปวิดีโอ”

เพราะให้ใจไปแล้วอะไรก็ยอมเธอ กรณีนี้แบบนี้จึงมีคนโดนหลอกทุกเพศทุกวัย บางรายสูญเงินหลายร้อยล้านบาทหรือถูกกดดันจนถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยก็มี

“มีเหยื่อรายหนึ่ง จบปริญญาเอก มิจฉาชีพส่งภาพเงินสดให้ดูแล้วบอกว่ากำลังไปหาที่ไทย เตรียมขนเงินขึ้นเครื่องบินไปลงสุวรรณภูมิ ถ้าไปถึงแล้วจะซื้อบ้าน ซื้อรถให้ แต่สุดท้ายก็มีข้ออ้างว่าเงินติดอยู่ที่ศุลกากร ขอให้เหยื่อโอนเงินมาให้ดำเนินการ ถ้าเรามองด้วยใจเป็นกลางย่อมเห็นความผิดปกติใช่ไหม แต่เชื่อไหมว่ามีคนตกหลุมพรางแบบนี้ตลอดเวลาและขึ้นมาไม่ได้เลย”

เสียงคนรักเก่านี้ที่คุ้นเคย แท้จริงแล้วคือ AI

บางครั้งก็มีเพื่อนเก่าแก่จากโรงเรียนประถมโทรมาหาเราเพื่อรำลึกความหลัง เขาจะแนะนำตัวกับเราอย่างดี แล้วขอให้เราบันทึกเบอร์นี้ไว้ใช่ไหม จากนั้นก็จะโทรกลับมาอีกทีเพื่อขอยืมเงิน หรือบางทีก็มีเสียงที่คุ้นเคยโทรมา ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เขาคือแฟนเก่าที่โทรมาหาด้วยความคิดถึงนั่นเอง จะว่าไปเสียงก็คุ้น ๆ อยู่ น่าจะใช่เขาจริง ๆ ใช่ไหม ไม่ได้เป็นคนอื่นคนไกล เขาอุตส่าห์มีใจโทรกลับมาหาเราแบบนี้ จะตัดสัมพันธ์ไปก็ใจร้าย แต่เชื่อไหม ว่านั่นอาจเป็นไม่ใช่ตัวจริง !

เคยมีคดีความที่มิจฉาชีพปลอมเป็นเสียงหลานชายแล้วโทรไปขอยืมเงินยาย 5 แสนบาท และสำเร็จเสียด้วย คงน่าสงสัยใช่ไหมว่ายายโดนหลอกได้ยังไง ยายจะจำเสียงหลานแท้ ๆ ที่เลี้ยงมากับมือไม่ได้เชียวหรือ? คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะมิจฉาชีพเดี๋ยวนี้ใช้ AI ปลอมเสียงได้แล้ว และแน่นอนว่าหากมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลของเหยื่อได้ อาจทำให้มีการดักฟัง และอาจใช้ AI เพื่อจดจำเสียงคนสนิทของเหยื่อ แล้วนำมาดัดแปลงเป็นข้อความใหม่ จากนั้นก็ปลอมตัวโทรมาหาเหยื่อเพื่อขอให้โอนเงินให้

หากใครรู้จักพี่โจ้ วงพอส นักร้องชื่อดังยุค 90s ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 20 ปี ตอนนี้เจ้า AI สามารถปลอมเสียงพี่โจ้ได้โดยการจดจำเสียงจากพี่โจ้แค่ 3-4 ประโยค จากนั้นเจ้า AI ก็จัดการนำเสียงไปสังเคราะห์ใหม่แล้วนำเสียงพี่โจ้ที่ตายไปแล้วมาร้องเพลงฮิตใหม่ ๆ อย่างเพลง “ถ้าเราได้เจอกันอีก” ของวง “Tilly Birds” ในยุคปัจจุบันได้แล้ว ทั้งน่าขนลุกและเหลือเชื่อจริง ๆ ฉะนั้น หากมีคนโทรมาแล้วอ้างว่าแฟนเก่าบ้างละ เพื่อนเก่าสมัยเรียนบ้างละ หรืออาจเคยเป็นหัวหน้าเก่าผู้มีพระคุณบ้างละ ให้ระวังเอาไว้ให้ดี เพราะนั่นอาจคือเสียงจากเจ้า AI ก็เป็นได้

หากไม่นับว่าข้อมูลหลุดจากภาครัฐแล้ว คนร้ายส่วนใหญ่รู้ข้อมูลส่วนตัวเราละเอียดขนาดนี้เพราะมาจากคนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการกู้เงินแบบถูกกฎหมาย จึงเลือกกู้เงินผ่านแอปฯเถื่อน ที่เมื่อติดตั้งลงในโทรศัพท์แล้ว แอปฯจะขอเข้าถึงสิทธิ์ทั้งหมดของเจ้าของเครื่อง ทั้งรายชื่อบุคคล และรูปภาพ ทีนี้เราเมมเบอร์โทรของใครว่า “ตา/ยาย” หรือต่อท้ายเป็นชื่อโรงเรียนสมัยมัธยม หรือเมมเบอร์บางคนด้วยคำว่า “ที่รัก” หรือ “ต้าวอ้วน” เอาไว้แล้วละก็ มิจฉาชีพก็จะเดาได้ถึงความสัมพันธ์ของเจ้าของเบอร์นั้นกับเจ้าของเครื่อง และแล้วพี่มิจฯก็จะเริ่มปฏิบัติการ

“สมมุติว่าผมมีเพื่อนกู้เงินผ่านแอปฯเถื่อน เมื่อเพื่อนคนนี้ติดตั้งแอปฯ มิจฉาชีพก็จะเข้าถึงรายชื่อทุกคนที่เมมไว้ในมือถือรวมทั้งผมด้วย แล้วเพื่อนคนนี้อาจจะเมมชื่อผมเป็นชื่อเล่นบ้าง ฉายาบ้าง เมมว่าเป็นเพื่อนจากโรงเรียนอะไรบ้าง หรือไม่ก็เมมเป็นคุณลักษณะอะไรสักอย่างที่จดจำได้ คนร้ายจะเอา big data นี้มาประมวล แล้วสรุปข้อมูลของเจ้าของเบอร์โทร จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมพวกมิจฉาชีพถึงรู้ชื่อเล่น ชื่อพ่อแม่เรา คนร้ายล้ำหน้ากว่าที่เราคิดมาก”

แฮกเฟซฯ เพจปลอม หลอกซื้อของออนไลน์

“สวัสดีครับ ผมพิธา ขอยืมเงินค่าเอกสารเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหน่อย ถ้าสำเร็จจะตอบแทนให้เป็นรัฐมนตรี”

เคยเห็นข้อความประมาณนี้กันไหม ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้แก๊งมิจฉาชีพก็ใช้มุกนี้กันอยู่พักใหญ่ โดยปลอมเฟซบุ๊กทักแชตเหยื่อ อันนี้อาจเหลือเชื่อไปหน่อย แต่เชื่อไหมมีคนตกเป็นเหยื่อมาแล้ว กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดและพลาดพลั้งเพียงเพราะความไว้ใจหรือการประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนและบ่อยครั้งที่เกิดกับผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงในหน้าที่การงาน

“ที่ผ่านมามีเคสหนึ่งเป็นเป็นผู้บริหารระดับสูง ทักไลน์ไปยืมเงินกับลูกน้องระดับอธิบดีในช่วงแต่งตั้งตำแหน่ง มูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท อีกฝ่ายก็ให้เงินมาเพราะไม่กล้าถามว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ตอนหลังพอมาโทรคุยกันถึงรู้ความจริงว่าไลน์ถูกแฮก”

หรือในกรณีการซื้อ-ขายของออนไลน์ ตอนนี้มีเพจปลอมที่เกิดขึ้นมากมายซึ่งบางครั้งเราแทบแยกไม่ออกเลยว่าเป็นของจริงหรือไม่ คนร้ายมีกลเม็ดเด็ดพรายที่ทำให้เพจปลอมดูเหมือนเพจจริงเสียยิ่งกว่าเพจจริงเสียอีก

“เราถูกสอนกันมาว่า เฟซบุ๊กปลอมจะต้องดูเหมือนทำมาแบบง่าย ๆ เอารูปอะไรมาใส่ก็ได้ ชนิดว่าเห็นก็รู้เลยว่าไม่ใช่ของจริง แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะเฟซฯปลอมทำได้สวย เหมือนจริงมาก และมีจำนวนคนกดถูกใจมากกว่าเฟซฯจริงเสียอีก

“บางครั้งมีการใช้ AI มาช่วยเป็นหน้าม้า คอมเมนต์โดยใช้ google translate ว่าสินค้าดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันดูเหมือนตลกใช่ไหม ใครอ่านก็รู้เลยว่าไม่ใช่คอมเมนต์จริงๆ แน่ ๆ แต่เชื่อไหมว่ามีคนหมดเนื้อหมดตัวกับการโดนหลอกลักษณะนี้ทุกวัน เคยมีเคสหนึ่ง โดนหลอกซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์และกระเป๋าเบรนด์เนมจากต่างประเทศ รายเดียวค่าเสียหายสูงถึง 30 ล้านบาท”

พันตำรวจโทธนธัสแนะนำว่า หากจะซื้อของผ่านเฟซบุ๊ก ขอให้ตรวจสอบเพจนั้นให้ดี มีวิธีเบื้องต้นง่าย ๆ คือให้ลองเข้าเพจเฟซบุ๊กเจ้าปัญหาที่สงสัย แล้วเข้าไปที่ “เกี่ยวกับ” (about) แล้วดูที่ “ความโปร่งใสของเพจ” (Page Transparency) จะเข้าไปดูได้ว่าแอดมินอยู่ประเทศอะไร บางครั้งเราจะเจอเพจสินค้าจากประเทศไทย มีคนกดถูกใจมากกว่าเพจจริงเสียอีก แต่แอดมินกลับอยู่ในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนามไปเสียได้ แบบนี้อาจเป็นมิจฉาชีพ หรือหากเป็นแม่ค้าที่ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว พวกมิจฉาชีพเขาจะมีวิธีทำให้เหมือนเป็นเฟซบุ๊กจริงที่สุด โดยการนำรูปใครบางคนมาใช้ หรือโพสให้มีความเคลื่อนไหวไลฟ์สไตล์ตลอด แถมบางทีก็มีการแชร์ memory เก่าย้อนหลังไปเป็น 10 ปี แบบนี้ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเจ้าของเฟซบุ๊กนี้มีตัวตนจริง ๆ แถมยังใช้บัญชีนี้มาอย่างยาวนาน น่าเชื่อถือ แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะเฟซบุ๊กมันสามารถแก้ไขวันที่โพสได้ ลองสังเกตดูว่าถ้าที่โพสมีการแก้ไขเวลาละก็ ระวังไว้ให้ดี

กรณีที่โดนปลอมเฟซบุ๊ค ตำรวจแนะนำให้ไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนว่า เฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรมที่ใช้นั้นชื่ออะไร ID อะไร เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ

“ตามสถิติแล้ว คนเราจะตรวจสอบข้อมูลของคนขายหลังโอนเงินไปแล้ว ผมอยากให้ทุกคนเปลี่ยนมายด์เซ็ต เสียใหม่ เช็คก่อนโอนเสมอ เพราะก่อนโอนเงิน อำนานจอธิปไตยเป็นของคุณ แต่หลังจากโอนแล้ว มันคืออ้อยเข้าปากช้าง ยังไงก็ไม่คายออกมา”

เป็นเหยื่อนั้นแสนช้ำ อาจโดนหลอกซ้ำหลอกซ้อน

เดี๋ยวนี้การโทรมาหลอกว่ามาจากไปรษณีย์ไทย ท่านมีพัสดุผิดกฎหมาย พี่มิจฯคงโดนจับไต๋ได้หมดแล้ว แต่พอโดนขู่ว่าโดนหมายจับ เหยื่อก็จะเริ่มร้อน ๆ หนาว ๆ แถมเมื่อเหยื่อลองเข้าเวบไซต์ตรวจสอบที่พวกมิจฉาชีพนั้นส่งแนบมาอีก กลับเจอชื่อตัวเองจริง ๆ เมื่อจะไปแจ้งความ ก็มีตำรวจรับแจ้งความจริง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าทั้งหมดนั้นคือของปลอม !

เพราะสิ่งที่พวกพี่มิจฯส่งมาให้นั้น มีทั้งเวบไซต์สถานีตำรวจปลอม ศูนย์ดำรงธรรมปลอม หมายจับปลอม บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม รวมถึงตำรวจตัวปลอมด้วย

“เคยได้รับสายจากไปรษณีย์ไทยกันใช่ไหม ถ้าจำได้ จะมีคนโทรมาหาแล้วบอกว่าเรามีของผิดกฎหมาย นี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกของมิจฉาชีพ มันมีการทำงานกันเป็นกระบวนการ แรกสุดจะมีคนที่โทรมาหาท่านเพื่อแจ้งข่าว คนนี้จะได้ส่วนแบ่ง 0.5% หลังจากนั้นท่านอาจจะได้รับสายจาก 191 และมีสารวัตรโทรมา สารวัตรปลอมคนนี้จะได้ส่วนแบ่ง 1% สุดท้ายแล้วอาจจะมีคนระดับผู้กำกับการตำรวจ ที่มักจะมีท่าทีขึงขัง ไหวพริบดีโทรมาหาอีก คนนี้จะได้ส่วนแบ่ง 2% ของเงินที่หลอกเหยื่อได้”

พันตำรวจโทธนธัสเปิดเผยอีกว่าจากการจับกุมพบว่ามิจฉาชีพพวกนี้มีคู่มือที่ใช้ในการปฏิบัติงานหรือที่เรียกว่า “ตำราพารวย” พวกเขามีการทำเป็นขบวนการ มีการฝึกซ้อมสถานการณ์สมมุติกันทุกวันอย่างหนัก ว่าแต่ละขั้นตอนในการหลอกล่อเหยื่อต้องทำอย่างไรบ้าง จึงไม่แปลกใจที่ขบวนการหลอกลวงจะประสบความสำเร็จและสร้างความเสียหายให้เหยื่อมาแล้วหลายล้านบาท

ฉะนั้นแล้ว ในเฟซบุ๊ค อย่าลืมตั้งค่ายืนยันตัวตน 2 ชั้น หากมีเบอร์แปลกโทรมา อย่ารีบให้ข้อมูลใด ๆ ให้จดชื่อตำรวจนายนั้นเอาไว้ หากสงสัยให้ลองโทรกลับไป หรือโทรไปสถานีตำรวจที่มิจฉาชีพแอบอ้าง แต่อย่าให้มีการแอดไลน์หรือโอนเงินเกิดขึ้นเด็ดขาด ระมัดระวังข้อความต่าง ๆ ที่ส่งมาทางไลน์ หากมีหมายศาลหรือหมายจากธนาคาร ขอให้แน่ใจว่าเป็นของปลอมเพราะหน่วยงานไม่มีนโยบายส่งให้ประชาชนทางไลน์อย่างแน่นอน

ปล. เข้าไปฟังเสียงพี่โจ้วงพอสร้องเพลง Tilly Birds ที่สังเคราะห์โดย AI รับรองว่าทั้งไพเราะและน่าขนลุกสุด ๆ แล้วจะเข้าใจเลยว่ามิจฉาชีพปลอมเสียงแฟนเก่าเราได้ยังไง https://www.tiktok.com/@pinyazz/video/7244545270678162693

อ้างอิง

  • https://www.tiktok.com/@pinyazz/video/7244545270678162693

ขอบคุณภาพจาก

  • CREATIVE TALK

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ