‘โอกาส’ ที่มอบให้คือ ‘พลัง’ ที่ทำให้ชีวิตเราได้ก้าวต่อไป

นี่คือเรื่องราวชีวิตของผู้พิการ 3 คนจากจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับโอกาสจากบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิโอสถสภา โอกาสครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตที่เคยหยุดนิ่ง ไม่แม้แต่จะกล้าฝันถึงการสร้างชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม ได้มองเห็นแสงสว่างและความหวังใหม่ 

เราไม่ต้องการความสงสาร โอกาสต่างหาก คือ สิ่งที่เราต้องการ  

“เราไม่ได้ต้องการให้ใครมองเราด้วยความสงสาร สำหรับเราความสงสารไม่ได้ช่วยอะไร โอกาสในชีวิตต่างหาก คือ สิ่งที่เราต้องการ”

สมพร กัณหาจันทร์ บอกถึงสิ่งที่เธอต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งสำหรับเธอแล้วโอกาสคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดในชีวิต

สมพร คือ หญิงวัยกลางคนจากอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เธอต้องกลายมาเป็นผู้พิการหลังจากวูบหมดสติเมื่อราว 5 ปีก่อน จากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ในตอนแรกสมพรหยุดหายใจไปแล้ว แต่แพทย์ผู้ให้การรักษาทำการปั๊มหัวใจกลับมาได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีชีวิตรอด แต่ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น

“เรารอดมาได้ก็จริง แต่ต้องกลายเป็นคนนอนติดเตียง ร่างกายซีกซ้ายเป็นอัมพาตทั้งหมด เรียกว่าทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยน เหมือนทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ อะไรที่เคยทำได้ในชีวิตต้องฝึกใหม่ทั้งหมด อาบน้ำ แปรงฟัน ทานข้าว ฯลฯ ก็ต้องฝึก เป็นอย่างนั้นอยู่หลายเดือนกว่าจะทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตและมองไปข้างหน้าได้”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมพรนับเป็นช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่พลิกชีวิตเธอจากคนที่ร่างกายสมบูรณ์พร้อมให้กลายเป็นมนุษย์ที่ขาดพร่อง ทุพพลภาพ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ ยะรา สีหาเพชร ที่อยู่ ๆ วันหนึ่งเธอออกไปตัดหญ้าตามปกติ แต่กลับกลายเป็นผู้พิการขาซ้ายไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม 

“เราออกไปตัดหญ้าแล้วเกิดเหยียบหิน เท้าพลิกรุนแรงมาก พอไปที่โรงพยาบาลถึงได้รู้ว่ากระดูกแตก หลังจากวันนั้นเราก็กลายเป็นคนขากะเผลก เดินได้ไม่ปกติเหมือนคนอื่นเขา” หญิงจากอำเภอน้ำพองพูดพร้อมกับยิ้มออกมา ถึงวันนี้จะยอมรับได้ในชะตาชีวิต กระนั้นหากเลือกได้เธอก็ขอกลับไปมีชีวิตเหมือนเก่าดีกว่า

“ไม่มีใครที่ไหนอยากเป็นคนพิการหรอก ต่อให้พิการเล็กน้อยก็ไม่ได้มีใครอยากเป็น จะทำอะไรทีก็ลำบาก หางานก็ยาก โอกาสต่าง ๆ ก็น้อยกว่าคนทั่วไป แต่เราก็ไม่ย่อท้อนะ พยายามสู้ให้ถึงที่สุด”

เช่นเดียวกับ ชุมพล โอดพิมพ์ ที่แม้จะพิการมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็หาได้ย่อท้อต่อชีวิต ก่อร่างสร้างตัว ประกอบอาชีพช่างตัดผมเลี้ยงตัวเองมากว่า 20 ปี 

“เราแทบจะพิการมาตั้งแต่เกิด ตอนอายุได้ 1-2 ขวบก็ไม่ปกติ ไปหาหมอฉีดยากลายเป็นว่าหนักกว่าเก่า ฝ่าเท้าขวางผิดรูป ลีบเล็กคล้ายกับคนเป็นโปลิโอ แต่เราก็พยายามไม่คิดอะไร ตั้งใจทำชีวิตตัวเองให้ดีที่สุด ไม่เป็นภาระใคร จนวันหนึ่งมีโอกาสได้เรียนตัดผมก็เลยยึดอาชีพนี้ ใช้บ้านตัวเองเปิดเป็นร้านเล็ก ๆ มา 26 ปีแล้ว”

ว่ากันว่าเมื่อใดก็ตามที่ชีวิตลิดรอนบางสิ่งบางอย่างของเราไป ก็มักจะสร้างบางสิ่งบางอย่างที่แข็งแรงกว่าปกติขึ้นมาแทนเช่นกัน สำหรับทั้ง 3 คน ร่างกายของพวกเขาอาจถูกลดทอนศักยภาพลงไป แต่ก็มีอวัยวะบางอย่างที่กล้าแกร่งมาทดแทน 

อวัยวะที่ว่านั้น คือ หัวใจที่ทั้งเข้มแข็ง งดงาม และใฝ่ดี

ความฝันและโอกาส

แม้ชีวิตจะขาดพร่อง แต่ทั้งสมพร ยะรา และชุมพลก็ล้วนแล้วแต่มีความฝันเป็นของตัวเอง

“เราฝันอยากมีร้านขายน้ำเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง จำพวกกาแฟเย็น ชาเย็น โอวัลตินเย็น เป็นร้านกาแฟโบราณมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง เพราะอาชีพดั้งเดิมของเราก็คือการทำเกษตร รายได้มันไม่แน่นอน แต่ขายของยังไงมันเห็นเงินทุกวัน แล้วขายน้ำนี่เราดูแล้วว่าเราทำได้ แต่ติดตรงที่เราไม่มีเงินในการลงทุน”

ยะรายังคงเก็บงำความฝันของตัวเองเอาไว้อยู่อย่างนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในเวลานั้นก็คือการไปเรียนชงกาแฟจากผู้รู้และมีประสบการณ์ รอคอยเพียงโอกาสที่จะมีเงินทุนสักก้อนที่จะทำให้ฝันเป็นจริง

“ส่วนความฝันของเราไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย เราแค่อยากได้ปัตตาเลี่ยนไร้สายดี ๆ สักอันเอาไว้สำหรับต่อยอดอาชีพช่างตัดผมที่เราทำอยู่ เพราะปัตตาเลี่ยนอันเก่ามันเสื่อมสภาพแล้ว ต้องคอยลับให้คมอยู่บ่อย ๆ ไปลับคมแต่ละครั้งก็ต้องเสียเงิน แต่ถ้าได้ปัตตาเลี่ยนไร้สายอันใหม่นอกจากจะไม่ต้องลับคมแล้ว ยังทำให้เราสะดวกในการทำงานและสามารถที่จะรับงานได้มากขึ้น

“อย่างในกรณีมีลูกค้านอนติดเตียง อยากให้เราไปตัดผมให้ ไปถึงก็ต้องหาปลั๊กพ่วง ต้องคอยระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุสะดุดสายไฟล้ม หรือบางครั้งมีลูกค้าอยากให้เราไปตัดที่เถียงนาแต่ไม่มีปลั๊กไฟ เราก็รับงานไม่ได้อีก ถ้าเราได้ปัตตาเลี่ยนไร้สายเราจะรับงานที่ไหนก็ได้ รายได้เราก็เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยก็มากขึ้น”

เช่นเดียวกันกับชุมพล ความปรารถนาของสมพรเองก็ไม่ใช่ความฝันที่ยิ่งใหญ่อะไรมาก เธอเพียงแค่อยากได้พ่วงข้างตัวใหม่ที่แข็งแรงมาต่อกับมอเตอร์ไซค์คันเดิมเพื่อรับ-ส่งแก๊ส ซึ่งเป็นงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องที่ทำอยู่ในปัจจุบัน 

“ตอนนี้เราทำงานขับรถส่งแก๊ส แต่พ่วงข้างรถเรามันอยู่ในสภาพที่ผุพังมาก ล้อแบะ รับน้ำหนักไม่ค่อยไหว เวลาขับมันทำให้รถเหวี่ยง เราต้องคอยระวัง ต้องประคองให้ดี แล้วร่างกายเราเป็นแบบนี้ การขับรถแต่ละครั้งมันลำบาก เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมาก แต่เราก็จำต้องทนใช้ไป เพราะถ้าจะเปลี่ยนมันใช้เงินเยอะ เราไม่มีเงิน”

ในมุมมองของสมพร รถที่ใช้ขับส่งแก๊สแทบไม่ต่างอะไรกับความสมบูรณ์ของร่างกายที่ขาดหายไป เนื่องจากเธอต้องใช้ชีวิตกับมันแทบทุกวัน

มันคงจะดีไม่น้อยหากสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของสมพร รวมถึงเพื่อน ๆ ผู้พิการเช่นเดียวกับเธอจะได้รับการเติมเต็มและหยิบยื่นโอกาสให้จากใครสักคน

เมื่อความฝันได้รับการเติมเต็ม เพื่อให้ชีวิตก้าวเดินต่อไป 

ท่ามกลางความขาดพร่องของชีวิต นับเป็นโชคดีที่ความปรารถนาและความใฝ่ฝันเล็ก ๆ ของสมพรและเพื่อน ๆ ได้รับการเติมเต็มจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิโอสถสภา ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า ‘พลังเพื่อก้าวต่อไป’ ซึ่งดำเนินการมาจนถึงวันนี้ก็ยาวนานกว่า 10 ปี โดยเน้นการสร้างอาชีพ มอบโอกาสให้กับคนพิการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่และชุมชนที่จะช่วยคัดเลือกคนพิการที่มีความตั้งใจอยากจะทำงาน ประกอบอาชีพ แต่ขาดโอกาส อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการทำมาหากิน กระบวนการทำงานก็จะเริ่มจากสรรหาคนพิการ ประเมินความพร้อม ส่งเสริมมอบอาชีพ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าหลังจากที่ได้รับโอกาสไปแล้ว ซึ่งตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้กว่า 2,000 คน 

“ทางโอสถสภาเขารับทราบเรื่องราวของเรา จากนั้นก็ทำมาช่วยทำรถพ่วงข้างอันใหม่ให้ ซึ่งแข็งแรง ทนทานกว่าอันเก่าเยอะเลย บรรทุกของได้มาก ทำให้เราขับรถง่ายขึ้น ไม่เสียสมดุลเวลาขับ ความกังวลว่าจะขับไปถึงบ้านลูกค้าไหมก็ไม่มีอีกต่อไป ทุกวันนี้ลูกค้าสั่งแก๊สช่วงไหน เวลาไหน เราไปส่งได้หมด”

ในขณะที่ ช่างตัดผมอย่างชุมพล เขาได้รับปัตตาเลี่ยนและอุปกรณ์ตัดผมใหม่แบบยกชุด ชายพิการอย่างเขาก็ไม่ต่างอะไรจากนักรบที่ได้อาวุธครบมือ

“เราได้รับโอกาสจากโอสถสภามากกว่าที่เราต้องการอีก เขาไม่ได้ให้แค่ปัตตาเลี่ยน แต่ให้อุปกรณ์สำหรับการเป็นช่างตัดผมทั้งชุดเลย มีปัตตาเลี่ยนไร้สายคุณภาพดีมาก 2 อัน หวี กรรไกร ผ้าคลุม ฯลฯ ครบถ้วน 

“ต้องบอกว่าโอสถสภาให้ในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ให้ในสิ่งที่ส่งเสริมอาชีพของเรา สิ่งที่ได้รับมา ทำให้เราทำงานได้สะดวกขึ้น เป็นการให้แบบยั่งยืน คราวนี้ลูกค้าจะให้ไปตัดผมตรงไหน จะเป็นเถียงนา กลางทุ่ง ใต้ต้นไม้ บนเตียง เราไปได้หมด สบายเลย ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้น และเมื่อรายได้มากขึ้นนั่นก็หมายความว่าชีวิตของเราก็ดีขึ้นด้วย” 

ขณะที่ยะรา หากจะบอกว่าโอสถสภา ได้ทำให้ความฝันเล็ก ๆ ของเธอได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินไปนัก 

“เราได้แต่ฝัน แต่ไม่มีโอกาสได้ทำสักที จนการเข้ามาของโอสถสภา ฝันก็กลายเป็นจริง โอสถสภาสนับสนุนเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ทั้งหม้อชงชา ตัวกรองชา กระบวยตักน้ำ ไปจนถึงวัตถุดิบอย่าง ชา กาแฟ โอวัลติน น้ำตาล แม้แต่แก้ว หลอด ถุง ทางโอสถสภาก็จัดการให้หมด”

“วันนี้ฝันของเราเป็นจริงแล้ว ได้มีร้านกาแฟโบราณเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง ดีใจมาก ๆ เชื่อไหม เราขับรถวิ่งขายทุกวันเลย ลูกค้าหลายคนชิมแล้วบอกว่าอร่อย เข้มข้น กลายเป็นทุกวันนี้ร้านกาแฟ คือ รายได้หลักในชีวิตของเรา” 

หญิงวัย 57 พูดพลางยิ้มออกมาอย่างมีความสุข นี่คือการให้ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอ และเพื่อน ๆ อย่างแท้จริง

ให้โอกาสเท่ากับให้ชีวิต 

“ถ้าถามว่าคนพิการต้องการอะไร สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือโอกาส โอกาสในการที่จะมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ สามารถหาเลี้ยงและพึ่งพาตัวเองได้ 

“คนพิการทุกคนล้วนแล้วแต่มีความสามารถและศักยภาพในตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระของใคร ขอเพียงได้รับการส่งเสริมให้โอกาสอย่างถูกต้อง ชีวิตก็สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าและดีกว่าที่เป็นอยู่” ชุมพล ยืนยันความคิดของเขาซึ่งก็ไม่ต่างจาก ยะราและสมพร

“โอสถสภาไม่ได้ให้แค่โอกาส แต่ที่มากกว่านั้น เขาทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเอง เขาทำให้เรารู้ว่าคนพิการอย่างเราก็สามารถทำในหลายสิ่งหลายอย่างได้ สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แล้วทำได้ดีด้วย

“ที่สำคัญโอสถสภา ทำให้คนพิการไม่ถูกทอดทิ้ง สังคมยังให้ความช่วยเหลือ และทำให้เรารู้ว่ายังมีพื้นที่ให้คนพิการอย่างพวกเราสามารถยืนอยู่ได้บนโลกใบนี้” 

ไม่ใช่แค่ยืนอยู่ได้ หากแต่เป็นการยืนอยู่ได้อย่างสง่างามอีกด้วย

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ