รันทดรันเนอร์ วิ่งเพื่อแม่

ถ้าคุณเคยคิดอยากวิ่ง แต่ยังไม่ได้เริ่มสักที ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีเวลา ไม่ชอบตื่นเช้า ไม่มีเงินซื้อรองเท้าดีๆ ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหนัก ไม่มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรืออีกสารพัดเหตุผลที่บอกกับตัวเอง

เราอยากให้คุณอ่านเรื่องของ ‘เอ๋’ – พิชชานันท์ มหาโชติ ที่ไม่มีเหตุผลใดมาหยุดยั้งหัวใจนักวิ่งของเธอได้เลย

ใครๆ เรียกเธอว่า ‘รันทดรันเนอร์’ หญิงแกร่งผู้มีแม่เป็นเส้นชัย มีอุปสรรคเป็นแรงบันดาลใจ จนพาเธอไปไกลถึงสนามแข่งวิ่งเทรลระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

จากบันไดโรงพยาบาล สู่สนามแข่งมาราธอน

“พ่อเสียตั้งแต่เอ๋อายุไม่กี่เดือน แม่จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง” เอ๋ นักวิ่งหญิงร่างเล็กจากราชบุรีวัย 40 ปีเริ่มต้นเล่าถึงความผูกพันที่มีต่อบุพการี

ช่วงปี 2558 แม่ของเธอในวัย 80 ปี เริ่มมีหลายโรครุมเร้า ทั้งหอบ ความดัน เบาหวาน ไตเสื่อม และหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องใช้ออกซิเจนและพ่นยาทุก 4 ชั่วโมง บางเดือนนอนเตียงโรงพยาบาลนานกว่านอนบ้าน เธอจึงลาออกจากงานโรงงานมาดูแลแม่เพราะมีกันแค่สองคน

ระหว่างที่แม่อยู่โรงพยายาบาล เอ๋เลือกเดินขึ้น-ลงชั้น 1-6 แทนการใช้ลิฟต์ เพราะอยากช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าไฟและออกกำลังกายไปด้วย นานวันเข้า เธอเริ่มค้นพบความสุขเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในย่างก้าวที่ขึ้น-ลงบันไดโรงพยาบาล จนกลายเป็นความรักหมดใจ

“พอเดินขึ้น-ลงทุกวันแล้วไม่เหนื่อย เราก็เริ่มคิดว่าน่าจะวิ่งได้นะ ตกกลางคืนถ้านอนไม่หลับก็ลุกมาวิ่งขึ้น-ลงบันไดฉุกเฉิน เพราะจะได้ไม่รบกวนคนอื่น พอเหงื่อเริ่มออก สารเอนดอร์ฟินหลั่ง เราก็มีความสุข ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเราแข็งแรง เราก็จะมีชีวิตอยู่ดูแลแม่ได้นานๆ ก็เลยลุกขึ้นมาวิ่งทุกวัน”

ก่อนหน้านี้เอ๋เคยเป็นสาวโรงงานในจังหวัดราชบุรี อาศัยอยู่กับแม่ในห้องเช่าราคาหลักร้อยต่อเดือน หลังจากแม่ป่วยหนัก อาชีพหลักของเธอจึงเปลี่ยนเป็นการดูแลแม่ โดยมีอาชีพรองเป็นงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเริ่มตกหลุมรักการวิ่ง อุปสรรคเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย

“บางคนบอกว่า แค่ดูแลแม่ที่ป่วยหนักก็เหนื่อยแล้ว แต่สำหรับเรา การวิ่งคือการพักผ่อน ใน 1 วัน เอ๋มีเวลาว่างไม่เยอะ แต่ถ้าว่างปุ๊บก็จะรีบไปซ้อมวิ่งที่ค่ายลูกเสือซึ่งห่างจากบ้านประมาณ 3 กิโล ไม่ว่าวันนั้นแดดจะร้อนเปรี้ยงแค่ไหน เราก็ไปซ้อมทันที เรายึดหลักว่าดูแลแม่ให้ดีก่อน เอาเรื่องวิ่งเป็นเรื่องรอง”

อดีตสาวโรงงานซื้อรองเท้าผ้าใบคู่แรกราคา 99 บาท จากตลาดนัดมาใช้ซ้อมวิ่ง เธอไม่เคยรู้ว่านักวิ่งมาราธอนต้องซ้อมวิ่งแบบไหน ไม่มีนาฬิกาดูเวลา หรือจับการเต้นหัวใจ ไม่มีเข็มไมล์จับระยะทาง มีเพียงอุปกรณ์ ‘แบบบ้านๆ’ ที่คิดขึ้นมาเอง แต่บังเอิญไปตรงกับเทคนิคการซ้อมของนักวิ่งมาราธอนโดยไม่รู้ตัว

“เราใช้วิธีวิ่งสลับกับเดิน เวลาอยากรู้ว่ากี่โมงแล้ว ก็ดูตะวันว่าเคลื่อนมาอยู่ตรงไหน ส่วนระยะทางใช้ดูจากหน้าปัดมอเตอร์ไซค์ว่าจากจุดนี้ถึงจุดนี้กี่เมตร แล้วก็เอาขวดใส่น้ำไปตั้งไว้ตามระยะต่างๆ เช่น ระยะ 400 เมตร เราก็วิ่งสลับกับเดินทีละ 400 เมตร เพิ่งมารู้ทีหลังว่าวิธีนี้เป็นหลักการซ้อมวิ่งเรียกว่า interval เพื่อเกลี่ยแรงเวลาวิ่งระยะไกลที่นักวิ่งมาราธอนใช้ฝึกซ้อมก่อนลงแข่ง”

ราวกับโชคชะตากำหนดไว้แล้ว เพราะวันหนึ่งระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์อยู่บนถนนในจังหวัดราชบุรี สายตาของเอ๋ก็ปะทะกับป้ายโฆษณางานวิ่งจอมบึงมาราธอน ปี 2558 เข้าอย่างจัง อาการตกหลุมรักการวิ่งพาให้เธอเดินเข้าไปขอสมัครลงแข่งวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร โดยไม่รู้มาก่อนว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร รู้แต่ว่าหัวใจของเธอเต้นแรงราวกับแอบรอคอยใครบางคน

“เขาบอกว่าต้องสมัครล่วงหน้าเป็นเดือน แต่ถ้าเราจะสมัครแล้ววิ่งเลย เราต้องเซ็นรับผิดชอบสุขภาพของตัวเอง เราอยากรู้ว่าวิ่งมาราธอนคืออะไร เลยลองสมัครดู ได้เบอร์วิ่งสำหรับผู้ไม่มีสิทธิ์รับรางวัล เป็นการวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโล เป็นครั้งแรก เราเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 48 นาที วิ่งแล้วไม่เหนื่อยเลย รู้สึกชอบและมีความสุขมาก เลยตั้งใจว่าปีหน้าจะมาลงวิ่งมาราธอนจริงๆ จังๆ กับเขาดูบ้าง

“ยิ่งได้ยินเขาบอกว่าวิ่งมาราธอนมันยาก ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง เราจะวิ่งไม่ได้ มันยิ่งท้าทายความสามารถว่าเราจะทำได้ไหม เอ๋คิดว่าถ้าเราผ่านเรื่องนี้ไปได้ เราก็จะผ่านเรื่องยากเรื่องอื่นๆ ได้เหมือนกัน”

1 ปีต่อมา ณ งานวิ่งจอมบึงมาราธอนที่สายวิ่งมาราธอนปักหมุดไว้ว่าต้องมาเยือน งานวิ่งเดียวที่มีพระสงฆ์มาพรมน้ำมนต์และสามารถแวะใส่บาตรได้ตลอดเส้นทาง นักวิ่งดาวเด่นของวงการพากันมาลงสนามนี้กันแน่นถนน บรรดาร้านรวงขายอุปกรณ์สำหรับนักวิ่งตั้งร้านอย่างคึกคัก รอให้นักวิ่งได้เสียสตางค์กัน

นักวิ่งส่วนใหญ่มาพร้อมรองเท้าวิ่งราคาหลักพัน แต่อดีตสาวโรงงานคนนี้มีเพียงรองเท้าวิ่งคู่ละ 99 บาท มาชิงชัย ระหว่างเดินเล่นดูสินค้ารอเวลาปล่อยตัว คนขายรองเท้ามือสองนิรนามเห็นป้ายด้านหลังบนเสื้อของเธอเขียนว่า ‘มาราธอนแรก’ เขายื่นรองเท้ามือสองที่วางขายอยู่ให้เธอคู่หนึ่ง พร้อมประโยคที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำมาจนถึงวันนี้

“พี่ให้เอามาต่อยอดชีวิตนะ… พี่ดูคนไม่ผิด”

ณ เส้นชัยงานจอมบึงมาราธอน ปี 2559 กองเชียร์ทั่วสนามต้องตกตะลึงเมื่อเห็นนักวิ่งโนเนมนำโด่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยรองเท้ามือสองของคนขายนิรนาม แซงหน้าแชมป์เก่าและชนะไปได้ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมง 17 นาที กับระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ชื่อของ ‘เอ๋’ – พิชชานันท์ มหาโชติ กลายเป็นนักวิ่งม้ามืดที่วงการมาราธอนเริ่มจับตามองนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

“พอวิ่งไปถึงกิโลเมตรที่ 35 เจอแชมป์เก่านำอยู่คนเดียว ได้ยินเสียงเชียร์พี่คนนั้นดังก้องสนาม เราก็คิดในใจว่า เสียงเชียร์ไม่ได้สำคัญสำหรับเรา สำคัญที่ว่าเราเชียร์ตัวเองหรือเปล่า”

แม้ที่เส้นชัยจะไม่มีใครรอเชียร์ แต่เอ๋ก็สามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้ด้วยการนึกถึงหน้าแม่ที่นอนรออยู่บนเตียงโรงพยาบาล

“ตอนนั้นฝากแม่ไว้กับพยาบาล คิดแค่ว่ารีบวิ่งดีกว่า จะได้กลับไปหาแม่ ก่อนเข้าเส้นชัย 200 เมตร จะมีกองฟางกั้นกองเชียร์ เรารู้สึกเหมือนเป็นพรมแดงที่ปูรอเราวิ่งผ่าน ในชีวิตเคยอยู่แต่ในโรงงาน ไม่เคยเจอบรรยากาศแบบนี้มาก่อน รู้สึกเลยว่านี่เป็นเสน่ห์ของการวิ่งที่เราหลงรัก เลยวิ่งแบบสุดชีวิต เป็นมาราธอนแรกในชีวิตที่จะจดจำไปอีกนาน”

เย็นวันนั้น นักวิ่งน้องใหม่นำเงินรางวัล 10,000 บาท ใส่ซองไปกราบแม่ที่เตียงโรงพยาบาลด้วยน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ

เมื่อสองสิ่งที่รักเวียนมาบรรจบกัน อุปสรรคใดๆ ก็มิอาจขวางกั้นอีกต่อไป

รันทดรันเนอร์ที่หัวใจไม่เคยรันทด

เมื่อรู้ว่าการวิ่งสามารถคว้าเงินรางวัลมาดูแลแม่ได้ เอ๋จึงพยายามลงแข่งวิ่งทุกครั้งที่มีโอกาส บางครั้งที่ไม่มีเงินค่าสมัคร เธอจะขอหยิบยืมเงินคนรู้จักก่อน แล้วทำงานผ่อนคืนภายหลัง เมื่อถึงวันแข่งที่บางครั้งต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เงินติดตัว 120 บาท เพียงพอเฉพาะค่ารถขาไปจากราชบุรี หากไม่อยากเดินกลับบ้าน ก็ต้องวิ่งเข้าเส้นชัยคว้าเงินรางวัลมาเป็นค่ารถให้ได้

“อย่าไปคิดว่าไม่มีเงินแล้วเป็นอุปสรรค ถ้าเราอยากวิ่ง ต้องคิดว่าถึงจะไม่มีเงิน เราก็วิ่งได้ คิดว่าวิ่งเพื่อสุขภาพก็ได้”

บนเส้นทางนักวิ่งมาราธอน คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดคือใจตัวเอง เพราะระยะทางที่ยาวไกลจะค่อยๆ บั่นทอนร่างกายให้เหนื่อยล้าจนถอดใจไปก่อนจะถึงเส้นชัย บางครั้งอาจเกิดบาดเจ็บระหว่างทาง ยิ่งทำให้โอกาสไปถึงเส้นชัยห่างไกลออกไปอีก กำลังใจที่มีให้ตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อพาสองเท้าก้าวเข้าเส้นชัย

“มีครั้งหนึ่ง เศษกรวดกระเด็นใส่เข้ามาในรองเท้า ถ้าเราหยุดเพื่อเอากรวดออกไป คนอื่นจะแซงหน้าเราทันที เพราะเราผูกเชือกรองเท้าแน่นหลายชั้น เราก็ต้องทนวิ่งไปเรื่อยๆ จนกรวดแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกับเท้า

“เพราะอยากได้เงินมาดูแลแม่ เราต้องไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ คู่แข่งสำคัญคือตัวเราเอง”

หลังจากวิ่งมาราธอนเข้าเส้นชัยมาหลายสนามแล้ว เอ๋เริ่มอยากลองวิ่งเทรล (trail) ซึ่งเป็นการวิ่งกลางป่า มีอุปสรรคด้านความชันและเส้นทางธรรมชาติเข้ามาเพิ่มจากการวิ่งบนถนน หลายคนหลงรักการวิ่งเทรลเพราะเหมือนได้ท่องเที่ยวธรรมชาติไปด้วย แต่สำหรับนักวิ่งรันทดคนนี้ เธอเปรียบการวิ่งเทรลเหมือนวิ่งอยู่บนถนนชีวิตตนเอง

“วิ่งเทรลเปรียบเหมือนชีวิตของเอ๋ มีขึ้น มีลง มีการแก้ไขปัญหาระหว่างทางตลอด ต้องคิดเร็ว วางเท้าไว ถ้าข้างหน้ามีน้ำ เราก็เลือกปีนต้นไม้แทน เพราะถ้ารองเท้าเปียกจะวิ่งต่อลำบาก เวลาวิ่งเทรลเลยไม่ได้รู้สึกเหมือนไปวิ่งแข่ง แต่เหมือนไปใช้ชีวิตจริง”

อุปสรรคสำคัญของการวิ่งเทรล คืออุปกรณ์สำหรับวิ่งกลางป่า นักวิ่งยากจนไร้อุปกรณ์ไฮโซจะหันมาวิ่งเทรลก็ต้องหาวิธีพลิกแพลงอุปกรณ์แบบบ้านๆ เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน

“เอ๋ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง คนอื่นมีเป้น้ำดีๆ กัน แต่เอ๋ไม่มี ก็ต้องเอาขวดน้ำไปซุกซ่อนตามจุดต่างๆ กลางป่า หรือมีแค่ขวดน้ำเหน็บไว้ที่เอวขวดเดียว เราไม่มีไม้พยุงดีๆ ก็หาไม้ไผ่แทน ของกินก็ไม่มี รองเท้าเทรลก็ไม่มี พอใส่รองเท้าวิ่งธรรมดา โอกาสลื่นไถลก็มีสูง เราก็หาหินไปวางเพื่อยึดไว้ ถามว่าอุปกรณ์ดีๆ จำเป็นไหม เอ๋ว่ายังไม่จำเป็นเท่ากับเป้าหมายของเราว่ามาวิ่งเทรลเพราะอะไร เพราะเราชอบ เราถึงทำ”

บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการวิ่งเทรลไม่ใช่แค่ทักษะการวิ่ง หากยังเพิ่มทักษะชีวิตและมิตรภาพระหว่างทางด้วยเช่นกัน

“การวิ่งเทรลฝึกทั้งความอดทนและนิสัยแบ่งปันให้เอ๋ จากเดิมเป็นคนที่ไม่สนใจโลกภายนอก พอเจอเพื่อนร่วมทางตกลงไปข้างทาง เราก็ไปช่วยเขา พอเราตกลงไปบ้าง เขาก็มาช่วยเรา เราได้เจอผู้คนร่วมทางใหม่ๆ คอยช่วยเหลือกัน นี่คือเสน่ห์ของเทรล”

เพื่อฝึกซ้อมให้แกร่งขึ้น เอ๋ดัดแปลงพื้นที่ห้องเช่าขนาดไม่กี่ตารางเมตรให้กลายเป็น ‘สนามซ้อมเทรลสไตล์บ้านๆ’ มีเก้าอี้เป็นที่ฝึกสลับขาขึ้น-ลงแทนภูเขา มีเสาหน้าบ้านเป็นที่ยืดเขย่ง มีเตียงนอนแม่เป็นที่ยืดเหยียด มีพื้นที่ว่างหน้าบ้านสำหรับวิ่งอยู่กับที่ เธอไม่มีตารางซ้อมเหมือนนักกีฬาอาชีพ ยึดหลักซ้อมได้ทุกที่ ทุกเวลาที่ว่าง

“ใน 1 สัปดาห์ เอ๋จะวิ่งที่สวน 3 วัน วันอื่นๆ จะอยู่ดูแลแม่สลับกับทำงานรับจ้าง บางครั้งมีเวลาว่างแค่ชั่วโมงเดียวก็วิ่งสลับขาบนเก้าอี้ เพราะออกไปไกลก็เสียเวลา ว่างตอนไหนก็ซ้อมตอนนั้น เราอาจซ้อมได้แค่ครึ่งหนึ่งของคนอื่น เพราะเรามีเวลาแค่นี้ เราก็พอใจแค่นี้ เอ๋ไม่ได้หวังจะเป็นนักวิ่งอาชีพ แต่อยากเป็นนักวิ่งที่มีความสุขกับการวิ่งมากกว่า”

คนมองโลกแง่ร้ายมักมองอุปสรรคเป็นความทุกข์ คนมองโลกแง่ดีมักมองอุปสรรคเป็นความท้าทาย เมื่อชีวิตถูกจำกัดด้วยเวลาพ่นยาให้แม่ทุก 4 ชั่วโมง เอ๋จึงต้องสรรหาวิธีการซ้อมในสถานที่จำกัดให้สนุกมากขึ้น โดยใช้หลัก ‘อดทนในความรำคาญ’ ท่องบทสวดมนต์สร้างสมาธิแทน

“ถ้ามีเวลาว่างชั่วโมงเดียว เอ๋จะฝึกวิ่งเนินเตี้ยๆ ใกล้บ้านดีกว่านั่งท้อแท้เฝ้าแม่โดยไม่ทำอะไรเลย มันอาจจะดูน่าเบื่อ อึดอัด น่ารำคาญ เพราะต้องวิ่งในพื้นที่จำกัด เอ๋เลยสวดมนต์บทอิติปิโส 108 จบ โดยไม่ต้องสนใจว่าขาข้างไหนก้าวขึ้น ใจไปอยู่ที่บทสวด พอจิตเกิดสมาธิ เราก็ผ่านความรำคาญตรงนั้นไปได้ พอทำได้แบบนี้ เรารู้สึกสุดยอดยิ่งกว่าวิ่งเข้าเส้นชัยเสียอีก”

สิ่งที่พิสูจน์ให้รู้ว่าคนจนก็วิ่งเทรลได้ คือการคว้าแชมป์วิ่งเทรลรายการใหญ่ระดับประเทศ อาทิ แชมป์ The North Face 100 – Thailand 2020 ที่เขาใหญ่ แชมป์สนามระดับประเทศ UTMB ดอยอินทนนท์ ปี 2020 ระยะทาง 168 กิโลเมตร โดยใช้เวลาวิ่ง 36 ชั่วโมง และกำลังจะเดินทางไปแข่งสนามระดับโลก UTMB ที่ฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ สนามที่ขึ้นชื่อว่า ต่อให้มีเงิน แต่ถ้าไม่มีแต้มก็ยังไม่มีโอกาสไป สนามนี้เป็นสนามที่มีความชันระดับ 10,000 เมตร และต้องวิ่งผ่านอากาศหนาวเหน็บตลอดระยะทาง 171 กิโลเมตร

“เราตั้งเป้าหมายไปวิ่งที่สนามเทรลระดับโลก เพื่อให้คนไทยรู้ว่ามีนักวิ่งไทยได้ไปแข่งที่นี่ด้วย และที่ผ่านมายังไม่มีผู้หญิงไทยที่แข่งสนามนี้ได้จนจบ เรามีแต้มก็สมัครไปก่อน เรื่องหาเงินเดินทางไปแข่งค่อยคิดทีหลัง เพราะถ้าเราไม่สมัคร ถึงมีเงินก็ไปไม่ได้”

ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของเอ๋ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะ ‘นักวิ่งรันทด’ หรือ ‘นักวิ่งบ้านนอก’ ที่สามารถคว้าชัยชนะด้วยอุปกรณ์บ้านๆ เธอมีเพจชื่อว่า ตามเอ๋“พีคฮันเตอร์” เพื่อให้กำลังใจนักวิ่งยากจนแต่มีใจมาลงสนามให้มาวิ่งไปด้วยกัน

“เอ๋ไม่ได้อยากให้ทุกคนมาสงสารเรา การที่เอ๋รันทดอาจเป็นเพราะวิถีชีวิตเรา แต่เวลาที่เรารันทด เราจะคิดว่าจะแก้ปัญหาให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร แม้แต่การเดินทางไปสนาม คนอื่นนั่งเครื่องบิน เราอาจต้องนั่งรถเมล์ แต่เอ๋ก็ยังไปรับเบอร์ทัน แถมเอ๋ยังวิ่งแล้วเข้าเส้นชัยได้ที่หนึ่ง มันอยู่ที่เราตั้งใจฝึกฝนอดทน

“เรารันทดแต่ก็เป็นรันทดรันเนอร์ที่ก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้จนถึงวันนี้ หรือใครตั้งฉายาว่า นักวิ่งบ้านนอก เราก็มาจากบ้านนอกจริงๆ แต่ก็อยากมาวิ่งกับเพื่อนๆ ในเมืองด้วย เพราะการวิ่งทำให้เอ๋มีเพื่อนดีๆ เพิ่มขึ้น”

ลมหายใจของกันและกัน

นับตั้งแต่ได้เงินรางวัลจากการวิ่งครั้งแรก เอ๋ก็เริ่มหันมาวิ่งอย่างจริงจังเพื่อนำเงินรางวัลมาใช้จ่ายเพื่อยังชีพสองแม่ลูก หากมีครั้งไหนที่แม่สุขภาพแข็งแรง เธอจะพาแม่นั่งวีลแชร์ไปรออยู่ ณ จุดเข้าเส้นชัยใกล้ขอบสนาม เพราะทุกครั้งที่เห็นหน้าแม่รออยู่ตรงนั้น กำลังใจจะพุ่งแรงแซงหน้าคู่แข่งเสมอ แต่ถ้าครั้งไหนแม่ไปไม่ได้ เธอจะนึกถึงหน้าแม่ที่รอฟังข่าวดีอยู่ที่บ้าน

“สนามแรกที่พาแม่ไป คือสนามตะนาวศรี ระยะทางวิ่ง 30 กิโล บอกแม่ว่าหนูจะวิ่งไม่เกิน 6 ชั่วโมง เข้ามาหาแม่ไม่เกินเที่ยง แล้วก็เอาเชี่ยนหมาก เอาที่พ่นออกซิเจนเตรียมไว้ใกล้ๆ ใส่แพมเพิร์สให้แม่ ประมาณ 11 โมงกว่า เราก็วิ่งเข้าเส้นชัยแล้ว แม่บอกว่า ‘โห… นัดเป็นนัด’ (หัวเราะ) ช่วง 200 เมตรสุดท้าย พอเห็นหน้าแม่ก็เริ่มน้ำตาคลอ ตื้นตันใจ กระโดดตัวลอยเข้าเส้นชัย ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย รู้แต่ว่าฉันวิ่งมาถึงแม่ฉันแล้ว”

ทุกครั้งที่พาแม่ไปนั่งรอ ณ เส้นชัย เมื่อได้รับถ้วยรางวัลมาปุ๊บ เอ๋จะนำมาวางไว้บนตักแม่ที่นั่งรออยู่บนวีลแชร์ทันที

“ถ้าเลือกได้ อยากให้แม่ไปด้วยทุกสนาม เอ๋ไม่อยากกลับมาเล่าให้แม่ฟังทีหลัง อยากให้แม่เห็นบรรยากาศ เห็นลูกตัวเองตอนวิ่งเข้าเส้นชัย เวลาเอาถ้วยรางวัลไปวางที่ตักแม่สดๆ ร้อนๆ แม่จะภูมิใจมาก”

ไม่เพียงแม่จะเป็นกำลังใจให้ลูก หากลูกก็เป็นกำลังใจให้แม่เช่นกัน

“ถ้าแม่อาการดีจะพาแม่ไปด้วยทุกครั้ง ถ้าแม่อาการหนักก็ต้องจ้างคนมาเฝ้า แล้วโทรคุยกัน แม่อยากไปกับเราทุกที่ เลยพยายามทำตัวให้แข็งแรง จะได้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล หมอบอกว่าแม่มีกำลังใจดีมาก แม่บอกหมอว่า ฉันอยากอยู่เป็นกำลังใจให้ลูก ฉันอยากตามลูกไปวิ่ง ลูกฉันเป็นนักวิ่ง ส่วนแม่ก็คือกำลังใจของเรา เรามีกันและกัน เราบอกรักกันทุกวัน เติมเต็มให้กันโดยที่เราไม่ต้องไปหาจากที่อื่นเลย”

นับตั้งแต่วันที่เอ๋หันมาวิ่งแข่งจนคว้าเงินรางวัลมาได้เกือบทุกรายการที่ลงสนาม ชีวิตของสองแม่ลูกเริ่มดีขึ้น เธอจึงอยากหาเวลาฝึกซ้อมอย่างจริงจังเพื่อคว้ารางวัลมาดูแลแม่ให้ดีกว่าเดิมด้วยการตัดสินใจพาแม่ไปฝากดูแลที่บ้านพักคนชรา ส่วนตัวเธอตั้งใจจะไปทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อเก็บเงินส่งมาเป็นค่าดูแลแม่ และจะได้มีเวลาซ้อมวิ่งอย่างเต็มที่เหมือนนักกีฬาคนอื่น ทว่า ระหว่างทางขับรถไปส่งบ้านพักคนชรา คำพูดของแม่ทำให้เธอเปลี่ยนใจวกรถกลับทันที

“แม่พูดว่า ‘เอ๋… ถึงเราจะยากจนยังไงก็แล้วแต่ เราจะไม่มีกินแค่ไหน แม่ก็อยากอยู่กับเอ๋ แม่ไม่ได้อยากให้เอ๋ไปทำงานแล้วแม่มีกิน ถ้าเป็นแบบนั้นแม่ก็คงไม่มีความสุข จะอดมื้อกินมื้อก็ได้ แต่ขอให้เราได้อยู่ด้วยกันก็ยังดี’ ฟังจบเอ๋ขับรถเลี้ยวกลับเลย”

นับจากวันนั้น ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน สองแม่ลูกก็ไม่เคยทิ้งกัน


“เราต้องหาสิ่งที่สำคัญที่สุดให้เจอก่อน สำหรับเอ๋ สิ่งนั้นคือจิตใจแม่ แค่ได้เห็นแม่ยิ้มก็ดีใจแล้ว อะไรที่เป็นความสุขของแม่ เราก็เติมเต็ม ปลาทูตัวเดียวต้มกับน้ำเต็มหม้อ เราก็กินอย่างมีความสุขกันมาแล้ว มีอยู่วันหนึ่ง กลับมาจากวิ่งที่ปาย เอ๋เหนื่อยมาก วางกระเป๋าแล้วเข้าไปกอดแม่จากข้างหลัง น้ำตาไหลใส่หลังแม่เพราะคิดถึงแม่ตลอดเวลา ถึงแม่ไม่ได้รออยู่หน้าเส้นชัย แต่เรารู้ว่าแม่รออยู่ ถ้าไม่มีแม่ ก็ไม่มีเรา แม่เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้มี เอ๋ พิชชานันท์ ในวันนี้”

ความต้องการเงินรางวัลทำให้เอ๋หักโหมลงแข่งมาราธอนจนไม่มีเวลาพักฟื้นร่างกาย ส่งผลให้ข้อเท้าเริ่มบาดเจ็บด้วยโรครองช้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ เธอต้องนำเงินรางวัลส่วนหนึ่งมารักษาตัวเองเพื่อให้วิ่งต่อได้ แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงมากจนทำให้เธอเคยคิดจะจบชีวิตสองแม่ลูกจากโลกนี้ไปพร้อมกัน

“วันนั้นพาแม่ไปเข้าห้องน้ำ แต่เอ๋เจ็บข้อเท้า ประคองแม่ไม่ไหว ล้มไปนอนร้องไห้ที่พื้นทั้งแม่ทั้งลูก ตอนนั้นมีความคิดอยากผูกคอตายหรือกินยาตายพร้อมกัน เพราะเรามีกันแค่สองชีวิต แม่บอกว่า แม่ตายง่าย แค่ไม่กินยาที่หมอให้ แม่ก็ตายแล้ว แต่เอ๋แข็งแรง จะทำยังไงให้ตัวเองตาย ก็มานั่งคิดกันอีกว่าจะตายแบบไหน”

ระหว่างที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย บังเอิญมีนักวิ่งน้องใหม่ส่งข้อความทางอินบอกซ์มาขอคำแนะนำเรื่องวิ่ง เอ๋จึงได้สติคืนกลับมาว่าชีวิตของเธอยังมีค่าสำหรับคนอื่นๆ บนโลกใบใหญ่ ไม่ใช่โลกใบเล็กที่มีเพียงแค่สองแม่ลูกเท่านั้น

“เราเริ่มคิดได้ว่า เรายังมีประโยชน์กับคนอื่นๆ อีก แต่ทำไมถึงมานั่งคิดฆ่าตัวตาย พอนึกถึงคำพูดคนที่ดูถูกเราว่า จนแล้วยังมาวิ่ง วิ่งแล้วก็บาดเจ็บ ต้องหาเงินมาซ่อมตัวเอง เลยคิดใหม่ว่า ฉันต้องหาย ฉันต้องกลับไปเป็นนักวิ่งได้อีกครั้งก่อนจะเลิกอาชีพนักวิ่ง ฉันจะไปทำอะไรดีๆ เพื่อประเทศเรา ไม่ใช่จบชีวิตเพราะกินยาฆ่าตัวตายพร้อมแม่ เราเอาปัญหามาเป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไป”

เมื่อลูกหันมาคิดบวก แม่ก็พร้อมเป็นลมใต้ปีกความฝันของลูกบินไปให้ถึงปลายฟ้า แม้รู้ว่าการเดินทางไปแข่งวิ่งเทรล UTMB ที่ฝรั่งเศสครั้งนี้ ลูกจะต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่โหดสุดๆ ทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ แต่แม่ก็พร้อมจะอยู่เพียงลำพังอย่างเต็มใจและภูมิใจ หากมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

“แม่บอกว่า ถ้าแม่จะตาย ถึงเอ๋จะอยู่ที่นี่หรือไม่อยู่ แม่ก็ตายอยู่ดี ถ้าเอ๋ตายเพราะทำไปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้คนไทย แม่อยู่ที่นี่ แม่ก็ยังดีใจ ไม่ต้องห่วงแม่ เพราะถ้าแม่อยู่คนเดียว เดี๋ยวมูลนิธิก็มารับแม่ไปเลี้ยงเอง”

ถึงนาทีนี้แล้ว หากใครเคยคิดจะวิ่งแต่ยังไม่ได้ออกวิ่งสักที นักวิ่งหญิงคนนี้มีคำแนะนำมาฝากว่า

“ถ้าเราพูดว่า เราไม่มีเวลา เราก็จะไม่มีเวลาอยู่วันยังค่ำ ทำไมเราไม่เจียดเวลาไปทำสิ่งนั้น จะได้ไม่ต้องมาพูดทีหลังว่าไม่มีเวลา ลองทำดูก่อน เอ๋อยากให้ทุกคนกล้าที่จะก้าว แล้วมันจะผ่านไปได้เอง”

นักวิ่งหญิงแกร่งหัวใจกตัญญูยังบอกคาถาความสำเร็จในชีวิตไว้ให้ 3 ข้อด้วยกัน คือ หนึ่ง ซื่อสัตย์กับตัวเอง สอง กตัญญู และสาม อดทน ยึดไว้ให้มั่น แล้วคุณจะฝันได้ไกลไปจนถึงฝรั่งเศสเช่นเดียวกับเธอ – พิชชานันท์ มหาโชติ

Credits

Authors

  • วันดี สันติวุฒิเมธี

    Authorนักเขียนสารคดีชายขอบ ชอบทำงานจิตอาสา เป็นลูกครึ่งนิเทศศาสตร์ผสมมานุษยวิทยาที่ชอบเล่าเรื่องคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจงดงาม

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ