‘แข็งแรงแต่อ่อนช้อย’ ศิลปะการใช้ชีวิตบนเสาเหล็กของทันตแพทย์หญิง หมอหนุ่ย ผู้รักโพลแดนซ์ วัย 57 ปี

แข็งแรงและอ่อนช้อย คือคู่ตรงข้ามที่ผสมผสานอยู่ในการเคลื่อนไหวของนักกีฬาโพลแดนซ์ (pole dance) นาฏลีลาตรงหน้าทำให้เรานึกถึงชีวิตของ ทพญ. กีรติ ทองอำพัน หรือ คุณหมอหนุ่ย คุณหมอสุดแซ่บอายุ 57 ปี เจ้าของแชมป์เหรียญทองโพลแดนซ์ในรุ่น Level ​4 Grand Master ในการแข่งขัน 2019 PSO Taiwan Pole Championships

ชุดกาวน์กับบิกีนี

ภาพลักษณ์ของโพลแดนซ์สำหรับคนส่วนใหญ่หนีไม่พ้นภาพของหญิงสาวแต่งชุดน้อยชิ้นนุ่งสั้นเต้นยั่วยวนบนเสาที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘stripper’ หรือคนไทยเรียกว่า ‘เต้นรูดเสา’ แต่ในยุคนี้ศิลปะการเต้นกับเสากลับมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นจนเกิดเป็นสตูดิโอโพลแดนซ์อยู่ทั่วประเทศ

ภาพลักษณ์ของทันตแพทย์อาจเป็นการอยู่ในชุดกาวน์ที่น่าเชื่อถือ แต่ภายใต้ชุดกาวน์นั้น คุณหมอทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีแพสชัน มีสิ่งที่ฝันใฝ่และอยากทำ เช่นเดียวกับคุณหมอหนุ่ยเจ้าของฉายา ‘ป้าหมอเยาวรุ่น’ ที่ได้ฉายานี้มาจากความสามารถในการเล่นกีฬาผาดโผน เล่นทุกอย่างที่ท้าทายศักยภาพของร่างกาย

“ก่อนจะเล่นโพลแดนซ์ หมอเรียนยิมนาสติกตอนอายุ 50 ค่ะ” ไม่มีอะไรสายเกินไปจริง ๆ เริ่มต้นฝึกทักษะกีฬายิมนาสติกตอนอายุ 50 ปี สองปีต่อมาเธอก็ขยับไปอีกขั้น

“พออายุ 52 ปี ก็อยากจะหากีฬาที่ยากและท้าทายขึ้นไปอีก เพราะยิมนาสติกถือว่ายากแล้ว แต่มาค้นพบว่าเราน่าจะลองโพลแดนซ์บ้าง แต่คนส่วนมากมักคิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่เซ็กซี่หรือไม่สุภาพสำหรับคนที่มีอาชีพหมอ” แต่โพลแดนซ์ไม่ได้มีแบบเดียว โพลแดนซ์มีสไตล์อื่น ๆ มากมาย และเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อและแรงใจไม่น้อย

“เราลองเรียนดู ก็ค้นพบว่ามันยากจริง ๆ” หมอหนุ่ยย้ำ การเต้นโพลแดนซ์แยกย่อยออกเป็นสามประเภทใหญ่ ประเภทที่ 1 เรียกว่าโพลสปอร์ต (sport pole) จะเป็นการใช้เทคนิคเฉพาะ ใช้ความแข็งแรงของส่วนต่าง ๆ ในร่างกายในการทำท่าทาง เช่น การเกี่ยวขา การตีลังกาบนเสา ประเภทที่ 2 คือโพลอาร์ทิสติก หรือโพลเพอร์ฟอร์ม (artistic pole or pole perform) จะเป็นการเต้นประกอบเพลง ดังนั้นจะเน้นไปที่ความพลิ้วไหวของท่าทาง ความสวยงามตามอารมณ์เพลง ประเภทสุดท้ายคือเอ็กซอติกโพล (exotic pole) เป็นการเน้นในความเซ็กซี่ของท่วงท่าของสัดส่วนในร่างกายประกอบเพลง

“หมอเล่นแนวโพลสปอร์ต เน้นไปที่การใช้พละกำลัง ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ในการเล่นท่าทางต่าง ๆ แล้วเอามาร้อยเรียงเป็น combo ร้อยเรียงเป็น routine

“เมื่อก่อนหมอก็มองโพลแดนซ์ออกแนวเซ็กซี่ ออกแนวเต้นรูดเสา แต่พอมาศึกษาก็พบว่ามันมีหลายหมวดหมู่ มีแนว exotic pole ซึ่งนางระบำที่ทำมาหากินด้านนี้เวลาเอาไปใช้อาจจะแสดงท่าทางหวือหวามากไปหน่อย ก็เลยเกิดเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนที่เป็นนักกีฬา โพลแดนซ์คือศิลปะค่ะ” คุณหมอหนุ่ยกล่าว

ภาพลักษณ์ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคที่ทันตแพทย์หญิงคนหนึ่งอยากจะเล่นโพลแดนซ์ เต้นระบำในท่วงท่าอ่อนช้อยด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงบนเสาเหล็ก แต่ “มันคือความสุขของเรา ความต้องการของเรา เราจะไม่ให้คนอื่นมาตัดสินเรา ถ้าเราทำได้ มีศักยภาพในการฝึก เราก็จะทำ ฉะนั้นทำไปเถอะค่ะ เพราะมันเป็นความสุขของเรา”

แล้วสำหรับนักกีฬาวัย 57 ปีล่ะ ?

“เสน่ห์ของโพลเเดนซ์ในวัย 57 ทำให้เรามีความแข็งแรง มีความยืดหยุ่น บางครั้งเราอยากแต่งตัวสวยงาม เราไม่สามารถแต่งแบบนี้ในสถานที่ข้างนอกได้ บางวันเราอยากใส่ทูพีซ แล้วไม่ต้องขัดเขิน เพราะมันเป็นกีฬา กีฬานี้ต้องใส่น้อยชิ้นเพราะต้องใช้ความยืดหยุ่นของร่างกาย และมันเป็นกีฬาที่เล่นในห้อง สภาพอากาศไม่มีผล ฝนตกแดดออกฉันก็สามารถออกกำลังกายได้ แล้วมันอิสระ” หมอหนุ่ยบอก

ป้าหมอเยาวรุ่น

“ตั้งแต่เด็ก หมอเป็นเด็กชอบออกกำลังกาย และเป็นเด็กที่ซนมากค่ะ” คุณหมอหนุ่ยผู้เล่นเซิร์ฟสเกตลงแลมป์ ดาวน์ฮิลล์ ไต่ราว ไม่กลัวเจ็บ จนคนหนุ่มสาวรุ่นหลังต้องเหลียวหลังมอง หรือปรบมือให้ เล่าต่อว่า “หมอก็เล่นกีฬามาจนทุกวันนี้ หมอเล่นยิมนาสติก, โพลแดนซ์, สเกตแบบผาดโผน (aggressive inline skates) โยคะฟลาย (yoga fly หรือ aerial hammock), บอดี้คอมแบต (body combat), bodypump

“หมอเล่นทั้งแนวสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เล่นคาร์ดิโอ และยืดเหยียด ไม่ได้เล่นแนวเดียวค่ะ” คุณหมอหนุ่ยใช้เวลาทุกหน่วยอย่างคุ้มค่า เธอสวมชุดกาวน์ทำงานที่โรงพยาบาลทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. หลังเลิกงานสลัดชุดกาวน์มาสวมชุดกีฬาที่เหมาะกับกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรในแต่ละวัน

“วันจันทร์เล่นโยคะกับคอมแบต ซึ่งจะเล่น 2 ชั่วโมงต่อคลาส วันอังคารเล่น workout กล้ามเนื้อขาและก้น ตามด้วย yoga fly วันพุธเรียนโพลสปอร์ต วันพฤหัสเล่นโพลแดนซ์เหมือนกัน แต่เป็นแนว spinning pole ส่วนวันศุกร์เรียนยิมนาสติก วันเสาร์ก็เล่นยิมนาสติก วันอาทิตย์ตื่นสายหน่อย เก้าโมงออกไปที่ กกท. ไปเรียน aggressive inline skates บ่ายวันอาทิตย์จะให้เวลากับครอบครัว”

นี่คือกิจกรรมในชีวิตของคนวัย 57 ที่ต้องนับว่า น่าทึ่ง

“หมอเป็นคนที่ชอบความท้าทาย ยิ่งยากยิ่งดึงดูดให้เราเข้าไปลอง อยากจะรู้ว่าฉันจะทำได้ถึงขั้นไหน หมอไม่เคยเอาอายุมาเป็นกรอบกั้นขวางไม่ให้เราทำในสิ่งที่อยากจะทำ คนเป็นหมอไม่ควรทำนั่นไม่ควรทำนี่ แต่ในการที่เราจะทำอะไร มันคือความสุขของเรา และทำให้ร่างกายเราแข็งแรงด้วย เป็นตัวอย่างให้คนอื่นที่อยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ”

นักกีฬาวัยใกล้ 60

“หลังจากเรียนโพลแดนซ์มาสองปี ครูไนน์ถามว่า พี่หมอลองไปแข่งไหม เราก็ไม่เอาหรอก เพิ่งเรียนมาแค่นี้เอง โค้ชบอกว่าเราเก่งมาก แต่หมอจะรู้สึกว่าให้เราไปแข่งกับเด็ก ฉันก็แพ้อยู่ดี มันไม่แฟร์”

แต่การแข่งขัน PSO Taiwan Pole Championships มีการแบ่งรุ่นอายุ รุ่นอายุ 20-29 คือ Junior, 30-39 คือ Senior, 40-49 คือ Master, 50-59 คือ Grand Master ประเภทการแข่งขันประกอบด้วย 1. Pole Sports Championship 2. Dramatic 3. Exotic

“เราลงแข่งรุ่น Championship Level 4 ครูก็บอกว่าจะคิด routine ให้ เรามีหน้าที่ซ้อมอย่างเดียว ซึ่งโค้ชก็จะเอาท่าจากยิมนาสติกมาใส่ด้วย เพราะเรามีพื้นฐายยิมนาสติก เราก็โอเค ตั้งใจฝึกซ้อม”

ตอนนั้นโค้ชเลือกเพลง Aquaman ซึ่งมีความยาว 4 นาที ซึ่งสำหรับคุณหมอหนุ่ยถือว่า “นานมากนะ เราซ้อมอาทิตย์ละครั้ง แต่รู้สึกไม่พอ เราเลยเพิ่มเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง การแข่งเรามีท่า routine ตอนจบมันจะเป็นท่า Choker split ซึ่งต้อง split ให้ได้ 180 องศา ซึ่งหมอทำไม่เคยได้เลยในตอนซ้อม แต่พอตอนแข่งมันต้องทำให้ได้ ตายเป็นตาย ฉันต้องทำให้ได้”

ถ้าคุณนึกไม่ออกว่า ท่า Choker split คืออะไร ให้ลองนึกถึงผู้หญิงแข็งแรงคนหนึ่งห้อยศีรษะลงมา ขณะที่ลำตัวและขาทั้งสองเกี่ยวเกาะกับเสาเหล็ก ขาทั้งสองข้างกางออก 180 องศาเหมือนเข็มนาฬิกาที่เข็มสั้นชี้ไปที่เลข 6 เข็มยาวชี้ไปที่เลข 12 แล้วก็หมุนบนเสาเหล็กเหมือนกลไกของนาฬิกา

ปรากฏว่าคุณหมอทำได้ในวันแข่ง เข็มนาฬิกากาง 180 องศา เวลาเดินไปข้างหน้า เธอได้เหรียญทองในรุ่น Level ​4 Grand Master แต่รางวัลที่แท้จริงคือเสียงแห่งความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจที่กระซิบจากตัวเองบอกว่า “ฉันทำได้”

แต่เรื่องตลกก็คือ ในตอนที่ส่งคลิปการเต้นไปออดิชันรุ่น Grand Master มีหมอหนุ่ยเป็นนักกีฬาเพียงคนเดียวที่ผ่านเข้ารอบ ไม่มีคู่แข่งในรุ่นอายุเดียวกัน

“กรรมการถามหมอว่า คุณจะลดเลเวลมาแข่งกับรุ่น Master ไหม 40-49 ฉันก็ไปถึงไทเปแล้วนะ แล้วให้ฉันขึ้นรับเหรียญรางวัลโดยไม่ได้แข่งไม่ได้โชว์ได้ยังไง ก็โอเค ลงไปแข่งรุ่น Master ก็อยากจะแข่งอยากจะโชว์ที่ในสิ่งที่เราอุตส่าห์ฝึกซ้อมมา แข่งคนแรกใน 7 คน ปรากฏว่าเราดูคนอื่นๆ แข่ง โค้ชก็บอกเราว่าเตรียมรอรับเหรียญได้เลย จริงเหรอ ก็ปรากฏว่าจริง ตอนนั้นหมอเพิ่งเรียนมาได้ 2 ปี ก็เป็นการแข่งอินเตอร์ครั้งแรก เราชนะได้เหรียญทองเลย เนื่องจาก routine ที่โค้ชใส่เข้าไปมันเป็น routine ที่ยากๆ ทั้งนั้นเลย เอายิมนาสติกมาร่วมด้วย

“มันเป็นความสุข อยากเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ รุ่นน้องๆ ว่าฉันอายุขนาดนี้ฉันยังทำได้ พวกเธออายุน้อยๆ น่าจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องท้อแท้ ไม่ต้องเสียใจ อย่างน้อยเล่นกีฬาก็ทำให้เราแข็งแรง ก็ดูสิคะ พี่หมออายุขนาดนี้ยังเล่นได้เลย จะ 60 แล้วนะ ป้าขนาดนี้ยังแข็งแรงได้ขนาดนี้”

เป็นความแข็งแรงจากความพยายามหมั่นฝึกฝน และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ

วินัยและอิสรภาพ

เรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กจนวันที่อายุเข้าใกล้ 60 ของหมอหนุ่ย บอกกล่าวกับเราว่า อิสรภาพเกิดจากการมีวินัย

“หมอมีความชื่นชอบในกีฬาหลากหลายประเภท เป็นคนชอบแนวเอ็กซ์ตรีมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ ครอบครัวซัปพอร์ตการเล่นกีฬาของเรามาตั้งแต่เด็ก พาไปสวนสนุก เล่นเครื่องเล่นผาดโผนมาตั้งแต่เด็ก เราก็จะมีความสนุกกับความหวาดเสียวตื่นเต้น น้าอีกคนก็ซื้อโต๊ะปิงปองให้เล่น อีกคนซื้อสเกตบอร์ด อีกคนพาไปบางแสน อีกคนพาไปเรียนว่ายน้ำ”

แม้จะเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ แต่หมอหนุ่ยก็รักกีฬามาแต่ไหนแต่ไร เล่นกีฬาเพื่อเอาชนะตัวเอง เอาชนะศักยภาพของตัวเอง

“หมอเป็นอดีตนักกีฬาว่ายน้ำฟรีสไตล์มาราธอนของมหาวิทยาลัย จริงๆ เรียนทันตแพทย์ก็หนักมาก แต่ทุก 5-6 โมงเย็น ต้องลงสระซ้อมด้วยตัวเอง ฝึกว่ายน้ำวันละ 2,500 เมตร เพื่อที่จะลงแข่ง 800 เมตร เสร็จจากนี้ก็ต้องไปทำแล็บอีก 2-3 ทุ่มถึงกลับบ้าน จุดหมายของเราคือ เรียนต้องได้ดี เป็นนักกีฬาก็ต้องซ้อม ให้สมดุลให้ไปด้วยกันได้”

แม้จะชื่นชอบกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีมมาตั้งแต่เด็ก แต่กว่าที่หมอหนุ่ยจะตีลังกาเป็นก็ต้องรอถึงอายุ 50 ในวันที่เธอเรียนยิมนาสติก

การตีลังกาหรือเต้นโพลแดนซ์ในวัย 50+ บอกกล่าวอะไรแก่เรา

มันบอกกล่าวเราว่า คนคนหนึ่งสามารถเอาชนะข้อจำกัดได้หากมีความตั้งใจ วินัย และความพยายาม เรื่องราวการใช้เวลาในแต่ละนาทีของหมอหนุ่ยบอกกล่าวเราเช่นนั้น

“คนเราไม่ได้ได้ที่ 1 ทุกคน นั่นเป็นการวัด progression ของเรา พอดีหมอเป็นคนชอบการแข่งขัน เป็นนักกีฬา เราพยายามทำเต็มที่ การฝึกซ้อมเป็นการกระตุ้นร่างกาย เราทำเต็มความสามารถ เอนจอยกับสิ่งที่เราทำ” หมอหนุ่ยบอก

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ