ชีวิตจะมีความหมายเมื่อรู้ว่าใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร ‘ลุงปิงปอง’ นักประดิษฐ์เครื่องบินบังคับวิทยุ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’

ลุงปิงปอง ชณรรษ ฤทธิเลิศ วัย 64 ปี เคยใฝ่ฝันว่าในชีวิตนี้อยากมีเครื่องบินเป็นของตัวเอง ตอนนี้ ความฝันในวัยเด็ก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางตลอดชีวิตที่ทำให้ชีวิตวัยเกษียณ มีพลัง และมีความสุขที่สุด

หลายสิบปีที่ผ่านมาลุงปิงปอง ตั้งใจใช้ความฝัน ความหลงใหล และประสบการณ์ ผนวกเข้ากับวิชาชีพ จากครูวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีความรู้เครื่องยนต์กลไก เมื่อผสานกับความหลงใหลในเครื่องบิน ชายหนุ่มผู้เคยทำเครื่องบินจำลองง่ายๆ ให้บินบนฟ้าได้ ก็กลายผู้เชี่ยวชาญการทำเครื่องบินไม่ธรรมดา และแม้เกษียณ เครื่องบินเล็กๆเหล่านี้ กลายเป็นงานประจำใหม่ที่นับวันก็ยิ่งสนุก และเปลี่ยนโลกหลังเกษียณให้มีความหมาย

การเดินทางของความฝัน

ตอนลุงปิงปองเป็นเด็ก ผู้คนยังไม่ได้ขึ้นเครื่องบินไปไหนมาไหนกันเป็นปกติแบบทุกวันนี้ “ตอนเด็กๆ ของเล่นที่ดีที่สุดของเราคือกองทราย เครื่องบินสำหรับเราตอนนั้นมีแค่ในหนัง   แต่ข้างบ้านเรามีคนที่เขาคลุกคลีอยู่กับเครื่องบิน เขามีรูปถ่ายกับเครื่องบิน มีโมเดลเครื่องบินที่สะสมไว้ในบ้านเยอะมาก เราก็ไปแอบมองทุกวัน และในหัวก็มีแต่คำถาม มันทำอะไรได้บ้าง เครื่องบินคือบินได้จริงๆ ใช่ไหม กลายเป็นความใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งเราอยากจะมีโอกาสได้เห็นเครื่องบินจริงๆ สักครั้ง

“พอโตขึ้นมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ รถที่นั่งไปขับผ่านสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นถึงได้พบว่า เครื่องบินมันบินอยู่บนฟ้าได้จริงๆ หัวใจเราพองโตมาก มันเป็นภาพที่เท่สุดๆ ไปเลย เราก็ฝันต่อไปว่า อยากจะมีโอกาสได้ขึ้นไปนั่งบนเครื่องบินสักครั้งในชีวิต แล้วความฝันก็เป็นจริง ปี พ.ศ. 2524 อายุ 23 ปี เรามาบรรจุเป็นครูที่อุบลราชธานี ด้วยเงินเดือน 2,500 บาท พอมีเงินเดือนก็ตัดสินใจเจียดเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบิน ราคา 470 บาท นั่งจากจังหวัดอุบลฯ ไปลงที่ขอนแก่น

“ปี พ.ศ. 2524 เห็นคนเขาเล่นเครื่องบินบังคับวิทยุกัน เราเห็นครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้นว่าบ้านเรามันมีของเล่นแบบนี้ด้วย เครื่องบินโมเดลลำเล็กๆ แต่มันบินได้เหมือนเครื่องบินจริงๆ จากนั้นก็เกิดความรู้สึกว่าอยากมีเครื่องบินเป็นของตัวเองสักลำ ก็เลยเอาเงินเดือนไปซื้อเครื่องบินบังคับวิทยุมาเล่น ซึ่งสมัยนั้นมันแพงมาก ซื้อมาแล้วเราก็ไม่กล้าเล่น ให้คนอื่นบินให้ดู พอตัดสินใจลองบินเอง ในหัวก็เต็มไปด้วยความกังวล บินไปใจก็สั่นไป แล้วมันก็แฉลบลงข้างทางแล้วเครื่องบินลำแรกของเราก็พังเลย”

ลุงปิงปองเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของความใฝ่ฝันที่ค่อยๆ เป็นจริงทีละเรื่อง และเครื่องบินลำแรกนั้นก็นำทางชีวิตของลุงปิงปองเรื่อยมา

“จากเครื่องบินบังคับวิทยุลำแรกที่ซื้อมาบินแล้วตกลงมาพัง เราก็มานั่งคิดว่าเราจะทำอย่างไรต่อ สมัยนั้นการที่จะหาเครื่องบินบังคับวิทยุสักลำมันยากมาก ถ้าเอาไปซ่อมก็คงไม่คุ้ม ถ้าซื้อลำใหม่แล้วทำมันตกอีกก็พังอีก มีแต่คำถามในหัวว่า ‘ถ้ามันๆๆ …’ เราเลยคิดว่า ถ้ายังกังวลอยู่แบบนี้คงไม่มีโอกาสได้สัมผัสอีก อย่างนั้นสร้างเองเลยดีกว่า พอตัดสินใจ วันต่อมาก็เอามีดมาผ่าเลย พอเครื่องบินถูกแยกส่วนประกอบออกเป็นชิ้นๆ มองดูแล้วคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ ก็เลยทดลองสร้างเครื่องบินเลียนแบบขึ้นมาหนึ่งลำ

“โชคดีที่ตอนนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา เราก็อาศัยไปหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต ตั้งคำถามว่า ทำไมมันบินได้ เขาสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร หาไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูกอยู่พอสมควร จนสุดท้ายก็สามารถสร้างเครื่องบินบังคับวิทยุลำแรกขึ้นมาได้ จากตรงนั้นเราก็มาหาจุดบกพร่อง ทดลองบินดูว่า เครื่องบินที่เราสร้างมันบินได้ไหม บินไม่ได้เพราะอะไร บินได้เพราะอะไร พอลองเอาไปบินจริงๆ เราร้องว้าวเลย เครื่องบินลำแรกที่เราทำเองกับมือมันบินได้ มันเป็นภาพที่บรรยายไม่ถูก ตื่นเต้น ดีใจมาก

“หลังจากนั้นเราก็ไปหาซื้อแปลนเครื่องบินจากร้านที่เขาขายเครื่องบินบังคับมาทดลองสร้างลำใหม่ๆ แล้วเราก็พัฒนาการทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเข้ามือ หมายความว่าเห็นเครื่องบินลำไหนเราก็สามารถเลียนแบบสร้างขึ้นมาใหม่ได้หมด จนค้นพบว่าจริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องเป็นแปลนนี้เลย เราก็ลองมานั่งวาดแปลนเอง จนกลายเป็นจุดทดลองค้นคว้าที่เรียกได้ว่าเครื่องบินแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

ส่งต่อความรู้สู่ลูกศิษย์

“ด้วยความที่เราเป็นครูวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วันหนึ่งเราก็ถือโอกาสนำเอาเครื่องบินบังคับวิทยุมาสอนเด็กๆ ในวิชาเครื่องส่ง-รับสัญญาณวิทยุ พอเราเอามาสอน เด็กๆ ก็ถามเราว่า แล้วเขาจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ ก็เลยนำเอาความรู้เรื่องการประกอบเครื่องบินบังคับวิทยุมาสอนต่อในภาคปฏิบัติให้กับนักเรียนแล้วให้นำไปฝึกบิน เด็กๆ ก็เข้าใจถึงหลักการใช้ประโยชน์จากเครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ แถมยังสนุกกับการได้ประดิษฐ์เครื่องบินเป็นของตัวเอง เราก็สนุกที่ได้สอน

“ต่อมาก็เริ่มให้เด็กๆ ต่อยอด โดยสร้างเครื่องบินบังคับวิทยุแล้วเอาไปขายหารายได้เสริม รายได้ที่ได้มาเด็กๆ ก็เอาไปซื้ออุปกรณ์มาทำเครื่องบินลำใหม่ๆ จากที่แค่เป็นคนบังคับเครื่องบินเพื่อเรียนรู้เรื่องคลื่นความถี่ การรับส่งสัญญาณ เด็กๆ ก็กลายเป็นคนประดิษฐ์เครื่องบินที่เป็นทั้งทักษะติดตัว งานอดิเรก และหารายได้ได้ด้วย เราก็มีความรู้สึกว่าเราภูมิใจที่สามารถนำเอาวิชาชีพ ประสบการณ์ บวกกับความชอบมาสอนเด็กๆ แล้วเกิดประโยชน์กับเขาจริงๆ”

เปลี่ยนเวลาว่างเป็นเวลาเรียนรู้โลกใบใหม่ที่มีความฝันนำทาง

“หลังจากที่เกษียณออกมาเราไม่ได้วางแผนชีวิตว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ไปเที่ยวอย่างเดียว ไปเที่ยวอยู่ปีหนึ่ง ช่วงแรกๆ มันก็สนุก แต่หลังๆ มันก็เริ่มน่าเบื่อ นานๆ เข้าก็รู้สึกว่าชีวิตเรามันไม่มีเป้าหมายอะไรเลย เลยหันมาประดิษฐ์เครื่องบินเป็นงานอดิเรก เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เราชอบและทำต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัยที่เป็นครู ทำเสร็จแล้วก็เอาไปบินในสนามของหมู่บ้าน บินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บินแล้วตกเราก็เอากลับมานั่งหาจุดบกพร่อง นั่งสร้างลำใหม่ๆ กลายเป็นว่าไม่ได้หยุดพักเลย เหมือนเรามีงานประจำทำทุกวัน

“วันหนึ่งขณะที่เราเอาเครื่องบินไปบินในสนาม ก็มีคนที่เขาเล่นเครื่องบินบังคับเข้ามาทักว่าเราทำเครื่องบินนี้เองเหรอ เราก็บอกว่า ทำเองครับ เขาเห็นแล้วอยากได้บ้างจึงบอกให้เราทำให้ใหม่สักลำ ตอนนั้นเราก็ตอบตกลงไปแบบไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า ก็เริ่มมีคนเข้ามาหาเราเยอะขึ้น เพื่อที่จะให้เราทำเครื่องบินให้เขา จากหนึ่งคนเป็นสองคน จากสองคนกลายเป็นกลุ่ม แล้วจากคนที่ไม่รู้จักก็กลายมาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ชวนกันออกไปเล่นเครื่องบินบังคับวิทยุ เวลาไปบินที่สนามด้วยกัน เครื่องบินเขาตก หรือมีปัญหา เขาก็จะนึกถึงเราเป็นคนแรก เรียกร้องให้เราไปดูให้ ซ่อมให้ สร้างให้ใหม่

“จากที่เคยคิดว่าชีวิตหลังเกษียณคงไร้จุดหมาย ใช้ชีวิตไปวันๆ ก็พอแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า เครื่องบินทำให้เราได้เรียนรู้โลกใบใหม่ ผู้คนใหม่ๆ เวลาที่เราเอาเครื่องบินที่เราประดิษฐ์ขึ้นมาเองออกไปบิน เด็กๆ ก็จะมองว่าเราเป็นวัยเก๋า สร้างเครื่องบินเองได้ แถมยังคุมเครื่องบินได้ เห็นแล้วก็อยากทำตาม ก็ไปจูงผู้ปกครองพามาดู มาถามไถ่ ขอให้เราช่วยเปิดสอนทำเครื่องบิน วันหนึ่งเราเลยเปิดบ้านของตัวเอง เปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นห้องเรียน ถ่ายทอดความรู้ให้คนที่สนใจมาเรียนฟรีๆ ซึ่งมีตั้งแต่เด็กอายุ 10 ขวบ ไปจนถึง ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่าเราก็มาเรียนด้วย พอเขาทำเองเป็นก็กลายเป็นว่าเราทำเครื่องบินแลกกัน วันเกิดเราเขาก็ทำเครื่องบินมาให้เรา วันเกิดเขาเราก็ทำเครื่องบินไปให้เขา เป็นความสุขที่เราแลกเปลี่ยนกัน จะบอกว่ามันเป็นตัวช่วยเชื่อมเรากับโลกภายนอกเลยก็ว่าได้”

ผันตัวเองสู่นักประดิษฐ์เครื่องบินบังคับวิทยุมืออาชีพในวัย 60+

“ทุกครั้งที่เอาเครื่องบินไปลงสนาม จะเป็นที่รู้กันในกลุ่มว่า แนวการสร้างเครื่องบินของเราคือแนวเหมือนจริงมากที่สุด ทั้งลวดลาย โครงสร้าง ฐานทับล้อ คือเห็นปุ๊บรู้เลยว่าเป็นเครื่องบินชื่ออะไร รุ่นอะไร ซึ่งเราทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่เขียนแปลน ทำโครงสร้าง ประกอบ ทาสี วาดลวดลาย ไปจนถึงติดอุปกรณ์มอเตอร์

“ทำให้คนที่ชื่นชอบเครื่องบินซึ่งมีตั้งแต่วัยเด็ก และส่วนใหญ่อยู่ในวัย 40-50 ปี เขารู้สึกสนใจ อยากได้ไปครอบครอง บางคนก็อยากได้ไปสะสม เช่น เครื่องบินต้นกำเนิดฝนหลวง เครื่องบินบินตรวจป่าซาฟารี เครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง และโดยเฉพาะเครื่องบินลำเลียง C-130 กลายเป็นที่สนใจมาก เพราะมีลำตัวกลม มี 4 ใบพัด ปีกเป็นทรงเล็กๆ เรียวๆ เขาทึ่งกันมากว่าเราสร้างมันขึ้นมาได้ยังไง ได้รับเสียงตอบรับจากทั้งเพื่อนๆ และจากทหารอากาศจริงๆ ที่เขามาดู พอเห็นว่ามีคนสนใจเยอะเราเลยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองขายแบบจริงจัง ปรากฏว่าเครื่องบินบังคับรุ่นนั้นยอดขายถล่มทลาย ขายได้มากกว่า 50 ลำ

“หลังจากนั้นเวลาเอาเครื่องบินไปเล่นในสนาม เราก็จะคอยมอง จับสังเกตว่า คนที่เขาเล่นเครื่องบิน เขาชอบเครื่องบินแบบไหน เพื่อที่เราจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างเครื่องบินของเราให้โดนใจเขา ให้เขาเห็นแล้วอยากซื้อ อยากได้ไปครอบครอง แล้วเราก็ทำออกมาพร้อมกับเอามาบินโชว์ ใครเห็นก็เข้ามาบอกว่า ลำนี้สวย ถามราคา บอกให้ทำให้หน่อย เป็นการโปรโมตไปในตัว จากเดิมที่คิดจะทำเป็นงานอดิเรก ก็ค่อยๆ กลายเป็นอาชีพหลังเกษียณโดยไม่รู้ตัว อยากรีบตื่นแต่เช้าเพื่อมานั่งสร้าง นั่งหาจุดบกพร่อง และพัฒนาฝีมือของตัวเองไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่าการจะเป็นนักประดิษฐ์เครื่องบินบังคับวิทยุที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไร ลุงปิงปิงตอบว่า สำหรับลุงคือการมีเป้าหมาย ความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำจริง โดยเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้ ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเครื่องบินลำไหน ขนาดเท่าไหร่ หรือความต้องการของลูกค้าเป็นแบบไหน ลุงปิงปองบอกว่า สามารถทำออกมาได้หมด ทำให้เครื่องบินของลุงปิงปองครองใจลูกค้า และเป็นที่ไว้วางใจจนลูกค้านำไปบอกกันปากต่อปาก จนปัจจุบันมีลูกค้าหน้าใหม่ๆ เดินเข้ามาติดต่อถามซื้ออยู่เป็นประจำ

แต่สิ่งหนึ่งที่ลุงปิงปองบอกกับทุกคนเสมอคือ สิ่งที่ลุงทำไม่ได้ทำเพราะหวังรวย แต่หวังว่าจะมีเพื่อนเล่นเยอะๆ เล่นแล้วมีความสุข ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเครื่องบินของลุงทุกลำขายในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าขายแพง คนที่มาซื้อไปจะเล่นแล้วเป็นกังวล กลัวว่ามันจะพัง ทำให้ไม่มีความสุข หรือบางคนที่เขาอยากเล่นเขาอาจจะไม่ได้เล่นเพราะไม่มีกำลังที่จะซื้อ ความฝันที่เขาอยากสัมผัส อยากเล่น อยากมีไว้ครอบครองก็ไม่เป็นจริง

ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ที่ลุงปิงปองคลุกคลีอยู่กับการประดิษฐ์เครื่องบินบังคับวิทยุ ผ่านมือมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ บางลำใช้เวลานาน บางลำใช้เวลาแค่ 1 วัน แต่ทุกลำลุงปิงปองบอกกับมนุษย์ต่างวัยว่า ทำด้วยความตั้งใจ และทุกลำมีเรื่องราวที่เป็นความทรงจำอยู่ในนั้น

“วันนี้ถ้าให้เปรียบชีวิตในวัยเกษียณเป็นเครื่องบินสักลำ เราคิดว่าเราคือเครื่องบิน ‘C 47 Dc 3 Dakota’ เป็นเครื่องบินขนส่งทางทหาร ที่ใช้เวลาสร้างนาน คือทั้งเก่า แก่ แต่มีคุณค่า ถึงแม้จะปลดประจำการไปแล้ว แต่ว่าเมื่อพูดถึงเครื่องบินลำนี้ทุกคนก็รู้จัก ยังมีคนจำได้ ยังมีคนระลึกถึงคุณค่าของมัน เราคิดว่าเราก็เป็นแบบนั้น

“ถึงแม้ว่าจะเกษียณแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำชื่อเราในนามของนักสร้างเครื่องบิน เรายังสามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้ และยังสามารถที่จะส่งต่อความสุข และความฝันให้กับคนอื่นๆ ได้ด้วย เพราะนอกจากเราจะทำเครื่องบินบังคับวิทยุขาย เปิดบ้านสอนทำเครื่องบินฟรี เรายังได้รับโอกาสในการไปเป็นวิทยากรตามหน่วยงานต่างๆ ตามมหาวิทยาลัย ตามโรงเรียน โดยเฉพาะในงานวันเด็ก งานวันวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยหนึ่งในนั้นก็ต้องมีสักคนที่มีความฝันเหมือนเรา เขาเห็นแล้วก็จะได้เกิดแรงบันดาลใจ ไม่แน่ว่า ในอนาคตเขาอาจจะทำฝันเกี่ยวกับเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่กว่าเราก็ได้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ