‘ไร่ดินดีใจ’ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ชีวิตและต้นไม้ได้เติบโตไปพร้อมกัน

“ชีวิตที่คนอื่นเลือกในวัยเกษียณ เป็นชีวิตที่เราเลือกมาก่อนหน้านั้นตั้งนานแล้ว เราได้ใช้ชีวิต ได้ดูแลสุขภาพ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานมาจากสิ่งที่เรามีอยู่ในธรรมชาติ ที่เป็นทุนของเราอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องมีเงินมากมาย”

มนุษย์ต่างวัยชวนติดตามเรื่องราวของ ‘นก’ หทัยชนก อินทรกำแหง และ กำพล กาหลง คู่รัก NGO ที่ทำงานกับชุมชนมานานนับ 10 ปี แต่วันหนึ่งก็รู้สึกว่างานที่ทำอยู่เริ่มไม่ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาจึงตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตในเมืองและกลับบ้านที่อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

ชีวิตใหม่ของครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้นไปพร้อม ๆ กับการสร้าง ‘ไร่ดินดีใจ’ พื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่เติบโตของลูกสาวและสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตด้วยการพึ่งพาตัวเองจากสิ่งที่มีให้ได้มากที่สุด

พวกเขาปลูกพืชแบบผสมผสาน มีทั้งผัก ผลไม้ มีการเลี้ยงสัตว์ และแปรรูปสมุนไพรที่ปลูกเองเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาสระผม ผงถั่วเขียวทำความสะอาดผิว น้ำมันหอมระเหยผิวมะกรูด ฯลฯ โดยพยายามรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ในทุกกระบวนการให้มากที่สุด

กว่า 20 ปีที่ผ่านไป ไร่ดินดีใจค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมกับชีวิตในฝันของนกและกำพล พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับครอบครัว และสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างที่เคยตั้งใจไว้ตอนตัดสินใจเริ่มต้นสร้าง ‘ไร่ดินดีใจ’ แห่งนี้

จุดเปลี่ยน

นกเล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของไร่ดินดีใจแห่งนี้ว่า “เราทำงาน NGO ทางด้านสิ่งแวดล้อม พอทำงานเรื่องทรัพยากรส่วนใหญ่มันจะต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดปัญหาขึ้น เราก็เลยมีคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่ถูกทำลายไปแล้วมันฟื้นกลับมาอีกครั้ง

“พอทำไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ว่าเราจะทำงานไปมากแค่ไหนมันก็ไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาได้จริง ๆ พอมารู้จักพี่กำพลซึ่งเขาทำงานด้านเกษตรยั่งยืน มันทำให้เราเริ่มมองเห็นว่าเรื่องเกษตรมันช่วยตอบโจทย์ทรัพยากรได้ ช่วงนั้นมันหมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว การอธิบาย หรือการให้ข้อมูลมันก็ไม่ได้ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการทำโครงการขนาดใหญ่มันเปลี่ยนแปลงได้ เราก็เลยเลือกเปลี่ยนที่ตัวเองแทน”

กำพลเล่าต่อว่า “เราทำงาน NGO ด้านเกษตร ทำที่เดียว 10 ปี พอถึงจุดหนึ่งมันอิ่มตัว เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันซ้ำ ๆ เดิม ๆ เราอยากทำอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ เราเคยอยู่แต่กับทฤษฎี ก็อยากลงมือปฏิบัติ บวกกับเราสองคนกำลังจะมีลูก อยากให้ลูกเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีชีวิตในวิถีธรรมชาติ มีพื้นที่วิ่งเล่น เรามีที่อยู่แล้ว ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน”

ทุกจุดหมายมีทางแยกเสมอ

นกเล่าย้อนไปถึงการกลับไปถึงช่วงเวลาของการรีเซ็ตชีวิตครั้งสำคัญว่า “พื้นที่ไร่ทั้งหมดเราทำในระบบอินทรีย์ เรามองในเรื่องความยั่งยืนของชีวิตโดยรวม เราอยากกินอะไร เราก็ปลูก แล้วเราก็จะปลูกสมุนไพรด้วย

“การจะมาทำเกษตรอินทรีย์ในตอนนั้นมันยากอยู่แล้ว เพราะมันขัดกับวิถีทั้งหมดที่เขาทำกันมา โดยเฉพาะครอบครัวของพี่กำพลที่เป็นครอบครัวพืชไร่ ซึ่งเป็นพืชพาณิชย์ที่มันต้องใช้สารเคมีเป็นหลัก ตั้งแต่การจัดการดิน การจัดการวัชพืช การปลูก หรือแม้กระทั่งเก็บเกี่ยว เพราะฉะนั้นวิถีที่เราเลือกมันก็เลยขัดกับวิถีปฏิบัติของคนในพื้นที่รวมทั้งคนในครอบครัวด้วย

“ช่วง 3 ปีแรกสิ่งที่เราทำมันยังไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ เพราะเรายังต้องพัฒนาดิน ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ เรื่องในชีวิต แต่พอเข้าปีที่ 5 มันก็เริ่มลงตัว ดินก็เริ่มดีขึ้น เราก็คิดเรื่องการแปรรูปผลผลิตจากในไร่อย่างจริงจังมากขึ้น แต่ตอนนั้นมันก็มีโจทย์ใหม่เข้ามาอีกคือพี่กำพลเขาได้ข้อเสนอให้กลับไปทำงานในเมือง รายได้สูง สามารถส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนทางเลือกดี ๆ ได้”

กำพลเล่าต่อว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราต้องยืนหยัดจริง ๆ เพราะว่าหลักการและวิธีคิดของเรากับคนในครอบครัว คนรอบตัว รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่มันไม่ตรงกัน อย่างเราหว่านถั่วลงไป เขาก็บอกว่าต้องฉีดยานะ ถ้าไม่ฉีดยามันไม่ได้กินหรอก แต่เราเชื่อว่ามันทำได้

“ตอนย้ายมาอยู่ที่นี่ ช่วงแรก ๆ เราก็คิดว่ามันไม่ต้องใช้เงิน แต่มันก็ต้องใช้ เราก็เลยยังต้องรับงานจากองค์กรเก่าอยู่บ้าง แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ใช่ เราก็เลยเริ่มแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ที่เราทำ เช่น ทำสมุนไพรสระผม ผงถั่วเขียว เอาสิ่งที่เราทำใช้ในบ้านอยู่แล้วไปออกร้าน ก็คุ้มบ้าง ไม่คุ้มบ้าง

“ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าถ้าเราออกมาแล้วแต่ยังต้องกลับไปทำงานเดิมแล้วเราจะออกมาทำไม เราก็ตัดสินใจว่าเราจะไม่รับงานเสริมแล้ว เราจะอยู่ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไร่ของเราให้ได้ พอเราตัดสินใจแบบนั้น เราก็ได้ข่าวจากที่พี่ที่เคยทำงานด้วยกันว่าจะมีงานสมุนไพรแห่งชาติ เราก็เลยเอาของไปออกร้าน วันแรกขายหมดเกลี้ยงเลย ได้เงินมา 7,500 บาท ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าเออ… เราก็ทำได้นี่ แล้วหลังจากนั้นเราก็เลิกรับจ็อบ แล้วมาโฟกัสกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในไร่มากขึ้น

พอปีที่ห้า หัวหน้าเก่าเขาโทรมาชวนไปทำงานด้วย เขาถามว่าอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกไหม แต่พอเราคุยกับนก เราก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ที่เดิม จะทำเหมือนเดิม ซึ่งพอเราตัดสินใจแบบนั้น ยอดขายเรามันก็ดีขึ้นด้วย ชีวิตมันจะมีทางแยกเสมอ ถ้าเรายืนหยัดในสิ่งที่เราเลือก เขาก็จะเลือกเราเหมือนกัน”

ชีวิตที่เลือกแล้ว

“ถ้าเรากลับไปอยู่กรุงเทพ เราก็ต้องมีชีวิตแบบเดิม ถึงแม้ว่าลูกจะได้ไปโรงเรียนทางเลือกดี ๆ แต่ครอบครัวก็คงต้องแยกย้าย ไม่รู้ว่าออกไปทำงานแล้วจะกลับถึงบ้านเมื่อไร เราเลือกชีวิตแบบนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่เราเลือก ส่วนเรื่องการศึกษาของลูก ถ้าเราหาโรงเรียนไม่ได้ เราก็คิดเรื่องโฮมสคูล สอนเขาเองที่บ้านได้ เราไม่อยากให้เขาต้องเร่งเรียนตั้งแต่อยู่อนุบาล เลยคิดว่าชีวิตแบบนี้มันน่าจะตอบโจทย์แล้ว

“การที่เราได้มานั่งกินกาแฟตอนเช้าจนถึงสิบโมง ไม่ต้องรีบขับรถไปทำงานตั้งแต่ตี 4 – ตี 5 หรือตอนเย็นกว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ มันคือการเลือกชีวิตที่เหมือนจะเกษียณให้กับตัวเองตั้งแต่ตอนที่เราอายุ 30 ต้น ๆ

“เราคิดถึงชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานแล้ว เพราะครอบครัวเราเป็นครอบครัวข้าราชการ เรารู้สึกว่าชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือน มันไม่มีเวลาให้ลูก ไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันเพียงพอ เราอิจฉาชีวิตเกษตรกรที่เขาได้อยู่บ้าน ได้ดูแลลูก ได้กินข้าวด้วยกัน ใช้เวลาร่วมกัน เราฝันถึงชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ส่วนเรื่องการพึ่งตัวเอง ทุกครั้งที่เราไปลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้าน สิ่งที่เราสนใจมาก ๆ คือ อะไรที่ทำให้เขาอยู่ได้ ดูแลตัวเองได้”

เส้นชัยที่ยังต้องไปต่อ

“ชีวิตมันมีไดนามิกอยู่ตลอด มันไม่ใช่ว่าพอเราประสบความสำเร็จแล้ว มันจะแฮปปี้แบบนั้นไปตลอด แต่สิ่งที่มันดีสำหรับเราก็คือ พอเราเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ มันทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ มันไม่มีอะไรที่น่ากลัวอีกแล้ว เพราะมันจะมีคำตอบรอเราอยู่เสมอ

“สิ่งที่เราทำมันอาจไม่ใช่การวางแผนใหม่ แต่เป็นการทบทวนชีวิตผ่านความจริง แล้วหาจุดที่มันลงตัวไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่มันก็คือสิ่งที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นแล้ว

“ชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือชีวิตที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรก มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เราก็คิดว่า เราผ่านการลองผิดลองถูก และโอเคกับมันแล้ว”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ