“ถ้าไม่อยากย่ำอยู่กับที่ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง” คุยกับ ‘เจ๊แต๋นกล้วยแซ่บ’ แม่ค้าออนไลน์ที่จบ ป.4 แต่ไม่เคยด้อยค่าตัวเอง

เรียนจบแค่ ป.4 แต่ไม่เคยด้อยค่าตัวเอง

นี่คือคำพูดของ แต๋น-มัจฉา สุดเต้ อายุ 46 ปี เจ้าของแบรนด์ ‘เจ๊แต๋นกล้วยแซ่บ’ ที่เริ่มต้นต่อยอดธุรกิจแบบไร้ความรู้ มีแต่ทุนตั้งต้นจากกำไรที่ได้จากการขายกล้วยแขกธรรมดาๆ ในตลาดสด กับ “ใจ” ที่ต้องการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แม้ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แบรนด์ของเธอกลายมาเป็นธุรกิจที่ทั้งช่วยหล่อเลี้ยงครอบครัว ช่วยสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เป็นหนึ่งในของฝากชื่อดังจากอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นสินค้าขายดิบขายดีในโลกออนไลน์แม้อยู่ในยุคโควิด-19

ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าแม้ชีวิตจะไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ทุกคนสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ถ้าไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

เหตุเกิดจากเรื่องกล้วยๆ

“เราเกิดที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลฯ สภาพพื้นที่เป็นดินภูเขาไฟ ปลูกอะไรก็งอกงาม ชาวบ้านเลยนิยมปลูกผลไม้กันมาก โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าของที่นี่ที่เรียกว่าขึ้นชื่อเลย กล้วยแขกเป็นทั้งอาชีพแรกและอาชีพหลักของเรา เราขายอยู่ในตลาดสดเทศบาลตำบลน้ำยืนมากว่า 20 ปี

“จนวันหนึ่งเมื่อปี 2560 กล้วยเกิดล้นตลาด พ่อค้าคนกลางไม่รับซื้อกล้วยจากชาวบ้าน ชาวบ้านเลยเอามาขายให้เรา เราก็รับซื้อไว้เพราะราคาถูก แต่พอชาวบ้านคนอื่นเห็นก็ไปบอกกันปากต่อปาก จาก 1 คน เป็น 2 คน จากที่เคยมาขายให้เครือเดียวก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แบกมาวางถึงหน้าบ้าน จนสุดท้ายเราต้องรับซื้อไว้ทั้งหมด

“ทุกวันเราทยอยเอากล้วยที่รับซื้อไว้ไปทำกล้วยแขกขาย แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกมากที่ทำขายต่อวันไม่ทัน ผ่านไปหลายวันกล้วยที่ออกขายไม่ทันมันก็ค่อยๆ สุกงอมไปจนถึงเริ่มเน่า เราก็มานั่งคิดกันในครอบครัวว่าจะต้องหาทางจัดการมันด้วยวิธีอื่น เพราะถ้าเรายังทำวิธีเดิมๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงเหมือนเดิม ไม่มีทางดีไปกว่านี้ได้

วิธีคิดเปลี่ยน ‘กล้วย’ เปลี่ยน

“ถึงเราจะเรียนจบแค่ ป.4 มี ประสบการณ์ทำงานเป็นแค่แม่ค้าในตลาดสด โทรศัพท์มือถือก็ใช้แค่รับสาย-โทรออก เรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกตอนอายุ 40 ต้นๆ แต่ก็พอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง เราเลยไปค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการแปรรูปกล้วยให้อยู่ได้นานขึ้น จนได้สูตรการทำกล้วยสุกทอดมาลองทำตาม เป็นการเอากล้วยมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ แล้วเอาไปทอดในน้ำมันเดือดจนสุกกรอบ จากนั้นก็ลองบรรจุใส่ถุงแล้วเอาไปวางขายคู่กับกล้วยแขกในตลาดที่เราขายอยู่ประจำ ปรากฏว่าขายได้และขายดี หลังจากนั้นเราก็เลยทำขายมาเรื่อยๆ ปรับสูตรให้เป็นของเราเองและเรียกชื่อว่า ‘กล้วยแซ่บ’

“หลังจากนั้นเราเริ่มคิดอยากทำส่งขายตามร้านขายของชำในตำบล แต่พอลงสนามจริงก็พบว่ามีคนทำนำเรามาก่อนแล้วเยอะมาก ถึงจะรู้แบบนั้นแต่เราไม่เคยคิดที่จะล้มเลิกความตั้งใจเลย เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถทำให้แตกต่างจากคนอื่นได้ เราจึงเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องการแปรรูปกล้วยให้ลึกขึ้น ทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และไปตามงานอบรมต่างๆ ที่เขาเปิดสอนฟรี จนได้เรียนรู้วิธีการทำกล้วยอบไล่น้ำมันเพื่อสุขภาพ หลังจากนั้นเราเลยเปลี่ยนจากการทำกล้วยสุกทอดมาเป็นกล้วยอบไล่น้ำมัน โดยใช้เงินเก็บที่ได้จากการขายกล้วยแขกมาลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำแล้วตระเวนขายตามร้านขายของชำและร้านกาแฟตามความตั้งใจ ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘เจ๊แต๋นกล้วยแซ่บ’

กล้วยออนไลน์ การขายแบบใหม่ที่สอนให้เข้าใจการปรับตัว

“ต่อมาความฝันของเราเริ่มใหญ่ขึ้น เรามีความคิดว่าอยากจะลงทุนทำส่งขายตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เราไปอบรม หลังจากยื่นเรื่องขอ อย.ผ่าน เราก็ลงทุนผลิตล็อตแรก โดยส่งไปเทสต์กับ 5 ประเทศ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ตกลงจะรับกล้วยของเราไปขาย เราจึงลงทุนผลิตล็อตที่ 2 เพื่อทำส่ง แต่ในระหว่างนั้นก็เจอกับแจ็กพอตโควิด-19 สินค้าของเราถูกขอพักการนำเข้า ธุรกิจที่กำลังจะโกอินเตอร์พังทลายลงตรงหน้า ตอนนั้นเราเหมือนคนล้มทั้งยืน เพราะลงทุนทำไปแล้ว และกล้วยก็มีอายุในการกินของมัน ถ้าขายไม่ได้ก็เท่ากับที่ลงทุนไปสูญเปล่า

“ยอมรับว่าเราไม่เคยคิดถึงเรื่องการขายออนไลน์เลยเพราะเราไม่ถนัด ไม่มีความรู้ เรียกว่าความรู้ในการขายของออนไลน์เท่ากับศูนย์เลยก็ว่าได้ ช่วงแรกเรายังดันทุรังที่จะเอาสินค้าไปฝากขายตามร้านค้าในหมู่บ้าน แต่พอถึงจุดหนึ่งมันขายไม่ได้แล้ว คนไม่เดินมาซื้อ สินค้าของเราค้างสต็อก มีแต่รอวันหมดอายุ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เดินเข้าหาลูกค้า เราไม่รอดแน่นอน

“เรา เลย ตัดสินใจกระโดดเข้าไปเรียนรู้การขายของออนไลน์ เริ่มจากให้ลูกช่วยสมัครเฟซบุ๊กเพจให้ ตั้งชื่อเพจว่า ‘เจ๊แต๋นกล้วยแซ่บ กล้วยดินภูเขาไฟ อำเภอน้ำยืน’ หลังจากนั้นเราก็ทำทุกอย่างเองหมด ตั้งแต่ถ่ายรูป โพสต์ขายสินค้า ตอบแชตลูกค้า ช่วง 2-3 เดือนแรกยอมรับว่าทำยังไงก็ไม่มีคนติดตามเพจ โพสต์ขายเท่าไหร่ก็ไม่มีคนซื้อ ตอนนั้นเราบอกตัวเองว่าท้อไม่ได้

“ทุกวันเราจะตื่นแต่เช้ามานั่งดูคนที่เปิดสอนเรื่องการขายของออนไลน์ฟรีๆ ตามกลุ่มในเฟซบุ๊ก แล้วจดเคล็ดลับลงสมุด จากนั้นก็ตามไปดูแม่ค้าออนไลน์คนอื่นๆ ว่าเขาทำอะไรกัน ทำแบบไหน ขายยังไง แล้วเอาทุกอย่างมาปรับใช้กับตัวเอง นานกว่า 1 ปีที่เราพยายามประคับประคองธุรกิจกล้วยแปรรูปของเราบนโลกออนไลน์ ซึ่งระหว่างนั้นก็ปรับเปลี่ยนจากกล้วยอบไล่น้ำมันธรรมดามาเป็นกล้วยอบรสชาติต่างๆ เช่น รสนม รสน้ำผึ้ง ทำกล้วยตาก คอร์นเฟลกส์กล้วย นมสดกล้วย แป้งกล้วยทอด และอีกสารพัดกล้วยแปรรูป แม้จะเริ่มขายได้บ้างแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เราสังเกตเห็นว่า เศรษฐกิจไม่ได้ เอื้อ ให้คนซื้อขนมขบเคี้ยว สิ่งที่ลูกค้าสนใจคืออาหารที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ต่างหาก พอรู้ตัวเราก็รีบคิดหาทางออกทันที

จากสารพัดกล้วยสู่สถานีผลิตอาหารแปรรูปยุคโควิด-19

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การที่เราลองทำอะไรใหม่ๆ มันจะนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ และเรามองว่าทุกอุปสรรคที่เข้ามาเป็นบททดสอบที่ทำให้เรายิ่งก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น เราตัดสินใจควักเงินหมื่นกว่าบาทซึ่งเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เหลือในบ้านมาลงทุนทำอาหารกึ่งสำเร็จรูป ก็คือก๋วยจั๊บ เราสั่งเส้นมาจากโรงงาน แล้วมาทำเครื่องปรุงเอง จากนั้นก็บรรจุขาย

“ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วขายไม่ได้ก็ให้มันรู้ไปเลยว่าทำแบบนี้ไม่ใช่ทางออก เชื่อไหมว่าหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ก๋วยจั๊บทำให้เราลืมตาอ้าปากได้ มีเงินหมุนเวียนในบ้านอาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทจากการขายออนไลน์ และจากเพจที่คนติดตามไม่ถึง 10 คนในวันนั้น วันนี้มีคนติดตามกว่า 2 พัน คน เราเองก็มีการพัฒนาจากการโพสต์ขายธรรมดาเป็นการไลฟ์สด ทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ สายบ้าง ดึกบ้าง ทำให้มีลูกค้าจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีทั้งลูกค้าเก่าลูกค้าใหม่แวะเวียนมาซื้อไม่ขาดสาย ซึ่งเรารับบทเป็นทั้งแม่ครัว แม่ค้า และแอดมินเพจ

“นอกจากก๋วยจั๊บแล้ว เราก็มีการพัฒนาสินค้าของเราอยู่เรื่อยๆ จนตอนนี้มีก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มเข้ามา ขายดีจนเราต้องกระจายรายได้ไปสู่คนในชุมชน ดึงชาวบ้านมาช่วยผลิตสินค้าส่งขายทั้งที่ขายออนไลน์และที่มีโอกาสนำไปวางขายตามร้านของฝากในจังหวัดอุบลฯ จนบ้านเรากลายเป็นสถานีผลิตอาหารแปรรูปประจำตำบล มีคนมาศึกษาดูงาน สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวและคนในชุมชน

“ทุกวันนี้เรากล้าพูดได้แบบไม่อายเลยว่า ต่อให้เราไม่รู้หนังสือหรือเรียนมาน้อย แต่ถ้าเราไม่หยุดพยายาม ไม่หยุดหมั่นหาความรู้เพิ่มพูนใส่ตัว และเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดจากกรอบเดิมๆ ของตัวเอง เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่”

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ