‘เบอร์นาร์ด’ ตำนานแห่งธรรมศาสตร์ที่ไม่มีโทรศัพท์ แต่กลับมีแบรนด์ออนไลน์

“ลุงเบอร์นาร์ดไม่ใช้โทรศัพท์เหรอคะ”

“ไม่มี ไม่ใช้”

“แต่เดี๋ยวนี้ลุงขายถั่วออนไลน์แล้วนะ ไม่ใช้โทรศัพท์ได้ไง”

“ไม่เอา เคยมี มีแล้วคนก็โทรหา ขี้เกียจรับ”

“อ้าว … แล้วถ้ามีคนอยากติดต่อลุง จะติดต่อทางไหนได้”

“ก็มาที่นี่ไง”

‘ที่นี่’ ของลุงเบอร์นาร์ดก็คือตรงทางเข้าของประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งท่าพระจันทร์ ใกล้กับตึกคณะศิลปศาสตร์ พิกัดที่เด็กธรรมศาสตร์รู้กันดีว่า ถ้าเดินผ่านประตูนี้จะต้องเจอกับลุงเบอร์นาร์ดและโต๊ะขายถั่วประจำตัวของเขา

 

ถั่วเบอร์นาร์ดสูตรออริจินัล

เด็กธรรมศาสตร์น้อยคนที่จะไม่รู้จัก ‘เบอร์นาร์ด’ ชาวอินเดียจากเมืองโกรักคปรู์ รัฐอุตตรประเทศ ที่เดินทางมาเมืองไทยตั้งแต่อายุ 23 และตามรอยพ่อของเขาด้วยการทำงานขายถั่วตอนกลางวันและเป็นแขกยามตอนกลางคืนที่โรงพิมพ์แถวปิ่นเกล้า

ลุงเบอร์นาร์ดเริ่มขายถั่วที่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 จึงไม่แปลกที่เขาจะกลายเป็นหนึ่งใน ‘ตำนาน’ ของธรรมศาสตร์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาหรือว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัย แต่ใครๆ ก็รู้จักและจำได้ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ในวันรับปริญญาจะต้องมีบัณฑิตจำนวนมากไปขอถ่ายรูปคู่กับเขา

หากไม่มีกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษในมหาวิทยาลัย ‘ถั่วเบอร์นาร์ด’ ก็ขายได้เรื่อยๆ เพราะมีนักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ หรือคนแถวนั้นอุดหนุ่นอยู่ตลอด เรียกว่าอุดหนุนกันตั้งแต่ขายถุงละ 5 สตางค์จนกระทั่งราคาถุงละ 20 บาทเหมือนในปัจจุบัน

แต่ตั้งแต่สถานการณ์โควิด – 19 เริ่มรุนแรงขึ้นทำให้คนที่ผ่านไปมาแถวนั้นน้อยลง ภายในมหาวิทยาลัยเองก็เงียบเหงา เพราะบางคณะ บางสาขาที่เคยมีนักศึกษามาเรียนที่ท่าพระจันทร์ก็เปลี่ยนไปเรียนออนไลน์กัน ท่าพระจันทร์เองก็มีคนบางตา ร้านค้าแถวนั้นปิดไปก็มาก ทั้งที่ปิดชั่วคราวชั่วคราวและถาวร

แน่นอนว่า ถั่วเบอร์นาร์ดเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน

“แต่ก่อนลุงขายได้วันละเท่าไหร่คะ”

“ถ้ามีคน วันละพันก็ขายได้”

“แล้วตอนนี้ละคะ”

“บางวันก็ได้ร้อยสามสิบ ร้อยสี่สิบ”

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะเป็นห่วงลุงเบอร์นาร์ดที่รายได้จากการขายถั่วลดฮวบลงเกือบ 10 เท่า แต่ตอนนี้ลุงกลับมามีรายได้หลักพันต่อวันอีกครั้ง ถึงแม้ท่าพระจันทร์จะยังเงียบเหงาอยู่ หลังถั่วเบอร์นาร์ดย้ายจากใกล้ตึกคณะศิลปศาสตร์มาอยู่บนโลกออนไลน์

ถั่วเบอร์นาร์ดสูตรออนไลน์

“ช่วงวิกฤตโควิด ผมเองก็ได้รับผลกระทบ จากที่เคยมีงานจ้างผลิตโฆษณา จ้างเขียนบทบ้าง แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย ลองทำของขายก็ขายไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เลยนึกว่าจะทำธุรกิจอะไรแทนดี แล้วก็เลยนึกไปถึงถั่วอาบังก่อน เพราะมีความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้แขกที่ขายถั่วแบบนี้น้อยลงไปเยอะ ไม่ค่อยเห็นแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสในการกินถั่วแบบนี้ก็เลยน้อยลงไปด้วย จากนั้นถึงได้นึกถึงลุงเบอร์นาร์ด

“วันรุ่งขึ้นก็เลยไปหาลุงเขาถึงที่ธรรมศาสตร์เลย” ลอร์ด – ธวัฐไชย ฤดีอมรเกียรติ เล่าถึงที่มาของ ‘Bernard Beans’ ธุรกิจออนไลน์ที่ทำให้ใครๆ ก็กินถั่วเบอร์นาร์ดได้โดยไม่ต้องเดินทางมาถึงท่าพระจันทร์

พี่ลอร์ดไม่ใช่ศิษย์เก่ารั้วเหลือง – แดง แต่ก็เหมือนกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นอีกมากที่เคยได้ยินชื่อของลุงเบอร์นาร์ด แม้จะไม่เคยมาอุดหนุนถึงถิ่น วันที่เขาได้เจอกับลุงเบอร์นาร์ดเป็นครั้งแรกก็คือเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยไม่แน่ใจว่าลุงเบอร์นาร์ดจะ ‘เอาด้วย’ กับไอเดียที่เขาเตรียมมานำเสนอไหม

“ตอนไปถึง มหาวิทยาลัยเงียบมาก ผมก็ไม่แน่ใจว่าแกจะมาไหม พอเดินไปแล้วเห็นแกนั่งอยู่ เราก็ดีใจ เดินไปคุยด้วยและแนะนำตัว แล้วถึงค่อยอธิบายว่าเรามาเพื่ออะไร” พี่ลอร์ดเล่าถึงการเจอกันครั้งแรกระหว่างเขาและพาร์ตเนอร์ต่างวัย

“จะขายได้ยังไง ไม่มีมือถือ” เป็นรีแอ็กชันแรกของลุงเบอร์นาร์ดหลังจากฟังโปรเจกต์ของพี่ลอร์ด แต่เมื่อเข้าใจว่าพี่ลอร์ดจะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องช่องทางออนไลน์และการจัดส่ง โดยเรื่องของถั่วยังให้ลุงเบอร์นาร์ดเป็นคนดูแล ทั้งเรื่องการซื้อและการตัก โดยลุงยังคงเป็นคนตักถั่วเองทุกเม็ด ลุงเบอร์นาร์ดก็ตกลง

ทันทีที่เจ้าของตำนานไฟเขียว พี่ลอร์ดก็รีบจัดการเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำ ทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการขาย และการโปรโมต โลโก้ที่ใช้ก็เป็นรูปวาดของลุงเบอร์นาร์ดที่มีนักศึกษาเก่าทำให้ แล้วทำเป็นสติกเกอร์ติดไว้ที่โต๊ะขายถั่ว ซึ่งลุงเบอร์นาร์ดเล่าว่า คนที่ทำรูปนี้ให้เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ สติกเกอร์ที่ได้มาก็มีเหลือแค่ที่ติดอยู่ที่โต๊ะ เพราะที่เหลือแจกนักศึกษาไปหมดแล้ว

“เป็นโชคดีของผมที่ลุงตอบตกลง เห็นเชาเล่าว่าก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนมาถาม แต่เขาปฏิเสธไป ถึงได้เรามองว่าโชคดี ” พี่ลอร์ดเล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง

6 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่พี่ลอร์ดเริ่มประกาศรับออร์เดอร์ของถั่วเบอร์นาร์ดผ่านเพจ ‘Bernard Beans ถั่วเบอร์นาร์ดออนไลน์’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายของเขาที่จะมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

แต่เป็นเรื่องเกินคาดสำหรับตัวลุงเบอร์นาร์ดเอง เพราะถึงจะตอบตกลงทำแบรนด์ออนไลน์ แต่คนที่ขายของออฟไลน์มาตลอดชีวิตและห่างไกลจากโลกออนไลน์อย่างลุงเบอร์นาร์ดก็ยังกังขาว่า จะขายได้จริงไหม จะมีคนซื้อเยอะหรือเปล่า

“วันแรกผมบอกเขาว่า ลุงเอาถั่วมาเยอะๆ แต่เขายังมองภาพไม่ออก ปรากฏว่ากระบะแรกหมดเกลี้ยงเลย ไม่พอออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามา วันที่ 2 ก็ยังหมดกระบะอีกจนลุงเบอร์นาร์ดต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปซื้อมาเพิ่ม ที่เขาไปซื้อเองเพราะผมคุยกับเขาแต่แรกว่าจะไม่แตะต้องในเรื่องถั่วของเขาอยู่แล้ว แต่จะดูแลเรื่องอื่นๆ ให้ทั้งหมด ซึ่งช่วงแรกเราเลยส่งของได้ช้าหน่อย เพราะเป็นช่วงที่ลุงเบอร์นาร์ดเองก็ต้องปรับตัว แรกๆ เขาไม่มั่นใจว่าซื้อมาเยอะแล้วจะหมด

“แล้วเราไม่ได้อยากทำเป็นระบบโรงงาน เพราะเสน่ห์ของแบรนด์ก็คือการที่ลุงเบอร์นาร์ดยังเป็นคนตักถั่วเอง”

วันที่ มนุษย์ต่างวัย ได้เจอกับลุงเบอร์นาร์ด เมื่อคุยกันถึงแหล่งซื้อถั่วของลุง ลุงยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า สมัยที่ขายใหม่ๆ ไม่ได้เป็นการซื้อถั่วมาขายต่ออย่างนี้ แต่เคยทำเองเสียด้วยซ้ำ ลุงเล่าว่า “แต่ก่อนเคยทำเอง อร่อยเพราะทำใหม่ๆ แต่ทำแล้วควันมันเยอะ บ้านดำ เจ้าของบ้านเช่าเขาเลยไม่ให้ทำ”

เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะขึ้น ลุงเบอร์นาร์ดจึงค่อยๆ เข้าใจระบบการขายออนไลน์และเตรียมถั่วสำหรับแต่ละวันเพิ่มขึ้น พอตักถั่วใส่กระปุกเสร็จก็จะเอาใส่ลังเตรียมไว้ให้พี่ลอร์ดมารับไป โดยขั้นตอนนี้บางครั้งก็ได้ รปภ. ของมหาวิทยาลัยที่ยืนอยู่ใกล้ๆ มาช่วยยกใส่ลังให้ เพราะลุงเบอร์นาร์ดมีปัญหาเรื่องเข่า และเพราะทั้งคู่ต่างก็ทำงานอยู่ตรงนั้นกันมานานจนกลายเป็นเพื่อนกันไปแล้ว

อย่างที่บอกแต่แรกว่า ลุงเบอร์นาร์ดไม่มีโทรศัพท์ หากใครอยากเจอก็ต้องมาถึงที่ แต่ตอนนี้ภาพของลุงเบอร์นาร์ดที่นั่งขายถั่วอยู่ตรงนั้นได้หายไปแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 นี้

แต่ถึงภาพคุ้นตาจะหายไป แต่ถั่วเบอร์นาร์ดไม่ได้หายไปไหน

ถั่วเบอร์นาร์ดสูตรครอบครัว

วันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายที่ลุงเบอร์นาร์ดพร้อมกับโต๊ะคู่กายนั่งขายถั่วอยู่ตรงประตูธรรมศาสตร์ ฝั่งท่าพระจันทร์

“… เนื่องจากภาวะโควิดที่ มธ ปิดประตูทุกบาน ทำให้ไม่มีลูกค้าแม้แต่รายเดียว และการตักถั่วใส่กล่องขายที่ใช้พื้นที่มากขึ้น อาจดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่กับสัญญาเช่าพื้นที่ของคุณลุง และจากการที่เราได้ไปที่บ้านลุง เห็นถึงความสะดวกและความสะอาดในบ้านที่เราพอใจ (แม้จะเล็ก แต่สะอาดเรียบร้อยมาก เพราะหลานสาวดูแล)

ผมและคุณลุงจึงตัดสินใจว่า เราจะให้บ้านลุงเป็นสถานที่ตัวถั่วแห่งใหม่ เพราะลุงไม่ต้องเดินทาง แข้งขาเริ่มไม่ไหว มีลูกหลานมาช่วยด้วยคนละไม้คนละมือเพื่อรับกับยอดขายออนไลน์ และเป็นจุดส่งถั่วแบบ delivery ได้ตลอดเวลา โดยมอบหมายให้หลานสาวดูแลการรับออร์เดอร์ )

ลุงคงใจหายอยู่บ้าง …”

บางส่วนของข้อความที่พี่ลอร์ดโพสต์ในเพจ Bernard Beans ซึ่งไม่ใช่แค่ลุงที่ใจหาย แต่เด็กธรรมศาสตร์เองพอรู้ข่าวนี้ก็ใจหายเหมือนกัน

แต่เมื่อฟังที่ลุงเบอร์นาร์ดเล่าถึงชีวิตประจำวันแล้วก็เข้าใจว่า น่าจะเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะทุกเช้าหลังจากออกกะตอน 6 โมงเช้า ลุงเบอร์นาร์ดจะไปซื้อถั่วแล้วเอามาฝากไว้ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะกลับบ้านไปกินข้าวกับครอบครัวและพักผ่อนเล็กน้อย แล้วถึงจะมาที่ธรรมศาสตร์ประมาณ 10 – 11 โมง พอพี่ลอร์ดซึ่งขับรถจากบ้านที่ลำลูกกามารับถั่ว พร้อมเอาออร์เดอร์ของวันต่อไปและเอารายได้ของวันที่ผ่านมาให้ลุงเบอร์นาร์ด ลุงก็จะนั่งรถเมลสาย 203 กลับบ้านแถวปิ่นเกล้า

การย้ายฐานการบรรจุลงกระปุกไปอยู่ที่บ้านจึงน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ปลอดภัยสำหรับสุขภาพของลุงเบอร์นาร์ด ทั้งยังได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวมากขึ้น เพราะได้ลูกหลานมาช่วยด้วย โดยเฉพาะหลานสาวที่รับหน้าที่ดูแลออร์เดอร์ที่สั่งผ่าน Robinhood ขณะที่พี่ลอร์ดยังดูแลออร์เดอร์ที่สั่งผ่านเพจเหมือนเดิม

อุตสาหกรรมครอบครัวไซส์มินิของถั่วเบอร์นาร์ดทำให้กำลังการตักแต่ละวันเพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่าถั่วทุกเม็ดจะไม่ได้ตักด้วยตัวลุงเบอร์นาร์ดอีกต่อไปเพราะมีลูกหลานแบ่งเบา แต่นั่นหมายความว่าตัวลุงเบอร์นาร์ดเองก็ไม่เหนื่อยเท่าแต่ก่อน

“ทุกวันนี้ลุงเขาอายุ 76 แล้ว แต่ก็ยังทำงานเยอะอยู่ ผมก็คิดว่าเขาควรจะได้รับรางวัลแห่งความขยันของเขานะ ผมยังบอกเขาเลยว่า ขายแบบนี้เดี๋ยวอีกหน่อยลุงก็มีเงินเก็บแล้วนะ” พี่ลอร์ดพูดถึงความรู้สึกที่ตัวเขามีต่อตำนานแห่งธรรมศาสตร์ พร้อมเล่าต่อว่า “เขาไม่มีโทรศัพท์ก็จริง แต่ผมเปิดให้เขาดูตลอดว่าคนพูดถึงเขาว่ายังไงบ้าง”

เพราะฉะนั้นถึงจะไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ลุงเบอร์นาร์ดก็ได้รู้ว่ามีคน ‘ คิดถึง ’ ถั่วของเขาและตัวเขามากขนาดไหน

จากที่นั่งขายถั่ววันละหลายชั่วโมง รอให้คนมาซื้อ ตอนนี้กลายเป็นว่ามีคนรอซื้อ รอกินถั่วเบอร์นาร์ดถึงบ้าน อีกทั้งรายได้ก็ยังดีกว่าเดิม มนุษย์ต่างวัย จึงอดถามคำถามหนึ่งไม่ได้ ทั้งที่พอจะเดาได้ว่าคำตอบจะออกมาแบบไหน

“ขายถั่วออนไลน์แบบนี้แล้วมีความสุขไหมคะ”

กับคำถามอื่น ลุงเบอร์นาร์ดตอบด้วยคำพูด แต่กับคำถามนี้ เขาไม่ได้ตอบออกมาเป็นคำพูด

แต่ตอบด้วยรอยยิ้ม

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ