รู้จักคน Gen R กับเก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ในยุคที่อายุไม่สำคัญเท่า Mindset ในการทำงาน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนและรูปแบบการทำงานทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราเริ่มได้ยินคำศัพท์อย่าง New Normal, Work from Home, Work from Anywhere, Remote Work, Hybrid Work กันบ่อยขึ้น เช่นเดียวกับคน Gen R หรือ Generation R ซึ่งเป็นคำใช้เรียกกลุ่มคนที่พยายามปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนในช่วงล็อกดาวน์ให้ได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

คน Gen R คือใคร? ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน? ทำไมคนทุกวัยควรปรับตัวเป็นคน Gen R มาร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกันผ่านมุมมองของคุณเก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO & Founder บริษัท rgb72 และผู้จัดงาน Creative Talk Conference

Gen R กลุ่มคนที่ไม่ได้แบ่งแยกด้วยช่วงวัย และเกิดขึ้นท่ามกลางยุคโควิด-19

คุณเก่ง-สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ถือเป็นหนึ่งในบุคคลจากแวดวงธุรกิจที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับการเปลี่ยนผ่านไม่ว่าจะยุค Digital Transformation มาจนถึงยุคโควิด-19 เขาได้ให้นิยามคน Gen R ตามความคิดเห็นของตัวเองว่า

“คน Gen R เป็นกลุ่มคนที่เกิดขึ้นจากช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้หมายถึงคนใน Generation แบบเดิมที่เราเคยกำหนดกันว่าอายุเท่านี้คือ Gen นี้ อายุเท่านั้นคือ Gen นี้ แต่ Gen R หมายถึงคนทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิม ซึ่งพฤติกรรมที่ว่าก็อย่างเช่น มีความขยันมากขึ้น หางานทำมากกว่าหนึ่งงาน สามารถทำงานแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere มีความคิดแบบ Resilience คือการปรับตัวได้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมของคนในยุคที่เราเรียกว่า คน Gen R”

3 ใน 5 คุณสมบัติสำคัญที่ควรสร้างเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นคน Gen R ที่สมบูรณ์

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนกรอบความคิดและพฤติกรรมการทำงานของพนักงานในองค์กรภายหลังการล็อกดาวน์โดยคุณ Shaakun Khanna หัวหน้าฝ่าย HCM Applications ของ Oracle สรุปออกมาเป็นคุณสมบัติของคน Gen R ได้ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1. ขยันพร้อมทำงานหนักกว่าเดิม

2. กระตือรือร้นที่จะ Upskill และ Reskill ด้วยตัวเองอยู่เสมอ

3. ทำงานคนเดียวจากที่ไหนก็ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. Resilience มีความยืดหยุ่นและปรับตัวง่าย ล้มแล้วลุกไว

5. หางานเสริม ไม่ทำแค่อาชีพเดียว

ซึ่งในมุมมองของคุณเก่งคิดว่าทุกข้อมีความสำคัญหมด แต่คุณสมบัติสำคัญ 3 อย่างแรกที่เขาคิดว่าทุกคนควรรีบสร้างหากต้องการเป็นคน Gen R คือ Resilience, Upskill และความขยัน ตามลำดับ

“ผมว่าจริงๆ มันสำคัญหมดนะ แต่ที่สำคัญสุดน่าจะเป็น Resilience คือความคิดในการปรับตัว ซึ่งต้องเริ่มต้นจาก Mindset ที่เราคิดข้างในหัวก่อน ถ้าเรามองว่าโลกปรับเปลี่ยนได้ ตัวเราเองปรับเปลี่ยนได้ เราก็จะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดหรือเศรษฐกิจกำลังจะแย่ เราจะรู้ว่าต้องปรับตัวยังไง”

“ที่สำคัญรองลงมาคือการ Upskill เพราะคนเราต่อให้อยากทำงานที่สองหรืออยากจะขยันทำอะไรเพิ่มก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีความสามารถ ต่อให้ขยันแค่ไหนหรือไปทำงานที่สองก็อาจจะไม่สำเร็จ เพราะขาดทักษะที่จำเป็น”

“อย่างที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือเรื่องความขยัน เพราะความขยันเป็นคุณสมบัติที่จะนำมาซึ่งงานที่สอง งานที่สาม หรืออาจจะไปถึงงานที่ห้าได้หมดเลย เมื่อคนเรามีความขยันก็จะตามมาด้วยวินัยในการทำงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงคิดว่าทั้ง 3 อย่างนี้เป็นคุณสมบัติของคน Gen R ที่สำคัญที่สุด”

อายุมากแล้ว สายเกินไปไหมที่จะ Upskill ตามเด็กรุ่นใหม่ให้ทัน

“มีโอกาสตามทันแน่นอนครับ ในยุคนี้ต้องบอกว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ อายุไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้มองว่าคนนี้เกิดช้าหรือเกิดเร็ว แต่เรามองที่ความคิดว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือเปล่า จะเห็นได้ว่ามีผู้ใหญ่หลายคนที่อายุ 50-60 ไปแล้ว แต่เรารู้สึกว่าเขายังวัยรุ่นอยู่เลย ออกกำลังกายทุกวัน มีความคิดความอ่าน รู้เรื่องราวต่างๆ ทันโลกมากเลย”

“ดังนั้นคำว่าคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้วัดกันด้วยตัวเลข คนที่อายุเยอะแล้วและรู้สึกว่าตามเด็กไม่ทัน จริงๆ ก็ยังตามทันอยู่ เพราะทุกวันนี้สื่อหรือแหล่งที่มาของความรู้มีมากกว่าเดิม แต่ก่อนเราอาจจะเรียนรู้จากการอ่านหนังสือเป็นหลักใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้มีทั้ง Youtube, Tiktok ให้เราเลือกดูได้หมดเลย สามารถเรียนรู้ได้เหมือนๆ กับเด็กรุ่นใหม่เลย”

Skill แบบไหนที่ผู้ใหญ่ควรพัฒนาเพื่อเป็นคน Gen R ที่ตามทันทั้งเด็กรุ่นใหม่และการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

“ผมคิดว่าอันดับแรกน่าจะเป็น Skill ของการ Empathy คือการเอาความคิดของเราออกจากตัวเองก่อนที่จะเอาไปใส่ในตัวคนอื่น เพื่อทำความเข้าใจว่าคนอื่นรู้สึกยังไง คนอื่นคิดเห็นยังไง เป็นเหมือนการปลดล็อกตัวเองก่อน เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือคนที่มีอายุมากๆ แล้วตามโลกไม่ทัน มักจะยึดติดกับความรู้สึกที่ว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อน ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเก่งกว่าเขาสิ ตรงนี้แหละมันเป็นการกดดันตัวเองด้วยว่า เอ๊ะ! ทำไมเราอายุขนาดนี้แล้วยังเก่งไม่เท่าเด็กๆ รุ่นใหม่”

“ดังนั้นการ Empathy จึงเป็นการปลดล็อกเพื่อให้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เป็น Skill ที่ผมคิดว่าสำคัญสุดสำหรับผู้ใหญ่ที่อยากตามทันทั้งเด็กรุ่นใหม่และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

จะคน Gen ไหนก็มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาในยุค Digital Transformation

“ผมคิดว่าทุก Gen มีความเสี่ยงหมด เพียงแต่ว่าความเสี่ยงและปัญหาของคนในแต่ละ Gen จะแตกต่างกันไป อย่างเราไล่ตั้งแต่ Baby Boomer กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในเรื่อง Digital อย่างการใช้โทรศัพท์มือถือหรือ iPad รู้สึกกดยาก ใช้ยาก ไม่คล่องมือเหมือนเด็กๆ เลยนำมาซึ่งปัญหาการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ยากลำบาก แต่ถ้าเป็นคน Gen X กับ Gen Y อาจจะได้เปรียบนิดนึง เพราะว่าเป็น Gen ที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างช่วง Digital กับ Analog คนกลุ่มนี้เลยรู้จักและคุ้นเคยกับเรื่อง Digital ในระดับที่พอใช้ได้อยู่”

“ส่วนอีกกลุ่มนึงที่เราอาจจะมองว่าเขาไม่มีปัญหาเรื่อง Digital Transformation คือกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ อย่าง Gen Z หรือ Gen Alpha ผมว่ากลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่อง Digital แน่นอน เกิดมาใช้โทรศัพท์มือถือไว เก่งเร็วกว่า Gen X และ Y แน่นอน แต่ปัญหาคือเขาตาม Digital ทันแต่เขาตามตัวเองไม่ทัน เนื่องจากสื่อเกิดขึ้นเยอะเต็มไปหมด มีเรื่องราวให้เขาเรียนรู้เยอะแล้วก็เร็วมาก ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น มีการเปรียบเทียบในกลุ่มเพื่อนๆ เยอะขึ้น แม้แต่การจะทำธุรกิจก็ต้องเน้นความเร็วแบบ Startup มันทำให้ทุกอย่างเร็วไปหมด”

“พอเราพยายามที่จะวิ่งไล่ตามสังคมหรือความคิดของคนอื่นๆ กลายเป็นว่าเราไม่มีเวลาได้หยุดเพื่อที่จะมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้วฉันเก่งเรื่องอะไร ฉันถนัดเรื่องอะไร ฉันสนใจเรื่องอะไร สังเกตไหมว่าบางทีเรามักจะคิดอะไรออกเวลาอาบน้ำ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลาเราอาบน้ำเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว ไม่ได้เปิดรับสื่ออะไรเลย ทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองซึ่งคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยมีโอกาสแบบนั้น ผมเลยคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นปัญหาที่คน Gen Z และ Gen Alpha มีความเสี่ยงที่จะเจอ”

ข่าวปลดพนักงาน หนึ่งในสัญญาณเตือนให้เริ่มปรับตัวเป็นคน Gen R

ช่วงนี้เราอาจจะเริ่มเห็นข่าวบริษัทหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศประกาศปลดพนักงานกันบ่อยขึ้น ซึ่งคุณเก่งมองว่าข่าวร้ายเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณเตือนที่ช่วยกระตุ้นให้คน Gen ต่างๆ อยากปรับตัวเป็นคน Gen R ได้มากขึ้น

“ผมคิดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นให้คนตื่นตัวได้เยอะเลยนะ อย่างข่าวปลดพนักงานช่วงนี้ก็อาจจะมีสาเหตุจากเรื่องเศรษฐกิจใช่ไหม หรือเมื่อปีที่แล้วก็จะมีเรื่องโรคระบาด ใครจะไปรู้ว่าในปีหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก ตอนนี้โลกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนสุดๆ เลยนะ ดังนั้นผมคิดว่าพอหลายๆ คนเห็นข่าวพวกนี้เขาจะเริ่มรู้สึกตระหนักแล้วว่า เอ๊ะ! งานที่ฉันทำอยู่จะเป็นยังไงต่อไปนะ ยังมั่นคงอยู่หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นเจ้าของกิจการเองก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่า เรายังโอเคไหม ต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวอีกมากน้อยแค่ไหน มันเริ่มทำให้คนเห็นภาพชัดขึ้น”

“แล้วคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้จะหาคนที่ทำงานเดียวเลยผมว่ายากนะ อย่างน้อยๆ เขาต้องมีไปลงทุนทำโน่นนี่ หรือหางานที่เป็น Second Job ซึ่งผมคิดว่า Second Job ไม่เพียงแต่จะสร้างความมั่นคงทางการเงินจากการที่เรามีรายได้เพิ่มขึ้น ยังมีข้อดีคือช่วยให้เราได้ค้นหาตัวเองด้วย เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่เราเลือกทำจากความชอบ พอทำไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะทำให้เราค้นเจอว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันทำแล้วมีความสุขที่สุด สุดท้ายงาน Second Job หรือ Third Job ก็อาจกลายมาเป็น First Job ของเราในอนาคตก็ได้”

ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน และการเป็นคน Gen R อาจได้อะไรมากกว่าที่คิด

สำหรับบางคนที่อ่านมาถึงตรงนี้แต่ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องปรับตัวเป็นคน Gen R อาจเป็นเพราะมีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาบริษัทปิดกิจการหรือปลดพนักงานอย่างที่เป็นข่าว ซึ่งคุณเก่งได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจในอีกแง่มุมหนึ่งให้เราได้ลองคิดทบทวนกันอีกครั้งว่า

“ผมคิดว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้เราอาจจะมีหน้าที่การงานมั่นคงแต่ใครจะไปรู้ว่าในวันหนึ่งค่าใช้จ่ายของเราอาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่เกิดจากปัจจัยภายในของตัวเราเองก็ได้ อย่างที่สอง ผมมองว่าการเป็นคน Gen R ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพยายามปรับตัวเพื่อที่จะรับมือกับอุปสรรคอย่างเดียวเสมอไป บางทีมันอาจจะเป็นการที่เราได้ลองค้นหาอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจในชีวิตก็ได้ แม้ว่าในตอนนี้การทำงานเดิมไปเรื่อยๆ อาจจะโอเคดีอยู่ แต่ใครจะรู้ว่าเราจะทำงานจำเจแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน ในขณะที่การได้ลองทำงานที่สองที่สามอาจทำให้เราได้ค้นพบงานอื่นๆ ที่ทำให้เรามีความสุขและสนุกกับชีวิตมากกว่าเดิมก็ได้”

CTC 2022 งานสัมมนาที่จะช่วยติดอาวุธและสร้างคน Gen R ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ในฐานะผู้จัดงาน Creative Talk จนเป็นที่รู้จักของผู้คนในแวดวงธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 10 ปี คุณเก่งเชื่อมั่นว่า งาน CTC 2022 ในปีนี้จะช่วยติดอาวุธและสร้างคน Gen R ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

“สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือโดยทั่วไปมนุษย์เราอาจจะมีความชำนาญอยู่ประมาณ 5-10 เรื่องไม่เกินนี้ แต่งาน Creative Talk ปีนี้จะเป็นเหมือนประตูที่เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50 กว่าเรื่อง เพราะว่าคุณจะได้เจอกิจกรรมมากกว่า 61 Session และ Speaker อีก 109 คน ครอบคลุมทั้งด้าน Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneur และสุดท้ายคือเรื่องของ People ว่าเราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยังไง หรือแม้แต่เรื่องความแตกต่างระหว่างวัย เราอยากให้การมางานนี้ไม่ใช่แค่การมาอัปเกรดความรู้เพื่อเอาไปใช้ทำงานหรือทำธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพัฒนาในด้านการใช้ชีวิตด้วย”

Credits

Authors

  • รวีวรรณ ธีรธนาพงษ์

    Authorมนุษย์ INFJ อดีตเป็นเป็ด ปัจจุบันอยากเป็นนกอินทรี อนาคตอยากเป็นยูนิคอร์น ชอบเรียนรู้และมองหาโอกาสที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ไม่สิ้นสุด

  • ศุภสัณห์ เศรษฐภัทรชัย

    Photographerหนุ่มบางกอก หาเลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพ graphic ชอบถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก มีเพจเที่ยวเอาใจเป็นที่ละเลงความสุขในวันหมดไฟ

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ