‘คุณลุงขนมปัง’ คลาสเรียนละลายความเหงา เพื่อการผูกมิตรครั้งใหม่สำหรับคุณลุงชาวญี่ปุ่น

คุณคิดว่าชีวิตจะเหงาสักแค่ไหน ถ้าจากที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องออกไปทำงานอย่างขยันขันแข็ง เมื่อถึงวัยเกษียณกลับต้องอยู่บ้านเฉยๆ มีเวลาว่างเหลือเฟือแต่ครั้นจะลุกขึ้นมาทำอะไร ร่างกายก็ไม่คล่องแคล่วแข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ลูกสาวลูกชายที่สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยม ก็เอาแต่เลื่อนนัดเพราะหน้าที่การงานที่ยุ่งวุ่นวาย

ความรู้สึกโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา เหมือนโลกทั้งใบกำลังหมุนต่อไปโดยไม่มีเราอยู่ ไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพียงแค่กับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันกำลังเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากการศึกษาของประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นพบว่าเมื่อเข้าสู่วัยชรา ความเปลี่ยวเหงาจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน อันจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความยืนยาวในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของพวกเราได้เลยทีเดียว  

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้กับ “ความเหงา” จึงไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่อสุขภาพจิตใจที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาสุขภาพกายของเราไปพร้อมๆ กันด้วย

“ห้องเรียนขนมปัง” จึง เป็นหนึ่งในเวิร์คช็อปจากโครงการ ‘Life is Creative’ จาก Design and Creative Center Kobe แห่งเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชายสูงอายุต่อสู้กับความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเหล่านี้

โครงการ ‘Life is Creative’ ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ใช้พลังของตัวเองไปกับการทำอะไรใหม่ๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมของญี่ปุ่นในอนาคต เพราะอย่างที่รู้กัน ว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นแนวหน้าของโลกในการรับมือกับสังคมสูงวัย

อัตราการเกิดของประชากรญี่ปุ่นเริ่มลดลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 และนับแต่ปี 2554 เป็นต้นมาประชากรของประเทศญี่ปุ่นก็ลดลงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ประชากรจำนวนมากกลายเป็นผู้สูงอายุ หรือ อยู่ในวัยกลางคน ในปี 2563 จำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นโดยคิดเป็น 28.7 % ของประชากรญี่ปุ่น และมีการพยากรณ์ว่าในปี 2579 ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มมากขึ้นคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ โครงการ Life is Creative จึงมองว่า อนาคตของสังคมญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในมือของคนหนุ่มสาวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชากรสูงอายุเช่นกัน เพราะประชากรสูงอายุกำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อนาคตของสังคมจึงควรเป็นสิ่งที่พวกเขาได้มีส่วนร่วมออกแบบ ร่วมสนับสนุน เพื่อให้เกิดเป็นสังคมที่ทุกคนสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุข และ “ห้องเรียนขนมปัง” คือคลาสเรียนทำขนมปังที่จะช่วยให้ชายสูงอายุได้ผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้ลองทำอะไรใหม่ๆ และได้ ‘แจ้งเกิด’ ในสังคมของพวกเขาอีกครั้งในฐานะ ‘คุณลุงขนมปัง’

ทำไมต้องเป็น ‘คุณลุง’

หนึ่งในข้อกำหนดของผู้ที่จะเข้าร่วมการอบรมจากห้องเรียนขนมปังคือ “ต้องเป็นชายอายุ 50 ปีขึ้นไป”

ที่ต้องเป็นชายสูงอายุเหล่านี้ ก็เพราะห้องเรียนขนมปังถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา ‘ความโดดเดี่ยว’ ในหมู่ ‘ชายสูงอายุ’ โดยเฉพาะ

ในประเทศญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังปี 2558 จำนวน ‘ชายสูงอายุ’ ที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนแทบเทียบเคียงกับจำนวนหญิงสูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวได้เลย ดังนั้น

สิ่งที่น่าเป็นกังวลยิ่งกว่าจากความเปลี่ยนแปลงนี้คือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งในญี่ปุ่นกำลัง ‘เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว’

การ ‘เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว’ หรือ ‘โคโดคุชิ’ ( 孤独死 ) ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งเสียชีวิตไปด้วยสาเหตุทางธรรมชาติในที่พักของตัวเอง โดยไม่มีใครรับรู้ถึงการเสียชีวิตของพวกเขา ซึ่งกว่าร่างของผู้วายชนม์เหล่านี้จะถูกพบ เวลาก็มักจะล่วงเลยไปมากแล้ว ซึ่ง

ในประเทศญี่ปุ่น การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2543 และผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวส่วนมากก็ไม่พ้น ‘ผู้สูงอายุ’ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องนี้คือ ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวส่วนมากเป็นผู้ชาย   จึงเกิดคำถามว่า

ทำไมผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวส่วนมากถึงเป็นผู้ชาย ทั้งที่มีผู้หญิงอยู่ตัวคนเดียวมากกว่า ?

ความโดดเดี่ยวของผู้ชายญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่หนักหน่วง ช่วงหลายปีที่ผ่านมา “การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก” หรือ “คาโรชิ” ( 過労死 ) น่าจะเป็นคำที่หลายๆ คนเคยได้ยินเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการทำงานอย่างถวายหัวนี้ ได้นำมาสู่ปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดที่ลดลง (ชั่วโมงการทำงานไม่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว) หรือ การเสียชีวิตจากการทำงานหนักที่เพิ่มมากขึ้น แต่อีกปัญหาที่เริ่มผุดขึ้นมาสำหรับคนที่เคยทำงานหนักเหล่านั้น คือ “ความโดดเดี่ยว” 

เนื่องจากชายชาวญี่ปุ่นส่วนมากมีรับหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน พวกเขาจึงต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำงาน และนั่นส่งผลถึงแนวโน้มในการเข้าสังคมของพวกเขาด้วย

เพราะผู้ชายต้องทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับงานในบริษัท ผู้ชายจึงมีแนวโน้มจะผูกสัมพันธ์กับผู้คนผ่านหน้าที่การงานมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผ่านงานเลี้ยงกินดื่มของบริษัทก็ดี หรือการตีกอล์ฟกับลูกค้าของบริษัทก็ดี (ใครที่เคยดูการ์ตูนชินจัง ก็อาจเคยเห็นตอนที่คุณพ่อฮิโรชิต้องผิดสัญญากับชินจัง ออกไปตีกอล์ฟกับลูกค้าของบริษัทบ้าง) ขณะที่ผู้หญิงซึ่งต้องอยู่บ้านดูแลลูก จะมีโอกาสผูกสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน หรือการพบปะบรรดาแม่ๆ คนอื่นในสมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนลูก และ

เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ชายชาวญี่ปุ่นนอกจากจะต้องสูญเสียช่องทางในการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เคยมีแล้ว การจะมาเริ่มต้นผูกสัมพันธ์กับคนในชุมชนก็ถือเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุนี้ ผู้ชายญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับ “ความโดดเดี่ยว” ในวัยเกษียณมากกว่าผู้หญิง

นอกจากนี้ กรอบทางเพศที่เข้มแข็งของสังคมญี่ปุ่น ก็กำหนดให้ผู้ชายต้องเป็นเพศที่ “พึ่งพาได้” มากกว่าจะไปพึ่งพาคนอื่น เมื่อคนกลุ่มนี้แก่ตัวลงจึงมีแนวโน้มที่จะไม่อยากให้ใครมาเห็นสภาพที่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นของตัวเอง จนนำไปสู่แนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับ “ความโดดเดี่ยว” ในที่สุด

“ห้องเรียนขนมปัง” ที่ให้พวกเราได้มาพบปะและช่วยเหลือกันและกัน

Design and Creative Center Kobe ได้จัดห้องเรียนขนมปังนี้ขึ้นครั้งแรกในปี 2558 และยังให้การอบรมเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้บรรดาคุณลุงที่อยู่แต่ในบ้านทั้งวัน ได้มีโอกาสพบเจอคนใหม่ๆ และทำกิจกรรมใหม่ๆ นั่นก็คือการเรียนอบขนมปังนั่นเอง

ที่ต้องเป็นห้องเรียน “ขนมปัง” นั่นเป็นเพราะเมืองโกเบได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งขนมปัง” ของประเทศญี่ปุ่น

ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 โกเบเป็นหนึ่งในเมืองท่าที่เรือสินค้าจากชาติตะวันตกสามารถเข้ามาค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะเรือสินค้าจากยุโรป ทำให้เมืองโกเบได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกก่อนใครๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมก็ดี ดนตรีก็ดี หรือว่าอาหารก็ดี “วัฒนธรรมขนมปัง” จึงเป็นที่เฟื่องฟูขึ้นมาในเมืองโกเบ และทำให้เมืองโกเบมีร้านขนมปังและเบเกอรี่มากมาย นอกจากนี้ สถิติในปี 2018-2020 ของกระทรวงกิจการภายในประเทศญี่ปุ่นยังชี้ให้เห็นว่า เมืองโกเบเป็นเมืองที่ประชากรใช้เงินโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนไปกับขนมปังเยอะที่สุดอีกด้วย! ขนมปังจึงเรียกได้ว่าเป็นทั้งของอร่อย ของขึ้นชื่อ และของคุ้นเคยสำหรับชาวเมืองโกเบเลยทีเดียว

เชฟที่มาเป็นวิทยากรให้กับบรรดาคุณลุงแห่งห้องเรียนขนมปัง ก็ต้องเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงเท่านั้น จะให้เสียชื่อเมืองแห่งขนมปังนี้ไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเชฟนิชิคาวะ ทาคาอากิ จากร้าน ‘Ça Marche’ ซึ่งติดอันดับ ‘ร้อยร้านขนมปังแห่งภูมิภาคคันไซ’ จากเว็บไซต์ tabelog เว็บไซต์แนะนำร้านอาหารชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น หรือเชฟสึโบอิ โก จากร้าน ‘Köln’ ซึ่งมีถึงสี่สาขาในเมืองโกเบ

การอบรมในแต่ละครั้ง จะแบ่งออกเป็นหกคาบเรียน เริ่มจากคาบปฐมนิเทศ ที่ให้สมาชิกแต่ละคนได้มาทำความรู้จักกัน จากนั้น บรรดา คุณลุง จะได้รับการอบรมวิธีทำขนมปังจากเชฟวิทยากรที่เป็นแนวหน้าของวงการขนมเมืองโกเบ หลังได้รับการอบขนมปังจากเหล่าวิทยากรที่มีชื่อเสียงแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนยังจะได้ลองทำขนมปังด้วยตนเองร่วมกับเพื่อนๆ โดยไม่มีวิทยากรคอยประกบ ต้องฝึกหัดกันเอง แต่จะมีการจัดคาบเรียนเพื่อรับคำแนะนำจากวิทยากรเป็นรอบๆ ไป จนในคาบสุดท้าย ขนมปังที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของคุณลุงทั้งหลายก็จะถูกนำมาขายในร้านค้าของโครงการ หรือร้านค้าอื่นๆ ในชุมชน มาถึงตรงนี้ บรรดาผู้เข้าร่วมก็จะถือว่าสำเร็จหลักสูตรของ “ห้องเรียนขนมปัง” และได้เป็น “คุณลุงขนมปัง” ในที่สุด

แต่ว่ากิจกรรมของ “คุณลุงขนมปัง” ก็ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ หลังจบการอบรมแล้ว จะยังมีการจัดกิจกรรมเป็นครั้งคราว ไม่ว่าจะเป็น ‘งานเลี้ยงรุ่น’ ที่บรรดาศิษย์เก่าของห้องเรียนขนมปังจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อทดลองเมนูใหม่ๆ หรือการอบขนมร่วมกับเด็กๆ เพื่อให้คุณลุงขนมปังยังคงมีบทบาทในสังคมที่พวกเขาอยู่ต่อไป

“ความโดดเดี่ยว” ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว

หลักการของ “ห้องเรียนขนมปัง” ดูเรียบง่าย น่ารัก และน่าอร่อย แต่ว่าภายใต้หลักการที่น่ารักและเรียบง่าย ก็แฝงไว้ด้วยการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและรอบด้าน

ปัญหาที่ห้องเรียนขนมปังต้องการแก้ไข คือความโดดเดี่ยวของชายสูงวัยที่สูญเสียพื้นที่ในการผูกมิตรของพวกเขาไป ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ห้องเรียนขนมปังได้ช่วยสร้างพื้นที่ให้คุณลุงวัยเกษียณได้มีโอกาสกลับมาพบปะ พูดคุย ทำงานร่วมกันกับคนที่มีความสนใจร่วมกันและอยู่ในวัยเดียวกัน ที่สำคัญ ยังทำให้พวกเขาได้ ‘แจ้งเกิด’ ในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่อีกครั้ง ผ่านการออกร้านและกิจกรรมชุมชนในฐานะ “คุณลุงขนมปัง” ดังนั้น

ห้องเรียนขนมปังจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมฆ่าเวลาให้คุณลุงคลายเหงาเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เชื่อมสัมพันธ์กับคนในชุมชน ผ่านการ “ลงมือ” “ลงแรง” “ทำอะไรสักอย่างเพื่อใครสักคน” อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวของพวกเขาได้อย่างตรงจุดและรอบด้าน

นอกจากนี้ กิจกรรม “ห้องเรียนขนมปัง” ที่การทำงาน “ร่วมกัน” เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโครงการยังถือเป็นการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการ ‘ขอความช่วยเหลือ’ หรือ ‘พึ่งพาผู้อื่น’ ที่ชายสูงอายุบางส่วนมักประสบปัญหา จึงกล่าวได้ว่าห้องเรียนขนมปังสามารถนำเสนอทางออกต่ออุปสรรคที่ชายสูงวัยมักประสบได้อย่างเรียบง่าย รอบด้าน น่ารักและน่าอร่อยไปในเวลาเดียวกัน

ขอบคุณภาพจาก  KIITO 

www.facebook.com/DESIGNANDCREATIVECENTERKOBE

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ