รู้จักสังคมสูงวัยแดนอาทิตย์อุทัย ผ่านสายตานักบริบาลไทยในญี่ปุ่น

เรื่องราวของไคโงะหรือนักบริบาลหญิงชาวไทย ผู้มีหน้าที่คอยดูแลผู้สูงวัยในญี่ปุ่น เธอจะมาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีตัวเลขค่าเฉลี่ยผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทยในวันที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว

นับจากวันแรกที่เหยียบแผ่นดินญี่ปุ่น ชลลดา ฮิราโนะ ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนอาทิตย์อุทัยมาได้ 21 ปีแล้ว

แรกเริ่มเดิมทีหญิงวัย 53 ปี ไม่ได้มีความคิดจะอยู่ที่นี่ยาวนาน เธอคิดแค่ว่าจะมาเรียนภาษาจนจบคอร์สแล้วก็กลับบ้านเกิด แต่ชะตาชีวิตไม่มีใครกำหนดได้ แม้แต่เจ้าของชีวิตอย่างเธอเอง

ด้วยความที่ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาตั้งแต่เกิด รวมทั้งเมื่อมาทำงานเป็นเลขานุการให้กับเจ้านายชาวญี่ปุ่น ฐานะของเธอก็ไม่ได้ร่ำรวยนัก ชลลดามีเงินติดตัวมาญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย ทำให้ต้องหางานทำ เธอเคยทำงานเป็นคนล้างจานในสนามบินนาริตะ เคยเป็นคนลวกบะหมี่ในร้านอาหาร ครั้นเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นก็ทำงานเป็นไกด์ท้องถิ่น ผ่านงานหลายอาชีพ ก่อนจะมาลงตัวที่การเป็นนักบริบาลดูแลผู้สูงอายุในเนิร์สซิ่ง โฮม หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ไคโงะ’ 

สำหรับชลลดาไคโงะเป็นงานที่หนัก ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องอดทนอดกลั้นในการรองรับอารมณ์ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ที่พร้อมจะดูถูกดูแคลนและไม่ต้อนรับคนต่างชาติอย่างเธอ มิพักต้องพูดถึงการคอยดูแลรับใช้ เช็ดอึเช็ดฉี่ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างตามแต่ที่จะต้องทำ แม้จะไม่ได้เป็นงานที่สวยงามโสภานัก กระนั้นนี่ก็เป็นงานที่มั่นคง และเป็นการงานแห่งบุญ เป็นงานที่เธอได้เห็นแก่นแท้และสัจธรรมของชีวิต ได้เห็นถึงสังคม เห็นถึงจิตใจของคนญี่ปุ่นในการปฏิบัติต่อผู้สูงวัยในประเทศ

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุ (นับตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) มากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนถึงเกือบ 36 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2513 หรือเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้ว

การสัมผัสคนชราในประเทศที่อยู่ในสังคมผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน ทำให้ชลลดาได้รับรู้และสัมผัสถึงเรื่องราวต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยในญี่ปุ่นทั้งในแง่ที่เป็นตัวบุคคลและในด้านที่เป็นเชิงสังคม

ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การได้ฟังประสบการณ์จากการทำงานของเธอจึงน่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

นักบริบาลไทยในญี่ปุ่นอย่างชลลดาคิดเห็นอย่างไร มีมุมมองแบบไหน กระทั่งคิดว่าไทยเราควรจะเตรียมรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างไร

ขยับเข้ามาใกล้ๆ เธอกำลังจะเล่าให้เราฟัง

อาชีพไคโงะคืออะไร มีหน้าที่อะไร

อาชีพไคโงะก็คือนักบริบาลในประเทศญี่ปุ่น ถ้าจะเอาแบบเข้าใจง่ายๆ เห็นภาพชัดๆ เลย หน้าที่ของเราก็คือทำหน้าที่แทนอวัยวะ เป็นหูเป็นตา เป็นแขนเป็นขา ให้กับคนคนนั้นในวันที่ประสิทธิภาพในการใช้อวัยวะของเขาด้อยลง แขนขาเขาอ่อนแรงอาบน้ำไม่ได้ เราก็พาเขาไปอาบน้ำ เขาตักข้าวทานเองไม่ได้ เราก็ทำให้ เราจัดการเรื่องพวกนี้ให้เขาทั้งหมดไปจนถึงการขับถ่าย นี่คือการอธิบายแบบง่ายที่สุดแล้ว ซึ่งคนที่เราดูแลอยู่ก็คือผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น

มันแตกต่างจากพยาบาลตรงไหน

ไคโงะจะเปรียบได้กับผู้ช่วยพยาบาล คอยรับคำสั่งงานจากพยาบาลอีกที ด้วยความที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล รายละเอียดงานบางอย่างเราก็จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำเหมือนพยาบาลจริง บริบาลในญี่ปุ่นจะไม่มีหน้าที่ในการเปลี่ยนสายน้ำเกลือและสายอ๊อกซิเจนให้กับผู้ป่วย แต่เอาจริงๆ เราก็ทำมันหมดแหละ เพราะพยาบาลในญี่ปุ่นมันมีจำนวนไม่พอ แต่เขาก็จะให้เฉพาะคนที่เป็นไคโงะมานานจริงๆ

 ที่ทำเพราะเป็นคนรักคนแก่เป็นพื้นฐานอยู่แล้วหรือเปล่า

ไม่เลย แต่เราจะเป็นคนขี้สงสาร คือเราเห็นคนเจ็บป่วยไม่ได้ เห็นใครเหงาหรือเศร้าไม่ได้ เราจะต้องเข้าไปปลอบไปคุยให้เขาหายเหงาหายเศร้า เราว่านี่คือคุณสมบัติที่เหมาะสมของการเป็นนักบริบาลเลยนะ เพราะมันทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนแก่ที่เราดูแล แล้วก็ไม่ได้ทำงานเพียงเพราะว่ามันเป็นแค่หน้าที่

ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่ค่อยอยากจะทำอาชีพนี้
เราดูจากอะไรว่าเขาไม่ค่อยทำ ทั้งที่ในที่ทำงานก็มีแค่เราคนเดียวที่เป็นไคโงะชาวต่างชาติ

ด้วยสิทธิส่วนตัวของเขา คนญี่ปุ่นไม่ชอบที่จะมานั่งแตะต้องเนื้อตัวใคร เขากลัวโรคติดต่อมากแบบขึ้นสมองเลยอย่าว่าแต่เรื่องจะมาเช็ดอึเช็ดฉี่ เอาแค่สัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกัน เขายังไม่สัมผัสกันเลย ถ้าสนิทกันก็ไม่เท่าไหร่ แต่นี่ใครก็ไม่รู้จะให้มาสัมผัสตัว เช็ดอึเช็ดฉี่ เขาก็ไม่อยากทำกันหรอก

ส่วนถ้าถามว่าดูจากอะไรว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยทำกัน มันยากที่จะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่เอาเป็นว่าในปี 2008 อัตราส่วนในการดูแลผู้สูงอายุต่อไคโงะ 1 คน จะอยู่ที่ผู้สูงอายุ 2 คน แต่ปัจจุบันไคโงะ 1 คนจะดูแลผู้สูงอายุอยู่ที่ 1 ต่อ 10-12 คน ก็แสดงให้เห็นว่ามีคนประกอบอาชีพไคโงะในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นน้อยมากๆ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปิดรับคนต่างชาติถึง 100,000 คน เพื่อเข้ามาทำงานในส่วนนี้

ในความคิดเราคิดว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน

ต้องยอมรับเลยว่าตัวเลขผู้สูงอายุในญี่ปุ่นนี่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ประการแรกเลย คนแก่ในญี่ปุ่นนี่เป็นคนแก่ที่แข็งแรงมาก หรือพูดง่ายๆ ว่าตายยาก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตผงชูรสนะ แต่พวกเขาไม่กินผงชูรสกันเลย เขากินเต้าหู้ กินถั่ว กินงา กินผัก กินปลา เสียเป็นส่วนใหญ่ เชื่อไหมคนแก่ที่เราดูแลอยู่อายุ 104 ปีนี่เขายังเดินปร๋อทำอะไรหลายอย่างได้สบายเลยพอคนแก่แข็งแรง จำนวนผู้สูงอายุมันก็ไม่ลดลง (ในปี 2018 จำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่มีอายุเกิน 100 ปีมีมากถึงเกือบ 70,000 คน และคาดว่าอาจเพิ่มเป็น 170,000 คน ในอีก 5 ปีต่อมา) ประการที่สอง อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นมีน้อยมาก เมื่อน้อยก็เท่ากับว่าการผลิตประชากรออกมาก็จะน้อยด้วย ซึ่งก็มาเกี่ยวพันกับประการที่สามที่เมื่ออัตราการแต่งงานน้อยอยู่แล้วอัตราการหย่าร้างยังสูงมากเข้าไปอีก คนแก่ตายยาก มีเด็กเกิดมาน้อย ไม่ให้เป็นสังคมผู้สูงวัยจะไหวเหรอ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ไง (หัวเราะ)

เท่าที่สัมผัสคนแก่ญี่ปุ่นเหมือนกับคนแก่ที่ไทยไหม

ไม่เหมือนเลย คนแก่ญี่ปุ่นจะอีโก้สูง ถือตัว ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมและรากวัฒนธรรมของเขา เขามีความเป็นชาตินิยม อย่างพอเขารู้ว่าเรามาจากไทยนี่ เขาจะเหยียดเลย ไม่อยากให้แตะเนื้อต้องตัว ถามเลยว่าประเทศไทยอยู่ที่ไหน ไม่เห็นจะรู้จัก หรืออย่างเราเอาอาหารไปให้ เขาก็จะไม่ค่อยกิน บางทีเคยถึงขนาดไล่เรากลับไทย เอาไม้เท้าตีเราก็เคย

แล้วเวลาเจอแบบนี้เรารับมือยังไง

มันก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพยายามทำความเข้าใจ แล้วก็อดทนทำหน้าที่ของเราไป คนแก่ที่ญี่ปุ่นจะเหงา และเปราะบางมากนะ แล้วก็ไม่ค่อยได้รับความรักจากลูกหลาน เพราะลูกหลานเมื่อถึงวัยก็จะทำงาน สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่บ้างานมาก เมื่อบ้างานมาก ก็จะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ เขาถือว่าเมื่อถึงวัยทำงาน หน้าที่ของเขาก็คือทำงาน ส่วนการดูแลพ่อแม่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล เพราะพวกเขาจ่ายภาษีให้กับรัฐมาตั้งแต่ตอนหนุ่มที่เริ่มทำงาน เพื่อที่จะให้รัฐมาสร้างสวัสดิการเป็นเนิร์สซิ่งโฮม เป็นอะไรต่างๆ เพื่อดูแลในยามแก่ เมื่อถึงเวลาที่รู้สึกว่าไม่อยากดูแล หรือดูแลไม่ได้ เขาก็จะเอาพ่อแม่มาไว้ที่เนิร์สซิ่งโฮม นานๆ ก็จะมาเยี่ยมครั้งหนึ่ง หรือบางคนก็ไม่มาเยี่ยมอีกเลย คนแก่ที่เราดูแลอยู่แทบทุกคน เนิร์สซิ่งโฮมคือบ้านหลังสุดท้ายของเขา บางคนนี่ตายในมือในอกของเราเลยนะ

เราเชื่อว่าคนแก่ถ้าเลือกได้ ร้อยทั้งร้อยไม่ว่าใครก็ต้องอยากอยู่กับลูกกับหลาน กับคนที่รัก แม้แต่เวลาตายเขาก็อยากตายโดยมีคนที่เขารักอยู่ข้างๆ เขาไม่ได้อยากมาตายในมือของนักบริบาล ของคนที่เขาไม่รู้จักหรอก ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจเขา เราก็จะทำงานนี้ด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น

เทียบกันแล้วบ้านเรายังถือว่าดีกว่า

วัฒนธรรมบ้านเรายังมีการให้เกียรติผู้สูงอายุ หรือคนที่อาวุโสมากกว่า ยังมีการนับถือ มีการไหว้ มีการเรียกปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ยังยึดถือเรื่องความกตัญญูต่อบุพการี แต่สังคมญี่ปุ่นไม่ใช่แบบนั้น เขาหวงแหนเรื่องสิทธิที่เขาจะต้องได้รับจากรัฐบาล จนบางครั้งลืมคิดถึงความรู้สึกทางด้านจิตใจ แล้วปัจจุบันในสายตาของคนหนุ่มคนสาวในญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มองผู้สูงวัยดีนัก พวกเขามองว่าคนแก่พวกนี้คือภาระ ที่เขาต้องจ่ายภาษีก็เพื่อมาดูแลคนพวกนี้

พูดได้ไหมว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแห่งการทอดทิ้ง

อืมม…(ทำท่าครุ่นคิด) ก็ 50-50 นะ ที่พูดได้แค่ครึ่งเดียวก็เพราะว่ารูปแบบสังคมเขาเป็นมาแบบนั้น คือบ้านเราถ้าใครทิ้งพ่อทิ้งแม่ หรือไม่ดูแลนี่ถือเป็นเรื่องผิดบาป เรื่องไม่ดี แต่กับสังคมญี่ปุ่น วิถีแบบนี้มันคือเรื่องปกติในสังคมของเขา ก็ฉันต้องทำงาน ถ้าต้องมาดูแลพ่อแม่อีก ฉันก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ แล้วฉันก็ดูแลพ่อแม่ได้ไม่ดี ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มีสวัสดิการและการดูแลที่ดีกว่า เพื่อที่ฉันจะได้ทำงานไป เขาก็คิดว่าแบบนี้มันถูกต้องแล้ว อีกอย่างมันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้กันทุกครอบครัวแบบ 100% อย่างเราดูที่สามีของเราซึ่งเป็นคนใกล้ตัว เขาก็เป็นคนใจดี แล้วก็ดูแลแม่ของเขาดีต่างจากหลายๆ บ้านในญี่ปุ่น แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็เคยถามนะว่าวันหนึ่งต่อไปแม่คุณแก่มากๆ หรือเดินไม่ได้ จะทำยังไง เขาก็ตอบเลยว่าก็ต้องเอาไปไว้ที่เนิร์สซิ่งโฮมไง แล้วที่สำคัญตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาเราไม่เคยเห็นเขากอดแม่เขาเลยสักครั้งเดียว ถึงบอกว่าถ้าจะให้บอกว่าเป็นสังคมแห่งการทอดทิ้งไหม มันก็บอกไม่ได้เต็มปากนัก ขณะเดียวกันจะให้บอกว่ามีความผูกพันกันแน่นแฟ้นในครอบครัวก็คงไม่ใช่อีกเหมือนกัน

แล้วสิ่งที่ญี่ปุ่นมีดีมากๆ ในเรื่องสังคมสูงวัยคืออะไร

สิ่งที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างอย่างแรกเลย คือ เรื่องโภชนาการ ที่เมืองไทยเราเคยเข้าไปในสถานสงเคราะห์คนชรา 2-3 ครั้ง เราเห็นว่าอาหารที่ให้คนชรากินจะเหมือนกันหมด ปริมาณเท่ากันหมด ซึ่งมันไม่ได้ เพราะโรคที่แต่ละคนเป็นมันไม่เหมือนกัน อย่างคนเป็นเก๊าท์ ไม่สมควรจะกินสัตว์ปีก ซึ่งถ้าอยู่เมืองไทยคุณจะต้องเจอแน่ๆ เพราะอาหารทำรวมกันมา แต่ที่ญี่ปุ่น เขาจะแยกเป็นรายบุคคลเลยว่าคนนี้เป็นโรคนี้ต้องกินอะไรในปริมาณแค่ไหน อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ถ้ากินได้ กินได้กี่แคลอรี่ เขาจะกำหนดมาเลย อย่างเช่นคนแก่สองคนมีฟันปลอมแต่ประสิทธิภาพในการเคี้ยวไม่ดีก็ต้องให้อาหารเหลว แต่อีกคนทานเกลือไม่ได้ อีกคนหนึ่งทานเกลือได้ อาหารก็ต้องไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้านักบริบาลอย่างเราเสิร์ฟผิดนี่โดนเลยนะ เพราะมันไม่ต่างอะไรจากการจ่ายยาผิดเลย มาตรฐานในเรื่องนี้ของเขาต้องบอกว่าเจ๋งสุดๆ

ที่สำคัญเขาไม่ได้ละเอียดแค่เรื่องของโภชนาการเท่านั้นแต่ยังลงลึกไปถึงเรื่องรายละเอียดในชีวิตของแต่ละคน เขาจะมีกระดาษมาแผ่นหนึ่งระบุนอกเหนือจากเรื่องอาหารมาเลยว่า คนแก่คนนี้ห้ามมองตา หรือถ้าเขาจะหนีให้พูดถึงชื่อคนนี้แล้วอาการของเขาจะดีขึ้น ซึ่งเราเองเคยพลาดอ่านรายละเอียดไม่ครบ เผลอไปสบตาทั้งๆ ที่ในใบข้อมูลระบุว่าห้ามทำแบบนั้น ปรากฏว่าเราโดนกัดแขนเป็นรูเลย นอกจากนี้เขายังละเอียดไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นอุปกรณ์ต่างๆ เขาจะสร้างราวจับไว้รอบกำแพงเลย หรืออย่างพื้นก็จะทำให้ไม่เรียบเพื่อที่คนแก่จะได้ไม่ลื่นล้ม แม้กระทั่งโต๊ะ และอ่างล้างหน้าเขาก็จะใช้แบบเป็นรูปวงโค้ง ไม่ให้มีเหลี่ยมมุม เพื่อที่เวลาเผื่อคนแก่ล้มไปโดนจะได้ไม่เป็นอันตราย คือมาตรฐานในเรื่องการดูแลและป้องกัน ต้องยอมรับเลยว่า เขาอยู่ในระดับพรีเมี่ยมจริงๆ

ถ้าอย่างนั้นระหว่างความมีจิตใจโอบอ้อมอารีและความอบอุ่นแบบไทยๆ กับมาตรฐานและระเบียบวินัยแบบญี่ปุ่น อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับผู้สูงวัย

เราว่ามันสำคัญทั้งคู่นะ แล้วมันก็ควรจะเดินไปด้วยกันโดยไม่ควรที่จะละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจะใจดี ดูแลแต่สภาพจิตใจ โดยไม่มีมาตรฐานไม่ดูแลเรื่องอาหารการกิน หรือเรื่องสาธารณูปโภคอื่นๆ ไม่ได้ เพราะเวลาที่เกิดความผิดพลาดขึ้นมามันจะส่งผลกระทบต่อตัวของผู้สูงอายุโดยตรง ขณะเดียวกันถ้าคุณไม่ดูแลจิตใจของเขาเลย เขาก็จะยิ่งทุกข์ อย่าลืมว่าคนแก่เขามีโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพร่างกายไม่ดี ถูกลูกหลานทิ้ง จิตใจเขาก็เป็นทุกข์มากพออยู่แล้ว ถ้าเราไม่ใส่ใจ หรือดูแลเขาไปตามหน้าที่เฉยๆ สภาพจิตใจเขาจะเป็นยังไง ต้องพยายามคิดถึงใจเขาใจเราให้มาก เราไม่แก่ เราไม่รู้หรอก

อย่างนี้แสดงว่าเวลาทำงานคุณก็ผสมความเป็นไทยเข้าไปด้วย

ถูกต้อง เราเอาความอบอุ่นความมีมิตรไมตรี มาใช้ในงานบริบาลของเราได้อย่างดีเลย ทุกวันนี้คนแก่ที่เราดูแลอยู่ถึงได้ติดเรา (หัวเราะ) เราจะไม่เหมือนกับเพื่อนไคโงะชาวญี่ปุ่นที่เขาจะไม่มีตรงนี้ เขาจะเน้นทำทุกอย่างตามระเบียบแบบแผน ไม่มียิ้ม ไม่ล้อเล่น ไม่โอบกอด ไม่มีการแสดงความรักอะไร ซึ่งด้วยความที่เราไม่เหมือนใครนี่แหละที่ทำให้เราเป็นเหมือนนักบริบาลนอกคอกในสายตาของคนอื่น

คุณเป็นคนเชื่อในพลังของการกอด

เวลาทำงานเราเป็นไคโงะที่กอดคนแก่บ่อยมากนะ อย่างเวลาไปปลุกเขาตอนเช้า ถ้าเขายังไม่ลุกจากเตียง เราจะไม่ไปบังคับ ไม่ไปดึงผ้าห่ม แต่จะกอดช้อนตัวเขาแล้วก็ทำเสียงเหมือนเด็กๆ เขย่าตัวเขาเบาบอกเขาว่าเช้าแล้ว ตื่นได้แล้ว เขาก็จะพูดตอบเรา แล้วก็ตื่นขึ้นมา คือถ้ามีโอกาสเราก็จะกอดเขาเรื่อย ๆ แล้วก็ไม่ได้รู้สึกแย่ด้วยที่ทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น เรายอมที่จะนอกคอก ถ้าการนอกคอกของเรามันจะทำให้คนแก่เขามีความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นมา การกอดนี่มันมีพลังมหาศาลมากนะ แค่คุณเอาเขาไว้ในอ้อมแขน จากคนแก่ที่ดื้อๆ อีโก้สูง เขาจะอ่อนทันทีเลย แล้วไม่ใช่แค่เขาหรอกที่มีความสุขหรอก เราเองที่เป็นคนกอดเขาก็มีความสุขเหมือนกัน

เราว่าชีวิตคน มันไม่จำเป็นต้องมีระเบียบ หรือตึงเครียดตลอดเวลาหรอก เราสามารถแสดงความรักกันได้ ยิ้มให้กันบ้างก็ได้ พูดเล่นกันบ้างก็ได้ แหย่กันบ้างก็ได้ หรือบางทีถ้ามันแย่จริงๆ เราร้องไห้บ้างก็ได้ มันก็เป็นการระบายออกของชีวิตอย่างหนึ่ง

เวลาที่ทำงานแล้วเครียดมากๆ เราจัดการตัวเองยังไง

งานไคโงะมันไม่ใช่งานที่สนุกหรอก มันมีเรื่องให้คุณต้องปวดหัวตลอดเวลา โดยเฉพาะกับตัวเราคนเดียวที่ต้องมีหน้าที่ดูแลคนแก่ถึง 12 คน เราเองขนาดเป็นคนสบายๆ เมื่อเทียบกับไคโงะคนอื่น แต่ก็ยังเคยเครียดถึงขนาดผื่นขึ้นเต็มตัวมาแล้ว วิธีหนึ่งที่เราใช้เวลาเครียดมากๆ ก็คือการนั่งสมาธิ วิธีนี้ช่วยเราได้เยอะเลย ทำให้เราปล่อยวาง ผ่อนคลายตัวเอง แล้วมีผลทำให้เราทำงานผิดพลาดน้อยลงด้วย

ในความคิดของเราประเทศไทยควรรับมือกับการเป็นประเทศสังคมผู้สูงวัยอย่างไร

ในความคิดของเรานะ อะไรที่เป็นจุดดีของเราในเรื่องผู้สูงวัย เราควรสนับสนุน ส่งเสริมและเก็บเอาไว้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงมาก อย่างเรื่องวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ที่แสดงถึงน้ำจิตน้ำใจความโอบอ้อมอารีที่มีกับผู้สูงอายุ อันนี้เราไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงแล้ว อาจจะทำให้มั่นคงอยู่และมีจุดไหนที่อยากส่งเสริมให้ดีขึ้นก็ทำ แต่สิ่งที่สำคัญเลยในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในด้านสาธารณูปโภค การอุปโภค บริโภคต่างๆ จะต้องเปลี่ยน เรื่องรายละเอียดในการดูแลผู้สูงวัยจะต้องคิดและใส่ใจจริงๆ ให้มากกว่านี้ พูดง่ายๆ ว่าเราสามารถที่จะเอาข้อดีข้อเสียของญี่ปุ่นมาเรียนรู้แล้วก็ประยุกต์ใช้เป็นตัวอย่างได้เลย

อีกเรื่องที่คิดว่าประเทศไทยของเราควรเตรียมตัวเอาไว้เลย แล้วควรจะเริ่มทำกันได้แล้วก็คือการเสียภาษีผู้สูงอายุที่เมื่อเราแก่ตัวแล้ว เราก็จะได้เงินจากรัฐบาลและสวัสดิการที่เราจ่ายภาษีตัวนี้ไปมาเลี้ยงเรา อย่างที่ญี่ปุ่นพวกผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ในเนิร์สซิ่งโฮม พวกเขาไม่ต้องเสียเงินค่าอะไรแล้ว เพราะคุณเสียภาษีตัวนี้มาตั้งแต่ตอนเริ่มทำงานแล้ว รัฐบาลก็มีหน้าที่ซัพพอร์ทอย่างเดียว

บางคนอาจจะคิดว่าไม่เห็นมีความจำเป็นเลย
หรือบางคนอาจจะคิดว่าจ่ายทำไมถ้าอยู่ไม่ถึงแก่ก็เสียเงินไปฟรีๆ

อ้าวก็แล้วถ้ามันเกิดอยู่ถึงขึ้นมาล่ะ ไม่ต้องมานั่งขูดดินกินกันตอนแก่เหรอ คุณจะไม่ได้รับสวัสดิการอะไรเลยในตอนแก่นะ แต่ถ้าเกิดเป็นอย่างคุณว่า รัฐบาลก็กำหนดให้มีข้อปลีกย่อยออกไปสิว่า ถ้าเกิดผู้เสียภาษีตัวนี้เกิดเสียชีวิตไปก่อน เงินที่จ่ายมาทั้งหมดพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวคนไหน ที่จะเป็นผู้รับผลประโยชน์ก็ให้ผู้เสียภาษีกำหนดมา เราว่ามันเป็นเรื่องที่ควรทำนะ แล้วไม่ใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้หรอก ทีนี้ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลของเราเขาจะเห็นว่ามันสำคัญและจริงจังกับเรื่องตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายถ้าสังคมนั้นไม่มีคนแก่อยู่เลย เราคิดว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมแบบไหน

คงจะเป็นสังคมที่วุ่นวายน่าดู ทุกคนคงแย่งกันกินแย่งกันใช้ แย่งกันเป็นใหญ่ แย่งกันเก่ง เราว่ามันคงจะเกิดสงครามขึ้นแน่ๆ เพราะถ้าไม่มีคนแก่ความเมตตาคงจะหายไปเยอะ และสังคมก็จะไม่น่าอยู่ คุณลองสังเกตดูก็ได้ สังคมไหนที่มีแต่คนวัยทำงาน หรือมีคนวัยทำงานเยอะ สังคมนั้นจะวุ่นวาย เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง ทุกวันนี้เราอยู่กับคนแก่อาจจะเหนื่อยบ้าง เครียดบ้าง แต่เราก็สบายใจ อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปแย่งชิงอะไรกับใคร เพราะสุดท้ายชีวิตของพวกเขามันผ่านมาหมดแล้ว พวกเขาไม่ได้ต้องการทรัพย์สินเงินทองหรือชื่อเสียงอะไรแล้ว

สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการ ก็คือความอบอุ่นจากครอบครัว

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ