ธรรมดา คาเฟ่กึ่งแกเลอรีงานคราฟต์ในย่านอารีย์ที่ลูกสาวยกให้แม่ดูแลต่ออย่างมีความสุข

“จะเปิดต่อหรือปิดร้านดี”

ในวันที่กิจการคาเฟ่กึ่งแกลเลอรีงานคราฟต์ชื่อว่า ‘ธรรมดา’ เดินทางมาจนถึงจุดอิ่มตัว ลูกสาวผู้ปลุกปั้นร้านมากับมือกำลังชั่งใจว่าจะเปิดให้บริการต่อ หรือจะปิดกิจการลงถาวร

“เปิดต่อ… เดี๋ยวแม่ดูแลเอง”

คุณแม่วัยเกษียณจึงเอ่ยปากขอให้ลูกสาวเปิดร้านนี้ต่อไป พร้อมกับขอสวมบทบาทเป็นคนดูแลร้าน ที่ทำเองแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่หน้าที่เชฟปรุงอาหาร บาริสต้าชงเครื่องดื่ม จนถึงเด็กเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า

มนุษย์ต่างวัยชวนทำความรู้จักกับ แม่ชมนาด ไพโรหกุล วัย 68 ปี ผู้ตัดสินใจผันตัวเองจากแม่บ้านวัยเกษียณมาเป็นผู้สานต่อธุรกิจคาเฟ่ของลูกสาว จนตอนนี้ ‘ธรรมดา’ ยืนระยะคู่กับ ซอย พหลโยธิน 5 ย่านอารีย์ มานานกว่า 8 ปี แถมรสชาติอาหารและเครื่องดื่มยังถูกปากหลายคน ทำให้มีลูกค้าขาประจำ และลูกค้าหน้าใหม่ แวะเวียนมาที่ร้านไม่เคยขาด

“เพื่อนๆ แม่หลายคนตอนนี้เขาก็หาโปรแกรมเที่ยวไปเรื่อยๆ บางคนก็พักผ่อนอยู่บ้าน เขาก็มาแซวว่าเมื่อไหร่จะหยุดทำงาน สำหรับแม่ แม่ไม่ได้คิดว่าเรากำลังทำงาน ไม่ใช่อาชีพใหม่หลังเกษียณ แม่แค่รู้สึกว่านี่ก็คืออีกไลฟ์สไตล์หนึ่งของชีวิตวัยเกษียณ” 

“ธรรมดา เป็นคาเฟ่ของลูกสาว ลูกตั้งใจทำเป็นร้านขายงานคราฟต์ที่ขายอาหาร เครื่องดื่ม และขนมหวาน ควบคู่ไปด้วย เวลาเขาไปเจอะเจอสิ่งของทำมือน่ารักๆ ก็จะนำกลับมาวางขายที่ร้าน เขาเรียนจบมาทางด้านนี้และฝันว่าอยากมีร้านขายงานคราฟต์เป็นของตัวเอง

“วันแรกที่ลูกสาวเปิดร้านได้ตามที่ตั้งใจ ไม่มีคนเข้าเลย วันถัดไปขายได้ร้อยกว่าบาท แต่ลูกสาวก็ยังตั้งใจที่จะเปิดร้านนี้ต่อไป ช่วงแรกๆ เขายังดูแลร้านเองได้ แม่ก็ไม่เคยเข้ามาดูร้านลูกอีกเลยตลอด 2 ปี

“ต่อมาลูกเริ่มไม่ค่อยมีเวลา เพราะเขาทำงานประจำควบคู่ไปด้วย มีช่วงหนึ่งที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศประมาณเดือนหนึ่ง แม่ก็ถามเขาว่า แล้วใครจะดูแลร้านให้ลูก เขาก็มองมาที่แม่ แล้วขอร้องให้แม่ช่วยหน่อย ตอนนั้นแม่อยู่บ้านว่างๆ แล้วมันรู้สึกเหงาหงอยไม่มีอะไรทำ แม่ก็เลยไม่ได้ปฏิเสธ บอกเขาไปว่า ไม่มีใครก็ต้องเป็นแม่แล้วแหละ แต่แม่ทำไม่เป็นนะ เพราะหลังจากเกษียณแม่ก็อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขาจะสอนให้ แม่ก็โอเค รับปากลูกว่า เดี๋ยวแม่ช่วย”

“ด้วยความที่ ‘ธรรมดา’ เป็นคาเฟ่เล็กๆ เปิดตามกำลัง ตามแพสชัน มีโต๊ะไม่กี่โต๊ะ การบริหารจัดการร้านตั้งแต่หน้าร้านและในครัวเราจึงทำเองทั้งหมด โดยเฉพาะหน้าที่บาริสต้าชงสารพัดเครื่องดื่ม ลูกสาวเขาก็สอนให้แม่ตั้งแต่การทำกาแฟ ชาร้อน อิตาเลี่ยนโซดา ชานม ช็อกโกแลต รวมๆ แล้วเกือบ 20 เมนู

“เวลาที่ลูกสอนเขาก็จะบอกว่า เครื่องดื่มชนิดนี้ทำแบบนี้นะ อันนี้ทำแบบนี้ อันนี้ใส่ด้วยกันไม่ได้ แม่ก็พยักหน้า ค่ะๆ ค่อยๆ เรียนรู้ไป ลูกบอกอะไรเราก็ตั้งใจ เพราะแม่เป็นคนหนึ่งที่ทำอะไรแล้วก็อยากทำให้มันได้ ให้มันเข้าท่า ไม่ใช่ทำแบบขอไปที แล้วแม่ก็จะจดสูตรไว้ ช่วงแรกๆ เวลามีลูกค้ามาสั่งแม่ก็จะเปิดตำราดู พอเริ่มคล่องก็จำได้ ตำราก็ไม่ค่อยได้เปิดแล้ว แต่จะทำช้าหน่อย ลูกค้าต้องรอ (หัวเราะ)

“เมนูอาหารก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องการจัดการ โชคดีที่อาหารเราไม่ต้องทำเองทั้งหมด เพราะลูกสาวเขาจัดหามาจากข้างนอก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นญาติๆ เพื่อนๆ ที่มีฝีมือทางด้านนี้ เราก็ให้เขาทำมาส่งขายที่ร้าน แต่เวลาที่ลูกค้าสั่งแม่ก็จะต้องเอาไปอุ่นให้ร้อนๆ แล้วนำมาจัดจานใหม่ให้สวยงาม

“เมนูที่ร้านก็จะมีหลากหลาย ที่ลูกค้าชอบมากและแม่อยากแนะนำก็มีหลายอย่าง เช่น ซี่โครงหมูอบสูตรโบราณ ไก่อบสูตรโบราณ ข้าวแกงกระหรี่ญี่ปุ่น เนื้อตุ๋นซอสบาร์บิคิว หรือจะเป็นประเภทสลัดที่ร้านเราก็มี

“สำหรับขนมหวานก็เหมือนกัน ถ้าลูกค้าสั่งเราก็จะนำมาจัดตกแต่งให้สวยงาม ให้น่ากิน น่าถ่ายรูป ซึ่งการจัดจานให้น่ากิน อันนี้ลูกไม่ได้บอกว่าต้องทำ แต่แม่คิดว่าถ้าเราจัดให้สวยงามมันก็เข้าท่า แม่ไม่ได้อยากทำหน้าที่แค่ยกเสิร์ฟ แต่อยากใส่ใจ ใส่ความคิดสร้างสรรค์จากตัวเราลงไปด้วย จานทุกจานแม่ก็จะตกแต่งไปตามประสา ชอบผลไม้อันนี้อันนั้นก็เอามาวาง ทำไปตามความชอบ สัญชาตญาณ มันก็ขายได้ ลูกค้าก็ชอบ

“ตอนแรกก็กังวลนะ เราต้องทำช้าแน่ๆ เลย เกรงใจลูกค้าเพราะว่าเราไม่เคยทำมาก่อน ตั้งแต่งานในครัว งานเสิร์ฟ คิดเงิน เรียกว่าทุกวิชาที่เกี่ยวกับการทำคาเฟ่แม่ต้องมาเรียนรู้ใหม่หมด ลูกก็ให้กำลังใจบอกว่า ไม่เป็นไรนะแม่ แม่ขายได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เดี๋ยวเขาจะรีบกลับมา เราก็ทำไปมันก็สนุกดี”

“แม่ดูแลร้านแทนลูกสาวจนกระทั่งเขากลับมา เขาเห็นคนมาที่ร้านเยอะผิดจากเมื่อก่อนที่เขาดูแลเองเขาก็รู้สึกตกใจ ยิ่งวันหยุดเสาร์อาทิตย์คนก็ยิ่งมากันเยอะและขายดีมาก ลูกสาวเขาก็รู้สึกว่าแม่นำโชคพาลูกค้าเข้าร้าน เพราะพอช่วงหลังๆ ที่แม่ไม่ได้ไป เขาก็มารายงานให้ฟังว่า ลูกค้าไม่มีเลย ขายไม่ได้เลย แต่วันไหนแม่ไปขายดีจัง วันหนึ่งเขาเลยวาดรูปแม่กับพ่อติดเอาไว้ที่ร้าน บอกว่าเป็นเคล็ดลับ เป็นสิริมงคล ดึงดูดเรื่องดีๆ เข้าร้าน

“แม่เห็นว่าลูกรักร้านนี้มาก แต่ด้วยงานทำให้เขาไม่ค่อยได้อยู่ร้าน ต้องคอยปิดๆ เปิดๆ วันไหนที่เขาไม่ว่างแม่ก็เลยอาสามาดูแลร้านให้ เพราะส่วนตัวแม่เองก็เริ่มผูกพันกับร้านนี้ เริ่มผูกพันกับลูกค้า จนกระทั่งเข้าสู่ราวๆ 5-6 ปี ร้านเริ่มติดตลาด คนมาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งรับลูกค้าไม่ไหว วันไหนที่แม่ต้องมาแทน ลูกเขาก็เริ่มเป็นห่วงสุขภาพของแม่

“วันหนึ่งเขาก็เลยตัดสินใจมาคุยกับแม่ ถามแม่ว่า มันถึงเวลาอิ่มตัวแล้วหรือยัง เราก็บอกว่ายัง แต่ในใจลูกคืออยากปิดร้านแล้ว เพราะเขาเองก็ทำไม่ไหว มีงานประจำที่ทำให้ดูแลร้านได้ไม่เต็มที่ แต่แม่อยากทำร้านนี้ต่อ เพราะรู้สึกเสียดาย แม่รู้ว่าร้านนี้เป็นความฝันของลูกเพียงแต่จังหวะชีวิตเขายังไม่ได้ อีกอย่างแม่เริ่มรู้สึกเสียดายเวลาที่เราจะได้คุยกับคน เสียดายลูกค้าที่เขาแวะมาหาประจำ ก็เลยตื้อเขา บอกว่า เปิดต่อเดี๋ยวแม่ดูแลเอง จนเขายอมใจอ่อน บอกว่าถ้าอย่างนั้น ลูกยกร้านนี้ให้แม่ แต่เขาจะยังคงคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง

“จากร้านของลูกสาวเลยกลายเป็นร้านของแม่แทน แต่มีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่งคือแม่ต้องทำแล้วมีความสุข ถ้าแม่เริ่มทุกข์ ลูกบอกว่าจะให้แม่พัก จะปิดร้านนี้ถาวร จากวันนั้นจนถึงวันนี้แม่ก็ไม่เคยทุกข์นะ มีแต่ความสุข และพลังบวก อยากรีบตื่นมาเปิดร้านทุกวัน

“เวลาที่ลูกค้ามาที่ร้านเขาก็จะรู้สึกประหลาดใจว่าร้านนี้เราทำคนเดียวทั้งหมด เขาถามว่าทำคนเดียวเหรอคะ พอแม่บอกว่าทำคนเดียว ลูกค้าก็เอ็นดูเรา เพราะเราทำช้า แต่ลูกค้าดูแล้วว่าเราช้าไม่ใช่เพราะอืดอาด ขี้เกียจ แต่ที่ช้าเพราะลูกค้าเยอะ บางทีแม่ก็เกรงใจ แต่ทุกคนก็ยินดีนั่งรอ

“ลูกค้าบางคนก็ชอบเห็นแม่อยู่ในครัว เขามีความรู้สึกว่า เขาเห็นแม่ทำโน่นนั่นนี่ ดูเพลิน ดูน่ารักจังเลย เหมือนคุณยายในการ์ตูนญี่ปุ่น ด้วยการแต่งร้าน ด้วยอะไรหลายๆ อย่างมันเข้ากันไปหมด แล้วร้านเราก็เล็กๆ บรรยากาศเป็นส่วนตัว คนที่มาส่วนใหญ่เขาไม่รีบ เขามานั่งอ่านหนังสือบ้าง นั่งทำงานบ้าง เหมือนที่นี่เป็นบ้าน”

“แม่เป็นคนช่างพูด เวลาลูกค้ามาคุยด้วยก็จะรู้สึกสนุก ได้คุยกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เด็กนักเรียน คนวัยทำงาน ก็ทำให้ได้อะไรจากลูกค้าเยอะ ลูกค้าบางคนมีอะไรที่เขาไม่สบายใจ อยู่ๆ เขามาพูดกับเรา เราก็ได้คุย แลกเปลี่ยนกัน ได้ทำความเข้าใจ บางวันก็ได้ฟังเรื่องราวใหม่ๆ จากเด็กๆ ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้จักยุคสมัยมากขึ้น แล้วก่อนที่เขาจะกลับออกจากร้านไปเขาก็สวัสดี เหมือนเราเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งไม่ใช่แม่ค้า มันทำให้แม่รู้สึกว่า เขากลับออกไปด้วยความรู้สึกดีๆ แม่ก็ได้ความรู้สึกดีๆ กลับมาเหมือนกัน จนรู้สึกว่าวันๆ หนึ่งทำไมเวลาผ่านไปไวจังเลย เพราะมันมีความสุขมาก

“เพื่อนๆ แม่หลายคนตอนนี้เขาก็หาโปรแกรมเที่ยวไปเรื่อยๆ บางคนก็พักผ่อนอยู่บ้าน เขาก็มาแซวว่าเมื่อไหร่จะหยุดทำงาน สำหรับแม่ แม่ไม่ได้คิดว่าเรากำลังทำงาน ไม่ใช่อาชีพใหม่หลังเกษียณ แม่แค่รู้สึกว่านี่ก็คืออีกไลฟ์สไตล์หนึ่งของชีวิตวัยเกษียณ

“บางคนเข้ามาทักว่า แม่ทำตรงนี้คนเดียวเหนื่อยแย่เลย เราก็จะบอกกลับไปว่าเหนื่อยกายนั่งแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย มันไม่ได้หนักหนาอะไร ทำอะไรก็ต้องเหนื่อย กินก็เหนื่อย นอนก็เหนื่อย อยู่ที่มุมมอง

“ลูกสาวก็เป็นห่วง แต่แม่ก็จะบอกเสมอว่า แม่โอเค วันไหนแม่ไม่อยากไปแม่ก็จะไม่ไป แต่ตั้งแต่ที่พูดมายังไม่เคยไม่ไปเลยสักวัน (หัวเราะ) แต่แม่ไม่ได้ยึดติดนะ เราทำเพราะเรายังทำไหว แล้วมันมีความสุข ถ้าวันหนึ่งมันต้องลาไป ไม่ใช่เพราะไม่มีคนมากิน แต่ลาไปด้วยความจำเป็นของสุขภาพ ก็ต้องลา

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ร้านธรรมดาเข้าสู่ปีที่ 8 เราก็ประคองมาได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตอะไร แม่ก็เลยอยากจะทำต่อไป ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว อย่างน้อยแม่มองว่ามันมีข้อดี มันทำให้แม่ไม่เหงา ทำให้เหมือนมีงานอดิเรก จิตใจก็ดีขึ้นเพราะลูกค้าที่เข้ามาเหมือนเพื่อน เหมือนลูกหลาน ร่างกายก็ได้ขยับ ได้พัฒนาตัวเองไม่ให้เหงาหงอยอยู่แต่บ้านเหมือนเมื่อก่อน”

อ่านมาถึงหน้าสุดท้าย ถ้าเพื่อนๆ อยากตามรอยมนุษย์ต่างวัยไปเช็กอิน พิกัดร้านตั้งอยู่ที่ ซอย พหลโยธิน 5 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ใกล้กับ BTS อารีย์

เวลาเปิด-ปิด :   วันอาทิตย์ 11:00 – 17:00 น. , อังคาร – เสาร์   11:00 – 19: 00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

Facebook : www.facebook.com/thammadashop 

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ