ปี 2566 คนไทยกว่า 2.9 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยว่ามีความเจ็บป่วยทางจิตเวช แต่มีการคาด
การณ์ว่าตัวเลขของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอาจสูงถึง 10 ล้านคน นั่นหมายความว่ายังมีผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตกว่า 7 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการรักษา และแนวโน้มของคนที่มีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยทางจิตเวชก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี มนุษย์ต่างวัยชวนทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต ผ่าน Sati App แอปพลิเคชันที่ให้บริการรับฟังทุกความรู้สึกของทุกคน และเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เราได้เช็กอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวันผ่านคำถามและแบบประเมินง่าย ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยขยายพื้นที่ดูแลใจให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แบบไม่จำกัดเวลาและสถานที่
บริการของแอป Sati (สติ)
เรามีโอกาสได้คุยกับคุณ ‘อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท สติ แอพ จำกัดและแอปพลิเคชันสติ ซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่แปรเปลี่ยนพลังความโกรธและความทุกข์ใจที่ไม่มีใครรับฟัง ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้เล่าทุกความรู้สึกได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกใครตัดสิน
“แอปพลิเคชันของเราให้บริการเป็นเพื่อนรับฟังจากอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นที่จะเข้ามาผลัดเปลี่ยนกันรับสายตามเวลาที่สะดวก และตอนนี้ทุกคนยังสามารถเข้าไปเช็กอินความรู้สึกและบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ว่าแต่ละวันมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกแบบนั้น เพื่อให้เราเห็นภาพรวมของความรู้สึกของตัวเองและสามารถจับชีพจรความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้นในอนาคต
“เนื่องจากจำนวนสายที่โทรเข้ามามีปริมาณค่อนข้างเยอะ ในอนาคตเราเลยอยากทำเป็นระบบจองคิวล่วงหน้า เพื่อให้คนที่โทรเข้ามามั่นใจได้ว่าภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าจะมีคนรอรับสายเขาอย่างแน่นอน
“ในส่วนของคนที่ต้องการเป็นอาสาฯ ในระบบของเราจะต้องผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งของ Sati ก่อน โดยจะมีการอบรมเรื่องวิธีการสอดส่องเพื่อดูว่าใครบ้างที่มีความเสี่ยงมีระดับความเครียดสูง แล้วเราจะรับฟังเขาด้วยใจได้อย่างไรบ้าง แล้วถ้าเขาจะต้องถูกส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษา เราจะโน้มน้าวเขาได้อย่างไร รวมทั้งมีวิธีการอย่างไรบ้างที่เราจะดูแลจิตใจของตัวเองได้ในฐานะที่เป็นผู้รับฟัง ซึ่งพอผ่านการอบรมและทำแบบทดสอบแล้วก็จะสามารถเป็นอาสารับฟังในระบบของเราได้ และจะมีการต่ออายุผู้ที่เป็นอาสารับฟังในทุก ๆ ปี”
ความสำคัญของการรับฟัง
“หลายครั้งคนเราละเลยความรู้สึกของตัวเองจนความทุกข์ใจมันสะสมแและนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต เวลาที่เราไม่สบายใจ เราอาจจะเริ่มจากการกลับมารับรู้อารมณ์ของตัวเองก่อน ถ้าหากเรารับรู้อารมณ์ตัวเองไม่เป็น อย่างน้อยการมีเพื่อนหรือคนมาช่วยรับรู้อารมณ์ของเราก็ช่วยได้ อารมณ์ร้อนที่อยู่ในตัวเรามันอาจจะค่อย ๆ ผ่อนออกมา แล้วไม่ระเบิดจนกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตหรือโรคทางจิตเวช
“การรับฟังของอาสาสมัครของเราจะไม่ใช่การบำบัด รักษา แต่จะเป็นเพื่อนรับฟังความทุกข์หรือปัญหาให้กับคนที่โทรเข้ามาใน Sati App แต่ถ้าหากเห็นว่าเคสนั้นไม่ไหวจริง ๆ อาสาฯ ของเราก็จะช่วยโน้มน้าวให้เขาเข้าสู่กระบวนการรักษา หรือแนะนำช่องทางในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป
“เราอยากสร้างสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นผ่านการรับฟังด้วยใจ ถ้าเราสามารถทำตรงนั้นให้มันเกิดขึ้นได้ คนใกล้ตัวนี่แหละที่จะเป็นด่านแรกที่ช่วยจับชีพจรใจของเราได้ และถ้าเราไม่ไหวจริง ๆ ถึงค่อยไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตเเพทย์ต่อไป”
ความหวังที่จะทำให้คน “ฟัง” เป็น
ปัจจุบัน Sati App มียอดดาวน์โหลดและสมัครใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อพูดคุยกับอาสาสมัครรับฟังอยู่ที่ 44,677 ราย มีการรับฟังและพูดคุยกับคนที่โทรเข้ามาไปแล้วกว่า 8,551 สาย หรือประมาณ 109,328 นาที
“Sati App เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีความหวังที่จะทำให้สังคมของเราดีขึ้นได้ ถ้าเราสามารถที่จะสร้างคนที่เป็นผู้ฟังในสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนนโยบายทางสุขภาพจิตไม่ให้เป็นการพูดถึงแค่ในแง่ของการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญในแง่ของการป้องกันให้มากขึ้นด้วย”
ในวันที่เรารู้สึกว่าจิตใจอ่อนแอ อย่าโทษตัวเอง หรือมองว่าตัวเองแปลกประหลาด เพราะปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ในวันที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ใจ อย่าคิดว่าเราต้องสู้กับมันอยู่เพียงลำพัง ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะช่วยเหลือ รับฟัง หรือถ้าเราไม่รู้ว่าจะพูดหรือระบายให้ใครฟัง สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสติ เพื่อพูดคุยกับอาสารับฟังได้ ที่แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปลอดภัยที่อาจจะช่วยฮีลใจของเราในวันแย่ ๆ ให้ดีขึ้นได้
สามารถดาวน์โหลด Sati App ได้ทั้งระบบ Android และ iOS
อ้างอิง:
ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
Sati App Impact Report 2023-2024