“เป็นงานที่ท้าท้ายดี เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเจอหรือไม่เจอ ไม่รู้เลยว่าในภูเขานี้ ในชั้นหินนี้จะมีหรือไม่มีฟอสซิล ทุกที่มีโอกาสทั้งนั้น”
The O (I)dol พาไปสำรวจอาชีพ “นักบรรพชีวินวิทยา” ผ่านเรื่องราวของผู้บุกเบิกสายงานนี้ในประเทศไทย ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยาคนแรกของประเทศ ปัจจุบันแม้จะเป็นข้าราชการบำนาญวัย 76 ปี แต่ยังคงลงพื้นที่ขุดค้นฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์กว่า 50 ปี นับตั้งแต่ยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีความรู้เรื่องไดโนเสาร์เลยแม้แต่น้อย จนวันนี้มีการค้นพบไดโนเสาร์ในประเทศไทยแล้ว 13 สายพันธุ์ โดย 6 สายพันธุ์เป็นผลงานของ ดร.วราวุธ และทีม
ความหลงใหลในการสำรวจฟอสซิลไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่รุ่นของอาจารย์ แต่ยังส่งต่อมาถึงรุ่นลูก ดร.สุรเวช สุธีธร วัย 43 ปี นักบรรพชีวินวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์เพียง 1 ใน 4 คนของไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์กินพืชคอยาว หรือ “ซอโรพอด” เพียงคนเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้