อัตสึชิ หนุ่มญี่ปุ่นวัย 46 ปี ที่ค้นพบความงามของชีวิต ในวันที่เขาป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม

อัตสึชิ ชิโมซากะ (Shimosaka Atsushi) คือชายหนุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอัธยาศัยเป็นมิตรกับคนรอบ ๆ ตัวเป็นอย่างดี เขาเริ่มเป็นลูกจ้างร้านขายปลาตั้งแต่เรียนหนังสือจบ และวางแผนอนาคตว่าอยากเปิดร้านขายปลาเป็นของตัวเอง ชีวิตกำลังไปได้สวย แต่อยู่ ๆ เขากลับเริ่มสูญเสียความทรงจำไปทีละนิด จนกระทั่งหมอวินิจฉัยว่าเขามีภาวะสมองเสื่อมเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2562)

นี่คือเรื่องราวของชายหนุ่มที่ต้องเผชิญกับภาวะสมองเสื่อม (dementia) ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งเกิดได้ยากมากในคนหนุ่มสาว การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องสูญเสียงานที่รัก และเป้าหมายในชีวิตกลับสูญสลายไป น่าจะเป็นเหมือนฝันร้าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กลับมอบโอกาสใหม่ให้กับ “อัตซึชิ” เขาเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำ เพื่อย้ำเตือนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเจอในแต่ละวัน

แม้ว่าวันนี้ภาวะสมองเสื่อมจะพัฒนารุนแรงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนกลายเป็นเพื่อนรักอีกคนในตัวเขา แต่อัตสึชิกลับใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีความสุข ได้รู้จักตัวเอง ได้มองเห็นชีวิตอย่างลึกซึ้ง และได้เห็นความสวยงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

บางอย่างในตัวผมกำลังเปลี่ยนไป

อัตสึชิเคยทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายปลาสด เขาต้องออกจากบ้านก่อนตีห้าและกลับบ้านหลังสี่ทุ่มทุกวัน แม้จะเหนื่อยยากแค่ไหน แต่เขายังมีความสุขทุกนาทีกับงานที่รัก ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เขาทำงานได้คล่องแคล่วไม่แพ้ใคร เขาจดจำปลาได้ทุกชนิด จดจำลูกค้าได้ทุกคน แต่วันหนึ่งก็มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไป เขาเริ่มหลงทาง ทั้งที่เป็นเส้นทางเดิม หรืออยู่ ๆ เขาก็รู้สึกไม่คุ้นกับเส้นทางนั้นเอาเสียเลย ทั้ง ๆ ที่มันคือทางกลับบ้าน เขาเริ่มหลงลืมออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งบ่อย ๆ ลืมแม้กระทั่งชื่อและใบหน้าของลูกค้าที่คุ้นเคย และนี่คือสัญญาณอันตรายที่เตือนว่าบางสิ่งบางอย่างในตัวเขากำลังเปลี่ยนไป

ในที่สุด อัตสึชิก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม (dementia) ในวัยเพียง 46 ปี

จากชายหนุ่มเปี่ยมฝันท่าทางคล่องแคล่วและรักการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ชีวิตก็กลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง เขาต้องเลิกขี่มอเตอร์ไซค์ หันมาใช้รถประจำทาง บางครั้งเขาก็หลงทางแม้กระทั่งอยู่บนรถเมล์ และบ่อยครั้งที่ต้องพึ่งพาจีพีเอสในการเดินทาง แม้ไปในที่คุ้นเคย ภาวะสมองเสื่อมของเขาพัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แม้กระทั่งก่อนออกจากบ้าน เขายังเผลอสวมแจ็กเกตทับกระเป๋าเป้บ่อย ๆ เพราะลืมว่าต้องใส่มันก่อนจะสะพายกระเป๋า และในท้ายที่สุด เขาก็ต้องลาออกจากงานเนื่องจากไม่อยากเป็นภาระให้เพื่อนร่วมงานอีกต่อไป

“ยิ่งนานวันไปผมยิ่งจำอะไรต่ออะไรได้น้อยลงทุกที ผมแน่ใจว่าความทรงจำพวกนั้นมันต้องอยู่ที่ไหนสักแห่งในหัวผมนั่นแหละ แต่ผมหามันไม่เจอเสียที” อัตสึชิกล่าว

รู้จักตัวเองอีกครั้งในวันสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมของอัตสึชิกัดกินชีวิตเขาและครอบครัว โยชิโกะ (Yoshiko) ภรรยาของเขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน ทั้งดูแลเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ และคอยจัดแจงเรื่องยา ด้วยความเครียดที่สั่งสมทำให้หลายครั้งโยชิโกะระเบิดร้องไห้ออกมา ทั้งสองใช้เวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและการมองโลกในแง่ดีของอัตสึชิทำให้การเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว และกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ได้มีเวลากลับมาทบทวนชีวิต และรู้จักกับตัวเองอีกครั้ง

อัตสึชินึกย้อนไปถึงสมัยมัธยม เขาเคยเป็นเด็กหนุ่มที่คลั่งไคล้การถ่ายภาพ หลังจากเรียนจบ แม้เขาเริ่มทำงานที่ร้านขายปลาทันที แต่ก็ไม่ลืมที่จะออกไปถ่ายรูปอยู่เสมอ และมีฝีมือในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์กับโมเดลขนาดจิ๋วที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ตอนนี้ ภาวะสมองเสื่อมทำให้เขามีเวลากลับมาทำสิ่งที่รักอย่างจริงจังเสียที เขาเริ่มถ่ายภาพมากขึ้นแล้วแชร์ลงบนโซเชียลมีเดีย นอกจากจะช่วยบันทึกความทรงจำย้ำเตือนให้ตัวเองในแต่ละวันแล้ว การได้ใช้เวลาสังเกตสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวก่อนลั่นชัตเตอร์ยังทำให้มุมมองต่อชีวิตของเขาเปลี่ยนไปและนั่นทำให้เขาเริ่มเห็นความหวังอีกครั้ง

ฝันสลายร้านขายปลา กับงานใหม่ที่ให้ความหมายของชีวิต

หลังจากความฝันที่จะเปิดร้านขายปลาของอัตสึชิเป็นอันต้องดับไป เขาเริ่มงานใหม่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Sai-in elderly day service center) ที่นี่มีผู้สูงอายุราว 30 คน และกว่า 80% มีภาวะสมองเสื่อม เขาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเช่น อาบน้ำ สระผม และโกนหนวด ในช่วงแรก อัตสึชิมีปัญหาเรื่องการจดจำใบหน้าของผู้สูงอายุ รวมถึงขั้นตอนการทำงาน เขาจึงพกสมุดจดเล็ก ๆ ไว้ในกระเป๋าอยู่เสมอ เพื่อเตือนว่าต้องทำอะไรต่อไป ความกังวลก่อตัวหมุนเวียนในจิตใจของเขาตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน จนกระทั่งในวันนี้ เขาปรับตัวเข้ากับกับงานใหม่ได้ดีอย่างเหลือเชื่อ และแทบไม่ต้องใช้เจ้าสมุดบันทึกนั้นอีกต่อไป

“โดยปกติเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะสามารถทำหน้าที่ได้หลายบทบาท ไม่ว่าจะอาบน้ำ หรือสร้างความสนุกสนานให้ผู้สูงอายุ และฉันอยากให้เขาได้ทำอะไรที่เขาสามารถทำได้” อายูมิ (Koumoto Ayumi) ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ กล่าวถึงอัตสึชิ

เธอค้นพบความสามารถในการถ่ายรูปของเขา จากนั้นเป็นต้นมา อัตสึชิก็ได้รับมอบหมายให้เป็นช่างภาพประจำศูนย์ดูแลด้วยในอีกบทบาท

“ขอผมถ่ายรูปหน่อยครับ” อัตสึชิเอ่ยปากแกหญิงชรา

“ไม่มีทางหรอก !” คุณยายผมขาวปฏิเสธเสียงแข็งแต่หัวเราะร่วนในขณะกำลังกินไอศกรีม

แล้วเสียงหัวเราะของทั้งสองฝ่ายก็ดังลั่นโต๊ะอาหาร อัตสึชิทำหน้าที่ลั่นชัตเตอร์เพื่อเก็บช่วงเวลาสุดท้ายของพวกเขาไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“ถึงพวกผู้สูงอายุจะบอกว่ามันน่าอายจะตายไป แต่เอาเข้าจริงพวกเขาก็ดูมีความสุขนะ หรืออย่างบางคนก็ยิ้มออกมาเพียงแค่เห็นดอกไม้วางบนโต๊ะ เวลาได้โชว์ภาพถ่ายให้พวกเขาดู แล้วเห็นรอยยิ้มพวกเขา มันทำให้ผมมีความสุข”

การถ่ายภาพทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ และการจับกล้องถ่ายภาพทุกวันก็ช่วยให้เขากลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง นั่นยิ่งทำให้อัตสึชิเริ่มใช้ชีวิตร่วมกับภาวะสมองเสื่อมอย่างมีความหวัง และสิ่งหนึ่งทีเขาได้เรียนรู้จากที่นี่คือ แม้วันที่สมองของเขาจะจำอะไรไม่ได้อีกต่อไปมาถึง แต่เขาเชื่อว่าจะยังคงจดจำความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาทุกช่วงเวลาได้เสมอ เหมือนกับเหล่าผู้สูงอายุในที่แห่งนี้

“ภาพถ่ายพวกนี้ทำให้เห็นว่า แม้พวกเราจะสมองเสื่อม จำอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่ผู้คนยังคงหัวเราะ ยังร้องไห้ได้เหมือนเดิม ความรู้สึกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา มันไม่เคยจากเราไปไหนเลย” อัตสึชิกล่าว

บทเรียนจากลุงซากุระ

คุณลุงมาซูโอะ (Mitani Masuo) วัย 85 ปี คือหนึ่งในชายชราที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อมมาร่วมสิบปี

“คุณลุงทำงานอะไรมาก่อนครับ ?” อัตสึชิถาม

คุณลุงนั่งนิ่งไม่ตอบ

“เคยทำงานด้านการออกแบบใช่ไหมครับ ?”

คราวนี้เขาพยักหน้าเบา ๆ

ทันทีที่อัตสึชิหยิบดินสอสีและกระดาษมอบให้ คุณลุงก็เริ่มวาดดอกซากุระลงไปทันที แม้การพูดของเขาจะเป็นไปอย่างยากลำบาก และดูเหมือนอยู่ในความงุนงงตลอดเวลา แต่เมื่อไหร่ที่อัตสึชิยื่นดินสอและกระดาษให้ เขาจะวาดดอกไม้หลากชนิดที่สวยงามได้เสมอ แม้เขาจะตอบสนองอะไรไม่ได้มากนัก แต่แววตาของเขาก็เปี่ยมสุข ภาพดอกไม้นานาชนิดถูกวาดออกมานับไม่ถ้วนโดยเฉพาะดอกซากุระ และตอนนี้อัตสึชิก็หาแฟ้มสำหรับเก็บภาพวาดของคุณลุงไว้แล้ว

ครั้งหนึ่ง ขณะอัตสึชิเข็นรถเข็นเพื่อพาคุณลุงไปเดินเล่น เขาขอให้หยุดรถที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ค่อย ๆ ลุกขึ้นจากรถเข็นเพื่อทำความเคารพ ที่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คุณลุงให้ความเคารพอยู่เสมอ และจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปแม้ในวันที่เขาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าที่นี่คือที่ไหน

บทเรียนจากการดูแลคุณลุงนี้เอง ที่ทำให้เขาได้เห็นตัวเองในอนาคต เขามองเห็นตัวเองที่จะค่อย ๆ ลืมทุกอย่างไปทีละน้อยในวันที่โรคพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่ร่างกายจะต้านทาน แต่นั่นก็ทำให้อัตสึชิตระหนักได้ว่า แม้ภาวะสมองเสื่อมจะเลวร้าย และพรากทุกอย่างไปจากเรามากเพียงใด แต่บางสิ่งบางอย่างจะยังคงติดตัวเราไปทุกที่ และคงอยู่ตลอดไปแม้ในวันที่เราจำอะไรไม่ได้แล้วก็ตาม

พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ไม่ได้แปลว่าวันนี้จะจบลง แต่แปลว่าวันใหม่กำลังเริ่มต้นต่างหาก

ตอนนี้อัตสึชิไม่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าเหมือนตอนทำงานที่ร้านขายปลาอีกแล้ว การทำงานที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทำให้เขามีเวลามากขึ้น ก่อนไปทำงาน เขามักจะออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะ เขาใช้เวลาสั้น ๆ ชื่นชมธรรมชาติและสิ่งสวยงามรอบตัว ไม่น่าเชื่อว่า มันเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนเลย

“เพราะความไม่แน่นอนกำลังไล่ตามผมไปทุกที่ทุกเวลา นี่คือวิธีการอยู่ร่วมกับภาวะสมองเสื่อมของผม” เขากล่าวสั้น ๆ

อัตสึชิมักจะโพสต์ภาพถ่ายและข้อความสั้น ๆ ที่เป็นเหมือนบันทึกประจำวันไว้ในโซเชียลมีเดีย ตอนแรกเป็นเพียงความอยากส่งต่อพลัง และความรู้สึกเท่านั้น แต่ตอนนี้เรื่องราวของเขากลับได้รับความสนใจ มีผู้ติดตามส่งข้อความให้กำลังใจ ขอคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง หลายคนประทับใจภาพถ่าย และหลายความเห็นยังบอกให้เขาโพสต์ภาพเพิ่มอีกด้วย

ครั้งหนึ่ง เขาโพสต์รูปจานว่างเปล่าเปรอะคราบซอสสีแดงพร้อมข้อความว่า “หลังจากผมกินมื้อเย็นเสร็จ ผมมองเห็นจานว่างเปล่าตรงหน้าแล้วก็นึกสงสัยว่าเมื่อกี้ผมเพิ่งกินอะไรเข้าไปนะ ? แต่ดูจากสีแล้ว เดาว่าเป็นพาสต้ามะเขือเทศแน่ ตอนนั้นผมบอกตัวเองว่า ขออย่าให้ภรรยาจับได้เลย”

น้ำเสียงเรียบ ๆ อารมณ์ดีของเขามักเรียกรอยยิ้มให้กับคนอ่าน และหลายครั้งก็เรียกน้ำตา

นับตั้งแต่วันแรกที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม ความกังวลและความโศกเศร้าไม่เคยหายไปจากชีวิต แต่หลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา รวมถึงช่วงเวลาอันยากลำบากที่ต้องปรับตัว ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากมาย จนกระทั่งวันนี้ เขามีทัศนคติต่อโรคสมองเสื่อมเปลี่ยนไปแล้ว เขาเพลิดเพลินกับชีวิต และรู้จักมีความสุขอย่างลึกซึ้ง

“แต่ก่อนผมเคยคิดนะ ว่าตายไปจะดีเสียกว่า แต่ตอนนี้ผมกลับรู้สึกขอบคุณสิ่งเรียบง่ายธรรมดาที่เรียกว่าชีวิต การที่สมองเสื่อมไม่ได้แปลว่าคุณจะสูญเสียทุกอย่างในชีวิตไป”

แม้ว่าวันนี้ อาการสมองเสื่อมของเขาจะแย่ลงอย่างต่อเนื่อง อัตสึชิต้องกินยาวันละ 1-2 เม็ดทุกวันเพื่อชะลอการพัฒนาของโรค การนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในแต่ละวันกลายเป็นเรื่องยากลำบาก แม้ความทรงจำจะพร่ามัวลงไปเรื่อย ๆ แต่อัตสึชิยังคงจินตนาการถึงเรื่องดี ๆ ในวันพรุ่งนี้อยู่เสมอ

“ภาวะสมองเสื่อมทำให้ผมเสียความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ไป ผมรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเอง รวมถึงกับครอบครัวด้วย แต่มันกลับทำให้ผมได้ครุ่นคิดถึงหลายเรื่อง ผมได้ลองพยายามทำสิ่งใหม่ ๆ มันได้ทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับตัวเองมากขึ้น ได้รู้แล้วว่าจริง ๆ ตัวเองเป็นใคร และทั้งหมดนี้มันทำให้ผมค้นพบตัวเอง”

ในปี 2565 อัตสึชิและภรรยาตีพิมพ์หนังสือรวบรวมภาพถ่ายของเขาตั้งแต่เขาเริ่มเป็นสมองเสื่อมในชื่อ “Kioku to Tsunagu” (Connect with memories) หรือ “เชื่อมต่อความทรงจำ” และกลายเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายรวมถึงผู้ป่วยและผู้ดูแล ภาพถ่ายของอัตสึชิทำให้เรามองเห็นว่าชีวิตนั้นสวยงามเพียงใด และไม่ว่าจะเจอเรื่องเลวร้ายแบบใดในชีวิต ขอเพียงแค่อย่าหมดหวัง ทุกคนจะผ่านมันไปได้อย่างแน่นอนด้วยวิถีของตัวเอง

“ท้องฟ้าสำหรับผม มันไม่ใช่การจบสิ้นของวัน แต่มันคือสะพานที่ทอดไปสู่วันพรุ่งนี้ต่างหาก และมันสวยงามเหลือเกินที่เรายังมีชีวิตอยู่” อัตสึชิกล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณภาพจาก

เนื้อหา

  • https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/ondemand/video/5003208/?fbclid=IwAR28K9cBcK7fbpheogWIeIBJe1MlA6fWOHMcKSC6haZgbSOAUEe8LqgD0zA

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ