รู้เท่าทัน โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ชวนสังเกตพฤติกรรมและแนวโน้มภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เมื่อพูดถึง ‘ภาวะซึมเศร้า’ คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นเฉพาะกับคนวัยหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วภาวะซึมเศร้าก็สามารถเกิดขึ้นในผู้สูงอายุได้เช่นกัน ยิ่งเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษ จนส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

เพื่อความเข้าใจโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง รศ. พญ.กอบหทัย สิทธิรณฤทธิ์ หัวหน้าสาขาจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาอธิบายถึงสาเหตุ และแนะนำวิธีการสังเกตผู้สูงอายุในบ้านว่าพฤติกรรมแบบไหนมีแนวโน้มว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า ไปจนถึงควรทำอย่างไร เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและใช้ชีวิตต่อไปได้

“เราต้องเข้าใจว่า วัยสูงอายุเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง พออายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โรคทางกายก็จะเริ่มตามมา ทำให้มีความกังวลเพิ่มขึ้น อีกทั้งช่วงก่อนเกษียณเป็นช่วงรุ่งโรจน์ของชีวิตแต่พอหลังเกษียณเราอาจกลายเป็นใครก็ไม่รู้ จากแต่ก่อนที่เคยมีตำแหน่ง เคยมีคนห้อมล้อม พอวันหนึ่งเกษียณอายุ ต้องอยู่กับความเงียบเหงา หลายคนทำใจได้ แต่หลายคนก็ทำใจไม่ได้ นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้น คือ เรื่องเงิน โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ตามมาจากการเจ็บป่วย ทำให้ผู้สูงอายุมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้”

โดยอาการเศร้าจะมีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อยไปถึงรุนแรง ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ เพราะหากถูกปล่อยปละละเลย อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ดังนั้น คนในครอบครัวจึงต้องคอยสังเกตอาการและทำความเข้าใจโรคนี้ให้มาก

คุณหมอกอบหทัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สัญญาณแรกที่ควรสังเกต คือ หากเริ่มรู้สึกเศร้าไปหมดทุกเรื่องเกินครึ่งเดือนหรือสองสัปดาห์ ต้องเริ่มนึกถึงภาวะของโรคซึมเศร้าแล้ว ส่วนอาการเบื้องต้นถ้าไม่นับเรื่องของอารมณ์ ก็จะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ความสนใจในสิ่งที่เราชอบเริ่มหายไป เดิมอาจเคยชอบทำกับข้าวมาก แต่พอหลัง ๆ เริ่มรู้สึกไม่สนุกแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มสังเกต หรือเรื่องการนอนไม่หลับ เช่น เดิมคุณพ่อคุณแม่เป็นคนหลับง่าย แต่อยู่ดี ๆ ก็เริ่มนอนไม่หลับ ก็อาจจะอีกเป็นเรื่องที่ต้องคอยสังเกตเช่นกัน”

“นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุยังมีลักษณะพิเศษ คือ อาจจะมีอาการทางกายหลายตำแหน่ง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง และยังมีภาวะอื่น ๆ ที่พบบ่อย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความจำแย่ลง อาการเหล่านี้หากหาสาเหตุไม่พบ อาจจะเป็นอาการของซึมเศร้าที่ซ่อนอยู่ก็ได้

“แต่จริง ๆ โรคซึมเศร้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาหายได้เหมือนปกติ แต่ถ้าเราทิ้งไว้โดยไม่รักษาปัญหา จะทำให้มีอาการรุนแรงตามมาได้ ทั้งยังมีวิจัยว่า หากเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 3 ครั้งขึ้นไป ครั้งละครึ่งชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดซึมเศร้าได้ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เราจัดการความเครียดได้ดีขึ้น”

สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น หากมีคนในครอบครัวที่เข้าใจ มีกลุ่มเพื่อนคอยสนับสนุน ก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น ลูกหลานและคนในครอบครัวควรเอาใจใส่รับฟังผู้สูงอายุในครอบครัวให้มากขึ้น อาจลองหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเพื่อช่วยผ่อนคลาย ให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งและไม่ถูกตัดขาดลูกหลาน ที่สำคัญยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่หากสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเริ่มมีอาการหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ