วิชาชีวิตมนุษย์แม่ สไตล์ ‘อุ้ม’ – สิริยากร พุกกะเวส

‘อุ้ม’ – สิริยากร พุกกะเวส เรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2538 หลังจากนั้นก็เข้าสู่วงการบันเทิง เป็นนักแสดงมากฝีมือและทำอะไรอีกมากมาย ตั้งแต่พิธีกร นักเขียน ไปจนถึงชาวนา

หลังแต่งงานกับสามีชาวอเมริกัน คริสโตเฟอร์ มาร์ควอร์ท (เพื่อนสนิทตั้งชื่อไทยว่า สมคิด) อุ้มย้ายไปใช้ชีวิตครอบครัวแบบเรียบง่ายที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา มีลูกสาวสองคน คนโตชื่อ เมตตา อายุ 8 ขวบ ส่วนคนเล็กชื่อ อนีคา อายุ 5 ขวบ

เมตตามีสุขภาพแข็งแรงเติบโตตามวัย แต่อนีคาพบอาการผิดปกติของยีน เรียกว่า Sturge-Weber Syndrome ซึ่งโดยทั่วไปพบเพียงหนึ่งในห้าหมื่นคน ทำให้เส้นเลือดฝอยที่ตาและใบหน้าขยายตัวผิดปกติ ต้องรักษาไปตลอดชีวิต อนีคาจึงต้องเข้าห้องผ่าตัดตั้งแต่อายุได้ไม่กี่วัน จนถึงวันนี้เข้าห้องผ่าตัดไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง

บทบาทมนุษย์แม่ของอุ้มในชีวิตจริงจึงหนักกว่าบทที่เคยได้รับในการแสดงทุกเรื่องที่ผ่านมา แต่เธอก็สามารถรับมือได้อย่างมีสติเรียนรู้สุขทุกข์ของชีวิตผ่าน ‘วิชามนุษย์แม่’ โดยมีลูกสาวสองคนเป็นครู

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ วันดี สันติวุฒิเมธี เพื่อนร่วมรุ่นนิเทศฯ จุฬาฯ ชวนอุ้มพูดคุยถึงชีวิตมนุษย์แม่ หลังจากย้ายไปอยู่ที่พอร์ตแลนด์ครบสิบปีในหลากมิติ ทั้งชีวิตแม่บ้านในสังคมอเมริกัน วิธีการรับมือกับปัญหาของลูก การวางแผนชีวิตในวัยเกษียณ รวมไปถึงมุมมองต่อความสุขและความทุกข์ในวัย 47 ปีของแม่ลูกสอง

ถ้าเปรียบชีวิตมนุษย์แม่ของอุ้มเป็นรสชาติอาหาร บอกได้เลยว่า ‘ครบรส’ จริงๆ

ชีวิตภรรยาและแม่ลูกสองที่พอร์ตแลนด์เป็นอย่างไรบ้าง

เราเป็นแม่บ้านเต็มตัว ดูแลลูกสองคนเอง ส่วนสามีเราทำงานเป็น counselor ที่โรงเรียนมัธยม คล้ายๆ ครูแนะแนวที่เมืองไทย แต่ที่อเมริกาตำแหน่งนี้เป็นมากกว่าแนะนำเรื่องเรียน เพราะครูจะเป็นที่ปรึกษาชีวิตให้นักเรียนที่อยู่ในช่วงมัธยมต้น ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเลย แล้วเด็กโรงเรียนนี้เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมที่โรงเรียนอื่นไม่รับแล้ว ปัญหาหลากหลายมาก ตั้งแต่ครอบครัวยากจนถึงครอบครัวรวย

นอกจากงานที่ปรึกษาเด็กแล้ว สามีก็เปิดคลินิกของตนเองด้วย ทำให้มีคนมาปรึกษาหลายรูปแบบ ที่นี่เรื่อง counseling ถือเป็นเรื่องปกติมาก ช่วงโควิดยิ่งแล้วใหญ่ สามีรับเคสเต็มจนรับไม่ไหวแล้ว เพราะทุกคนอยากจะพูด อยากระบาย อาจเพราะทุกคนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมาก ทำให้ยิ่งอยากหาคนคุยด้วย

เราเองก็มี individual counselor เหมือนกัน เพราะบางเรื่องเล่าให้สามีฟัง เขาอาจจะไม่ได้ฟังอย่างเป็นกลาง โดยเราจะไปพบ counselor ทุกสองอาทิตย์ ซึ่งการไปปรึกษา counselor ไม่ได้ต้องการให้เขาแก้ปัญหาให้เรา เพราะบางครั้งเราอยากแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงแต่การมีคนมานั่งฟังแล้วช่วยให้เราได้ทบทวน คอยให้คำแนะนำหรือบางครั้งสะท้อนสิ่งที่เราคิดกลับมานั้นช่วยให้เรากลั่นกรองความคิดในหัวออกมาได้ดีขึ้น อาจเพราะสังคมที่อยู่อย่างค่อนข้างโดดเดี่ยวอย่างอเมริกาทำให้เราไม่มีที่ระบาย ไม่มีผู้ใหญ่เป็นที่รับฟังหรือปรึกษา ถ้าอยู่เมืองไทยมีพ่อแม่ก็จะไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง แต่อยู่ที่นี่ต่างคนต่างอยู่ เพราะฉะนั้นอาชีพ counseling จึงเป็นที่ต้องการสูง

ปัญหาสุขภาพของอนีคาไม่ธรรมดาเลย ช่วงที่รู้สึกเศร้ามากๆ อุ้มผ่านมาได้อย่างไร

เราย้อนนึกถึงเรื่อยๆ นะ รู้สึกว่ามันยากจริงๆ ที่จะผ่านไปให้ได้ ช่วงแรกๆ ที่อนีคาต้องเข้าห้องผ่าตัดพ่อเราปกติไม่ชอบนั่งเครื่องบินก็บินมาให้กำลังใจเรา และคอยเป็นเพื่อนเล่นกับเมตตาเวลาเราพาอนีคาไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก ทำให้เรามีแรงต่อสู้ผ่านมาได้

ตอนนั้นบางวันเราก็ติดลบ ไม่รู้จะเอากำลังใจหรือเรี่ยวแรงมาจากไหน ถ้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาให้หาย เราก็จะอยู่ด้วยความหวังว่าสักวันจะต้องหาย แต่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ต้องทำใจให้รับมันได้มากขึ้น จากที่เราไม่เคยคิดว่าจะมีลูกใส่แว่น ลูกเราต้องใส่แว่นตั้งแต่อายุแค่เดือนครึ่ง ตอนนี้ก็เหมือนจะชินไปแล้ว ถ้าลูกไม่ได้ใส่แว่นก็จะรู้สึกแปลก

การเป็นแม่ที่ลูกต้องเข้าห้องผ่าตัดตั้งแต่เล็กๆ อุ้มดูแลใจตัวเองอย่างไร

ปกติวันผ่าตัดเด็กจะเป็นวันจันทร์ ซึ่งต้องอดอาหารก็จะมีภาพเราแบบนี้ลูกตื่นตีสี่ตีห้าร้องไห้หิวนม แล้วปกติเราให้นมแม่อย่างเดียว แม้ลูกพยายามจะดื่มนม แต่เราก็ให้นมลูกไม่ได้เพราะเขาต้องงดน้ำงดอาหาร ถ้าให้พ่ออุ้มแล้วไม่หยุดร้องเราก็จะเอาอนีคาใส่รถเข็น หรือใส่เป้ติดกับตัว แต่ให้หันหน้าออก เพราะถ้าหันหน้าเข้าอกเขาจะอยากกินนมแม่ จากนั้นเราจะพาเขาเดินเล่นรอบๆ ชุมชนแถวบ้านเป็นชั่วโมงเพื่อให้เขาหลับรอเวลาขับรถพาไปโรงพยาบาล พอขับรถไปถึงโรงพยาบาลลูกก็จะไปร้องไห้ที่นั่นอีก จนกว่าจะกินยาที่ทำให้เบลอเราต้องทำแบบนี้มาแล้ว 23 ครั้ง (พูดแล้วถอนหายใจ)

ช่วงตอนยังเล็กก็ยากแบบหนึ่ง พอโตก็ยากอีกแบบหนึ่ง เพราะเขารู้เรื่องแล้ว แล้วเขาก็เริ่มจำได้และพูดออกมาได้ มีอยู่วันหนึ่งนั่งเล่นกันอยู่ อยู่ดีๆ อนีคาก็พูดขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษว่า “แม่ หนูไม่ชอบความโดดเดี่ยวในห้องนั้นเลย” เราก็ถามว่า “ห้องอะไรคะลูก” แล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าเขาหมายถึงห้องผ่าตัด ก็เลยรีบเอาลูกมากอด เพราะเวลาเข้าไปในห้องผ่าตัด เขาต้องเข้าไปตามลำพัง เป็นห้องเย็นๆ มีแสงสว่าง มีแต่คนแปลกหน้า แล้วก็มีคนเอาเข็มมาจิ้ม เอาอะไรมาครอบหน้าเขา แม่ก็ไม่อยู่ เขาบอกว่า อันนั้นคือสิ่งที่เขาไม่ชอบแล้วเราก็ไม่รู้จะช่วยยังไง เราเคยขอเข้าไปครั้งหนึ่ง ช่วยลูกก็ไม่ได้ช่วย แม่ก็ทรมานใจอีก

เวลาจะเข้าห้องผ่าตัดเขาจะให้กินยาตัวหนึ่งเป็นยาหวานๆ ซึ่งหากลูกเป็นหวัดจะต้องกินยาที่มีรสชาติคล้ายๆ กัน วันไหนลูกเป็นหวัดแล้วต้องกินยา ลูกเราจะร้องบ้านแตกเลย ให้ตายยังไงก็ไม่กิน เหมือนเป็นบาดแผลที่เขาจำฝังใจ

แล้วสามีรู้สึก อย่างไรบ้าง

สามีรับฟังเรื่องหนักๆ ของคนอื่นมาเยอะ พอถึงปัญหาลูกตนเองกลับอ่อนแอมาก เรายิ่งต้องเข้มแข็งมากขึ้น เวลาพาอนีคาไปโรงพยาบาล เราจะขอไม่ให้เขาไปด้วยเพราะไม่งั้นต้องคอยปลอบสามีอีกคน เพราะเขาสงสารลูกมาก เลยให้อยู่บ้านกับเมตตา

อนีคาเริ่มไปโรงเรียนแล้ว อุ้มเป็นห่วงเรื่องอะไรบ้าง

ตอนเริ่มไปโรงเรียนอนุบาล เราต้องคุยกับครูเรื่อยๆ ช่วงวันแรกๆ ที่ไปโรงเรียน เราก็จะถามว่าวันนี้เล่นกับใคร เขาก็จะตอบว่ า “เล่นคนเดียว” ตอบแบบนี้อยู่เป็นอาทิตย์ เราก็ถามว่า ทำไมไม่เล่นกับเพื่อน เขาก็บอกว่า เขาเล่นเองคนเดียว แล้วเขาก็เล่าว่ามีคนมาจ้องเขาแปลกๆ นี่ขนาดใส่แมสก์นะ เราเลยไปคุยกับครู ครูก็จัดการได้ดีมากเลย

วันรุ่งขึ้น ครูให้เด็กๆ มานั่งคุยกันเรื่องปาน โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะคุยเรื่องอนีคา เขาก็ถามเด็กๆ ว่าใครมีปานตรงไหนบ้าง เด็กแต่ละคนก็จะบอกว่า มีปานตรงนั้นโน้นนี้ ครูก็บอกว่า คนเราเกิดมาแตกต่างกัน บางคนก็ผมสีดำ บางคนก็มีปานตรงนั้นตรงนี้ เย็นวันนั้นอนีคากลับบ้านด้วยสีหน้าร่าเริงมากขึ้น เล่าว่า คนนั้นมีปานที่แขน คนนั้นมีที่หลัง แล้วหนูก็มีปานที่หน้า ก็ต้องขอบคุณครูที่รับมือได้ทันที แล้วทำให้เด็กทุกคนรู้สึกว่าการมีปานเป็นเรื่องปกติ

การปฏิบัติธรรมที่เคยเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ช่วยอะไรได้บ้างไหม

การปฏิบัติธรรมสำหรับเราไม่ใช่การไปเพื่อให้สงบ แต่คือการทำให้เรามีสติเข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เราพัฒนาปัญญาของตนเอง และนำออกมาใช้กับโลก ทำให้เรารู้เท่าทัน รับมือกับสิ่งต่างๆ และความขึ้นลงของชีวิตได้ดีขึ้น รวมถึงการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ว่านี่คือสภาวะอะไรที่กำลังเกิดขึ้นกับเราตอนนี้ กลัวก็คือกลัว เสียใจ โกรธ ดีใจ ถ้าหลังการรักษา แรงดันในตาลดได้ ดีใจจังเลย แต่ก็รู้ว่าเดี๋ยวจะต้องเกิดภาวะใหม่อีก เหมือนที่พ่อเราพูดเสมอว่า สุขทุกข์อยู่บนระนาบเดียวกัน ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร

นี่คือสิ่งที่เราฝึกฝนปฏิบัติเรียนรู้มา เป็นช่วงเวลาที่เราจะนำมาใช้ ถ้าเราไม่ได้ฝึกมาประมาณหนึ่ง เราก็อาจจะไม่สามารถรับมือกับเรื่องนี้อย่างมั่นคง และใช้สติปัญญาในการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ คิดว่าเราจะแก้ไขยังไง เลือกตัดสินใจ ทำให้เราลุล่วงไปทีละขั้น เหมือนเราฉีดวัคซีนมา ถามว่าเมื่อเจอเชื้อ ป่วยไหม เราก็อาจจะป่วยได้ แต่ไม่ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลไม่ถึงตาย

เป็นแม่อุ้ม ต้องเข้มแข็งตลอดเวลาไหม

แล้วแต่สถานการณ์ ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ลูกต้องเข้าไปในห้องผ่าตัดแล้ว ไม่ใช่เวลาที่แม่จะร้องไห้ แต่ถ้าลูกกลับมาบ้านแล้วระหว่างรอให้ยาสลบหมดฤทธิ์ ลูกมีอาการประหลาดขึ้นมา เราก็เป๋ได้เหมือนกัน คือถึงจะพยายามเข้มแข็งตลอดเวลา แต่บางครั้งถ้าเราไม่ไหวจริงๆ ก็คือไม่ไหวจริงๆ เราร้องไห้ให้ลูกเห็นประจำเลย ไม่ใช่ร้องไห้แค่เสียใจนะ บางทีดูหนัง ฟังเพลงซาบซึ้ง แล้วน้ำตาไหลออกมา เราก็น้ำตาไหลให้ลูกเห็น ลูกก็จะบอกว่า อ้าว แม่ร้องไห้ แม่ก็จะบอกว่าเป็น tear of joy นะลูก เป็นน้ำตาแห่งความตื้นตัน แม่ก็ร้องไห้ได้ เราไม่ปิดบังอารมณ์กับลูก โมโหจบแล้ว แม่ก็ขอโทษ บอกลูกว่าอันนี้ไม่ดี แม่ก็ไม่ชอบที่แม่เป็นแบบนี้นะ แต่มันเกิดขึ้นได้ เราไม่ได้คิดว่าเราต้องสร้างแม่บนหิ้งให้ลูก

เราให้ลูกรู้ว่าแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เพราะเวลาเราหลุด นอกจากอารมณ์ในขณะนั้น มันยังมีความรู้สึกผิดอีกชั้นหนึ่งว่าการโมโห โกรธ เสียใจ ทำให้เราไม่ใช่แม่ในอุดมคติ เวลาที่เราเกิดอารมณ์เหล่านั้น เราจะรู้สึกผิดหวังกับตัวเองซ้อนทับกับสิ่งที่เรากำลังผิดหวังอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกว่านี่เราไม่ใช่แม่ที่ควรจะเป็น มีความคาดหวังกับตัวเองด้วย จริงๆ แล้วมันทำให้เรายิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะเราไม่เคยนึกเลยว่าเราจะเป็นแม่ที่องค์ลงได้ขนาดนี้ ก่อนหน้านี้นึกว่าตัวเองไม่ค่อยโกรธอะไรใครด้วยซ้ำ

คติชีวิตคู่ของอุ้มคืออะไร

การให้พื้นที่ระหว่างกันในชีวิตคู่สำคัญมาก คนเราอยู่ด้วยกันไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนกันทุกอย่าง แต่จำเป็นต้องหากิจกรรมที่ทำด้วยกันบ้าง เพื่อให้ ได้ ใช้เวลาร่วมกัน

แบ่งบทบาทการดูแลลูกกันอย่างไร

โดยทั่วไปแม่ดูแลเรื่องการกินอยู่ ประสานงานที่โรงเรียน หาหมอ หาเพื่อนเล่นลูก ส่วนพ่อจะมาเล่นสนุก เพราะพ่อทำงานเป็นส่วนใหญ่ อ่านหนังสือกับลูกเยอะ หาอะไรมาเสริมความรู้ เพราะเขาเป็นครู

พ่อกับแม่ ลูกกลัวใครมากกว่ากัน

กลัวพ่อสิ เพราะแม่เป็นของตาย พ่อดุ มีกฎระเบียบมาก ถ้าพ่อว้ากขึ้นมาที ลูกกลัวมากกว่าแม่เยอะเลย

ให้ลูกเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ได้มากแค่ไหน

ดูหนังด้วยกันบ้าง แล้วก็ให้ดูการ์ตูนใน Netflix ลูกเรามีวินัยมาก ถ้าให้ดู 15 นาที ตั้งเวลาไว้ พอนาฬิกาเตือนปุ๊บ เขาก็ปิดทันที เราให้ดูแต่ช่องที่ไม่มีโฆษณา แล้วเวลาดูใน Netflix เราจะรู้ว่าลูกดูรายการอะไรได้บ้าง ถ้าให้ดูยูทูบ เราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเด้งขึ้นมาบ้าง เพราะเราปิดไม่ทัน แล้วอุปกรณ์ของเราก็มีพาสเวิร์ด เขาเข้าเองไม่ได้ แม้ว่าเขาจะมีเครื่องแท็บเล็ตสำหรับเรียน แต่ก็เข้าเน็ตเองไม่ได้เช่นกัน เพราะเราตั้งพาสเวิร์ด Wi-Fi ยาวเหยียดให้ลูกจำไม่ได้ เราเองยังจำไม่ได้เลย ต้องไปถามสามี (หัวเราะ)

กฎบ้านเราที่โต๊ะกินข้าว ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เพราะเรารู้สึกน่าเศร้ามากเลย เวลาเห็นครอบครัวกินข้าวแล้วทุกคนก้มหน้าเล่นมือถือของตัวเอง ตอนนั้นกลับเมืองไทย เห็นครอบครัวหนึ่งไปกินอาหารร้านเดียวกัน คุณยายเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เล่นมือถือ คุณยายก็นั่งรอพ่อแม่เล่นมือถือ ที่อเมริกาก็เป็นเหมือนกัน แต่ที่บ้านเราเราจะบอกว่า เวลาอาหารเป็นเวลาของทุกคนในครอบครัว ตอนนี้เขายังเด็ก เขาก็เชื่อฟัง แต่พอเป็นวัยรุ่น เราก็ไม่รู้ว่าเราจะต้านทานได้มากแค่ไหนเหมือนกัน

ให้ลูกเล่นเกมไหม

เกมเดียวที่เขาเล่นคือซูเปอร์มาริโอ เขามีเล่นเกมของโรงเรียนซึ่งเป็น educational game

นิสัยลูกทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เมตตาค่อนข้างจริงจัง ทำอะไรมุ่งมั่น แต่ก็เป็นเด็กสนุกสนาน เพื่อนเยอะด้วย ส่วนอนีคาเป็นคนขำๆ บ๊องๆ แต่เวลาเผชิญปัญหาจะมีลูกฮึด ผ่านอะไรยากๆ ได้ ล้มแล้วลุกเอง ทั้งสองคนอยู่ด้วยกันทั้งวัน เลยชอบอะไรคล้ายๆ กัน อย่างชอบเพลง ชอบเต้น ชอบอ่านหนังสือ (มาก) ชอบทดลองวิทยาศาสตร์ แล้วก็ชอบวาดรูปแต่งเรื่อง เมตตาเห็นเรียบร้อยๆ แต่เวลาเล่นกีฬานี่ไม่กลัวใคร

กิจกรรมที่อุ้มชอบทำกับลูกมากที่สุดสามอย่างมีอะไรบ้าง

หนึ่ง ไปเดินป่า ถ้าหน้าร้อนก็ไปแคมปิง สอง ทำขนมกับทำอาหาร สาม อ่านหนังสือ แล้วใช้แรงบันดาลใจจากหนังสือที่ชอบช่วงนั้นทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ตอนนี้ชอบ Wizard of Oz ก็ตัดชุดสีฟ้าเหมือนโดโรธี แล้วเล่นละครกัน อ้อ อีกอย่างที่ทำเยอะมาก คือเล่นบอร์ดเกม (เกมกระดาน) ที่นี่มีเกมเยอะมาก มีร้านบอร์ดเกมโดยเฉพาะหลายร้านเลย

กิจกรรมครอบครัวหลังจากโควิด -19 ระบาดทำอะไรกันบ้าง

ยิ่งโควิดระบาด ยิ่งไปอยู่ในธรรมชาติเยอะ เพราะไม่ต้องเจอคนมาก hiking trail บางแห่งไม่มีคนอื่นเลยชอบมาก อยู่พอร์ตแลนด์ ขับรถชั่วโมงกว่าๆ ข้างหนึ่งเป็นทะเล อีกข้างเป็นภูเขา ซัมเมอร์สองปีที่ผ่านมา ครอบครัวเราไปแคมปิงกันเยอะมาก เป็นการเที่ยวที่ถือว่าปลอดภัยมากเลยสำหรับช่วงโควิด ไม่ต้องไปเจอคนเยอะแบบอยู่โรงแรม

สิ่งที่ชอบมากที่สุดในพอร์ตแลนด์คืออะไร

หนึ่ง ความใกล้ชิดธรรมชาติ ที่นี่ต้นไม้เยอะมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้พอร์ตแลนด์เคยได้ชื่อว่าเป็น stumptown เพราะตัดต้นไม้เยอะจนทั้งเมืองมีแต่ตอ แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์จริงๆ ว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน เพียงแค่ไม่ถึงชั่วชีวิตคนคนหนึ่งเมืองก็กลับมาเป็นสีเขียวได้อย่างน่าอัศจรรย์ คือแค่นั่งอยู่ในบ้าน มองออกไปนอกหน้าต่างบานไหนก็เห็นสีเขียว (ไม่ได้เวอร์นะ พูดจริงๆ) เดินจากบ้านไปสิบห้านาทีก็เป็นภูเขาให้ไปปีนเขาได้ ขับรถไปอีกฟากก็เป็นอีกภูเขาทั้งที่ยังอยู่ในตัวเมือง

สอง คนยังกล้าทำอะไรใหม่ๆ และคนในชุมชนก็สนับสนุนด้วย หมายถึงในแง่การทำธุรกิจเล็กๆ นะ คือถ้ามีจุดเด่นจริง ตั้งใจจริง ของดีจริง คนก็จะช่วยกันอุดหนุนให้รอด

สาม คนที่นี่เป็นนักกิน เพราะฉะนั้นเลยมีอะไรดีๆ ถึงๆ ให้ได้กินทุกอย่าง คนบ้าความออร์แกนิกและดีต่อสุขภาพด้วย ชอบความคราฟต์ด้วย ของกินเลยมีคุณภาพมาก

ลูกรู้ไหมว่าแม่เคยทำอะไรมาบ้างที่เมืองไทย

ตั้งแต่เกิดมาเขาเห็นแต่แม่อยู่กับลูก ไม่เคยเห็นแม่ทำงาน แต่เพิ่งมาพักหลังนี้เองที่ลูกรู้ว่าแม่เคยทำงานมาก่อน เพราะเขาไปเห็นวิดีโอเก่าๆ ที่แม่เคยเล่นละครเวที ลูกสองคนพูดพร้อมกันว่า ‘แม่…แม่ดูเด็กมากเลย’ ฟังแล้วอยากหักคอจิ้มน้ำพริก (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นเราอายุ 20 กว่าเอง เริ่มเห็นแมกกาซีนที่มีภาพแม่ เขาจะเริ่มรู้ว่าแม่เคยทำงานที่เมืองไทยนะ แต่พ่อก็คอยบอกลูกนะ ว่าเมื่อก่อนแม่ทำโน่นทำนี่ เพราะเขาก็อยากให้ลูกเคารพแม่ด้วย เขาอยากให้ลูกเข้าใจว่าแม่มีชีวิตแบบอื่นด้วยเช่นกัน

ทำไมพ่อต้องทำให้ลูกเคารพแม่ ทั้งๆ ที่แม่ก็ดูแลลูกเป็นหลัก

เพราะการเป็นแม่บ้านไม่ได้รับการให้ค่ามากเท่ากับการทำงานนอกบ้าน มันไม่ได้มีมูลค่าทางการเงิน ไม่ได้ถือว่าเป็นการทำงาน ถือเป็นหน้าที่ เวลาเจอคนถามว่าแม่ทำงานอะไร เด็กก็มักจะตอบว่า แม่ไม่ได้ทำงานคือ stay at home แต่การออกไปนอกบ้าน ทำงานหาเงิน ถือว่ามันมีมูลค่า ลูกๆ รู้ว่าสิ่งที่แม่ทำมี ‘คุณค่า’ แต่ลูกมองว่าพ่อไปทำงานได้เงินมาให้เขาซื้อของ เขารู้สึกว่าแม่ไม่ได้เลี้ยงดูครอบครัว (คำว่า ‘ดูแล’ กับ ‘เลี้ยงดู’ ครอบครัวในความรู้สึกของลูกต่างกัน) สิ่งที่แม่ทำเหมือนกับเป็นผู้สนับสนุนสิ่งต่างๆ ในครอบครัวให้ขับเคลื่อนไปได้

การที่ลูกรู้ว่าแม่เคยทำงาน ทำให้ลูกรู้สึกอย่างไร

เราไม่รู้ว่าในสมองน้อยๆ เขาคิดอะไร ตอนนี้อายุ 8 กับ 5 ขวบ เราเขียนหนังสือเรื่อง Alternative Parenting เขาก็จะขอนำหนังสือไปไว้ในห้องตัวเองคนละเล่ม แล้วก็บอกว่าเป็นหนังสือของเขา เพราะมีรูปเขาเต็มเลย เขาจะให้ค่ากับอะไรที่จับต้องได้ เห็นหนังสือ เห็นคลิปวิดีโอ เขาเอาเราไปผูกกับอะไรบางอย่างได้ ความเป็นแม่เป็นนามธรรมสำหรับเขา เรื่องนี้มันซับซ้อนนะ งานของคนกี่คนที่รวมอยู่ในตัวแม่ ถ้าแม่ไปทำงานนอกบ้าน เราต้องจ้างคนสวน แม่บ้าน คนขับรถ แต่งานแม่บ้านจะถูกมองว่าเป็นงานไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง (unskilled labor) งานปัดกวาด ทำกับข้าว

แม้แต่เราเอง เราก็ยังอยากทำงานสร้างสรรค์ที่ได้ใช้สมองคิดโปรเจกต์ไปด้วย เราชอบคิดโปรเจกต์ คิดแก้ไข แก้ปัญหา เอาจริงๆ เวลาดูแลบ้านเหมือนเราทำไปเป็นวิถีชีวิต บางทีเราอยากได้เจอคนอื่น ได้พูดคุยมีบทสนทนาที่นอกเหนือไปจาก ‘วันนี้จะกินอะไร’ เหมือนให้สมองได้ไปรับข่าวสารอย่างอื่น ทำให้เราไม่ได้อยู่แค่ตรงนี้อย่างเดียว

เราเป็นแม่มา 8 ปี กลัวการกลับไปทำงานมากเลย กลัวทำไม่ได้ คนจำนวนไม่น้อยเลย ที่เคยทำงานเยอะ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นแม่เต็มเวลานานๆ จะมีความกลัวว่าจะกลับไปทำงานได้ยังไง เราเคยเป็นพิธีกรต่อหน้าคนเป็นพัน พอมานึกตอนนี้แล้วเรากลับรู้สึกกลัว

ตอนนี้ลูกไปโรงเรียนแล้ว อุ้มก็เริ่มมีเวลามากขึ้นแล้วสิ

เราดีใจมากที่ตอนนี้เริ่มมีเวลาออกไปทำงานบ้างแล้วนะ พอดีมีร้านขายของไลฟ์สไตล์ พวกของดีไซน์ และของขวัญต่างๆ ซึ่งเราไปซื้อบ่อยๆ อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างคุยสัพเพเหระกับเจ้าของร้านเขาก็บอกว่า ต้องการหาคนมาช่วย ตอนนั้นลูกกำลังจะไปโรงเรียนเต็มเวลา เราเลยไปทำงานพาร์ตไทม์ได้ แต่ก็ทำอาทิตย์ละไม่กี่วันนะ เฉพาะช่วงเช้าที่ลูกไปโรงเรียน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก แค่เปิดร้านขายของ เจอลูกค้าเช็กสต็อกของ รายได้ไม่เยอะหรอก แต่เรารู้สึกว่าเราได้ออกจากบ้าน ได้เริ่มกลับไปสู่การทำงานที่เราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ได้สตางค์ มาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ

พอไปทำแล้วเป็นอย่างไร

ปรากฏว่ามันดีมากๆ เราก็ทำเกินหน้าที่ไปเยอะมาก ประมาณจ้างสองพันทำสองแสน (หัวเราะ) ทำให้เรารู้สึกมั่นใจที่จะกลับไปทำงานขึ้นมาอีกครั้ง ทำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เราไม่เคยทำร้านขายของมาก่อนในชีวิตนี้ แต่แป๊บเดียวเราก็เรียนรู้ได้ มีสินค้า 100 กว่ารายการให้ไล่อ่าน ศึกษาทุกอัน ธรรมชาติของเด็กนิเทศฯ ก็จะมีความสนใจใคร่รู้เรื่องต่างๆ พอจะทำงานก็เอาธรรมชาตินี้ไปใช้ได้โดยอัตโนมัติ เราไม่ดูถูกงานที่เราทำ จริงๆ สามีก็ถามว่า ถ้าอยากทำงานจริงๆ ไปทำงานที่สมกับที่คุณมีความรู้ดีไหม แต่เราก็บอกว่า ไม่นะ เราคิดว่าเราจะเรียนรู้อะไรจากงานนี้มากกว่าที่คุณคิด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานเลิศหรู

ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่นี่บ้าง

เราเลือกสิ่งนี้เพราะเราอยากเรียนรู้การเป็น maker ว่าถ้าจะเริ่มธุรกิจเล็กๆ ของตนเองจะเริ่มยังไง เราเห็นหลายแบรนด์มากเริ่มจากในครัวแล้วขยายเป็นกิจการใหญ่โต เรื่องราวแบบนี้ในอเมริกามีเยอะมาก โดยเฉพาะที่พอร์ตแลนด์ เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าเราไม่ได้มาทำอันนี้เพียงเพื่อแค่ทำขำๆ อยากได้เงิน แต่มีเป้าหมายสำคัญที่มีประโยชน์กว่านั้น เราชอบซื้อของที่ร้านนี้ เพราะแต่ละแบรนด์ที่เลือกมามันน่าสนใจ พอไปทำเราก็สนุกที่จะได้รู้จักแบรนด์ต่างๆ ที่เราชอบ เป็น creative store

พอไปทำงานแล้ว หน้าที่การดูแลลูกเปลี่ยนไปไหม

เราไปทำงานอาทิตย์ละ 3-4 วัน และยังไปส่งลูกรับลูกเหมือนเดิม ลูกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราหายไป เพราะลูกไปโรงเรียน เขารู้ว่าแม่ไปทำงาน เพราะเราพาไปที่ร้าน ลูกก็เลยตื่นเต้นใหญ่เลย อยากทำงานบ้าง สมมติเขาอยากได้ของเล่นอันหนึ่ง เขาก็บอกว่า งั้นทำงานดีกว่า เพราะแม่ทำงาน เราก็จะบอกว่า ช่วยแม่เอาผ้าใส่เครื่องซักผ้าให้ 25 เซ็นต์ เขาก็เก็บเงินไปซื้อของที่เขาอยากได้ ไม่อย่างนั้นอยากได้อะไรก็ได้

ความสุขความทุกข์ ณ วันนี้มีเรื่องอะไรบ้าง

ทุกข์ก็ยังทุกข์อยู่เวลาที่เราช่วยลูกไม่ได้ ไม่ใช่แค่อนีคา แต่เมตตาก็ด้วย เขาเริ่มโตแล้วมีความรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ก็ไม่ค่อยมีอะไรให้เรากังวลมาก เรามีความทุกข์กับความกลัวว่าถ้าสามีเราเป็นอะไรไป แล้วเราจะทำยังไง เพราะเราไม่ใช่เป็นคนหารายได้หลักในครอบครัว ก็จะมีความทุกข์ที่หาเรื่องให้ตัวเองทุกข์แบบนี้ บางทีก็จะมีความคิดแวบๆ แบบนี้ขึ้นมา แต่โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์ เพราะมีคนที่ทุกข์มากกว่าเราอีกเยอะมาก คนที่ไม่มีประเทศจะอยู่ คนที่ไม่อาหารจะกิน คนที่ไม่มีบ้านจะอยู่

เวลาทุกข์นำธรรมะมาช่วยทำให้ความทุกข์คลายไปบ้างไหม

เราจะหาก่อนเลยว่าความรู้สึกอยู่ตรงไหนในร่างกายของเรา เช่น ความกลัวแผ่ซ่านที่หัวไหล่ โกรธมาเป็นริ้วที่หัวด้านขวา ความกังวลมวนๆ มาในท้องแล้ว พยายามจับรู้สึกว่าความรู้สึกอยู่ตรงไหนในร่างกาย ไม่ให้เป็นแค่ความคิดนามธรรม แล้วพอรู้ว่ากำลังโกรธ เราก็จะกลับมาอยู่กลับตัวเอง เป็นโกรธที่รู้สึกได้ รู้ว่ามันมาแล้วอยู่ตรงนี้ แล้วเดี๋ยวมันก็หายไป มันเป็นวิทยาศาสตร์มากเลย

เมื่อก่อนเรากดความโกรธของตัวเองเอาไว้ คิดว่าคนที่โมโหไม่ดี เป็นคุณสมบัติที่แย่ เราต้องไม่โกรธ แต่จริงๆ เรากดทับถมเอาไว้ พยายามระงับความโกรธ การระงับในระยะยาวมันไม่ช่วย แต่การอยู่เฉยๆ ดูมัน มันต่างกัน เพราะจะเห็นว่ามันมาแล้วมันก็ไป อย่างนั้นมันง่ายกว่า ถ้าสะสมความโกรธไว้ก็จะกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด แต่เราว่ามันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากทำความเข้าใจเรื่องแบบนี้

ถ้าให้อนีคากับเมตตาเป็นวิชาเรียนของแม่อุ้ม คิดว่าเป็นวิชาอะไร

วิชามนุษย์เลย เพราะต้องรับมือกับทุกอารมณ์ บางครั้งก็มีอารมณ์แวบๆ ขึ้นมา เวลาเห็นคนมีลูกสองคน แล้วลูกเขาปกติ ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอะไรเลย บางครั้งเราก็คิดว่า ง่ายดีเนอะ (หัวเราะ)

ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่เกิดมาพร้อมคู่มือ เราก็เหมือนกับพ่อแม่ทั่วไป ทุกคนกลายเป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องอาศัยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด กันหมด แล้วต้องเรียนรู้ไปว่าเราจะเป็นพ่อเป็นแม่ยังไงในแต่ละวัน และในระยะยาว

เราอาจไม่ได้เกิดมาพรั่งพร้อม แต่โอกาสในชีวิตของเด็กสองคนนี้สูงกว่าเราและสามี ลูกอยากได้อะไรก็ได้ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน เราจะทำยังไงที่จะไม่ให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กที่มีปัญหากับเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหา คนอื่นเขามีปัญหาจริงๆ แต่อยากให้เขาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อโลก และเข้มแข็งแต่ต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่น

การเป็นมนุษย์แม่ที่มีลูกป่วย ต่างจากมนุษย์แม่ที่มีลูกไม่ป่วยไหม

มันมีความอยากจะต่อสู้มากขึ้น เหมือน hyper sensitive กับเรื่องต่างๆ มากกว่าคนทั่วไป ปกติเรากับสามีก็เป็นคนเซนซิทีฟมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพอมีเรื่องแบบนี้ เกิดเรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็มีความอยากปกป้องลูก แต่เราก็ต้องคอยห้ามตัวเองด้วย ไม่ให้ก้าวก่ายมากเกินไป บางอย่างอาจไม่ใช่ปัญหาก็ได้ แต่เหมือนเราอาจคิดไปเอง ทำให้มีแง่นั้นมากขึ้น

ตอนนี้ชีวิตพวกเราก็ใกล้จะแตะเลขห้ากันแล้วเนอะ (หัวเราะ) อุ้มคิดอย่างไรกับคำว่าเกษียณ

ถ้าในความหมายว่าไม่ต้องทำงานหาเงิน เราคิดตั้งแต่ตอนอายุ 25 แล้ว ตอนนั้นทำงานได้เงินเยอะ เราก็เก็บเยอะด้วย เพราะเรารู้ว่าเราจะไม่ได้หาเงินเยอะได้แบบนี้ไปตลอด เราเริ่มลงทุนซื้อกองทุน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เราก็มีแผนการเงินของเราว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละปี ปีไหนจะได้เงินคืนจากอันไหนเท่าไหร่ เราลงทุนระยะยาวเอาไว้ตั้งแต่อายุ 25 แล้ว คิดว่าอายุ 35 จะเลิกทำงานหาเงิน ตอนนั้นคิดไปถึงอายุ 80 ปี คิดย้อนกลับมาว่าจะใช้เงินปีละเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นยังไม่มีสามี ไม่มีลูก

แต่หลังจากมีลูกต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่หมดเลย ตอนนี้ไม่มีคำว่าเกษียณในแง่นั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะคนในรุ่นเราไม่ได้ทำงานเหมือนสมัยก่อน เราทำงานเหมือนเป็นโครงการ แล้วอายุคนเราอยู่ไปอีกนานขึ้น ยังสามารถทำงานได้ ไม่ใช่หกสิบปุ๊บ หมดสภาพต้องเลิกทำงานแล้ว ซึ่งเราเองก็ ไม่ใช่คนแบบนั้นด้วย ไม่เคยคิดว่าจะเกษียณตอนอายุหกสิบ ยิ่งพอเป็นแม่แล้ว ยิ่งไม่รู้ว่าความเป็นแม่จะเกษียณตอนไหน ไม่ต้องพูดถึงเกษียณ เป็นแม่จะลาป่วย ลาเข้าห้องน้ำยังไม่ได้เลย นอกจากงานที่เราไปทำที่ร้าน ตอนนี้ก็คิดธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำเองที่นี่เหมือนกัน

ความสุขของเราคือการได้คิดงาน ได้ทำงาน ได้ทำอะไรต่อมิอะไรให้ดีขึ้น มันเป็นธรรมชาติของเรา

อยากทำธุรกิจอะไรที่พอร์ตแลนด์

เราเป็นมังสวิรัติ เป็นคนไทย ทำอาหารกับคุณย่ามาตั้งแต่เล็กๆ เราอยู่ที่นี่มาสิบปีแล้ว เราอยากพูดเรื่องนี้กับคนที่นี่ เราเชื่อว่าการกินอาหารที่มาจากพืชมันดีต่อโลกนี้มากกว่า ยังไม่มีคนไทยที่พูดเรื่องอาหารไทยมังสวิรัติในระดับสากลมากนัก

วางแผนจะกลับมาเมืองไทยไหม

รอลูกเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสองคนก่อน อีกสักสิบกว่าปี ค่อยไปกันสองตายาย

ทำไมอยากกลับมาอยู่เมืองไทย

อยู่ที่นี่ก็สนุก สะดวกสบาย มีสิ่งที่สอดคล้องกับความสนใจ และการใช้ชีวิตของเรา เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนนอก แต่คิดว่าถึงจุดหนึ่งก็คงกลับไปอยู่เมืองไทยครึ่งหนึ่ง อยู่ที่นี่ครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ลูกๆ ของเรารู้สึกว่าตนเองเป็นอเมริกัน อนีคายังไม่เคยไปเมืองไทยเลย เขารู้แค่ว่าแม่เป็นคนไทย

เวลาคิดถึงเมืองไทย นึกถึงอะไรบ้าง ลองบอกมาสักสามอย่าง

หนึ่ง ข้าวต้มและตลาดโต้รุ่ง คิดถึงผักบุ้งไฟแดงและต้มยำเห็ดใส่นมคาร์เนชันมากถึงมากที่สุด

สอง ร้านเสื้อพี่กบ โซดา ทุกวันนี้เวลาเอาเสื้อโซดามาใส่ (และยังใส่บ่อยๆ) ทุกคนถามตลอดว่าเสื้อซื้อที่ไหน ภูมิใจแทน ไม่มีเสื้อผ้าแบรนด์ไหนในโลกเหมือนจริงๆ

สาม เชียงใหม่ อยากกลับไปอยู่สัก 1 เดือน เชียงใหม่กับพอร์ตแลนด์มีอะไรคล้ายๆ กันเยอะ

ชีวิตนี้ทำอะไรมามากมาย งานที่รักมากที่สุดคืองานอะไร

การเป็นนักแสดง ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าชอบการแสดง แต่พอได้ทำและทำได้ ก็พบว่าเป็นสิ่งที่รักมากที่สุดเลย อีกอย่างที่ชอบคือการเป็นโปรดิวเซอร์ คือคิดรายการโทรทัศน์หรือทำหนังสือ แล้วหาคนดีๆ มาทำงานด้วยกัน เราชอบทำงานเป็นโปรเจกต์ๆ ไป จบแล้วก็ขึ้นงานใหม่

ความสุข ณ วันนี้อยู่ตรงไหนบ้าง

นั่งนิ่งๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะมันแทบไม่มีเลย เวลาที่เรานั่งนิ่งๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นเหมือนกับชีวิตเราตอนนี้ยุ่งมาก ยุ่งกับเรื่องที่เอาตัวรอดไปวันๆ การเข้าห้องนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมงเป็นไปไม่ได้เลย เวลามีนะ แต่เราไม่สามารถนั่งลงได้ มันเหมือนแรงสั่นสะเทือนมากเกิน เหมือนมีแผ่นดินไหวตลอดเวลา เราไม่ได้มีโมเ มนต์ ไปนั่งดูต้นไม้ใหญ่หน้าบ้านกับลูกมานานมาก เคยทำตอนเมตตาเล็กๆ ความสุขสงบเป็นแบบนี้ การนั่งดูใบไม้มันง่ายมากเลย

ตั้งแต่ลูกคนเล็กเกิด เรากับสามีก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร มันก็เป็นช่วงชีวิตนะ สุดท้ายแล้วเราก็รู้ว่า เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร และเป้าหมายในชีวิตของเขาคืออะไร เพราะฉะนั้นหลุมบ่อขรุขระก็ไม่เป็นไร เพราะเรารู้ว่าเราเดินถนนเส้นนี้ไปด้วยกัน พอถึงวันหนึ่ง มันก็จะไม่ขรุขระมากเท่านี้ ถนนมันจะเรียบขึ้น

ขอบคุณภาพจาก  : สิริยากร พุกกะเวส

Credits

Author

  • วันดี สันติวุฒิเมธี

    Authorนักเขียนสารคดีชายขอบ ชอบทำงานจิตอาสา เป็นลูกครึ่งนิเทศศาสตร์ผสมมานุษยวิทยาที่ชอบเล่าเรื่องคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจงดงาม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ