ย้อนวันวานไปกับร้าน “สวีท” ร้านอาหารเช้าที่เปิดจนค่ำ และความผูกพันกับเด็กสวนกุหลาบ-เพาะช่างมานานกว่า 40 ปี

โตเกียวหน้าโรงเรียน น้ำแข็งใสราดนมข้น ลูกชิ้นปิ้งหอม ๆ เสียบไม้ ไอศกรีมรสโปรด หลาก หลายเมนูเหล่านี้ คงเป็นรสชาติแห่งความทรงจำในวัยเด็กที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนเสมอมา  

สำหรับเด็กสวนกุหลาบและเพาะช่าง พวกเขาก็มีร้านอาหารในความทรงจำที่คุ้นเคยเช่นกัน รสชาติของอาหารเช้าสไตล์อเมริกันที่กินง่าย ได้ประโยชน์ ราคาย่อมเยา เข้าถึงได้ ที่เปิดร้านตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนประตูโรงเรียนเปิดไปจนถึงเวลาฟ้ามืด 

บางคนกินตั้งแต่เรียนจนทำงาน บางคนมีลูกแล้วก็ยังพาลูกกลับมากิน หรือบางคนย้ายไปอยู่ไกลแค่ไหนถ้ามีโอกาสก็ยังแวะกลับมาลิ้มรสเพื่อรำลึกความทรงจำอยู่เสมอ 

มนุษย์ต่างวัย ชวนทุกคนย้อนความทรงจำกลับไปในวันวานกับเรื่องราวของร้านอาหารเล็ก ๆ ที่ขายอาหารเช้าแบบฝรั่งมาตั้งแต่วันที่คนยังไม่รู้จักการกินสลัด อย่างร้าน “สวีท” ที่อยู่คู่ย่านตรีเพชร มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ และเป็นร้านในดวงใจของเด็กสวนกุหลาบ-เพาะช่างหลายต่อหลายรุ่น 

ผ่านคำบอกเล่าของ “ป้าใหญ่”เสาวลักษณ์ โปษยะนุกูล วัย 78 ปี เจ้าของร้าน และ “สวีท” สุธี โปษยะนุกูล วัย 48 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เติบโตในร้านและได้เข้ามาช่วยงานตั้งแต่สมัยประถม จนวันนี้เขาได้กลับมาดูแลร้านเต็มตัว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ และดูแลธุรกิจของครอบครัวไปพร้อมกัน

จุดเริ่มต้นของร้านอาหารเช้าสไตล์อเมริกันย่านตรีเพชร

ป้าใหญ่เล่าให้ฟังว่าร้านสวีทเปิดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525 เพราะครอบครัวมีที่อยู่ตรงนี้ ป้าใหญ่กับน้องสาวเลยเปิดเป็นร้านอาหารด้วยความชอบทำกับข้าว และคิดว่าอาหารน่าจะขายง่าย และขายได้ดีกว่าสินค้าอย่างอื่น ทำมาเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีป้าใหญ่ก็ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ตรงนี้มากว่า 40 ปีแล้ว  

“พอดีมีห้องแถวเล็ก ๆ อยู่ตรงนี้ แล้วแม่เขาไม่ยอมให้คนเช่า เพราะเขากลัวเก็บค่าเช่าไม่ได้ เขาบอกให้เรามาทำเอง ขายได้วันละเท่าไรก็ช่างมัน ที่เปิดเป็นร้านอาหาร เพราะเราทำอาหารกินกันเองประจำมาตั้งแต่เด็ก อีกอย่างคนเราหิวได้ตลอดเวลา หรือบางทีไม่หิวแต่รู้สึกอยาก เขาก็มากินแล้ว แต่สินค้าอย่างอื่นไม่เสียเขาก็ไม่ซื้อ  

“ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว มีคนทำเยอะแล้ว แต่ร้านแบบนี้ยังไม่มี ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จักอาหารแบบนี้ ยังกินสลัดกันไม่เป็นด้วยซ้ำ พอเราเปิดคนก็เลยมาลอง ช่วงแรก ๆ ลูกค้าเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน แล้วก็กลุ่มคนทำงานที่เดินทางไปทำงานตอนเช้า 

“ตอนนั้นป้าทำกับน้องสาว มีเด็ก ๆ มาช่วย 2 คน มีโต๊ะประมาณ 10 โต๊ะ ส่วนชื่อร้าน หลานชายเขาเป็นคนตั้งให้ ตอนแรกคิดว่าครอบครัวเขาจะมาหุ้นด้วย แต่เตี่ยเรากลัวจะวุ่นวาย เลยบอกให้เราทำเอง ส่วนชื่อที่เขาตั้งเราเห็นว่ามันเรียกง่าย ติดปากคน ก็เลยไม่ได้เปลี่ยน”

ร้านอาหารเช้าที่เปิดแต่เช้าเป็นเพื่อนเด็ก ๆ 

“ร้านเปิดทุกวันตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม ที่เปิดร้านแต่เช้า เพราะเปิดเป็นเพื่อนเด็ก ๆ บางคนบ้านอยู่ไกล เขาต้องมาโรงเรียนแต่เช้าเพราะกลัวรถติด เด็ก ๆ จะมากินข้าว บางคนก็มานอนหลับอยู่ในร้าน

“ที่ร้านมีเมนูให้เลือกหลายอย่าง ทั้งอาหารเช้าพวกแฮม ไส้กรอก ไข่ดาว ข้าว สเต๊กแฮมเบอร์เกอร์ เมนูแรกที่ทำขายเลยคือข้าวหมูอบ ไส้กรอก ไข่ดาว แล้วก็ยังขายจนถึงทุกวันนี้ส่วนเมนูที่ทำเพิ่มขึ้นมาจะเป็นพวกสปาเกตตี ข้าวกระเพรา เวลาเพิ่มเมนูก็คิดขึ้นมาเองบ้าง สังเกตจากลูกค้าว่าเขาอยากกินอะไรแล้วทำเพิ่มบ้าง อย่างเด็ก ๆ บางคนมาจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหนังสือ มาแวะกินข้าวที่ร้านเพราะเขาอยากกินสเต๊กแต่แม่เขาอยากกินกระเพรา ป้าก็เลยเพิ่มเมนูกระเพราเข้าไป ส่วนเมนูที่ลูกค้าชอบสั่งก็จะเป็นพวกสเต๊กหมู ข้าวหมูอบ ข้าวผัดอเมริกัน”

เคล็ดลับของการทำร้านให้อยู่มานานกว่า 40 ปี

“ทุกวันนี้บางครั้งป้าก็ยังไปซื้อผักเองนะ นาน ๆ ทีก็ไปเดินตลาด ไปประมาณแปดเก้าโมง ไปเลือกของสด ของที่เพิ่งเข้าใหม่ ของทุกอย่างต้องได้มาตรฐาน เคยใช้แบบไหนก็ใช้แบบนั้น ป้าจะไม่เปลี่ยน 

“แม้ราคาของจะแพงขึ้น ก็ยังต้องใช้ของดีเหมือนเดิม เราต้องเลือกของดี ถ้าใช้ของไม่ดีเท่ากับเราฆ่าตัวตาย เพราะคนกินเขารู้ อย่างเนื้อสเต๊กก็จะใช้สันใน ซึ่งหมูตัวหนึ่งจะมีเส้นเดียว หาซื้อยาก ต้องสั่งไว้ ถ้าเราใช้สันนอก เนื้อจะเหนียว แม้แต่วัตถุดิบ เครื่องปรุงก็ต้องเลือกให้ดีที่สุด 

“ทำงานทุกวันมันก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา ทำงานไม่เหนื่อยเป็นไปไม่ได้ บางครั้งเหนื่อย ๆ ก็รู้สึกอยากเลิกนะ แต่มันเลิกไม่ได้ เราเปิดไปแล้ว มันก็ต้องสู้ ถ้าคิดจะทำต้องอดทน ต้องตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับลูกค้า ป้าไม่ทำหลายที่เพราะดูแลไม่ไหว ทำที่เดียว แต่ทำให้ดี ดูแลให้เต็มที่ดีกว่า 

“ป้าผูกพันกับร้านนะ เพราะใช้ชีวิตที่ร้านตลอด ไม่ค่อยได้ไปไหน เวลาจะไปไหนที เราก็ห่วง แต่นาน ๆ ทีเพื่อนชวนไปเที่ยว ป้าก็ไปนะ ไปเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อน ๆ ก็ร้านค้าแถวนี้แหละ ต่างคนต่างอุดหนุนกัน เห็นหน้ากันทุกวัน”  

ความผูกพันของป้าใหญ่กับเด็ก ๆ  

อาหารของป้าใหญ่ทำให้เด็ก ๆ จากรั้วสวนกุหลาบและเพาะช่างอิ่มท้องมาหลายต่อหลายรุ่น เด็กบางคนกินตั้งแต่เข้าม.1 จนจบม.6 หลายคนเรียนจบไปนานแล้ว มีโอกาสผ่านมาแถวนี้ ก็ยังแวะเวียนกลับมากินข้าวที่ร้าน มาเจอป้าใหญ่ กลับมาสัมผัสรสชาติและความทรงจำที่คุ้นเคยอยู่เสมอ  

“สมัยก่อนเด็ก ๆ มีเงินน้อย เวลามากินข้าวที่ร้าน เขาจะขอข้าวเยอะ ๆ ทุกวันนี้เขาก็กลับมาหา เขาบอกตอนเรียนไม่มีตังค์ ตอนนี้ทำงาน มีตังค์แล้ว อุดหนุนเยอะหน่อย หรือบางคนเคยกินสมัยเรียน ตอนนี้เขาพาลูกมาเรียน เขาก็แวะกลับมากิน ทั้งเด็กเพาะช่างและเด็กสวนกุหลาบ 

“ดีใจนะที่ได้เห็นเขาเติบโต ประสบความสำเร็จ บางคนเห็นมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ทุกวันนี้โตมาเป็นหมอ เป็นทนาย บางคนไปเที่ยว ก็แวะซื้อของมาฝาก หรือบางคนอยู่ไกล มาไม่ได้ แต่เขาคิดถึงเรา เขาก็สั่งเเกร็บไปส่ง เพราะเขาอยากอุดหนุน”

ความสุขของป้าใหญ่

“นอกจากดูแลร้าน เวลาว่างป้าชอบเย็บเสื้อ ป้าเคยเรียนตัดเสื้อมาตั้งแต่เด็ก เคยไปให้ช่างตัด เขาก็ตัดไม่ถูกใจ หรือเวลาซื้อสำเร็จมาใส่ก็ใส่ไม่ได้ ป้าก็เลยออกแบบเอง ตัดเองให้พอดีตัวเรา แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำขาย เพราะเย็บเสื้อผ้าให้คนอื่นใส่มันยาก แต่เวลาเย็บให้ตัวเองใส่ เราสบายใจกว่า ผ้าก็ไปซื้อมาจากแถวนี้แหละ เห็นผืนไหนสวยก็ซื้อเก็บไว้ ว่าง ๆ ก็เอาออกมาเย็บ

“แค่ได้เจอลูกค้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็มีความสุขแล้ว บางคนอุดหนุนกันมานานตั้งแต่สมัยทำงานจนทุกวันนี้เขาอายุมากแล้ว นาน ๆ แวะมาที มาคุยกัน เห็นเขายังแข็งแรงอยู่ เราก็สบายใจ”

“ร้านสวีทเป็นเหมือนชีวิตของป้า ทุกวันนี้ก็ทำไปเรื่อย ๆ ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะหยุดตอนไหน คิดว่าก็คงทำจนกว่าจะหมดแรง อายุมากแล้วก็ยิ่งต้องทำงาน ตอนไปตรวจสุขภาพ หมอบอกว่าไม่ให้อยู่เฉย ๆ ให้เดินเรื่อย ๆ การดูแลร้านก็เหมือนได้ออกกำลังกาย ได้ใช้สมองด้วย โชคดีที่ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ป้าก็เลยยังทำไหว ทำมาได้จนถึงทุกวันนี้

“ตราบใดที่ยังมีแรง ป้าก็คงจะขายไปเรื่อย ๆ เคยทำยังไงก็ทำแบบนั้น แค่รักษาคุณภาพของเราไว้ ถ้าของเราดี อร่อย ลูกค้าก็จะกลับมาหาเราเอง”

ส่งต่อสู่ลูกชาย ทายาทรุ่น 2  

ทายาทรุ่นที่สองอย่าง “สุธี” หรือ “สวีท”ที่เห็นการเติบโตของร้านมาตั้งแต่เด็ก ๆ และทุกวันนี้เขาได้เข้ามาช่วยดูแลร้านอย่างเต็มตัวสักระยะแล้ว เขาคือคนที่กิน นอน วิ่งเล่น ทำงานอยู่ที่นี่ มีช่วงชีวิตที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับร้าน แม้กระทั่งชื่อเล่นของเขาก็ถูกเปลี่ยนไปเรียกตามชื่อร้านตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่แน่ใจนัก รู้ตัวอีกทีทุกคนก็เรียกเขาแบบนี้ไปแล้ว 

“ผมเข้ามาช่วยงานที่ร้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่ตอนอยู่ประถม ถ้ามีวันหยุด หรือมีเวลาว่างหลังเลิกเรียนก็จะเข้ามาช่วย พอเรียนจบผมไปทำงานประจำอยู่พักหนึ่ง แต่พอพ่อเขาอยากวางมือ ผมก็เลยเข้ามาช่วยแม่ที่ร้านแบบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณสิบกว่าปีแล้ว

“ผมเห็นร้านนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านจนมาถึงวันนี้ ร้านแทบไม่เปลี่ยนเลย มีแค่การปรับรสชาติอาหารและเพิ่มเมนูขึ้นมาบ้างตามยุคสมัย เมนูที่เราทำขาย ส่วนใหญ่มาจากสิ่งที่เราทำกินกันเองก่อน พอรู้สึกว่ามันดี เราก็เอาไปใส่ในเมนูที่ร้าน 

“ผมฝึกทำอาหาร ทั้ง ๆ ที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ไม่มีใครสอน อาศัยว่าเรามาช่วยงานที่ร้าน เราก็ดูอยู่ทุกวัน บางวันพนักงานไม่มา เราก็ทำเอง จนตอนนี้ผมทำได้ทุกเมนูแล้ว”

ทำงานที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย

“ทำงานกับแม่มีความเห็นที่ไม่ตรงกันค่อนข้างเยอะ แรก ๆ ผมก็คิดว่าจะปรับเข้าหากันคนละครึ่งทาง แต่พอลองปรับไปสักพัก ผมคิดว่าผมเปลี่ยนที่ตัวเองดีกว่า ให้แม่เขาได้ทำในแบบที่เขาอยากทำ ส่วนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างพวกตำแหน่งการจัดของ วางของ ผมลองเปลี่ยนให้เขาดูเลยว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน ส่วนของที่เราใช้ เราก็ไปซื้อเอง เลือกเอง อะไรที่แม่เลือกมาแล้วมันดีอยู่แล้ว ผมก็ไม่เปลี่ยน หลัง ๆ เขาก็ปล่อยให้เราจัดการเองมากขึ้น

“เห็นแม่ทำงานทุกวัน เราเป็นห่วงอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดว่าอยากให้เขาหยุดทำงาน เพราะคุณค่าชีวิตที่เขายึดถือคือการทำงาน อย่างบางร้านแม้เขาจะวางมือไปแล้ว แต่เขาก็จะมานั่งมองร้านทุกวัน เพราะนั่นคือสิ่งที่เติมเต็มคุณค่าชีวิตของเขาในแต่ละวัน ถ้าเขาไม่ได้ทำผมไม่รู้ว่าเขาจะรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเขาลดลงไหม เพราะคนเราพอรู้ตัวว่ามีประโยชน์ เราก็๋มักจะมีความสุขตามมา ผมเลยไม่ได้คิดว่าเขาควรจะเลิก แต่แค่อยากให้ทำน้อยลง อะไรที่ปล่อยให้คนอื่นทำได้ ก็ปล่อยให้เขาทำบ้าง” 

เสน่ห์ของ “สวีท” คือการรักษาความเหมือนเดิมในวันที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากรสชาติและราคาที่จับต้องได้ สิ่งที่ทำให้ร้านอาหารเช้าในตำนานแห่งนี้อยู่มาได้ยาวนานคือความเหมือนเดิม ความเหมือนที่ทำให้ร้านแตกต่างไปจากร้านอื่น ๆ เป็นที่ที่หลายคนมีความทรงจำ ผูกพัน คิดถึง และอยากกลับมาอีกครั้งเสมอ

“เมื่อเดือนที่แล้วมีลูกค้าแวะมา เขาไปอยู่อเมริกามา 20 กว่าปี เมื่อก่อนเขาเรียนอยู่เพาะช่าง เขากลับมาที่ร้าน เขาก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม โต๊ะที่เขานั่งก็ยังเป็นโต๊ะตัวเดิม เหมือนเขาได้ย้อนเวลากลับไป ยังมีบางที่ที่ยังเหมือนเดิม ในวันที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“ภูมิใจนะที่ร้านอยู่มาได้นานขนาดนี้ ร้านอยู่มาได้ด้วยความขยัน ความอดทนของคนยุคก่อน แต่ พอยุคสมัยเปลี่ยน หลายอย่างก็ต้องเปลี่ยนตาม ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะเลิกทำร้านนี้ เพราะผมทำ มาตั้งแต่เด็ก 

สวีท = ชื่อที่เป็นความหมายของชีวิต

“ร้านสวีทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม ผมก็อยากให้ร้านเราเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าด้วย บางคนเขากินตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียน พอเรียนจบแล้วเขาก็ยังพาลูกมา ก็รู้สึกดีว่าเหมือนร้านเราเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของครอบครัวเขาด้วย

“ถ้าจะทำร้านใหม่หรือขยายสาขา ผมก็อยากทำร้านในสไตล์นี้ ขายอาหารแบบนี้ ถ้าใช้ชื่อเดิม ยังไงผมก็ทำเหมือนเดิม แต่แค่ทำร้านให้มีระบบการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น 

“สิ่งที่จะทำให้เรามีกำลังใจทำร้านต่อไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าแค่ลูกค้ามากินแล้วเขามีความสุข กินแล้วไปบอกต่อ แค่นี้ผมก็ถือว่าเป็นความสุขของคนทำร้านอาหารแล้ว” 

ร้าน “สวีท” (Sweet)       

103 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 

เปิดทุกวัน : 06.00 – 19.00 น.                                      

โทร : 02 222 9611

Map

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ