“เชื่อสิ่งที่ตัวเองพูดตอนอายุ 18 และทำมันตอนอายุ 58″
มนุษย์ต่างวัย Talk กับ ประสาน อิงคนันท์ คุยกับ ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “ธรณ์ อย่าเงียบ” ภารกิจพูดแทนทะเล ของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้สื่อสารปัญหาโลกร้อน มาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่สมัยที่น้อยคนนักจะรู้จักคำว่า “โลกร้อน” กระทั่งในวันที่ทุกชีวิตบนโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“52 ปีที่แล้วผมกระโดดลงน้ำครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ ที่เกาะเต่า ลงไปเห็นปะการังท่วมไปหมด รู้สึกว่าบ้าไปแล้วเยอะขนาดนี้ได้อย่างไร เห็นหาดโผล่เป็นแนว เห็นหอยมือเสือขนาดใหญ่ยักษ์ ผมเห็นที่นั่น แต่ปัจจุบันเราหาไม่เจออีกแล้วตอนนั้นผมตัดสินใจแล้วว่าใช่ มันคือชีวิตเรา
“ผมมีบางโมเมนต์เท่านั้นที่เศร้า ผมเคยเห็นปลาโดนระเบิดตายรอบตัวผมมาแล้ว เคยเห็นฉลามโดนตัดครีบดิ้นแด่ว ๆ อยู่ตรงหน้า ผมไม่ได้ใสซื่อเพราะอยู่มานาน แต่ที่เศร้าจริงคือเมื่อวานนี้นี่เอง ผมไปดำน้ำดูปะการังฟอกขาวที่ระยองมา มันตายอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน มันตายจริง ๆ บางตัวตายแล้ว บางตัวกำลังจะตาย… ครั้งนี้เรียกได้ว่า ‘หายโหง’ หมดเลย ก่อนเข้าห้องมาสัมภาษณ์ผมดูกราฟอุณหภูมิน้ำที่ติดไว้วัดได้ 35 องศา บ้าไปแล้วน้ำทะเลอะไรอุณหภูมินี้ มันไม่ใช่อุณหภูมิของน้ำที่จะมีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้
“ผมทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้อาจารย์สุรพล สุดารา มาตั้งแต่สมัยอยู่มหาลัยปี 2 เนื่องจากได้เงินเดือนอาจารย์จึงมีสิทธิบังคับผมเป็นพิเศษ (หัวเราะ) อาจารย์บอกให้ผมไปพูดเรื่อง ‘โลกร้อน’ ในที่ต่าง ๆ ยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย การหาข้อมูลต้องใช้ภาษาอังกฤษล้วน อ่านภาษาอังกฤษแล้วไปพูดให้คนอื่นฟัง ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักคำว่าโลกร้อน คนที่มาฟังก็คล้ายว่าเป็นหน้าม้า ตัวผมเองตั้งเป้าหมายว่าผมไม่ได้พูดให้คนมาสนใจ แต่ทำเพื่อให้ตัวเองได้ค้นคว้าข้อมูลและฝึกซ้อมตัวเองไปเรื่อย ๆ… ก่อนที่อาจารย์สุรพลจะเสีย ท่านพูดกับผมหนึ่งประโยคว่า ‘ธรณ์ อย่าเงียบ’ แค่นี้เอง หลังจากนั้นผมไม่ได้เจออาจารย์ไม่กี่วันท่านก็จากไป มันคล้ายว่าท่านมอบหมายให้ผมทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ตอนปี 2 แล้ว… การบอกเรื่องราวให้คนอื่นรู้นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโลกร้อน
“ผมไม่รู้สึกท้อ มันเป็นนิสัยด้วย อย่างแรกคือผมเป็นคนที่ปักใจ เป็นคนที่มั่นใจในตัวเองสูงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อผมเชื่อตัวเองแล้วจะไม่มีคำว่า ‘ท้อ’ ท้อไม่ได้ ถ้าท้อแล้วเท่ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมานั้นผิดมาตั้งแต่ต้น ผมไม่มีแม้แต่คิด คือ ถ้าคิดมันผิดกับตัวเอง มันทรยศตัวเอง ผมไม่เคยคิดถึงมันเลย ไม่มีท้อ
“ตอนเรียนเรียนปริญญาเอก ออสเตรเลียจ้างให้ผมทำงานเป็น Project Management ของ Great Barrier Reef Marine Park (แนวปะการังนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศออสเตรเลีย) ทำเรื่องของ Remote sensing สำรวจแผนที่ปะการัง ผมทำเป็นคนแรกของประเทศไทยและไปต่อที่ออสเตรเลียในเรื่องนี้ พอผมทำโปรเจกต์จบเขาก็อยากจ้างผมต่อ ผมบอกเขาว่า ‘ผมไม่อยู่ประเทศคุณแน่ เพราะประเทศที่เหมาะสมกับนักสิ่งแวดล้อมมากที่สุดนั้นไม่มีที่ไหนเหมาะเท่ากับประเทศที่ผมจากมาและกำลังจะกลับไป นั่นคือ ประเทศไทย’ ไม่ใช่ความสำนึกรักบ้านเกิดอะไรนะครับ แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือปัญหามันเยอะดี… นักข่าวสงครามไปอยู่ในประเทศที่สุขสงบแล้วมันจะทำข่าวอะไร ผมบอกนักศึกษาทุกคนว่าอาชีพที่ดีที่สุดคือ ‘นักสิ่งแวดล้อม’ เพราะประเทศนี้มันพินาศย่อยยับด้านสิ่งแวดล้อม ขนาดเพื่อนผมที่อยู่ออสเตรเลียยังอยากกลับมาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เมืองไทยเลย เพราะปัญหาเยอะดี อยู่ที่ออสเตรเลียเหงามาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้วเพราะเริ่มมีปะการังฟอกขาวให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ
“เวลาคนเราอยากทำงานถ้าเกิดว่าเราไม่สนใจเรื่องเงินเป็นอันดับแรก เราสนใจเรื่องความสนุกของการทำงาน เราต้องการความท้าทาย อาชีพทำแล้วไม่สนุกเราจะทำทำบ้าอะไร การนั่งอยู่ในห้องมองทะเลหน้าตาสวย เขียว ใส ไปเรื่อย ๆ นั่นไม่เรียกว่าอาชีพ อาชีพมันต้องมีเหตุการณ์แทนทาลัม ตามด้วยบ่อนอกบ้านกรูด สึนามิมาปะการังฟอกขาวบ้าบอคอแตก กระทั่งฝนตกเป็นปลายังโทรหาอาจารย์ธรณ์ว่าเกิดจากอะไร รับโทรศัพท์ตอนห้าทุ่มคืนวันอาทิตย์ สัมภาษณ์วันเดียว 17 รายการสมัยเหตุการณ์สึนามิ การได้พุ่งพรวดไปทันทีที่ปะการังกำลังร้อนฉ่า เขียนอะไรโหด ๆ ลงโซเซียลให้อธิบดีและผู้บริหารตกใจ เหล่านี้คือความสนุก ถ้าเราประกอบอาชีพแล้วเราไม่มีความสนุกอย่างนี้เลย แล้วเราทำอาชีพไปทำไม นอนอยู่บ้านเล่นเกมหรืออ่านหนังสือดีกว่า
“ผมรู้สึกพอใจกับชีวิตตัวเองมากที่อะไรที่ผมเคยรักตอนอายุ 18 อะไรที่ผมเคยตะโกนกับทะเลว่าผมเกลียดมันมาก รอให้ผมใหญ่ก่อนเถอะ… ผมยังทำอย่างนั้นมาตลอด ปัจจุบันผมก็ยังทำเหมือนตอนที่ผมอายุ 18 เคยตะโกนร้องไห้กับทะเลตอนเห็นคนระเบิดปลาครั้งแรก ผมก็ยังทำอย่างนั้น ผมโคตรชอบชีวิตผมเลยครับ เพราะผมเป็นคนที่ไม่เคยลืมความฝันตัวเอง แล้วก็ทำมันจนสำเร็จ และยังหน้าด้านทำอยู่ถึงวันนี้ ทั้งที่ผมมีทางเลือกอีกมากมาย แต่ผมไม่เลือก ผมเลือกที่จะยึดมั่นกับสิ่งที่ผมคิดตอนอายุ 18 และรู้สึกว่าตราบใดที่เราทำมันไม่ได้ ไม่ว่าจะรวยแค่ไหนหรือเป็นอะไรก็ตามมันคือความล้มเหลวในชีวิต การประสบความสำเร็จในชีวิตมีอย่างเดียวคือเชื่อตอนตัวเองพูดเมื่ออายุ 18 และทำมันตอนอายุ 58”