เถียนเถียน-ศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ศิลปินหญิงแนวเซอร์เรียลริสม์ กับ ‘อาม่า’ ผู้เป็น ‘ลมใต้ปีก’

   


The First Japan Art Open Competition 2019 เป็นงานประกวดศิลปะภาพวาดระดับนานาชาติ มีผู้คนจากทั่วโลกส่งภาพวาดเข้าประกวดแข่งขันมากกว่า 1,000 ผลงาน และผลงาน ‘Never enough’ ของ เถียนเถียน-ศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ศิลปินหญิงชาวไทยวัย 31 ปี ไม่เพียงแต่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปในรอบสุดท้าย หากแต่ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดในครั้งนี้ แม้จะไม่ได้ตั้งความหวังมากมายอะไรนัก แต่ในฐานะคนทำงาน ไม่มากก็น้อย รางวัลย่อมนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของทั้งตัวเองและคนในครอบครัว รวมทั้งส่งผลให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม

ว่ากันว่าชีวิตของคนทำงานศิลปะไม่ว่าในประเภทใดล้วนมีความแหว่งวิ่น ไม่สมบูรณ์ ซ่อนอยู่ในฉากหลังของความงดงาม ชีวิตของเถียนเถียนก็ไม่ได้ต่างจากศิลปินคนอื่นเท่าใดนัก เบื้องหลังปลายพู่กันของเธอมีความเจ็บปวดและคราบน้ำตาเคลือบแฝงอยู่ไม่น้อย

หลายครั้งหลายหนเธอคิดจะหันหลังให้กับการวาดภาพซึ่งเป็นสิ่งที่รักและฝัน แล้วหันไปทำอย่างอื่น บางช่วงเวลาที่ชีวิตดิ่งจมลงไปในหุบเหว เธอเคยเกือบจะพาตัวเองไปสู่ความตาย

แต่ทุกครั้งท่ามกลางคราบน้ำตาและความไม่โสภาในชีวิต จะมีมือของผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยโอบกอดรวมทั้งฉุดเธอให้ลุกขึ้นยืนและกลับขึ้นมาเดินต่ออีกครั้ง

ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งโรยราเรี่ยวแรงและร่างกาย

แต่กลับมากมายไปด้วยความรัก


วาดรูปก่อนพูดเป็น

เด็กหญิงเถียนเถียนเติบโตมาในครอบครัวครึ่งใบ พ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่หนูน้อยอายุได้เพียง 4 ขวบ แม้จะต้องจำใจเลือกในสิ่งที่ไม่อยากเลือก แต่สุดท้ายเด็กหญิงตัดสินใจฝากชีวิตน้อยๆ ไว้กับผู้เป็นแม่

สองแม่ลูกย้ายกลับมาอยู่บ้านอากงและอาม่าที่ย่านสุขุมวิท ด้วยความที่ต้องทำงานหนักหาเลี้ยงชีวิตของทุกคนในครอบครัว สุวรรณา วังโสภณ แม่ของเถียนเถียนจึงไม่ได้มีเวลาให้กับลูกมากนัก หน้าที่ในการเลี้ยงดูจึงตกเป็นของอากงและอาม่า หากจะบอกว่าทั้งสองคือพ่อและแม่ของเถียนเถียนอีกคนก็คงไม่ผิดนัก

ในโลกที่ผ่านพบทุกสิ่งทุกอย่างมาจนล่วงเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต การก้าวเข้ามาของเถียนเถียนได้สร้างความสุขให้กับอากงและอาม่า อย่างน้อยความสดใสไร้เดียงสาของเด็กน้อยก็ทำให้ชีวิตในวัยชราไม่เงียบเหงาจนเกินไปนัก

กิจกรรมที่อากงกับอาม่าชอบทำอยู่เสมอคือการวาดรูป ในไดอารี่ของอาม่าจะมีรูปวาดต่างๆ อยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือรูปปลาทองที่พาเด็กหญิงตัวน้อยโลดแล่นไปในจินตนาการ และอยากวาดรูปให้ได้เช่นเดียวกับอาม่าของเธอ

“เราเห็นรูปวาดปลาทองของอาม่าแล้วก็รู้สึกอยากวาดรูปบ้าง จากนั้นอาม่าก็จะแจกกระดาษ แล้วเราสองคนรวมทั้งอากงก็จะนั่งวาดรูปด้วยกันทุกวัน ซึ่งทุกครั้งไม่ว่าเราจะวาดรูปอะไรออกมาอากงกับอาม่าก็จะพูดชื่นชมเราตลอด

“เวลามีอะไรเราก็จะแสดงออกด้วยการวาดรูปแทนที่จะพูดออกมา เรียกว่าเราวาดรูปได้ก่อนที่จะพูดเป็นเสียอีก เราชอบวาดรูปมากถึงขนาดที่ตอนสอบวิชาคณิตศาสตร์ในตอนประถม เรายอมกาข้อสอบมั่วเสร็จเป็นคนแรก เพื่อที่จะได้เอาเวลามานั่งวาดรูปใส่กระดาษทดเลข ซึ่งกระดาษทดเลขของโรงเรียนเราจะไม่ใช่กระดาษสีขาวเหมือนกับของโรงเรียนทั่วไป แต่เป็นกระดาษสีน้ำตาล เราเห็นแล้วมีความรู้สึกว่ามันจะต้องสวยมากแน่ ๆ ถ้าเราวาดรูปลงไปในนั้น”

หากถามเพื่อนๆ ร่วมชั้นหรือเด็กในวัยเดียวกันว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบโดยมากหนีไม่พ้นตำรวจ ทหารพยาบาล หมอ ครู ฯลฯ ทว่าสำหรับเด็กหญิงเถียนเถียนไม่เคยมีคำตอบอื่นนอกจากอยากเป็นนักวาดภาพ

ทุกครั้งที่ได้นั่งวาดภาพกับอากงอาม่า เถียนเถียนจะรู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก หากชีวิตมีพรวิเศษที่เลือกขอสิ่งของใดก็ได้ในโลกใบนี้ ใครจะเลือกขอบ้าน รถ แก้วแหวนเงินทอง ฯลฯ ก็ขอไป แต่สำหรับเด็กหญิงเถียนเถียนขอแค่กระดาษ กับดินสอ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วในชีวิต

แม้จะมีความสุขและได้รับคำชมจากคนในบ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่อาม่ากลับสังเกตและมองเห็นจุดอ่อนของหลานรักจุดอ่อนนั้นไม่ได้อยู่ที่ฝีมือ หากแต่คือการนั่งวาดภาพคนเดียวอยู่ในวิมาน โดยไม่เคยล่วงรู้เลยว่าโลกภายนอกมีคนเก่งมากมายอยู่เต็มไปหมด

“พออยู่ป. 3 อายุ 8 ขวบ อาม่าส่งเราไปที่ค่ายศิลปะ เพื่อให้เราได้เจอโลกที่กว้างกว่าเดิม เพราะว่าอยู่ในบ้านก็วาดกันอยู่ 3 คน เราวาดอะไรไปก็มีแต่คำชม อาม่ากลัวว่าเราจะเสียนิสัย ก็เลยอยากให้เราไปเจอกับความจริง”

ในค่ายศิลปะไม่ได้มีเด็กวัย 8-9 ขวบอย่างเถียนเถียนมาร่วมกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังมีเด็กโตมากมายเต็มไปหมด ซึ่งเกือบทุกคนวาดรูปได้ดีกว่าเธอแทบทั้งสิ้น แถมตลอดเกือบสัปดาห์ที่ไปค่าย เธอยังโดนเด็กที่โตกว่าแกล้งจนร้องไห้กลับมาบ้านแทบทุกวัน

“เราได้เห็นความจริงว่ามีคนที่เก่งกว่าเรามาก ซึ่งสุดท้ายอาม่าก็บอกเราว่าในโลกนี้ไม่ได้มีคนเก่งกว่าเราแค่ในค่ายนี้หรอก แต่ยังมีเป็นล้าน ในเมื่อมีคนเก่งกว่าเรามากขนาดนี้ เถียนเถียนยังอยากจะวาดรูปอยู่ไหม ยังรักที่จะทำมันหรือเปล่า เราก็ตอบว่าเราอยากทำ คืออาม่าจะไม่มานั่งสอนเป็นคำพูด แต่จะให้เราได้เจอกับความจริงด้วยตัวเอง อย่างตอนอายุ 17 เราขายงานได้ เขาก็ให้เราดีลงานด้วยตัวเอง ซึ่งพอเราโดนโกง อาม่าก็ไม่ได้ปกป้อง เขาปล่อยให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งในเวลาต่อมามันก็ทำให้เรารอบคอบมากขึ้น”

เถียนเถียนฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองจนฝีมือพัฒนาขึ้นทุกวัน กระทั่งเธอสามารถจัดแสดงงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ได้ในขณะที่มีอายุเพียง 15 ปี ก่อนจัดแสดงงานเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกในตอนอายุ 23 ถึงวันนี้เธอจัดงานแสดงภาพวาดของตัวเองมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง และกำลังจะมีครั้งที่ 5 เร็วๆ นี้ หากว่าสถานการณ์โควิด- 19 ในบ้านเราเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แม้การวาดภาพของเถียนเถียนจะพอหาช่องทางสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ แต่ในระยะยาวหลายคนที่รู้จักก็ตั้งคำถามว่าจะสามารถยึดเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองและครอบครัวได้จริงหรือ

ในขณะที่คนในตระกูลเกินกว่าครึ่งประกอบอาชีพเป็นหมอ ซึ่งเป็นอาชีพที่ผู้คนในสังคมมักนิยามว่าเป็นความสำเร็จเถียนเถียนกับอาม่าของเธอกลับต้องมานั่งตอบคำถามว่าการวาดภาพมันใช่อาชีพที่ควรทำในชีวิตหรือไม่   ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามแต่คนไม่น้อยยังดูหมิ่นดูแคลน บั่นทอนกำลังใจ ว่าทำไปก็มีแต่จะล้มเหลว พวกเขาทำราวกับว่าการวาดภาพของเถียนเถียนคือความผิดบาปอย่างมหันต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเธอกำลังสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงาม

“เถียนเถียนเป็นหมอฉันก็ดีใจ เถียนเถียนวาดรูปฉันก็ดีใจ”

ด้วยความที่เป็นคนไต้หวันโดยสายเลือด แม้จะอยู่เมืองไทยมานานแต่ภาษาไทยของ นิภา วังโสภณ วัย 92 ปี ก็ไม่ได้ว่าจะแข็งแรงนัก ใจความที่อาม่าสื่อสารออกมาไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องการจะบอกว่า ขอให้หลานของเธอเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เพียงเป็นสิ่งที่เถียนเถียนต้องการจะเป็น เธอก็จะรักและมีความสุขไปกับเถียนเถียนเสมอ ท่ามกลางถ้อยคำที่บั่นทอนกำลังใจอาม่าจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่บอกเถียนเถียนอยู่เสมอว่าให้ทำสิ่งที่รักต่อไป

การตั้งคำถามจากใครหลายคนอาจทำให้หัวใจของสาวน้อยหวั่นไหว อย่างไรก็ตาม นั่นเทียบไม่ได้กับการจากไปของอากงที่ทำให้เธอตัดสินใจวางพู่กัน แล้วหันหลังให้กับการวาดภาพ

“อากงจากไปด้วยโรคมะเร็งตอนที่เราอายุ 15 ปี จำได้ว่าเรากลับบ้านมาเห็นอาม่านั่งตาแดง บอกว่าอากงไปแล้ว เรายังบอกอาม่าว่า เราไปหาอากงกันไหม อาม่าบอกว่าอากงเขาไม่กลับมาแล้ว ไม่ว่าจะยังไงก็จะไม่ฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว แต่สิ่งที่อากงอยากเห็นคืออยากให้เถียนเถียนตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งๆ ช่วงนั้นแม่เองก็ทำงานหนักมาก เราเลยมีความรู้สึกว่าเราอยากเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน ช่วงนั้นก็มีคนแนะนำให้เราเรียนบัญชี เพราะสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ส่วนวาดรูปเราก็ทำมันเป็นแค่งานอดิเรก เพราะมันไม่สามารถดูแลใครได้ เรามานั่งคิดว่าเราคงต้องอยู่กับความเป็นจริง ก็เลยตัดสินใจวางพู่กัน แล้วตั้งมั่นว่าจะเป็นนักบัญชี จบมาจะได้มีงานทำ เลี้ยงแม่เลี้ยงอาม่า”

จากที่เคยมีความสุขกับการวาดภาพเถียนเถียนเปลี่ยนมาอ่านตำราและติวเลขจนถึงตี 3 พร้อมกับตื่นไปเรียนในตอน 6 โมงเช้าทุกวัน หญิงสาววัยรุ่นยอมอดตาหลับขับตานอน ทำสิ่งที่ตนเองไม่ได้รักแม้แต่น้อย เพียงเพื่อหวังว่าจะดูแลคนที่เธอรักที่สุดในชีวิตให้ดี กระทั่งในที่สุดอาม่าและแม่ก็ทนเห็นความทุกข์ของเธอต่อไปไม่ไหว

“แม่ถามเราว่าถ้าวันนี้มีชีวิตอยู่เป็นวันสุดท้าย เถียนเถียนอยากทำอะไรที่สุด เราก็บอกแม่ไปตามตรงว่าเราอยากวาดรูป แม่บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็พอเถอะ เลิกคิดว่าจะเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน แล้วกลับมาใช้ชีวิตของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”

จากที่กำลังจะแปลงร่างเป็นนักบัญชี หญิงสาวตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกจิตรกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่หลังจากนั้นจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาจิตรกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ในที่สุดเถียนเถียนก็ได้กลับมาเดินอยู่บนเส้นทางที่เธอรักอีกครั้ง


ภาพวาดหัวกะโหลก

ผลงานเกือบทุกชิ้นของเถียนเถียนเป็นภาพวาดหัวกะโหลก

แน่นอนว่าสำหรับคนทั่วไปหัวกะโหลกคือสัญลักษณ์ของความตาย ทว่าสำหรับหญิงสาววัย 31 ปี เธอมองว่ามันคือศิลปะชิ้นแรกที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์ และหากว่าใครจะตีความว่ามันคือโลโก้ของความตาย สุดท้ายอย่างไรเสียความตายมันก็คือความจริงอยู่ดี

“เราไม่ได้รู้สึกว่ามันคือความตายแต่กลับรู้สึกว่ามันคือความจริง มันคือสิ่งที่อยู่ในหัวของเราทุกคนแต่กลับกลายเป็นว่าเรากลับกลัวความจริงที่มีอยู่ในตัวเอง สำหรับเราหัวกะโหลกคือศิลปะชิ้นแรกที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ เป็นศิลปะที่มีความเป็นเอกลักษณ์มาก เพราะทุกคนต่างก็มีหัวกะโหลก แต่หัวกะโหลกแต่ละคนก็แตกต่างกันไปของใครของมัน คนล้านคนก็มีกะโหลกล้านแบบ”

แม้จะมีเหตุผลเป็นของตัวเอง รวมทั้งเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล ทว่าผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เธอคิด หาว่าเธอเป็นพวกจิตไม่ปกติ บางคนต่อว่าไปถึงอาม่าว่าเลี้ยงหลานอย่างไรถึงเป็นคนมีจิตใจแบบนี้   กลายเป็นว่าคนที่เธอรักที่สุดในชีวิตต้องมาถูกใครก็ไม่รู้ตัดสินจากภาพวาดของเธอ

หลังจากเรียนจบเถียนเถียนไม่ได้หางานทำเป็นหลักแหล่ง เธอวาดความฝันว่าตนเองจะต้องประสบความสำเร็จในการเป็นศิลปิน มีรายได้จากการแสดงงานและภาพวาด เพื่อเลี้ยงดูอาม่าและแม่คนที่เธอรักเท่ากับชีวิต

ในชีวิตของคนเราความจริงและความฝันมักเป็นสิ่งที่เดินสวนทางกันเสมอ เถียนเถียนตั้งใจที่จะไปให้ถึงฝัน หญิงสาวนั่งวาดภาพอย่างบ้าคลั่งทั้งวันทั้งคืน แต่งานของเธอที่ออกมาแทบจะขายไม่ได้เลยสักชิ้น

“มันกลายเป็นว่างานที่เราทุ่มเทสร้างมันขึ้นมาไม่มีใครให้ความสนใจ เราดีลงานกับลูกค้าไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ทุกที่ไม่มีใครเอาไม่มีใครรับ สุดท้ายเราตัดสินใจจัดแสดงงานเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเจ้าของแกลลอรี่เขาให้ความเมตตาเรามาก เปิดพื้นที่ให้คนวาดภาพที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนักอย่างเราจัดแสดงงาน แต่ปรากฏว่าช่วงเวลา 1 เดือนที่เราจัดแสดงงาน มันตรงกับช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอย่างรุนแรง มีการเผาบ้านเผาเมืองทำให้แทบไม่มีใครมางานของเรา ภาพที่เราวาดขายได้น้อยมากๆ เท่านั้นยังไม่พอในช่วงเวลานั้นยังมีคนเอาผลงานของเราไปลอกเป็นงานของตัวเองอีก”

การแสดงงานศิลปะที่เงียบสงัดราวกับผีสิง ผลงานที่ทุ่มเทผลิตขึ้นมาเท่าไหร่ก็แทบไม่มีใครเอา แถมกลับกลายเป็นว่าภาพวาดเหล่านั้นทำให้คนที่เธอรักต้องมาติดร่างแห โดนว่าโดนตำหนิทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ขณะเดียวกันงานยังโดนเอาไปลอกอีก

เมื่อความฝันทำท่าจะสูญสิ้นภินท์พังตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเบญจเพส เสียงติฉินนินทาจากผู้คนที่เคยปรามาสไว้ก็เริ่มดังขึ้นอีกครั้ง คำพูดแล่เนื้อถือหนังต่างๆ นานา มีมาไม่ขาดสาย ราวกับว่าต้องการจะให้เธอตายไปเสียจากโลกใบนี้

“มีแขกบางคนมาที่บ้าน แล้วเขาพูดขึ้นมา บอกว่ารูปพวกนี้ขายไม่ได้หรอก อาม่าก็คงจะต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิต หรืออย่างบางคนเขาก็พูดว่าน่าสงสารคุณแม่ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว ยังต้องมานั่งเลี้ยงลูกอีก เราฟังแล้วก็ยิ่งเจ็บปวดมากเข้าไปอีก ยิ่งคิดว่าตัวเองเรียนจบตั้งปริญญาโทแล้ว กลับเลี้ยงดูใครไม่ได้เลย เอาแค่เลี้ยงตัวเองยังจะลำบาก เรารู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามากไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนเราก็ไม่มีคุณค่า ไม่มีดีอะไรแม้แต่อย่างเดียว”

สภาพจิตใจของเถียนเถียนดิ่งลงไปลึกสุดขอบของหลุมดำ เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่จำเป็นต้องมีอยู่บนโลกใบนี้ก็ได้ ทุกวันหญิงสาวได้แต่ตื่นมาแล้วก็นั่งร้องไห้ สติของเธอล่องลอยไปเหมือนละอองฝุ่น

วันหนึ่งในขณะที่กำลังเดินบนทางเท้า เถียนเถียนซึ่งอยู่ในอาการเหม่อลอยกับความผิดหวังที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตก็เดินลงไปบนท้องถนนที่รถมากมายกำลังวิ่งด้วยความเร็ว

จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่อีกไม่กี่อึดใจ ชีวิตของเถียนเถียนกำลังจะจบลง

เปลี่ยนวิธีไปถึงเป้าหมาย แต่ไม่ได้ออกนอกเส้นทาง

ก่อนที่จะเดินลงไปบนถนนและโดนรถชน เถียนเถียนกลับได้สติขึ้นมา เมื่อได้ยินเสียงของเพื่อนตะโกนเรียกเธอไว้

หญิงสาวค่อยๆ คืนสติช้าๆ ในวินาทีนั้นเธอเองยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอะไรทำให้ตัวเองทำอย่างนั้นลงไป รู้แต่เพียงว่าหลังจากรู้สึกตัว เพื่อนคนดังกล่าวก็ได้ให้ข้อคิดกับเธอด้วยความหวังดี

“เขาบอกว่าเรามองแต่สิ่งที่อยู่บนยอดเขา คิดถึงแต่ความฝัน มุ่งแต่ว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ แต่เราไม่เคยเรียนรู้เลยว่าจริงๆ แล้ววิธีที่จะขึ้นไปสู่ยอดเขามันมีตั้งหลายเส้นทาง จะเลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย หรือจะนั่งเครื่องบินขึ้นไปก็ได้ ทางที่จะไปมันไม่ได้มีทางเดียว แล้วมันก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องรีบไปให้ถึงในวันนี้ วันข้างหน้าก็ยังไปถึงได้ ยังไงต้องมีวันที่เป็นของเรา”

อะไรก็แล้วแต่ในโลกใบนี้ ถ้าเราจริงกับมัน มันก็จะจริงกับเรา ความฝันก็คงเช่นกัน หากไม่ล้มเลิกเดินออกนอกเส้นทางเสียก่อน วันหนึ่งเราจะไปถึงเป้าหมายแน่ๆ หลังจากวันที่เกือบจะเอาชีวิตตัวเองไปทิ้ง เถียนเถียนก็เริ่มหาอาชีพอย่างอื่นทำ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพนักงานต้อนรับที่สถาบันสอนภาษาอังกฤษ เป็นครูสอนศิลปะ เป็นผู้ช่วยช่างแต่งหน้าดาราศิลปิน ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาหลังเลิกงานวาดภาพ สร้างสรรค์ผลงานในสิ่งที่ตัวเองรัก

“เรายอมทำงานหลายๆ อาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงอาชีพเดียวที่เป็นความฝันให้มันอยู่ได้ โดยเราจะใช้เวลาวาดภาพในตอนเที่ยงคืนไปจนถึงตี 5 วันหนึ่งในขณะที่เรากำลังนั่งวาดภาพอยู่ อาม่าเข้ามาแอบดูเราตอน 7 โมงเช้า แล้วก็ถามว่าเหนื่อยไหม เราก็ตอบว่าเหนื่อย อาม่าดูรูปที่เราวาดอยู่แล้วก็บอกว่าอาม่าชอบรูปนี้นะ รูปนี้สวย ซึ่งปกติอาม่าเป็นคนกลัวหัวกะโหลกมาก ไม่เพียงแค่ชม แต่อาม่ายังบอกด้วยว่าไม่ต้องกลัวว่าอาม่าจะกลัวหัวกะโหลกนะ อาม่าไม่กลัวแล้ว แล้วถ้ารูปนี้เอาไปจัดแสดงงานแล้วไม่มีใครซื้อ อาม่าจ่ายเงินซื้อนะ คือถามว่าจริง ๆ แล้ว เราเชื่อว่าอาม่าก็ยังกลัวหัวกะโหลก แต่ถ้าเป็นเถียนเถียนของอาม่าวาด อาม่าก็ยินดีและดีใจ”

หญิงสาวรู้สึกปลดล็อคสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ ต่อให้คนทั้งโลกจะไม่หลงรักหัวกะโหลกที่เธอวาด แต่ขอแค่อาม่ารู้สึกดีเธอก็พึงพอใจแล้ว เถียนเถียนร้องไห้ออกมาด้วยความขอบคุณที่คนสำคัญที่สุดรักในผลงานของเธอ แม้ว่ามันจะไม่น่ารักสำหรับใครหลายๆ คนก็ตาม

หลังจากพายุร้ายในชีวิตผ่านพ้นไป ชีวิตการเป็นนักวาดภาพของเถียนเถียนก็มีแต่ก้าวไปข้างหน้า ศิลปินสาววัย 31 ปี จัดงานแสดงงานของตัวเองขึ้นอีก 2 ครั้ง ซึ่งผู้คนและนักสะสมงานศิลปะต่างก็ให้การสนับสนุนผลงานของเธออย่างดี นั่นทำให้เธอได้รู้ว่าชีวิตทุกชีวิตล้วนมีช่วงเวลาที่ดีและร้ายเป็นของตัวเอง

บางสิ่งบางอย่างที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ดี อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพียงแต่บางทีมันอาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ถูกต้องและเหมาะควร


เราต่างเป็นพลังของกันและกัน

บนวัย 92 ปี ภายใต้ร่างกายที่ไม่ได้แข็งแรงมากนักและเป็นที่อยู่อาศัยของโรคภัยไข้เจ็บ อาม่ากลับเป็นพลังสำคัญที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพทุกภาพของเถียนเถียน ซึ่งก็รวมถึงการจัดงานแสดงภาพวาดในครั้งล่าสุดด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันอาม่าป่วยเป็นโรคไต ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้อง ซึ่งเถียนเถียนจะรับหน้าที่ในการควบคุมและดูแล ยกเว้นในบางเวลาที่ไม่สะดวกจริงๆ ก็จะมีคนที่บ้านคอยผลัดเปลี่ยนช่วยทำให้ แรกเริ่มเดิมที เถียนเถียนคิดว่าจะไม่จัดงานแสดงภาพในครั้งนี้เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากต้องการใช้เวลาดูแลอาม่าให้เต็มที่

“เราบอกอาม่าว่าจะไม่จัดแล้ว แต่อาม่าไม่ยอม บอกว่าอย่าให้เขาเป็นตัวถ่วง เขาอยากให้เราทำงานและจัดงานแสดงภาพวาดของเราต่อไป อาม่าอยากที่จะไปดูเถียนเถียนแสดงงาน อยากจะไปนั่งขายสูจิบัตรในงานด้วยกันกับเถียนเถียน”

แน่นอนว่าหากเถียนเถียนเลือกที่จะแสดงงาน เธอจะมีเวลาดูแลอาม่าน้อยลง และอาจจะกลับบ้านไม่บ่อยเหมือนเก่าแต่อาม่าก็ยอมรับกติกาดังกล่าว เพียงเพื่อจะให้หลานรักได้ทำงานต่อไป

ทุกวันนี้เถียนเถียนนั่งวาดรูปอยู่ในห้องพักของเธอแทบจะทั้งวันทั้งคืน หลายครั้งที่เวลาล่วงเลยเข้าสู่เช้าวันใหม่ บางช่วงที่กล้ามเนื้อในร่างกายอักเสบจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน เธอก็ลุกขึ้นมากินยาเพื่อให้วาดรูปต่อไปได้และเสร็จทันก่อนที่วันเปิดงานจะมาถึง

คนหนึ่งยอมที่จะได้รับการดูแลจากคนอื่นเพื่อผลักดันให้อีกคนได้มีเวลาสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมา ขณะที่คนหนึ่งก็ทุ่มเททำงานเพื่อคนที่ตนรักจะได้เดินทางมาชื่นชม

ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งคู่ต่างเป็นพลังที่ผลักดันกันและกัน การแสดงงานศิลปะในครั้งนี้จะไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่จะเป็นงานของยายและหลานทั้งสองคน

หวังว่าเราจะได้เห็นอาม่ากับเถียนเถียนนั่งขายสูจิบัตรอยู่ด้วยกันในวันเปิดงาน 

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ