การตัดสินใจดูแลในวันที่พ่อแม่ปฏิเสธการรักษา คุยกับ ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้ง ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคม

หัวใจสำคัญของการดูแลรักษาพ่อแม่แบบ “ประคับประคอง” ให้มีคุณภาพที่สุด คือการวางแผนล่วงหน้าในวันที่ท่านยังสามารถสื่อสารได้

บุพการีที่เคารพ พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้ก่อตั้ง ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคม ถึงประเด็นการตัดสินใจดูแลพ่อแม่ ในวันที่ท่านปฏิเสธการรักษา อยากกลับไปใช้ช่วงเวลาสุดท้ายที่บ้าน

“การเคารพการตัดสินใจของเจ้าของชีวิต และการเตรียมตัวล่วงหน้า เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เมื่อพ่อแม่ได้ตัดสินใจไปแล้วว่าอยากมีช่วงสุดท้ายแบบไหนเราควรเคารพเจ้าของชีวิตแบบนั้น เวลาที่พ่อแม่ยังสื่อสารได้เราควรถามความต้องการของเขาและเคารพในสิ่งนั้นเลย เมื่อถึงเวลาที่ท่านป่วยหนักไม่สามารถตัดสินใจได้จริง ๆ เหตุการณ์ที่ลูก ๆ จะเห็นไม่ตรงกันจนเกิดการยากที่จะตัดสินใจจะหมดไป ดีที่สุดคือการถามพ่อแม่โดยตรง”

“หากพ่อแม่ปฏิเสธการรักษา ต้องการกลับไปใช้ช่วงเวลาสุดท้ายที่บ้าน ลูกอาจจะกังวลใจว่าถ้าเกิดอาการเจ็บปวดน่าทรมานใด ๆ ขึ้นมาต้องทำอย่างไร ต้องพากลับไปโรงพยาบาลอีกหรือไม่ สู้อยู่ใกล้หมอไม่ดีกว่าหรือ เรื่องนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าในยุคนี้เราสามารถบำบัดอาการเจ็บปวดทรมานใด ๆ ที่บ้านได้ โดยมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบได้ เขาสามารถกลับบ้านมาเติมเต็มมิติทางจิตวิญญาณที่เขาต้องการได้ เช่น กลับมาอยู่กับลูกหลาน สัตว์เลี้ยง หรือไปในที่ที่อยากไป กินของที่อยากกิน จนกระทั่งวาระสุดท้ายมาถึง”

“Backup Plan หรือการวางแผนดูแลล่วงหน้า สำหรับการรักษาแบบประคับประคอง คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ญาติผู้ป่วยเบาใจลง และตั้งรับได้ ไม่ว่าจะความกังวลจากการติดเชื้อแทรกซ้อน การหายใจหอบเหนื่อย หรืออาการปวดทรมานจากโรค อาทิเช่น มะเร็ง Backup Plan เปรียบเหมือนการซ้อมญาติ ๆ ล่วงหน้า โดยมีผู้เชี่ยวชาญชวนวางแผน ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริง ๆ จะมีแผน A B C เราต้องรับมือแบบไหน เช่น ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงเราจะดูว่าเกิดจากการติดเชื้ออะไร รักษาโดยการจ่ายยาที่ถูกจุด ในวันถัดมาอาการไข้ก็จะลดลง หากเหนื่อยหอบจากการติดเชื้อในปอดเราก็สามารถให้ยาลดอาการหอบเหนื่อยเช่นมอร์ฟีนได้ ผู้ป่วยก็จะไม่มีความทรมานใด ๆ ญาติก็สบายใจขึ้น และพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์”

“เมื่อเบาใจได้แล้วเราก็มาชวนคิดกันต่อว่าความสุขของผู้ป่วยคืออะไร เราสามารถเติมเต็มความสุขให้เขาได้อย่างไรบ้าง เมื่อถึงวันหนึ่งผู้ป่วยไม่ตอนสนองใด ๆ แล้วและถ้าเราไม่แทรกแซงธรรมชาติ ท่านก็จะไปตามธรรมชาติอย่างไม่มีความทุกข์ เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ท่านต้องการกลับมาอยู่บ้านแล้ว”

“การชวนคิดและวางแผน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราตั้งรับได้ ถ้าวันนี้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการน่ากังวลใจใด ๆ ยังสามารถลืมตาสื่อสารได้ เราสามารถถามเขาได้เลย หรือหากลูก ๆ ไม่สามารถชวนคุยเรื่องนี้ได้ก็อาจให้คนสนิทคนอื่น ๆ ชวนพูดคุยได้ ว่าหากเกิดเหตุการณ์น่าตกใจขึ้น อยากให้ดูแลอย่างไร ถ้าเจ้าของชีวิตบอกไว้ว่าอนุญาตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ลูกก็จะมีแนวทางตั้งรับที่ตรงกับใจท่านที่สุดได้”

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ เยือนเย็นได้ที่ Facebook : เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ