น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง น้ำปลากู้ป่าชายเลน ที่ 1 ปีจะมีให้กินเพียงครั้งเดียว

“ความพิเศษของน้ำปลาของเรา คือ 1 ปีจะมีให้กินเพียงแค่ครั้งเดียว เพราะเราใช้ปลาในท้องถิ่นอย่าง ‘ปลาอกแล’ ซึ่งจะเข้ามาในพื้นที่ช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะไม่มีแล้ว”

มนุษย์ต่างวัย คุยกับ ‘ผู้ใหญ่แดง’ วิสูตร นวมศิริ วัย 68 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านบางบ่อล่าง หมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ แห่งเมืองแม่กลอง ผู้อุทิศตนทำงานเพื่อชุมชนมาตลอดถึงแม้ว่าจะเกษียณจากตำแหน่งไปนานถึง 8 ปี แล้วก็ตาม

ด้วยความที่ผู้ใหญ่แดงเกิดและเติบโตในชุมชน ทำให้เห็นถึงปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของคนในชุมชน จนชาวบ้านเริ่มต้องย้ายที่อยู่อาศัย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้ใหญ่แดงต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อบ้านเกิดตัวเอง และต่อสู้เพื่อรักษาอาชีพประมงของชุมชนให้คงอยู่

ผู้ใหญ่แดงได้พยายามแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนเกิดโครงการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลน โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน ต่อยอดมาถึงการนำภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษมาสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน เกิดเป็น ‘น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง’ น้ำปลาแท้ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ใช้วัตถุดิบคุณภาพ กลิ่นหอม รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ที่ 1 ปีจะมีให้กินแค่เพียงครั้งเดียว เป็นอีกอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และเป็นทุนในการดูแลรักษาป่าชายเลนของชุมชน

กว่าจะเป็นน้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง

ผู้ใหญ่แดงเล่าถึงจุดเริ่มต้นของน้ำปลากู้ป่าชายเลนว่า “ตอนแรกมันมีความคิดอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือผมเคยเห็นบรรพบุรุษที่เขาทำน้ำปลากินเองในสมัยก่อน แต่ตอนนั้นเขาจะใช้ปลาเยี่ยวเกี๊ยซึ่งเดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว ก็เลยคิดว่าเราน่าจะไปรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำปลาไว้ ว่าต้องหมักอย่างไร ใช้โอ่งแบบไหนถึงจะดี เพื่อจะได้สืบสานการถนอมอาหารของคนโบราณไว้

“อย่างที่สองผมคิดว่าถ้าเราทำน้ำปลาเอง มันจะไม่มีสารกันบูด สารแปลกปลอมอะไรปะปนเลย เราก็จะได้กินน้ำปลาปลอดสาร ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย”

“การทำป่าชายเลนทำให้พื้นที่ของเรามีปลาชนิดหนึ่งเข้ามา นั่นก็คือ ‘ปลาอกแล’ หรือ ‘ปลาแชลั้น’ ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะทำป่าชายเลนมันไม่เคยมีปลาชนิดนี้มาก่อน มันบ่งบอกว่าพื้นที่บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ พอเห็นว่ามีปลาชนิดนี้เข้ามา เราก็เลยคิดว่าน่าจะลองเอาปลาพวกนี้มาทำน้ำปลาดู

“ปลาอกแลเป็นปลาที่มีเลือดแดง เลือดเยอะ แต่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ เวลานำมาหมักจะได้น้ำปลาที่มีรสชาติเฉพาะตัว คือ ‘เค็มนิด ๆ อมหวานหน่อย ๆ’ ในส่วนของกรรมวิธีในการทำน้ำปลานั้นเราจะเริ่มจากการคัดแยกปลาก่อน เพื่อไม่ให้มีปลาชนิดอื่นปะปนมาด้วย หลังจากนั้นก็เทปลาใส่กระบะคลุกเคล้าให้เข้ากับเกลือ โดยใช้เกลือขาวซึ่งเป็นเกลือชุดแรกที่ได้จากการทำนาเกลือและเป็นเกลือที่ดีที่สุด

“พอเราคลุกเคล้าปลาเข้ากับเกลือเสร็จแล้วก็นำมาเทลงโอ่งที่เตรียมไว้เพื่อหมักปลาต่อ โอ่งใบหนึ่งจะหมักปลาได้เกือบ 200 กิโลกรัม ซึ่งเวลานำไปทำน้ำปลาก็จะได้ประมาณ 350 ขวด จาก

นั้นก็หมักปลาไว้ให้ครบ 1 อาทิตย์ แล้วใส่สับปะรดกับอ้อยลงไป ปิดฝาแล้วหมักทิ้งไว้อีก 1 ปี น้ำปลานี้ถ้าหมักไปแล้วจะเปิดก่อนไม่ได้นะ ต้องรอครบ 1 ปีก่อน เราเขียนข้างโอ่งชัดเจนว่าต้องเปิดวันไหน

น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง TheO(I)dol

“พอครบปี เราก็ไปเปิดโอ่ง จากนั้นก็ตักมันสีดำ ๆ ออก แล้วใช้สายยางจุ่มลงไปดูดขึ้นมาใส่แกลลอน แล้วนำมาต้มประมาณ 20 นาที ระหว่างต้มก็ตักฟองชั้นไขมันออก เพื่อให้น้ำปลาไม่เป็นสีดำ หลังจากนั้นก็นำไปแช่ในถังน้ำใหญ่ ๆ เพื่อให้น้ำปลาที่ร้อนอยู่เย็นลง แล้วนำน้ำปลามาใส่ถุงแขวนไว้ เพื่อให้น้ำปลาค่อย ๆ หยดใส่ถาดที่เราคลุมผ้าขาวบางรองไว้ กรองไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมตกลงไป หลังจากนั้นก็นำน้ำปลาที่อยู่ในถาดมากรอกใส่ขวด ปิดฝาให้เรียบร้อย”

น้ำปลากู้ป่าชายเลน

“ตอนแรกที่ทำ เราทำกินเองในครัวเรือน หลังจากนั้นเราก็เริ่มแจกจ่ายคนที่เข้ามาช่วยทำงานที่ป่าชายเลน หรือเข้ามาในหมู่บ้านให้เขาไปลองชิมกันว่าอร่อยไหม บอกเขาว่าเป็นน้ำปลาแท้ ๆ จากชุมชนทำเอง พอดีมีกลุ่มเดอะมนต์รักแม่กลองเข้ามา เขาบอกว่ามันน่าจะเอาไปขายได้ เราก็เลยให้เขาเอาไปทดลองขายดู และตั้งชื่อว่า “น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง” ปรากฏว่าพอถึงฤดูกาลปลูกป่า เราขายได้เป็นร้อย ๆ ขวด

น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง TheO(I)dol

“พอมันขายได้ เราได้กิน ได้สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ เราก็คิดว่าน่าจะกันรายได้ส่วนหนึ่งจากตรงนี้ไว้เป็นกองกลางเพื่อเอาไว้เป็นต้นทุนสำหรับดูแลป่าชายเลนต่อไป เราก็เลยเริ่มทำกันจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนมีคำพูดตลก ๆ ออกมาว่าน้ำปลานี้เป็นน้ำปลากู้ป่าชายเลน”

สร้างกำแพงธรรมชาติป้องกันน้ำกัดเซาะ

ปัญหาเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนริมคลองบางบ่อ อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม มาเนิ่นนาน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ผู้ใหญ่แดงได้รับความวางไว้ใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้นำชุมชนของที่นี่ การแก้ไขปัญหานี้จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง

“เมื่อปี พ.ศ. 2551 ผมมีโอกาสได้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำชุมชนของที่นี่ แต่ปัญหาพวกนี้ผมเห็นมานานแล้ว ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้ยังคงอยู่ เพราะว่ามันหมายถึงความมั่นคงในวันข้างหน้า ถ้าหากว่าพื้นที่ตรงนี้มันหายไปมันก็เท่ากับว่าหมู่บ้านนี้ก็อาจจะล่มสลายด้วยการขาดอาชีพ ผู้คนต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ถ้าเราทำความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตรงนี้ อาชีพก็จะยังคงอยู่ สิ่งแวดล้อมมันก็จะดี

“จากตอนแรกที่เป็นแนวคิดของเรา ผมก็เริ่มชวนชาวบ้านมาร่วมด้วย เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากหนึ่งคน เป็นสองคน สามคน จากหนึ่งครอบครัวเป็นสิบครอบครัว ลงไปดูพื้นที่กันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง จะป้องกันแบบไหน ทำอย่างไรไม่ให้มันพัง ชาวบ้านก็เลยบอกให้ไปดูว่ามันมีที่ไหนที่เขามีปัญหาแบบนี้ แล้วเขาทำอะไรกันบ้าง

น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง TheO(I)dol

“เราก็เลยชวนชาวบ้านไปดูงาน เดินทางไปที่ จ.สมุทรสาคร เพราะที่นั่นเขามีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ไปดูเลยว่าเขาปักแบบไหน อย่างไร ห่างกันเท่าไร จากนั้นก็กลับมาคุยกับชาวบ้านที่เขาได้รับผลกระทบแล้วตกลงกันว่าจะใช้วิธีนี้ เพราะใช้งบประมาณไม่มาก และคนในชุมชนก็ช่วยกันทำได้

“เราตั้งกลุ่มกันขึ้นมาใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลน’ ทำงานกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ตอนแรกยังไม่มีงบประมาณด้วยซ้ำ มีแค่งบทดลองของจังหวัดและใช้การระดมทุนเพิ่มเติมจากคนในหมู่บ้าน ส่วนไม้ไผ่ที่ใช้ทางเครือข่ายที่สมุทรสาครเขาก็ช่วยสนับสนุนให้ หลังจากนั้นเราก็เลยได้เริ่มลงมือปักไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลน

“การเป็นผู้นำทำให้ชาวบ้านเขาให้ความไว้วางใจ เวลาชวนเขาไปทำอะไรก็ง่ายกว่าตอนเราเป็นชาวบ้าน เมื่อก่อนเราก็ทำ แต่ทำคนเดียว มันไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ไม่เหมือนกับการร่วมกันทำ พอชาวบ้านเข้ามาช่วยก็ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่า

“หน่วยงานของรัฐก็เข้ามาช่วยเรื่องงบประมาณ สื่อด้านสิ่งแวดล้อมมาช่วยทำให้เรื่องมันกระจายไป แล้วก็มีภาคเอกชนเข้ามาทำ CSR ต่าง ๆ จนได้งบประมาณที่เข้ามาเป็นร้อยล้าน ซึ่งไม่ได้เอามาใช้ทำแค่ในหมู่บ้านเราอย่างเดียว แต่กระจายไปทั่วทั้งจังหวัด

“พอช่วงปี พ.ศ. 2557-2558 ต้นทุนในการดูแลป่าชายเลนเราเริ่มหมด ประกอบกับช่วงนั้นมันมีปลาอกแลเข้ามาพอดี เราก็เลยคิดว่าอยากลองเอาปลาชนิดนี้มาทำน้ำปลาดู เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบโบราณของบรรพบุรุษ เพื่อให้เราได้กินน้ำปลอดปลอดสารตาม แล้วถ้าเราทำจนมันสามารถจำหน่ายได้ เราก็จะมีทุนไว้ใช้ในการดูแลป่าชายเลนต่อ”

น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง TheO(I)dol

ทุกชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นเริ่มจากต้นกล้าในป่าชายเลน

“เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้หรอกว่าป่าชายเลนกับทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ มันสัมพันธ์กันอย่างไร พอมาทำเองถึงได้รู้ เราปลูกป่าไปสัก 2-3 ปี พอมันมีป่าเต็มที่ มีน้ำขึ้นมาเยอะ ๆ เราสังเกตว่ามันก็มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปลาต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ แล้วใช้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์นั้นวางไข่ พอวางไข่เสร็จแล้วเขาก็ออกไป ไข่เขาก็จะปะแต้มอยู่กับรากโกงกางบ้าง รากแสมบ้าง ที่เขาบอกว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลวัยอ่อนก็เพิ่งรู้จากตรงนั้น

“หลังจากนั้น 3-4 ปี เราก็เริ่มเห็นว่ามีปลาหลากหลายชนิดเข้ามามากขึ้น คนที่อยู่นอกชายฝั่ง ที่เขาหากุ้ง หอย ปู ปลาต่าง ๆ ก็มีรายได้ดีขึ้น

น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง TheO(I)dol

“จากเมื่อก่อนที่มันแทบจะเหลือแต่น้ำ ทุกวันนี้ชุมชนกลับมามีป่าที่สมบูรณ์ คนทำมาหากินอยู่ได้ ซึ่งมันก็เป็นแบบที่เราตั้งใจ เรื่องป่าชายเลนนั้น เราจะต้องดูแล บำรุง รักษาไปตลอดชีวิต วันหนึ่งเราอาจจะตายไปแล้ว ก็ต้องบอกคนรุ่นใหม่มาดูแลรักษาไว้ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นต่อไป

“การทำป่าชายเลนไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่ทำได้ภายใน 5 วัน 10 วัน แต่มันอาจจะใช้เวลา 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีวิตก็ได้ สิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เราต้องดูแล บำรุง รักษา แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างชาญฉลาดและดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการที่คนมีรายได้ดีขึ้น มันก็เริ่มมาจากไม้ป่าชายเลนเพียงต้นเดียว”

สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน “น้ำปลาตราผู้ใหญ่แดง” ได้ที่ 

กลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าชายเลน 

หมู่ 10 ต.บางแก้ว 

อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 

โทร. 085-1171508 (ผู้ใหญ่แดง)

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ