โชตวิชช์ สุวงศ์-นักวาดภาพประกอบ ผู้เปลี่ยนงานอดิเรกที่รักมาเป็นอาชีพหลังเกษียณ

ภายในคอนโดห้องขนาด 60 ตารางเมตรย่านประชาชื่น ต้อ-โชตวิชช์ สุวงศ์ กำลังนั่งวาดรูปอยู่อย่างมีความสุข

ปัจจุบันชายวัย 72 ปีประกอบอาชีพเป็นนักวาดรูปสีน้ำ รวมทั้งรับจ้างทำหนังสือเล่ม เขาทำตั้งแต่หาประเด็นเรื่อง เขียน ถ่ายรูป ทำอาร์ตเวิร์ก และวาดภาพประกอบหนังสือ เรียกได้ว่าทำได้ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หรือจะทำเพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็ได้

โชตวิชช์ซื้อคอนโดห้องนี้เอาไว้เมื่อราว 20 ปีก่อน ก่อนที่ตัวเองจะเกษียณเล็กน้อยตั้งใจว่าจะให้มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวเล็ก ๆ ที่เอาไว้สำหรับทำงานและใช้ชีวิตไปด้วยพร้อมกัน เพียงแต่ในเวลานั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าเมื่อเกษียณจริง ๆ แล้วจะทำอะไร

“เราคิดว่าคนเราเมื่อแก่ตัวขึ้น ยิ่งต้องทำบ้านให้เล็กลง ต้องเอาภาระออกไปจากตัวให้มากที่สุด ถ้าเราซื้อบ้านกว้างเราก็จัดการลำบาก ก็ยิ่งกลายเป็นภาระ ลูก ๆ ของเราแต่ละคนเขาก็ไปได้ดี มีครอบครัวเลี้ยงดูเราได้ เราเองก็อยากมีพื้นที่ส่วนตัวเล็ก ๆ เอาไว้ทำอะไรเพลิน ๆ ของเราก็เลยซื้อคอนโดตรงนี้เอาไว้ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะกลับมาวาดรูป”

ภายในห้องเล็ก ๆ ของโชตวิชช์นั้นสามารถนั่งทำงานได้ในทุก ๆ พื้นที่ โต๊ะทำงานของเขามีมากถึง 4 ตัว ตัวแรกตั้งอยู่บริเวณห้องนอน บนโต๊ะมีคอมพิวเตอร์เอาไว้ออกแบบและนั่งเขียนหนังสือ โต๊ะตัวที่สองเป็นโต๊ะกินข้าววางแนวขวางอยู่กลางห้อง เอาไว้สำหรับวาดรูปขนาด A4 A3 ขึ้นไป ตัวที่ 3 เป็นโต๊ะเขียนแบบตั้งอยู่ในห้องหนังสือ ขณะที่ตัวที่ 4 เป็นโต๊ะสำหรับร่างรูปอยู่ตรงห้องโถง

จากห้องที่ซื้อไว้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ หลังเกษียณมาวันนี้กลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยที่นั่งวาดรูปและมุมทำงานมากมาย ซึ่งตัวของโชตวิชช์เองก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะกลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้งในวัยเกษียณ

จากการที่มีจุดทำงานอยู่หลายจุดให้ไม่รู้สึกเบื่อและจำเจ เปลี่ยนมุม เปลี่ยนบรรยากาศไปเรื่อย บางครั้งนั่งทำงานไปสักพักอาจมีการหยุดดูโทรทัศน์ หรือออกไปเดินซื้อของ ฯลฯ

ความรักที่อยู่ในใจ

การวาดรูปคือความรักที่อยู่ในใจของโชตวิชช์มาตั้งแต่ยังเด็ก ในวิชาเรียนแต่ละคาบ เด็กชายอย่างเขาไม่เคยสนใจว่าคุณครูสอนอะไร เพราะเอาแต่นั่งวาดรูปอยู่ในสมุด

“เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลาเรียนแทบไม่ได้เรียน เอาแต่นั่งวาดรูปอย่างเดียว เวลาได้วาดรูปเรารู้สึกว่ามันมีอิสระดี อยากจะเป็นอะไรหรือมีจินตนาการอะไร ก็แค่วาดมันลงไป เราก็ได้เป็นอย่างที่ใจต้องการ”

เมื่อโตขึ้นโชตวิชช์เลือกเข้าเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อจบการศึกษาก็เข้าทำงานเป็นสถาปนิกที่สำนักงานแห่งหนึ่ง กระทั่งเมื่อนิตยสารบ้านและสวนในเครืออมรินทร์ถือกำเนิดขึ้น โชติวิชช์ก็เข้าไปทำงานที่นิตยสารดังกล่าวตั้งแต่เล่มแรก ก่อนจะลงหลักปักฐานอยู่กับทางอมรินทร์มาจนกระทั่งเกษียณ

“เราถือเป็นคนทำงานชุดแรก ๆ ในเครืออมรินทร์เลย หลังจากทำงานที่บ้านและสวนก็มีนิตยสารแพรวออกมาใหม่อีกเราก็ย้ายมาเป็นช่างภาพแฟชั่นที่แพรวต่ออีก 10 กว่าปี แล้วก็มาทำในส่วนของสำนักพิมพ์ ทำให้เรามีความรู้ในเรื่องกระบวนการทำหนังสือในทุกขั้นตอน ซึ่งในระหว่างที่เราทำงานอยู่จนกระทั่งเกษียณเมื่อตอนอายุ 55 เราไม่ได้วาดรูปเลย แทบจะทิ้งมันไปเลยก็ว่าได้”

ด้วยความที่เคยทำงานอยู่นิตยสารบ้านและสวนซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน รวมทั้งทำงานเป็นสถาปนิกมาก่อน ทำให้โชตวิชช์พอจะมีความรู้ความสามารถในการจัดองค์ประกอบฉากและวิวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ประกอบกับการเรียนศิลปะมาก่อน ก็ทำให้เขาวาดรูปเกี่ยวกับวิว ทิวทัศน์ และที่อยู่อาศัยได้ดี

อย่างไรก็ตามในช่วงใกล้เกษียณจากการทำงานโชตวิชช์ยังไม่ได้วางแผนว่าจะทำอะไรต่อไป เขาเพียงแค่ซื้อคอนโด ห้อง 1 เอาไว้ หวังใช้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับใช้ชีวิตทำงานอดิเรกของตัวเอง

“เราไม่ได้วางแผนว่าจะทำงานหรือประกอบอาชีพอะไร หลังเกษียณเราได้เงินในการเกษียณมาก้อนหนึ่ง คิดว่าก็ใช้ชีวิตไปตามจำนวนเงินที่มีอยู่ มีน้อย ก็ใช้น้อย คิดแค่นั้น ไม่ได้คิดจริงจังว่าจะหารายได้เข้ามายังไง”

ด้วยความที่ไม่ต้องทำงานเหมือนกับเมื่อก่อน โชตวิชช์จึงมีเวลาว่างมากพอที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสิ่งที่เขาคิดถึงก็ไม่ได้มีอะไรอย่างอื่น

หลังจากห่างหายไปหลายปี ในที่สุดโชตวิชช์ก็กลับมาวาดรูปอีกครั้ง

ปัดฝุ่นใหม่

เมื่อกลับมาวาดรูปโชตวิชช์ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นใด นอกจากความสุข

“แรก ๆ ที่กลับมาวาดรูป เราวาดตามความสุขเลย อยากวาดอะไรก็วาด มีทั้งรูปธรรมชาติ รูปวิวทิวทัศน์ วัดวาอาราม รูปถ้วยชาม แจกัน ฯลฯ วาดเสร็จแล้วก็เอาให้เพื่อนดู ซึ่งเพื่อนก็มักจะชมอยู่บ่อย ๆ ว่าสวยดี ฝีมือดี

“แต่ยอมรับว่าตอนที่เริ่มต้นช่วงประมาณ 3-5 ปีแรก เรายังไม่ลงตัวแบบทุกวันนี้ แค่สีกับกระดาษ เราก็มีปัญหาแล้ว เราไปใช้กระดาษผิวเรียบ ซึ่งมันไม่ชุ่มน้ำทำให้สีที่วาดลงไปมันออกด่าง ๆ ไม่เป็นตามที่เราต้องการ กว่าจะรู้ว่ากระดาษที่ลงตัวกับเราที่สุดคือกระดาษผิวหยาบหนา 300 แกรมก็ผ่านไปหลายปี เช่นเดียวกันกับเรื่องสี ที่กว่าจะได้สีน้ำหลอดยี่ห้อที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ใช้เวลาพอสมควร

“ส่วนเรื่องฝีมือ ด้วยความที่เราห่างการวาดรูปมานาน ทำให้ช่วงแรกมันมีปัญหา อย่างรูปท้องฟ้า ต้นไม้ ทะเล เพนต์ออกมาแล้วไม่ดีเลย แต่เราก็ไม่ละความพยายาม ฝึกมือไปทุกวัน ๆ มันก็ดีขึ้น จนเกิดความชำนาญในที่สุด”

หลังจากวาดไปได้สักพักใหญ่ โชตวิชช์ก็มีความรู้สึกว่าภาพวาดแต่ละภาพ หากแค่วาดเสร็จแล้วเก็บเอาไว้เฉย ๆ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นจึงเริ่มมีความคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้ภาพมีความหมาย นำไปใช้งานได้

“รูปเริ่มมีจำนวนมาก เรารู้สึกว่ารูปที่เราวาดมันควรได้นำไปใช้งาน ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าทิ้งหรือเก็บไว้เฉย ๆ เพราะคิดแบบนี้เราก็เริ่มวางเป้าหมายว่าจะเป็นนักวาดภาพประกอบเพื่อที่จะได้วาดรูปที่เรารักด้วย ภาพที่วาดก็ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย แล้วก็มีรายได้กลับเข้ามาด้วย”

ช่วงเวลาที่เริ่มมีเป้าหมายในการวาดรูปก็เป็นช่วงเวลาที่ทางที่ทำงานเก่าติดต่อโชตวิชช์ให้กลับมารับงานฟรีแลนซ์ทำหนังสือเล่มให้กับทางองค์กรพอดี ชายวัยเกษียณจึงนำเสนอการวาดภาพประกอบลงในหนังสือเล่มที่ตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด

“หลังจากกลับมารับงานก็เริ่มมีงานอื่น ๆ เข้ามา มีทางองค์กรและบุคคลต่าง ๆ ติดต่อจ้างเราทำหนังสือเวลาเริ่มต้นคุยงาน เราก็จะนำเสนอลูกค้าเลยว่า เราสามารถวาดภาพประกอบได้ ถ้าเอาภาพประกอบอยู่ในหนังสือด้วยจะดีไหม ซึ่งลูกค้าก็มักจะตกลงตามที่เราแนะนำ หรือบางครั้งคนทำหนังสือเขายังขาดคนวาดภาพประกอบ เขาก็จะติดต่อมาที่เรา เราก็จะรับผิดชอบในส่วนของภาพประกอบอย่างเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบทุกกระบวนการทั้งหมด

“ทุกวันนี้งานก็ยังมีเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่เคยขาด เต็มมืออยู่พอสมควร นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีโต๊ะทำงานหลายตัวอยู่ในห้อง”

จากคนสูงวัยที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีกับชีวิตหลังเกษียณปัจจุบันกลับกลายเป็นฟรีแลนซ์ที่มีงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน สำหรับเคล็ดลับในการทำงานของนักวาดภาพประกอบไป 72 ปีคนนี้บอกว่าไม่มีอะไรซับซ้อน แค่วาดรูปให้ดีและตีโจทย์ให้แตกแค่นั้นเอง

วาดอย่างไรถึงได้งาน

ในวงการหนังสือชื่อของโชตวิชช์ สุวงศ์เป็นที่รู้จักและยอมรับในนามของนักวาดภาพประกอบมากฝีมือ ตลอดเวลา 16-17 ปีที่เกษียณอายุและทำงานฟรีแลนซ์โชติวิชช์มีงานตลอดไม่ขาดมือ ชายวัย 72 สามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างสบายไม่ขัดสน

ทุกครั้งที่มีการจ้างงาน และวาดภาพประกอบเกิดขึ้น ภาพทุกภาพในหนังสือทุกเล่มของเขาไม่ได้มาจากการวาดตามความสนุก อยากวาดอะไรก็วาดดังเช่นในช่วงแรก หากแต่ผ่านกระบวนการทางความคิด โดยเขาจะต้องอ่านเนื้อหาหรือพูดคุยกับนักเขียนจนเข้าใจ จากนั้นก็จะตีโจทย์ว่าจะวาดรูปอะไรออกมา แล้วก็หาภาพถ่ายที่ต้องการ ก่อนจะวาดออกมาแล้วแต่งแต้มรายละเอียดเข้าไป

“ยกตัวอย่างเช่น มีองค์กรมาจ้างเราทำหนังสือเผยแพร่ความงามในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเนื้อหาข้างในหนังสือไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์เป็นคนเขียนบรรยายสถานที่ต่างๆ เอาไว้ เราก็ต้องอ่านบทกวีของไพวรินทร์ว่าเขาเขียนถึงสถานที่ตรงไหนบ้าง จากนั้นก็บินไปร้อยเอ็ด แล้วก็ตระเวนถ่ายรูปภูเขา ลำธาร น้ำตก ฯลฯ ตามที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ ซึ่งขณะที่ตระเวนถ่ายรูป เมื่อมีเวลาว่างเราก็ยังอ่านไปด้วย เพื่อดูว่าเราตกหล่นสถานที่ใดไปอีกบ้าง เมื่อได้ภาพทั้งหมดตามที่พอใจ ถึงเวลาวาด เราก็ใส่จินตนาการเพิ่มเข้าไป เช่น รูปน้ำตกเราจะไม่วาดน้ำตกอย่างเดียว ก็จะเติมผู้คน ผีเสื้อ ให้มันสวยงามและดูมีบรรยากาศที่ดีมากขึ้น”

ไม่เพียงแต่หนังสือท่องเที่ยวหรือหนังสือขององค์กรทั่วไป แต่ปกนิยายชื่อดังหลายเล่มก็ล้วนแต่มาจากฝีมือการวาดภาพชายวัยเลข 7 ผู้นี้

“วันหนึ่งนักเขียนนิยายชื่อดัง ‘กิ่งฉัตร’กำลังจะหมดสัญญากับสำนักพิมพ์เดิม เขาต้องการที่จะเอานิยายของเขา 30 กว่าเล่มมาพิมพ์เองแล้วเปลี่ยนปกใหม่ทั้งหมด เขาต้องการให้เราวาดปกใหม่ให้ เราก็บอกเขาไปตามความคิดของเราว่าเราจะไม่วาดรูปพระเอกนางเอก แต่เราจะวาดรูปทิวทัศน์แทน ซึ่งคุณกิ่งฉัตรเองเขาก็คิดเหมือนกัน

“เวลาทำปกนิยายนักเขียนอย่างกิ่งฉัตร เขาก็จะเล่าเรื่องย่อแต่ละเล่มให้ฟังว่าเนื้อหาเป็นยังไง สถานที่ ฉากเป็นแบบไหนบ้าง จากนั้นเราก็หาภาพต้นแบบที่จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์นำมาวาด ยกตัวอย่างเรื่อง ‘เพียงใจที่ผูกพัน’ พระเอกเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงแรม มีบ้านพักชายทะเล ส่วนนางเอกเป็นนักไวโอลินที่อังกฤษแล้วมาเจอกันที่ภูเก็ต โดยทั้งคู่แตกต่างกันหลายอย่างแต่มีสิ่งที่ชอบตรงกันก็คือปลาสวยงาม นิยายเรื่องนี้ค่อนข้างยาวจึงแบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกปกก็จะเป็นรูปบ้านของผู้ชายติดชายทะเลมีเอกสารตามสไตล์นักธุรกิจ ขณะที่อีกปกจะเป็นรูปในบ้านของผู้หญิงที่มีไวโอลินมีโซฟาฉากด้านนอกเป็นทะเลโดยทั้งสองปกก็จะมีอ่างเลี้ยงปลาสวยงามวังอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน

“จากนั้นเราก็หาภาพถ่ายโซฟา ทะเล ไวโอลิน มาแปะทำเป็นต้นแบบ ปรึกษาคุยกันจนพอใจ แล้วลงมือวาด”

จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้ภาพแต่ละภาพ กว่าจะออกมาเป็นผลงานที่สวยงามในหนังสือนั้นไม่ง่ายเลย ด้วยเหตุนี้การที่ชายสูงวัยคนหนึ่งที่ห่างหายจากการวาดรูปไปเกือบครึ่งชีวิต จะกลับกลายเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระที่มีงานต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก

อย่างไรก็ตามโชตวิชช์บอกว่าสิ่งที่ทำให้เขายังคงทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ทั้งที่อายุมากแล้ว ก็คือการพยายามรักษาความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน

“ยิ่งเราสูงวัยเรายิ่งไม่สามารถเอาชีวิตไปหมกมุ่นกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การรักษาความสมดุลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา”

Work-Life Balance สมดุลชีวิต

“แม้บางช่วงงานเต็มมือ แต่เราก็ตั้งใจว่าจะไม่รับงานเยอะจนมันเบียดเวลาชีวิตหรือทำไม่ไหว เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานมากไปกว่าชีวิต จริงอยู่ว่างานก็สำคัญ แต่ชีวิตมันก็มีด้านอื่นด้วย พูดจริง ๆ นะ สำหรับคนสูงวัยอย่างเราแค่การได้ดูทีวีนั่งเล่น นอนเล่นในแต่ละวัน มันก็สำคัญแล้ว มันเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ให้ชีวิตทำให้ชีวิตสดชื่น ไม่เคร่งเครียด”

ในวัย 72 ปีโชตวิชช์ Work- Life Balance ให้กับตัวเองได้อย่างสมดุล เขามีกฎของตัวเองอยูว่าต้องนอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และหากเป็นไปได้ก็จะเข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่มีการนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งจนดึกดื่น หรือออกไปงานสังคมที่ไหน

“เราเป็นคนให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเอาแต่นอนจนไม่ทำงาน ถ้าเป็นแบบนั้นชีวิตมันจะทรุดโทรมและแห้งเหี่ยวเกินไป แต่เราจะต้องนอนให้พออย่างต่ำ 8 ชั่วโมงต่อวัน แล้วก็ต้องไม่ดึก เวลามีพรรคพวกชวนไปงานเวลากลางคืนเราปฏิเสธเลยนะ เพราะต้องการเข้านอนให้เร็ว อย่างเรานอน 4 ทุ่มตื่น 6 โมงเช้า ถ้าเปลี่ยนเป็นนอนตี 2 ตื่น 10 โมง ถามว่า 8 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ตื่นมาความสดชื่นของร่างกายนี่คนละเรื่องเลยนะ”

โชตวิชช์ไม่ได้พยายามรักษาสมดุลเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิต แต่ในเวลาทำงานเขาก็พยายามทำให้สมดุล ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ให้ชีวิตอยู่เรื่อย ๆ

“เวลานั่งทำงานเราไม่นั่งวาดรูปทีเดียว 3-4 ชั่วโมงหรอก นั่งทำไปสักชั่วโมงเราอาจหยุดดูทีวีบ้าง นอนเล่นบ้าง บางครั้งก็ออกไปเดินซื้อของ ไปหาหลาน ฯลฯ พาตัวเองออกจากงานตรงหน้าไปพบสิ่งอื่นไม่อย่างนั้นมันจะหมกมุ่นเกินไป เมื่อพร้อมก็ค่อยกลับมาทำงานใหม่ จะมานั่งทำทีเดียวยาวๆ เหมือนคนหนุ่ม ๆ ไม่ได้”

การรู้ในข้อจำกัดและเลือกหาทางออกที่พอดีให้กับตัวเองนับได้ว่าเป็นศิลปะชั้นสูงในการใช้ชีวิต สำหรับชายวัย 72 อย่างโชตวิชช์คงไม่จำเป็นต้องถามว่าเขามีศิลปะในการใช้ชีวิตหรือไม่

รูปภาพของเขาคือศิลปะที่สวยงาม แต่สิ่งที่สวยงามยิ่งกว่าคือการออกแบบชีวิต

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ