ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

‘ภูคราม’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผ้าทอมือ เข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติ ปักลวดลายด้วยมือสะท้อนวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมบนภูพาน นี่คือคำนิยามของแบรนด์ภูครามที่ถูกสื่อสารออกไปให้คนทั่วไปได้รับรู้ แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ผ่านชิ้นงานของภูคราม คือ การอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับปัจจุบัน และอยู่กับความรู้สึก

ภูครามเกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ‘เหมี่ยว’ ปิลันธน์ ไทยสรวง วัย 42 ปี หญิงสาวที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่ใช้ความรู้ ความสนใจ และประสบการณ์จากการทำงานในฐานะอดีตนักประวัติศาสตร์ชุมชนมาสร้างคน สร้างคุณค่า ให้กับท้องถิ่นของตัวเองผ่าน ‘การทอผ้า’ เป็นการรื้อฟื้นและต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน จนทำให้ภูครามเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่สวยงาม ทรงคุณค่า และมีลวดลายปักที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

งานของเธอไม่ใช่การสร้างแฟชั่นที่วิจิตรตระการตา หรือคอลเล็กชันหายาก แต่เธอตั้งใจที่จะทำงานกับผู้คนผ่านธรรมชาติ ภูมิปัญญา และสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อสร้างงานที่ทำให้คนทำงานได้เรียนรู้และสัมผัสถึงคุณค่าของงานที่ลงมือทำด้วยตัวเองจนคุณค่านั้นมีพลังมากพอที่จะส่งต่อออกไปให้คนอื่นสัมผัสได้ด้วยเช่นกัน

เหมือนกับที่เธอบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานภูคราม คือ การพัฒนาฝีมือ การขัดเกลาผู้คน การนำพาเขาไปสู่ธรรมชาติ ทำให้เขาเห็นความงามตามธรรมชาติจริง ๆ ส่วนชิ้นงานที่ออกมานั้นคือสิ่งที่เป็นปลายทาง”

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

จุดเริ่มต้นของคนอยากกลับบ้าน 

“ก่อนที่เราจะมาทำแบรนด์ภูคราม เราทำงานเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ทำงานกับชุมชน เราพยายามคิดมาตลอดว่าที่สกลนครมันมีงานแบบไหนที่เราพอจะทำได้บ้าง

“การทอผ้าไม่ได้เป็นสิ่งแรกที่อยู่ในความคิดเลย แต่พอเรากลับมาอยู่บ้าน มันเหมือนเรากลับไปสู่โหมดเดิม ๆ สมัยเด็ก ๆ ที่เราได้กลิ่นคราม เห็นยายทอผ้า ดีดฝ้ายตอนตีสอง มันมีภาพความทรงจำเหล่านั้นกลับมาอยู่เรื่อย ๆ

“สมัยก่อนยายเขาจะทอผ้า ทำฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมผ้าเกือบทุกวัน คนที่นี่ไม่ได้ทำหัตถกรรมเพื่อการค้าขาย แต่ทำเพื่อใช้ในครัวเรือน คนอายุ 60 ปีขึ้นไปทำเป็นกันแทบทุกคน แต่พอช่วงที่เราเริ่มเป็นวัยรุ่น การทอผ้ามันเริ่มหายไปจนเราไม่ได้รู้สึกว่ามันอยู่ในวิถีชีวิตเราแล้ว

“ช่วงจังหวะที่กลับมาบ้านแล้วเจอป้า ๆ ทำงานย้อมผ้า เราก็รู้สึกมันสวยดี ทั้ง ๆ ที่ปกติเราไม่ได้เป็นคนแต่งตัวหรือสนใจเรื่องแฟชั่น แต่ด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นวิถึชีวิต เราก็เลยเริ่มศึกษา เริ่มลองทอผ้า หลังจากนั้นก็ลองเอาผ้าที่ทอไปฝากเพื่อน ๆ พอเห็นว่าเพื่อน ๆ สนใจ เราก็เลยลองเอาผ้าของป้า ๆ ไปขาย

“ตอนนั้นป้า ๆ เขาทำกันกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 คน แต่เขาไม่มีตลาด เราก็เลยลองเอาไปขายให้ แล้วก็เริ่มคิดว่าอยากทำเรื่องนี้เลยชวนเพื่อน ๆ มาลองทำ ลองเอาไปขาย แล้วตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘ภูคราม’ หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ลงมือทำจริงจัง แต่เราไม่อยากให้เพื่อน ๆ ต้องมาเสี่ยงด้วย ก็เลยขอทำคนเดียว”

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

คืนสู่เหย้า  

“เราทำงานกันเองในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ได้ไปชวนใครมาเพิ่ม เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนมาก ปีแรก ๆ เราค่อนข้างสู้พอสมควร แต่ก็มีป้า ๆ เขาสู้ไปกับเราด้วย ก็เลยทำให้เราสนุกกับมันมาก

“เราทำกันเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกฝ้าย เข็นฝ้าย ย้อม จนกระทั่งขาย บางครั้งเราก็รับซื้อฝ้ายจากที่อื่น การทำงานของเรามีเรื่องแปลกใหม่ทุกวัน มีเรื่องให้เราได้เรียนรู้ทุกวัน เพราะผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเห็นคือปลายทาง แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราทำคือการทำงานกับคน เราต้องคิด ต้องจัดการทั้งหมด และพาทุกคนไปให้รอด

“ทุกอย่างมันยากหมดเลย เพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจที่จะคิดเรื่องผลกำไร หรือคิดว่าจะขายแบบไหน ด้วยความที่พื้นฐานเราเป็นนักประวัติศาสตร์ เราก็จะทำเรื่องราวของชิ้นงานต่าง ๆ เพื่อใช้ในการสื่อสาร ทำให้คนสนใจงานของเรามากขึ้น

“เราไม่ได้ดูเรื่องแฟชั่นเลย ทุกกระบวนการมันมาจากความรู้สึก เหมือนเรารู้สึกว่าการทำผ้าฝ้ายมันปลอดภัย เราก็ทำผ้าฝ้าย หรือเราอยากทำเสื้อทรงนี้ เพราะเรารู้สึกว่าทำออกมาแล้วคนน่าจะชอบ เราก็ทำ”

ทำตามจังหวะของธรรมชาติ 

“เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว พอมาทำแบรนด์ภูคราม เป้าหมายในการทำงานของเรามันก็คือการอนุรักษ์วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และสิ่งแวดล้อม ทุกกระบวนการทำงานของภูครามก็จะนำไปสู่เป้าหมายเหล่านี้

“งานภูครามมันไม่สามารถจบได้ด้วยการคิดแล้วสั่งให้คนไปทำต่อ แต่เราต้องคิดแล้วต้องไปบิวต์ความรู้สึกคนทำงานให้เขาเอาความรู้สึกของตัวเองออกมาทำงานในกระบวนการต่าง ๆ ให้ได้

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

“กระบวนการที่เราทำก็คือทำให้ช่างเขารู้สึกถึงคุณค่าในการทำงาน ให้เขาได้สร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง และอยู่ได้ด้วยงานที่เขาทำ ถึงแม้ว่าภูครามจะเป็นแบรนด์ ที่ต้องมีคอนเซ็ปต์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ว่าเรื่องราวที่เราเล่ามันคือสิ่งแวดล้อมของที่นี่ เป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ ถูกบอกเล่าโดยคนที่นี่ ดังนั้น รายละเอียดต่าง ๆ บนชิ้นงานจะเป็นของช่าง

“ช่างทุกคนจะได้สังเกตธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เราก็เลยได้งานใหม่ ๆ อยู่เสมอ และไม่เคยซ้ำเลย เพราะว่าธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

อย่างเสื้อตัวนี้เป็นตัวที่เราตั้งใจเล่าเรื่องสีของฟ้า เป็นโจทย์ที่เราให้ช่างย้อมไป เขาก็จะค่อย ๆ สังเกตท้องฟ้าก่อน แล้วดูว่าฟ้าที่เขาเห็นมันเป็นอย่างไร ตัวนี้น่าจะเป็นสีท้องฟ้าช่วงเช้า พอย้อมเสร็จ ช่างย้อมก็จะไปทำงานต่อกับช่างปัก บอกว่าคอนเซ็ปต์คืออะไร แล้วช่างปักก็จะไปทำงานต่อ เสื้อตัวหนึ่งจะอยู่กับช่างนานมาก”

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

ทำช้า ๆ น้อย ๆ ให้ใช้นาน ๆ  

“การออกแบบของภูครามมันเรียบง่าย แต่มันอาจจะดึงดูดได้ด้วยเรื่องราวของผู้คน เราไม่เคยรู้สึกว่าภูครามมีจุดขายอะไรขนาดนั้น แต่ทุกคนก็บอกว่างานมันสวย มันเข้าตาคน

“พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็เรียนรู้กับลูกค้าที่เขามาซื้องานเราว่าเขามองเห็นอะไรในงานของเรา เขาบอกว่างานภูครามตรงไปตรงมา ใส่ง่าย ต่อให้บางตัวจะปักลายค่อนข้างเยอะ แต่มันก็เข้าถึงได้ อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมมันอยู่ใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้

“ด้วยความที่งานฝีมือมันเป็นงานช้า ใช้เวลานานในการทำ เราก็เลยไม่ได้ทำเยอะ ไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะ ทำช้า ๆ น้อย ๆ เอาเท่าที่เราอยู่ได้ ไม่ได้เอากำไรมากมาย ตอนทำแรก ๆ เราไม่รู้ว่าที่มาของฝ้ายด้วยซ้ำ จนกระทั่งเราค่อย ๆ เรียนรู้ในทุก ๆ ปีว่าเราควรจะต้องใส่ใจอะไร และมันมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เมื่อก่อนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแฟชั่นมันทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พอได้มาทำงานเองก็รู้ว่ามันยาก เพราะคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าทุกวัน ดังนั้นถ้าเราแคร์อะไรได้ เป็นกระบอกเสียงอะไรได้ เราก็ทำ”

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

คุณค่าที่เชื่อมถึงกัน 

“ภูครามเป็นงานที่ทำงานกับชาวบ้าน มีความยืดหยุ่นสูง แต่ด้วยความเป็นแบรนด์ มันก็ต้องมีกระบวนการที่ต้องการการดูแลเรื่องคุณภาพ คนที่ทำงานกับเรา เขาก็ต้องอดทน ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้มาก ๆ บางคนทนได้ บางคนก็ทนไม่ได้ มันมีกระบวนการที่ต้องมีส่วนร่วมเยอะ ต้องเสียสละเวลาเข้ามาทำ ซึ่งบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ

“คนที่เขายังอยู่กับเราคือคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองและเห็นคุณค่าของงาน เราจะมีการลงชุมชนทุกปี เพื่อเก็บข้อมูลในเชิงลึก และดูการเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน เราเคยถามเขาว่าภูครามมีความหมายกับเขาไหม เขาอยากรักษามันไว้ไหม

“สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือการที่เราต่างเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ จริง ๆ การที่คนทำงานเห็นคุณค่าตัวเองเพราะเขาเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมีคุณค่า ทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของตัวเอง เมื่อเขาเห็นทุกอย่างมีคุณค่ามันก็ทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ควรจะรักษาไว้”

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

ทศวรรษของภูคราม

“ภูครามเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากวิถีชีวิตเดิมของคนในชุมชน โดยที่ยังรักษาวิถีชีวิตเก่าไว้อยู่มันสร้างรายได้ และทำให้คนในชุมชนได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน และสิ่งเหล่านั้นก็มีคุณค่าที่คนอื่นมองเห็นด้วย เพราะภูครามประกาศเลยว่าเสื้อตัวนี้ งานชิ้นนี้ใครเป็นคนทำ

“เรากำลังจะเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว ผ่านกระบวนการการเรียนรู้กันมาเยอะมาก ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มันเป็นการเรียนรู้ในทุกวัน เราทำงานกับช่างทุกคน เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมไปพร้อม ๆ กัน

ภูคราม แบรนด์ที่ถักทอสายใยชีวิตของผู้คนในชุมชนไว้บนผืนผ้า

“เราทำงานกับชุมชน เราก็หวังว่าเราจะอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข เราค่อย ๆ เรียนรู้ไปในทุก ๆ วันว่าทำแบบไหนคนสนใจ ทำแบบไหนมันขายได้ ทำแบบไหนแล้วมันจะไปต่อได้

“เราขายคุณภาพแต่ว่าคุณภาพก็ไม่ใช่คุณค่าทั้งหมดที่เราทำ เราต้องทำให้คนเข้าใจว่าคุณค่าที่เขาซื้อไปคืออะไร มันอาจจะไม่ใช่แค่ความสวยงามแต่มันผ่านกระบวนการพัฒนาผู้คน การให้โอกาสคน และการทำงานที่มันมีความหมายต่อโลกใบนี้

เสื้อภูครามอาจจะไม่ใช่เสื้อที่ดีที่สุด ไม่ได้เป็นเสื้อที่คนชอบที่สุด แต่เสื้อทุกตัวมันมีความหมาย เพราะมันผ่านกระบวนการเรียนรู้ของผู้คน ดังนั้น เสื้อภูครามทุกตัวจึงเป็นเสื้อที่มีคุณค่า”  

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ