1 ใน 3 ของผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มทุกปี ปีละกว่า 3 ล้านราย และร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่หกล้มได้รับบาดเจ็บ
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลื่น สะดุด ก้าวพลาด ส่งผลให้เกิดจากการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว คนรอบข้าง และผู้ดูแล (ที่มา: กองป้องกันการบาดเจ็บ, กรมควบคุมโรค)
ในวันที่ร่างกายเรามีความเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ การทำให้สภาพแวดล้อม หรือที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัย และตอบโจทย์การใช้ชีวิตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 จัดเวิร์กช็อป “บ้านพ่อบ้านแม่ ปรับอย่างไรให้หายห่วง” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปรับบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ชีวิตซีซันใหม่ของทุกคนในบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตวัยเกษียณ หรือในวันที่พ่อแม่มีอายุมากขึ้น
โดยมี คุณชัยศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ Living Experience Designer จาก SCG HOME Experience ให้เกียรติเป็นวิทยากรในครั้งนี้ และมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 30 คน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ลูกหลานที่เตรียมปรับบ้านให้พ่อแม่หรือผู้สูงวัย รวมทั้งสถาปนิกหรือคนทำงานด้านการออกแบบด้วย
นอกจากเวิร์กช็อปนี้จะอัดแน่นด้วยสาระความรู้ในการปรับห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้ลองออกแบบพื้นที่เพื่อผู้สูงอายุผ่านกิจกรรม Golden Living Lab ด้วยการเลือกชิ้นส่วนวัสดุจำลองต่าง ๆ มาจัดวางในผังห้องให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุตามโจทย์ที่ได้รับ เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุสีส้ม ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุสีเขียว หรือห้องนั่งเล่นสำหรับผู้สูงอายุสีเหลือง
ในการออกแบบหรือปรับบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุนั้น จะต้องดูว่าผู้สูงอายุมีปัญหาอะไรบ้าง โดยต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย เข้าถึงได้สะดวก สร้างแรงกระตุ้น และใช้งานง่าย ซึ่งผู้สูงอายุก็มีหลายกลุ่มและมีรูปแบบการใช้ชีวิตแตกต่างกัน ดังนั้น การจะปรับบ้านให้เหมาะสมควรเริ่มจากการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มสีเขียว – ผู้สูงอายุที่ยังสามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งในบ้านและนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสุขภาวะในอนาคต หากไม่ป้องกันและดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง
กลุ่มสีเหลือง – ผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกาย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์หรือผู้ช่วยเหลือบ้างในบางครั้ง
กลุ่มสีส้ม – ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์และผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือ
เวลาออกแบบหรือปรับปรุงบ้านจะต้องทำให้สมดุล โดยเริ่มจาก 3 ฟังก์ชันหลักในบ้าน คือ ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องนั่งเล่น
การปรับห้องต่าง ๆ ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
1. ห้องนอน
- ควรตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกจะเหมาะสมที่สุด
- พื้นต้องปราศจากธรณีหรือต่างระดับ
- วางแผนขนาดห้องและตำแหน่งทางเดินเพื่อติดตั้งราวพยุงตัว
- ระยะทางเดินกว้างอย่างน้อย 90 ซม. ระยะหมุนรอบตัวกว้างอย่างน้อย 150 ซม. เพื่อให้ใช้งานได้สะดวก ปลอดภัย และเผื่อพื้นที่สำหรับผู้ดูแลด้วย
- ช่องประตูกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และควรเป็นประตูบานเลื่อน
- เลือกใช้หน้าต่างบานต่ำ เพื่อให้ผู้สูงอายุชมวิวภายนอกได้
- เลือกใช้ Soft Floor หรือพื้นที่มีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทก เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ
- ควรมีความเงียบที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกไม่ให้เกิน 28 เดซิเบล เพื่อให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ดี
- เตียงนอนที่ใช้ต้องสูงจากพื้น อย่างน้อย 40-45 ซม. สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มสีเขียว และ 45 ซม.ขึ้นไป สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มสีเหลือง
- เลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพิ่มความเป็นธรรมชาติให้กับบรรยากาศภายในห้อง
- เติมอากาศบริสุทธิ์ด้วยเครื่องเติมอากาศ Active AIR Quality
2. ห้องน้ำ – พื้นที่ที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดถึง 70%
- แยกส่วนแห้งและส่วนเปียกให้ชัดเจน
- วางแผนตำแหน่งทางเดินสำหรับผู้สูงอายุ ติดตั้งราวจับกันลื่น ราวพยุงตัว เก้าอี้อาบน้ำพับได้ ชั้น
- วางของที่เข้าถึงง่าย มีกระจกปรับมุมสำหรับผู้สูงอายุ
- ประตูควรเป็นบานเลื่อน มีความกว้างสุทธิ (ความกว้างที่วัดจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยไม่มีสิ่งใดกีดขวาง) ไม่น้อยกว่า 100 ซม.
- เลือกวัสดุตกแต่งที่มีสีต่างกันชัดเจน เพื่อช่วยให้มองเห็นง่าย และปลอดภัยในการเคลื่อนไหว
- เลือกพื้นกระเบื้อง ที่มีค่า R10 R11 หรือ R13 (ค่าที่ใช้วัดคุณสมบัติการกันความลื่นของพื้นผิว) ของพื้นกระเบื้อง
- มีหน้าต่างระบายอากาศอย่างน้อย 10% ของพื้นที่
- เลือกสุขภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
3. ห้องนั่งเล่น
- ควรตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก หรือทิศใต้
- พื้นต้องปราศจากธรณี ; ทางลาดสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 1:12
- วางแผนตำแหน่งทางเดินเพื่อติดตั้งราวพยุงตัว
- ช่องประตูกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และควรเป็นประตูบานเลื่อน
- ระยะทางเดินกว้างอย่างน้อย 90 ซม. ระยะหมุนรอบตัวกว้างอย่างน้อย 150 ซม. เพื่อให้ใช้งานได้สะดวก ปลอดภัย และเผื่อพื้นที่สำหรับผู้ดูแลด้วย
- สร้างบรรยากาศอบอุ่น ด้วยการเลือกใช้สีและวอลเปเปอร์สีเอิร์ธโทน
- เลือกใช้ Soft Floor หรือพื้นที่มีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทก เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ
- ใช้โซฟาหรือเก้าอี้ที่มีพนักพิงสูงและที่วางแขน ช่วยพยุงหลัง-แขนขณะลุกนั่ง ไม่ให้นุ่มยวบจนเกินไป
- เลือกใช้หน้าต่างบานต่ำ เพื่อให้ผู้สูงอายุชมวิวภายนอกได้