จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอยู่ ๆ บังเอิญเจอผู้ป่วยสมองเสื่อมในที่สาธารณะ ?
จะเป็นคนที่หงุดหงิด รำคาญใจกับพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมแสดงออกมา หรือจะเป็นคนที่ให้ความเข้าอกเข้าใจ รู้จักเข้าไปช่วยเหลือซัพพอร์ตผู้ป่วยสมองเสื่อม
“อยากให้โลกใจดีในวันที่สมองไม่เป็นใจ” ละครเร่โดยความร่วมมือของ มนุษย์ต่างวัย และ The Japan Foundation, Bangkok ที่จำลองให้เห็นภาพของการใช้ชีวิตของผู้มีภาวะสมองเสื่อมร่วมกับผู้คนในสังคม เป็นการแสดงละครแบบสด ๆ ท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปมาในงาน มนุษย์ต่างวัย FEST 2025 โดยมีพี่ยี – วันเพ็ญ ชัยบุญญลักษณ์ นางแบบวัยเกษียณผู้ที่สร้างบรรดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน มารับบทเป็นผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม ร่วมกับอันนา ทับอินทร์, ณฐพล โกมลวิทยคุณ นักแสดงรับเชิญ กำกับการแสดงโดยทีม Self-Factory
ชวนสัมผัสประสบการณ์จริงผ่านละคร
ทีมงานได้จำลองเหตุการณ์เมื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมมาเป็นส่วนหนึ่งในงานและแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนร่วมงานทั่วไป เช่น ถามหาสิ่งที่ไม่น่าจะมีขายในงาน, พลัดหลงกับผู้ดูแล, เอะอะโวยวายเสียงดัง รวมไปถึงการแจกเงินแบบบไม่มีกั๊กที่หลาย ๆ คนอาจคิดไม่ถึงว่า พฤติกรรมสายเปย์แบบนี้จะเชื่อมโยงกับภาวะสมองเสื่อมได้ !
การแสดงละครเร่ในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคืออยากให้คนในสังคมได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ จริง ได้รู้จักเรียนรู้ สังเกตพฤติกรรมและเปิดพื้นที่ให้ทดลองโต้ตอบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อม จะมีทั้งคนที่งง ๆ ไม่รู้จะตอบโต้กับผู้ป่วยสมองเสื่องอย่างไร และมีคนที่พยายามพูดคุย ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่อยากชวนคนในสังคม
มาเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ป่วยสมองเสื่อมที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ลองจินตนาการดูว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นผู้ป่วยสมองเสื่อมออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่อยากให้เราคิดว่านั่นคือภาพที่น่ากลัว หากแต่เป็นภาพที่เราทุกคนควรทำความเข้าใจและเตรียมใจไว้ล่วงหน้า เพราะถึงแม้ในวันนี้ตัวเราอาจยังไม่ได้เผชิญหน้ากับภาวะสมองเสื่อมหรือมองว่าภาวะสมองเสื่อมเป็น เรื่องใกล้ตัว แต่ในไม่ช้าสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราได้มากกว่าที่คิด
สร้างสังคมที่ “ใจดี” กับผู้มีภาวะสมองเสื่อม
หลังจบการแสดงทีมงานได้เปิดพื้นที่พิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยมีผศ. ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์มหาวิทยาลัย พิธีกร และลูกชายที่ดูแลพ่อซึ่งป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ชวนผู้ชมร่วมสนทนากับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น คุณนาโอกิ ซูงาวาระ ประธานและผู้ก่อตั้งคณะผู้สูงวัย และการละคร OiBokkeshi ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการที่จะทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมแสดงพฤติกรรมดีขึ้น หรือแย่ลงนั้น พฤติกรรมของคนรอบข้างมีส่วนสำคัญ หากญาติ ผู้ดูแล หรือคนในสังคมปฏิบัติกับผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยความเข้าใจจะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
อย่าทำร้าย : ไม่ว่าจะด้วยคำพูด น้ำเสียงหรือทางการกระทำที่แสดงออกถึงความรุนแรง
อย่าเอาเปรียบ : ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักเปราะบางและอาจตกเป็นเหยื่อของการถูกเอาเปรียบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน หรือการถูกใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบ
อย่ารำคาญใจ: แม้พฤติกรรมบางอย่างอาจดูซ้ำซาก หรือสร้างความลำบากใจในบางครั้ง แต่โปรดระลึกไว้เสมอว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมต้องการให้เกิดขึ้น การทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากภาวะของโรคจะช่วยให้เรามีความอดทนและใจเย็นมากขึ้น
การสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับตัวเราเองในวันข้างหน้าด้วย
ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ตัวเราเองหรือคนในครอบครัวเราก็อาจจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ และมีความเป็นไปได้ที่เราบางคนอาจจะเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน
หากวันนี้เราช่วยกันสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ความเมตตา และการสนับสนุนต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม นั่นหมายความว่าในอนาคต หากวันหนึ่งเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราก็จะได้รับสิ่งดี ๆ เหล่านั้นกลับคืนมาเช่นกัน