เพราะการเงินเป็นเรื่องใหญ่แต่ไม่ใช่เรื่องยาก และชีวิตที่มั่นคงเกิดจากการวางแผนการเงินที่ดี เพื่อเป็นต้นทุนสำคัญของชีวิตโดยเฉพาะในวันที่เราเกษียณ หรือไม่มีรายได้จากงานประจำ ดังนั้น เราจึงควรวางแผนการบริหารจัดการการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับชีวิตซีซันถัดไปที่ใกล้เข้ามาถึง
กรุงเทพประกันชีวิตร่วมกับมนุษย์ต่างวัยจัดเวิร์กช็อป : My Financial Blueprint พิมพ์เขียวทางการเงินในแบบของตัวเอง ในงาน ‘มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 : ชีวิตดี…ชีวิต ซีซัน 2 It’s Okay To Be You.’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดยมี อาจารย์รัก – ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 รอบ กว่า 100 คน
ในเวิร์กช็อปนี้ทุกคนจะได้รู้หลักการเบื้องต้นในการวางแผนการเงิน วิเคราะห์จุดแข็ง/จุดอ่อนทางการเงิน และทำความเข้าใจนิสัยทางการเงินของตัวเอง เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่อยากจะไปถึง รวมทั้งเรียนรู้วิธีสร้าง Financial Blueprint ในแบบของตัวเองให้สำเร็จ
ก่อนวางแผนการเงินต้องรู้อะไรบ้าง
1. รู้อะไรก็ไม่สู้รู้จักตัวเอง
ถามตัวเองว่าเกษียณแล้วอยากอยู่จนถึงอายุเท่าไร แล้วเราเก็บเงินไว้พอหรือยัง เช่น ถ้าจะอยู่ถึงอายุ 85 ปี ก็ต้องคิดว่าเวลา 300 เดือนหลังเกษียณนั้น เราจะใช้เงินเดือนละเท่าไร คำถามสำคัญ คือ หลังเกษียณอยากใช้เงินเท่าไร, ณ วันเกษียณจะมีเท่าไร และวันนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง
2. รู้จักตัวเองทางการเงิน
2.1 เปลี่ยนนิสัยทางการเงินด้วยหลัก จจจ (จด เจอ จัดการ)
เราจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราไม่จด เราต้องจดเพื่อเช็กว่าเรามีอะไร เท่าไรบ้าง เวลาประเมินทรัพย์สิน ถ้าเปลี่ยนบ่อยก็ประเมินบ่อย แรก ๆ อาจจะเช็กทุก 3 เดือน ค่อย ๆ ขยับเป็น 6 เดือน และขยับเป็น 1 ปี เราเป็นหนี้ได้ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ แต่มันต้องไม่ทำร้ายตัวเราในอนาคต
2.2 ตรวจสุขภาพทางการเงิน
- เช็กงบดุลชีวิตของตัวเอง
คำนวณจาก🔹สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ🔹(ถ้าเป็นบวกถือว่ารวย แต่ถ้าติดลบคือไม่พอใช้)
- เช็กงบรายรับ-รายจ่าย
คำนวณจาก🔹รายได้ – ค่าใช้จ่าย = เงินเกิน/เงินขาด🔹
- เช็กว่าสินทรัพย์และหนี้สินสมดุลกันหรือไม่ หนี้สินรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่ควรเกิน 50% ของสินทรัพย์ คือ ถ้ามีสินทรัพย์ 10 ล้าน หนี้สินก็ไม่ควรเกิน 5 ล้าน
- มีสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
- สร้างความสมดุลระหว่างสินทรัพย์ใช้ส่วนตัวเพื่อปัจจุบัน และสินทรัพย์ลงทุนเพื่ออนาคต
3 ขั้นตอนสร้าง Financial Blueprint ของตัวเอง
1. เช็กสถานการณ์การเงินวันนี้
โดยเช็กสภาพคล่อง ความมั่งคั่ง ความมั่นคง ภาระผ่อนหนี้ (ไม่เกิน 40% ของรายได้)เงินออม (ไม่น้อยกว่า 25% ของรายได้, ออม 1 ส่วน ใช้ 3 ส่วน) และเงินลงทุน (เพียงพอสำหรับอยู่ไปได้อีก 300 เดือน หรือ 25 ปีหลังเกษียณ หรือตามจำนวนปีที่เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่)
2. ตั้งเป้าหมายทางการเงินอย่าง SMART (เพื่ออะไร เท่าไร เมื่อไร) และตั้งไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว (แผนเกษียณ)
- ระยะสั้น – ปิดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท ให้ได้ภายใน 10 เดือน
- ระยะกลาง – เก็บเงินดาวน์รถ 150,000 บาท ภายใน 3 ปี
- ระยะยาว – ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ 10 ล้านบาท ตอนอายุ 55 ปี
3. ทำ Money Plans ของตัวเอง
หาพลังใจของตัวเองให้เจอเพื่อให้เราทำเป้าหมายได้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อรู้หลักการแล้วต้องลงมือทำ โดยทำทันทีและทำอย่างต่อเนื่อง