อาตมาขอให้คนรุ่นใหม่ให้โอกาสพุทธศาสนามากขึ้น – พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร)

อาตมาขอให้คนรุ่นใหม่ให้โอกาสพุทธศาสนามากขึ้น

ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่มักตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ “ศาสนา” โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่ในยุคนี้มักมีข่าวด้านลบในแวดวงของพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นประจำ

มนุษย์ต่างวัยชวนย้อนกลับไปทบทวนบทสนทนาในรายการ มนุษย์ต่างวัย Talk กับประสาน อิงคนันท์ สนทนากับ พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) ซึ่งเป็นหนึ่งในตอนที่มีเนื้อหาชวนคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน

ในวันที่ผู้คนเผชิญความทุกข์มากขึ้นเรื่อย ๆ ศาสนาควรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยให้มนุษย์เข้าใจความทุกข์และทำให้หลักธรรมกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในชีวิตจริง

“ในการสอนพุทธศาสนา เราสอนแบบเดิม สอนแต่พุทธประวัติ อาตมาไม่เห็นด้วย เราควรสอนเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่กำลังเป็นทุกข์ แล้วพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร หรือถ้าสอนคนที่ยังไม่มีศรัทธา เราควรเริ่มต้นแบบพุทธองค์คือเริ่มต้นจากชีวิตจริงของมนุษย์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เป็นความทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นความทุกข์ การอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ คนที่ไม่ชอบก็เป็นความทุกข์ การอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ก็เป็นความทุกข์ เริ่มต้นจากชีวิตจริง จากนั้นค่อย ๆ ขยายเอาพุทธประวัติมาอธิบายประกอบกัน

“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแบบระบบการศึกษา พุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมอยู่ที่คุณภาพการถ่ายทอด เมื่อการถ่ายทอดศาสนาอ่อนลง มันก็เลยมีปัญหามากมาย

“พุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือความเป็นคน จะดี ชั่ว เจริญ หรือเสื่อม ก็อยู่ที่เรารับผิดชอบชีวิตตัวเอง มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึกตน เราเป็นชาวพุทธต้องฝึกตัวเอง โดยการให้ทาน โดยการรักษาศีล การฝึกจิตใจให้ละอกุศลกรรม

“โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เด็กหมกมุ่นในเรื่องของตัวเอง ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ตัวเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราเป็นคนกลุ่มไหน มีความฝัน มีแพชชันอะไร ทุกอย่างมาหมุนรอบตัวเรา ซึ่งไม่แปลกใจที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า ในการเปิดจิตที่รับรู้ต่อความสุขและความทุกข์ของคนอื่น ความคิดที่จะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็เป็นวิธีการป้องกันปัญหาทางจิตใจที่ดี และเป็นความสุขง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน

“ศีล คือเรื่องของพฤติกรรม ฝึกการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เมื่อเราตั้งขอบเขตการกระทำของเราด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครมาบังคับเรา ไม่ใช่ทำเพราะอยากได้รางวัล หรือไม่อยากตกนรก แต่เพราะอยากฝึกตน และเราสามารถบริหารขอบเขตการกระทำของเราได้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีการกดดัน การยั่วยุอย่างไร นาน ๆ เข้าจะทำให้เราเกิดความเคารพนับถือตัวเอง แล้วเราจะมีความเป็นเพื่อนกับตัวเอง

“การฝึกตนจะช่วยป้องกันกิเลสที่ยังไม่เกิด ปล่อยวางกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ปลูกฝังคุณธรรมที่ยังไม่เกิด และการพัฒนาคุณธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงาม

การฝึกตนเป็นองค์รวมเป็นชีวิตทั้งชีวิต แต่จะได้ผลก็ต่อเมื่อชีวิตประจำวันเรามีการตั้งสติ มีความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง”

แท้จริงแล้วมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร ?

“ในทางพุทธศาสนาเราเกิดมาเพราะมีกิเลส แต่ไม่มีคำตอบว่ามนุษย์แต่ละคนเกิดมาเพื่ออะไร อยู่ที่มนุษย์แต่ละคนตั้งเป้าหมายว่าอย่างไร คุณอยากใช้ชีวิตเพื่ออะไร บางคนก็อยากอยู่เป็นวัน ๆ หาแต่เงิน ทอง ก็ไม่ผิดอะไร แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์มีศักยภาพ เป็นสัตว์ประเสริฐโดยการฝึกตน สร้างประโยชน์ สร้างความสุข

“คำถามง่าย ๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคุณค่าคือ ชีวิตเรานี้มีอะไรบ้างที่สูงกว่าเงิน ด้วยสามัญสำนึกง่าย ๆ ว่าเงินจะต้องเป็นที่ หนึ่งมันจริงหรือ ?

มันไม่มีอะไรในชีวิตสูงกว่าเงินเลยหรือ ?

ชีวิตของพ่อแม่ ชีวิตของภรรยา ชีวิตของลูก ไม่สูงกว่าเงินหรือ ?

จะขายได้ไหม ถ้าคนให้ 100 ล้านจะยอมขายลูกไหม ?

ถ้าไม่ยอมขาย แสดงว่าชีวิตของลูกสำคัญกว่าเงิน

เพราะอย่างนั้นมันความคิดว่าเงินจะต้องมาก่อน แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่

มันมีสิ่งที่เราวัดไม่ได้ เช่น ความรัก มันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวชีวัดแต่ว่าเป็นของจริง เราจะไปเปรียบเทียบของจริงกับสิ่งที่มีตัวเลขวัดไม่ได้ อันนั้นมันเป็นแค่อีกมิติหนึ่งของชีวิต แต่อีกมิติหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครวัดได้และมีคุณค่า ลองตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าในชีวิตของเรามีอะไรบ้าง ที่มีคุณค่าสูงกว่าเงิน

“ชีวิตสอนเราว่า มีทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีทางให้ดับทุกข์ ชีวิตสอนอริยสัจ 4 ยิ่งศึกษายิ่งเรียน ยิ่งเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า”

ส่วนหนึ่งจากรายการมนุษย์ต่างวัย Talk กับประสาน อิงคนันท์

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ