‘Toy Doctor’ คุณปู่นักซ่อม ผู้คืนชีพของเล่นสุดรักให้เด็ก ๆ ในญี่ปุ่น

มนุษย์ต่างวัยอยากพาทุกท่านไปรู้จัก ‘Toy Hospital’ หรือ ‘โรงพยาบาลซ่อมของเล่น’ ในญี่ปุ่น ที่มีคุณปู่คุณย่าทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครซ่อมของเล่นให้เด็ก ๆ ในชุมชน ผ่านสารคดีขนาดสั้นชื่อ ‘The Toy Doctor’ ในซีรีส์ชุด Zero Waste Life จาก NHK WORLD-JAPAN บริการที่จะช่วยคืนชีพของเล่นของเด็ก ๆ ให้กลับมามีชีวิต คืนความสุขให้กับเด็ก ๆ สร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนในชุมชนและที่สำคัญช่วยลดปริมาณขยะได้อีกด้วย

เราทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากการดูแลเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ เพื่อให้คุณปู่คุณย่าได้รับบริการต่าง ๆ ได้เมื่อเจ็บป่วย สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญก็คือการทำให้ผู้สูงวัยกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวและที่สำคัญคือให้กลับมารู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิต นี่จึงเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของ Toy Hospital หรือ โรงพยาบาลซ่อมของเล่นโดยมีคุณปู่คุณย่ารับหน้าที่เป็นคุณหมอ


Toy Hospital หรือโรงพยาบาลซ่อมของเล่น เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ที่จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น จากกลุ่มอาสาสมัครสูงวัยที่มีความรู้และทักษะในการซ่อมของที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องยนต์กลไก หรือการเย็บปักถักร้อยสำหรับงานผ้าที่คอยทำหน้าที่ซ่อมของเล่นทุกรูปแบบ เมื่อเริ่มมีอาสาสมัครมากขึ้น จึงเริ่มขยายตัวและตั้งเป็นคลินิกซ่อมของเล่นในพื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั่งขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นโรงพยาบาลในที่สุด

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีโรงพยาบาลซ่อมของเล่นแล้วกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ โดยมีคุณปู่คุณย่าทำหน้าที่เป็นคุณหมอซ่อมของเล่น หรือ ‘The Toy Doctor’ แล้วถึง 1,700 คน

ในรายการพาเราไปตามติดชีวิตคุณปู่ยูจิ (Suzuki Yuichi) ที่ใช้เวลาหลังหลังเกษียณรับหน้าที่เป็นคุณหมอซ่อมของเล่น ในแต่ละวัน ปู่ยูจิจะลากกระเป๋าเดินทางใบโตที่ภายในเต็มไปด้วยอะไหล่ และอุปกรณ์สำหรับการซ่อมไปยังโรงพยาบาลซ่อมของเล่น เมื่อพร้อมแล้วก็จะตั้งโต๊ะคอยให้บริการเด็ก ๆ ที่มักพาของเล่นที่เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทของพวกเขามาหาหมอ

ลูกค้าในวันนั้นคือคุณแม่ที่มาพร้อมลูก ๆ สามคน และคนไข้รายแรกก็คือ ‘อังปังแมน’

เจ้าอังปังแมนที่เคยวิ่งได้ฉิว วันนี้กลับงอแงเดินไม่ได้เสียแล้ว คุณปู่ยูจิเริ่มต้นจากการรื้อดูสายไฟเป็นอันดับแรก แม้การหยิบจับ ตัดแต่งอะไหล่ชิ้นเล็ก ๆ จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้สูงอายุนัก แต่หลังจากที่พยายามฟื้นคืนชีวิตเจ้าอังปังแมนอยู่สักระยะ ในที่สุด เจ้าอังปังแมนก็กลับมาวิ่งได้อีกครั้ง คุณปู่ยูจิทำภารกิจในฐานะหมอของเล่นสำเร็จแล้ว

“ผมดีใจพูดไม่ออกเลยหละ ผมให้ชีวิตใหม่กับเจ้าอังปังแมนได้แล้ว!”

หากใครได้มีโอกาสเข้าไปชมสารคดีชิ้นนี้จะเห็นว่า วินาทีที่เจ้าอังปังแมนวิ่งได้อีกครั้งนั้นทำให้คุณปู่ยูจิดีใจมากแค่ไหน สายตาแห่งความภาคภูมิใจนี้ยังส่งต่อไปให้เด็ก ๆ ในวันที่มารับตุ๊กตาตัวโปรดกลับบ้าน รอยยิ้มและแววตาเปล่งประกายของเด็ก ๆ เป็นราคาค่าตอบแทนสำหรับคุณปู่ที่คุ้มค่ายิ่งนัก


ปู่ยูจิเล่าว่า เขาไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีทักษะการซ่อมข้าวของมาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่ง หลาน ๆ ที่บ้านขอให้ช่วยซ่อมของเล่นให้ และชิ้นแรกที่เขาทำได้สำเร็จคือ สมาร์ทโฟนของเล่น สีหน้าแววตาของหลาน ๆ ในวินาทีที่เห็นของเล่นที่เขารักกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณปู่ยูจิอยากเป็น ‘Toy Doctor’

“เด็ก ๆ ที่เอาของเล่นมาซ่อม ทุกคนอายุพอ ๆ กับหลานของผมทั้งนั้น ผมรู้ดีว่าของเล่นพวกนี้สำคัญต่อจิตใจพวกเขามากแค่ไหน แต่เขาก็ยังวางใจให้ผมได้ดูแลมัน ดังนั้น ผมจะต้องใส่ใจกับการซ่อมมันให้มากเท่า ๆ กับความสำคัญที่มันมีต่อพวกเขา” ปู่ยูจิกล่าว

ในทุกวัน คุณหมอของเล่นวัยปู่ย่าจะออกให้บริการตามจุดต่าง ๆ เพื่อรอให้เด็ก ๆ พาของเล่นชิ้นมาโปรดรักษา คุณหมอทุกคนต่างทำงานด้วยความคล่องแคล่วและชำนาญ เนื่องจากต่างเติบโตในยุคที่การซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้เป็นเรื่องปกติ แต่การซ่อมของเล่นเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลานาน ฉะนั้น หากวันไหนซ่อมไม่เสร็จก็จะหอบหิ้วของเล่นกลับไปซ่อมที่บ้านแล้วส่งคืนในวันถัดไป


การซ่อมแซมข้าวของทุกชิ้นด้วยความตั้งใจและใส่ใจอย่างดีเสมอมานี้ยังกลายเป็นความรู้สึกที่ถูกส่งต่อไปยังเด็ก ๆ ที่ได้รับของเล่น จนมีบางครั้งที่เหล่าคุณหมอซ่อมของเล่นได้รับจดหมายขอบคุณจากเด็ก ๆ ด้วย

“สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ผมคิดว่าเขาคงจะรู้สึกดีที่ได้เห็นของเล่นโปรดกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งการได้เห็นเขามีความสุข นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว” คุณปู่ยูจิ กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นได้ว่า โปรเจกต์โรงพยาบาลซ่อมของเล่นนี้สามารถแก้ปัญหา ในสังคม ญี่ปุ่นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตให้แก่ผู้สูงวัยผ่านการทำงานอาสาสมัคร การได้ใช้ทักษะและความชำนาญที่มีอย่างการซ่อมแซมข้าวของของผู้สูงวัยที่นับวันยิ่งกลายเป็นทักษะที่แสนมีค่า เพราะในยุคนี้ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมกับการซ่อมแซม เมื่อพังลงผู้ใช้จึงจำเป็นต้องทิ้งและซื้อใหม่แทน ทำให้หาช่างซ่อมสิ่งของต่าง ๆ ได้ยาก

ยิ่งพวกเขาสามารถทำให้ของเล่นแสนรักของเด็ก ๆ หลายคนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นั่นยิ่งทำให้การทำงานของคุณหมอของเล่นรุ่นปู่มีความหมาย และมากไปกว่านั้น การซ่อมแซมข้าวของคือการปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้รู้จักคุณค่าของสิ่งของ รู้จักการรักษาและใช้มันอย่างคุ้มค่า แถมยังลดการเกิดขยะในประเทศอีกด้วย

รับชมเรื่องราวของคุณปู่ยูจิและโรงพยาบาลของเล่นแบบเต็ม ๆ ได้ที่ : https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/tv/zerowaste/20211015/2093003/

ขอบคุณภาพจาก : NHK WORLD- JAPAN, The Mainichi

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ