สมชาย สืบเสนาะ-ชายผู้มีของเก่าเป็นโลกแห่งความสุข

ปั๊มน้ำมันเก่าแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง กลายเป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ แสนอบอุ่น และแสนมีเอกลักษณ์

Apache Café นอกจากจะเสิร์ฟขนมและเครื่องดื่มยังมีบรรยากาศรื่นรมย์ด้วยของตกแต่งไม่ธรรมดา ที่รักษาประวัติศาสตร์ของทั้งตัวเจ้าของและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นป้ายปั๊มน้ำมันเก่า ตู้ ลิ้นชัก โต๊ะ เก้าอี้โบราณ ไปจนกระทั่งถึงเครื่องบินลำใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายนอกร้านที่น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 ทศวรรษ

“เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินหาข่าวที่ใช้ในกองทัพสหรัฐอเมริกา”

สมชาย สืบเสนาะ เจ้าของร้านกาแฟบอกด้วยสายตาแห่งความสุขพร้อมกับเล่าว่าตัวของเขานั้นมีความหลงใหลในของเก่าตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งก็ให้เหตุผลไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนี้ รู้เพียงแต่ว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็น สัมผัส จับต้อง ซื้อขาย เป็นเจ้าของ หรืออยู่ใกล้ ๆ มัน

ชีวิตของชายสูงวัยคนหนึ่งที่มีของเก่าเป็นทั้งธุรกิจที่สร้างรายได้ และเป็นโลกอีกใบที่สร้างความสุขให้กับชีวิต

ข้าราชการกับของเก่า

สมชาย สืบเสนาะ เป็นคนอำเภอเมือง จังหวัดระยองโดยกำเนิด เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อและแม่มีอาชีพทำสวนยางพาราก่อนจะมาเป็นเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันในภายหลัง

“ปั๊มของเราเป็นปั๊มลอยแบบบ้าน ๆ โดยปกติปั๊มที่เราเห็นยี่ห้อต่าง ๆ ทั่วไป เขาจะเอาน้ำมันถังใหญ่วางอยู่ใต้ดิน แต่ถังของเราอยู่จะอยู่หลังร้านเป็นถังขนาด 10,000 ลิตร ไม่ได้อยู่ใต้ดินเหมือนเขา ปั๊มลักษณะนี้จะเรียกว่าปั๊มลอย”

กิจการปั๊มน้ำมันที่บ้านของสมชายเปิดมาจนถึงปี 2559 ก็มีอันต้องปิดตัวลงจากปัญหา สุขภาพของพ่อและแม่ ครั้นผู้เป็นลูกอย่างเขาจะรับช่วงต่อก็ไม่ได้มีความสนใจ สมชายจึงตัดสินใจปิดปั๊มน้ำมันลงแล้วไปเปิดร้านกาแฟขึ้นมาแทน ขณะเดียวกันก็นำของเก่าที่ตัวเองมีอยู่มาประดับตกแต่งร้านทั้งภายในและด้านนอกทำให้ดูคลาสสิกไปอีกแบบ

“เราเปิดยูทูบดู เห็นปั๊มน้ำมันเก่าในอเมริกาที่ปิดกิจการไปแล้วเขาเปิดเป็นร้านกาแฟกัน

เราเห็นว่ามันดูคลาสสิกดี แล้วตัวเองก็ชอบอะไรแนวนี้อยู่แล้ว ก็เลยจัดการกั้นห้อง ตีฝ้า ใส่กระจกทำเป็นร้านกาแฟขึ้นมาจริง ๆ ทางบ้านก็อยากให้เปิดปั๊มต่อนะแต่เราดูแล้ว มันไม่ไหว ไหนจะเรื่องภาษีต่าง ๆ ที่ต้องมาคอยนั่งจดนั่งคำนวณทุกวัน สำคัญเลยคือเราไม่ชอบ ทำแล้วมันไม่เป็นตัวเอง เลยคิดว่าพอดีกว่า”

ปัจจุบันสมชายรับราชการเป็นช่างเครื่องกลที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

เข้าวงการ

สมชายยังจำได้ดีว่าของเก่าชิ้นแรกที่ตัวเองซื้อมาเป็นเจ้าของก็คือตะเกียงเจ้าพายุ

“คนอื่นเขาอาจจะมองว่าของเก่าเป็นของไร้ค่าไม่มีประโยชน์ แต่เรามองตรงกันข้าม เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่า คลาสสิก ผ่านช่วงเวลามาอย่างยาวนาน ที่สำคัญเลยคือมีความคงทน เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้นั้นค่อนข้างแข็งแรง แล้วก็สามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างดี คือจะหาซื้อมาใช้งานก็ได้ หรือจะซื้อมาทำธุรกิจก็ดี

“ชิ้นแรกเลยก็คือตะเกียงเจ้าพายุที่ทำจากทองเหลือง ซึ่งทนมาก ไม่เหมือนกับในยุคนี้ที่ทำจากสังกะสี ค่อนข้างบอบบางและเป็นสนิมง่าย ตอนนั้นเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนเราซื้อมาเก็บในราคา 500 บาท ก่อนจะปล่อยขายออกไปในราคา 1,500 บาท หลังจากนั้นเราก็เริ่มดูและซื้อของเก่ามาเก็บไว้เรื่อย ๆ ”

หลังจากปล่อยของชิ้นแรกในราคาที่มากกว่าตอนซื้อมาถึง 3 เท่าตัว สมชายก็เริ่มหันมาเล่นของเก่าชนิดต่อมานั่นก็คือ เตารีดเหล็กโบราณ ซึ่งผิดกันกับปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใช้เตารีดไฟฟ้ากันหมดแล้ว

“หลังจากเล่นตะเกียงเจ้าพายุไปได้สักพักเราก็มาเจอเตารีดเหล็กโบราณ ซึ่งจะไม่เหมือนกับเตารีดสมัยนี้ ที่แค่เสียบปลั๊กก็ใช้ได้เลย เตารีดสมัยก่อนเขาจะเอาถ่านหุงข้าวใส่ในเตารีด จากนั้นก็จะทดลองรีดกับใบตองสดเพื่อดูความร้อน เมื่อร้อนได้ที่แล้วจึงค่อยนำมารีดผ้า”

สมชายหวนนึกไปถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ตัวเองเคยไปเที่ยวในย่านนิวแลนด์และบริเวณสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งตรงกับช่วงเวลากองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าพวกทหาร GI ได้เข้ามาตั้งฐานทัพอากาศในไทยพอดี ทำให้นึกขึ้นได้ว่าบรรดาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงอาจจะมีเศษซากของอาวุธยุทโธปกรณ์น่าจะยังมีหลงเหลืออยู่ในบริเวณนั้น

“เมื่อสงครามจบลง และทหารอเมริกันกลับประเทศไป พวกเขาทิ้งเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ไว้ที่สนามบินอู่ตะเภาจำนวนมาก ชาวบ้านแถวนั้นก็มาขนออกไป บางคนก็เอาไปใช้ บางคนไม่ชอบก็เอาไปให้วัด และมีจำนวนไม่น้อยที่เอามาชั่งกิโลขายตามร้านเศษเหล็กหรือรถซาเล้ง

“ชาวบ้านบางคนเขาไม่ได้เห็นคุณค่าหรือมองว่ามันดูว่าคลาสสิก น่าเก็บสะสมเหมือนเรา บางคนเขาเอามาแล้วลูกหลานไม่ชอบ อยากได้ของใหม่มากกว่า ก็เอาทิ้ง เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีข้าวของเครื่องใช้พวกนี้ตกอยู่ที่แถวอู่ตะเภาไม่มากก็น้อย แล้วเป็นของ Made in USA ด้วย ซึ่งในตลาดคนขายของเก่าเขานิยมกัน”

ในช่วงวันหยุดสมชายขีดเส้นรัศมี 20 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา ตระเวนไปตามร้านขายเศษเหล็กเพื่อเสาะหาของเก่าจากบรรดาทหาร GI ที่อาจหลงเหลืออยู่ ขณะเดียวกันหากมีเวลาเหลือก็นำของเก่าที่มีอยู่มาวางขายแบกะดินเป็นรายได้เสริมและทุนรอนสำหรับหาซื้อของเก่าชิ้นต่อไปที่เขาต้องการ

“ที่อู่ตะเภาเราได้มาทั้งตู้เสื้อผ้า เตียงนอน กุญแจ ดาบปลายปืน มีดสปาต้าโบราณ แล้วก็พวกชิ้นส่วนเครื่องบินหลังจากนั้นเราก็เริ่มไปหาของเก่าตามประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ก็ได้มาทั้งของเล่นสังกะสี รถป๊อกแป๊ก ตะเกียงทรงปารีส แล้วก็ได้ของโบราณจากประเทศอังกฤษ ฯลฯ”

โดยมากของที่หามาได้จะเกิดการซื้อมาขายไปเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ ขณะที่บางชิ้นสมชายก็จะเก็บไว้ใช้เองภายในบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แก้วกาแฟ เตียงนอน หรือซิงค์ล้างจาน ฯลฯ ในช่วงแรกก็จะวางขายแบกะดินในวันเสาร์-อาทิตย์กระทั่งอยู่ในวงการนานขึ้นเริ่มมีลูกค้ารายใหญ่ ที่มีกำลังใจสูงมาติดต่อซื้อขาย ชายวัย 59 จึงเริ่มมีเงินก้อนที่จะซื้อของเก่าชิ้นใหญ่ขึ้น ซึ่งก็รวมถึงรถเชฟโรเลต อาปาเช รุ่นปี 1958 และเครื่องบิน Bird Dog เครื่องบินหาข่าวในตอนสงครามเวียดนามของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา

“เครื่องบินลำนี้ถือเป็นของเก่าที่มีราคาแพงที่สุดที่เราซื้อมา ตัวเลขของมันอยู่ที่ 500,000 บาท เราไม่ได้ซื้อด้วยเงินสดแต่เอาของเก่าที่เราสะสมอยู่หลายชิ้นตีมูลค่าจนเท่ากับราคาเครื่องบิน แล้วไปแลกมา ไม่เหมือนกับรถเชฟโรเลต อาปาเช ที่เราจ่ายเงินสด แต่ราคาอยู่ที่ 400,000 บาท ปัจจุบันก็ยังใช้ได้ดีขับไปไหนมาไหนได้สบาย”

ปัจจุบันในวัยใกล้เกษียณอายุราชการ สมชายมีของเก่าที่สะสมอยู่ในมือพร้อมซื้อ-ขายอยู่ที่ประมาณ 50 ชิ้น มีทั้งหัวน้ำประปา ลวดหนาม หีบเหล็ก ตู้เสื้อผ้า ตะเกียง มีด เหล็กฉาก ไปจนถึงซากรถเก่า ฯลฯ รวมแล้วมูลค่านับล้านบาท

จากความรักความชอบ แปรเปลี่ยนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้ไม่น้อย สมชายบอกว่าสำหรับเขาทุกอย่างเริ่มต้นจากความรัก เมื่อมีความรักก็จะนำมาสู่การเรียนรู้ เรียนรู้มากเข้าก็จะเกิดความชำนาญและประสบการณ์

ความชำนาญและประสบการณ์คือสิ่งที่นำมาซึ่งรายได้ในที่สุด

ประสบการณ์และความชำนาญ

นับจากวันแรกจนถึงวันนี้สมชายยืนอยู่บนเส้นทางนักสะสมของเก่ามาแล้วร่วม 40 ปี

ชายวัย 59 ยอมรับว่าในช่วงแรก เขาเองก็ยังมีประสบการณ์น้อยทำให้ดูของเก่าไม่ขาด และมักจะถูกย้อมแมวขายอยู่เป็นประจำ ต่อเมื่อวันเวลาผ่านไปสั่งสมชั่วโมงบินและประสบการณ์จึงมีความรู้และสายตาที่เฉียบแหลมมากขึ้น

“แรก ๆ เราดูของยังไม่เก่งก็มีโดนหลอกอยู่หลายครั้ง เคยโดนหลอกขายตะเกียงไขลาน แต่พอเอากลับมาบ้านแล้วไขไม่ได้ หรือนาฬิกาข้อมือที่สุดท้ายกลายเป็นของปลอม พอโดนหลอกยอมรับว่าก็โมโหเหมือนกัน แต่เวลาผ่านไปก็ทำใจได้ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราก็เอาข้อผิดพลาดนั้น มาเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองจนชำนาญ พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราก็ไม่โดนหลอกอีก ทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง แล้วก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ”

สมชายบอกว่าทุกวันนี้หากไปเสาะหาหรือได้พบเจอของเก่า เขาจะจับตาดูและให้ความสำคัญ อยู่ 3 สิ่งด้วยกัน สิ่งแรกคือวัสดุและพื้นผิวโลหะ สิ่งที่สองคือรายละเอียดต่าง ๆ เช่น หมุด ตะเข็บ รอยต่อ ฯลฯ สิ่งสุดท้ายคือตัวหนังสือและรหัสโค้ดลับต่าง ๆ แน่นอนว่าทุกข้อที่กล่าวมาล้วนต้องมีความรู้และประสบการณ์เป็นสำคัญ ซึ่งทุกอย่างย่อมไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว

“ยุคนี้เขาไม่นิยมใช้วัสดุที่ทำจากทองเหลืองกันแล้ว แต่ถ้าเป็นของสมัยก่อนยกตัวอย่างเช่น ตะเกียงเจ้าพายุจะเป็นทองเหลืองเกือบทั้งหมด นอกจากวัสดุที่ทำแล้วเรายังดูพื้นผิวของโลหะด้วย ดูว่ามันเป็นสนิมไหม สีของสนิมจะบอกที่มา สนิมในของเก่าที่มาจากไทย สีจะออกเข้มหนา ส่วนของที่มาจากอเมริกาสนิมจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ถ้าเป็นโต๊ะหรือเก้าอี้สีแทบจะกลืนกันเลย เมื่อเช็ดออกมาสนิมจะหลุดออกแต่สีจะยังอยู่ ขณะที่ถ้าเป็นของไทยหรือจีนเมื่อเช็ดแล้วจะหลุดออกมาทั้งสีและสนิม จนเห็นเนื้อเหล็กเลย

“อย่างที่สองที่เราดูคือรายละเอียด เช่น หมุด ตะเข็บ รอยต่อ ลูกปืน ฯลฯ อย่างลิ้นชักเก่าถ้าเป็นของอเมริกาเขามักจะทำขอบด้วยอะลูมิเนียม แล้วรางลิ้นชักลูกปืนจะทำด้วยเหล็ก แต่ถ้าเป็นของจีนจะทำด้วยพลาสติก

“อย่างสุดท้ายก็คือตัวหนังสือที่บอกว่าเป็นของประเทศอะไร อย่างลิ้นชักที่ได้มาของกองทัพอากาศอเมริกา เมื่อเปิดดูภายในลิ้นชักจะเห็นตัวหนังสือ US Air Force ซ่อนอยู่ แต่ถ้าเป็นของธรรมดาทั่วไปจะไม่มี หรืออย่างมากก็จะบอกแค่ว่า made in มาจากประเทศไหน คือต้องชี้แจงก่อนว่าเราจะเน้นของเก่าที่มาจากอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากตลาดเขานิยมกันมาก ดังนั้นเวลาที่ไปหาของเก่า เราก็จะสแกนหาของอเมริกาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเราจะมีของมาจากที่นี่มากที่สุด”

ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในวงการมานาน ชายวัยใกล้เลขหกยืนยันว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนของเก่าเป็นหลักขณะเดียวกันก็มีกิจการร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันอันแสนคลาสสิกเป็นรายได้เสริม เช่นเดียวกับการทำสวนผลไม้ไปด้วย

คงเป็นชีวิตในวัยเกษียณที่เต็มไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง

สิ่งที่ชอบคือสิ่งที่ใช่

“หลังเกษียณในปีหน้าเราก็วางแผนไว้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับของเก่า ร้านกาแฟที่เปิดเอาไว้ แล้วก็สวนผลไม้ ซึ่งที่หลังร้านกาแฟของเราจะมีสวนผลไม้อยู่ประมาณ 5-6 ไร่ นอกจากนั้นเรายังทำที่พักเอาไว้หลังหนึ่งใกล้กับลำธาร เผื่อเพื่อนฝูงหรือใครอยากจะมาพักมากางเต็นท์นอนก็มาได้เลย เรายินดีต้อนรับ” ชายวัยใกล้แซยิดกล่าวถึงแผนชีวิตคร่าว ๆ ในอีก 1 ปีข้างหน้า

สมชายคาดการณ์ว่าชีวิตหลังเกษียณอายุของเขาน่าจะมีความสุขแน่ ๆ เนื่องจากได้อยู่กับสิ่งที่รัก ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เลือก ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ใช่

สำหรับสมชายเขาบอกว่าตนเองไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษ นอกไปจากการค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วก็แค่ลงไปใช้ชีวิตอยู่กับมัน

“เราว่าคนเราจะมีความสุขได้ มันต้องอยู่กับสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ใช่และเป็นตัวเรา ถ้าจะถามถึงวิธีการเราว่ามันไม่มีอะไรซับซ้อนเลยนะ ก็แค่ค้นหาตัวเอง คุยกับตัวเองให้ชัดเจนว่าเราชอบอะไร เมื่อเจอแล้วก็ไปอยู่กับมัน ไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่าแบบเราหรอก เป็นอะไรก็ได้ ถ้าคุณชอบและรักมันจริง ๆ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคยังไง

“คุณจะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต” 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ