คุยกับ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ เปลี่ยนชีวิตด้วยความรู้ทางการเงิน เติบโตจากครอบครัวล้มละลาย สู่มนุษย์เงินเดือนที่มีความมั่นคงทางการเงิน

‘มีเงินพอใช้ไปจนแก่เฒ่า’ น่าจะเป็นความต้องการหรือความใฝ่ฝันของหลายๆ คน ไม่ว่าคนๆ นั้นกำลังอยู่ในวัยไหนก็ตาม แต่การจะไปถึงจุดนั้น เราต้องทำอะไรบ้าง เราจะไปถึงชีวิตบั้นปลายที่มีอิสรภาพทางการเงินได้อย่างไร มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ นักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน วัย 49 ปี ถึงความรู้ทางการเงิน ‘วิชาชีวิต’ ที่คุณไม่ควรมองข้าม

“การมีความรู้ด้านการเงิน มันเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ เราเองเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ล้มละลาย ไม่มีมรดกหรือเงินถุงเงินถังอะไร โตขึ้นก็มาเป็นมนุษย์เงินเดือนที่รายได้ไม่ได้สูงนัก แต่เพราะเราศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน เลยทำให้จากนี้ไปอีก 40 ปีข้างหน้า เราจะมีเงินไว้ใช้สบายๆ แบบไม่ต้องดิ้นรนทำงานหนักเลย”

‘ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต’ บันไดสำคัญที่ทำให้มีวันนี้

“เราเกิดมา จากครอบครัวครัวคนจีน ที่ พ่อแม่ทำธุรกิจส่งเรา 3 พี่น้อง เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนใจกลางซอยอารีย์ ตอนนั้นชีวิตเราอยู่ดีกินดีทุกอย่าง ภาพจำคือเวลาไหว้เจ้าทีจะมีหัวหมู และไก่ต้มมาวางเรียงกันที 20-30 ตัว จนกระทั่งเรากำลังจะจบ ป.3 อยู่ๆ พ่อกับแม่ก็มาบอกว่าพวกเราจะย้ายบ้านและโรงเรียนไปอยู่ต่างจังหวัดกันนะ หลังจากนั้นชีวิตเราก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที

“ชีวิต ป.4 จากโรงเรียนเอกชนกลายเป็นโรงเรียนวัดในต่างจังหวัด เราต้องไปอาศัยอยู่บ้านญาติที่รู้จัก และภาพที่เราเห็นคือพ่อกับแม่ทำงานหนักมากๆ เช้ายันค่ำแบบไม่หยุดพักสักวัน เรามารู้เมื่อโตว่าตอนนั้นที่บ้านเราล้มละลาย พ่อแม่ต้องขายของทั้งหมดที่มี แต่ถึงอย่างนั้นพ่อกับแม่ก็ไม่ได้กดดันให้เราต้องออกไปทำงานเพื่อช่วยที่บ้านนะ เขาเพียงแต่ย้ำกับเราว่า ‘หน้าที่ของเราคือตั้งใจเรียนหนังสือให้มากๆ และเงินที่พ่อแม่ให้ อย่าลืมใช้อย่างประหยัด เหลือให้ไปหยอดกระปุก’

“คำพูดนั้นมันฝังอยู่ในหัวเรามาตลอด เราคิดเสมอว่าเงินนี้หามาได้อย่างลำบาก ถ้าที่ไหนมีทุนเรียนฟรี เราจะพุ่งเข้าใส่ตลอดเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว พอโตขึ้นมาแล้วมองย้อนกลับไป เรารู้เลยว่าถ้าชีวิตของบ้านเราไม่ประสบปัญหาแบบนั้น เราก็คงไม่ได้เป็นคนรู้จักใช้เงิน หรือเห็นคุณค่าของเงินแบบนี้”

จุดเปลี่ยนชีวิต

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิดเรื่องการวางแผนทางการเงิน ทั้งๆ ที่เรียนบัญชี คนอาจจะคิดว่าพวกที่เรียนบัญชีน่าสามารถจัดการเงินของตัวเองได้ดี แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เรียนมา เราโฟกัสแค่ว่าเดี๋ยวเรียนจบฉันจะไปทำบัญชีให้กับบริษัทใหญ่ๆ เราไม่ได้รู้สึกเลยว่าจะต้องเอาความรู้นั้นมาใช้กับตัวเอง

“จุดที่ทำให้เราเริ่มคิดเรื่องการวางแผนทางการเงินคือ ตอนที่เราได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอเมริกา ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุ 22 ปี ได้เรียนวิชาการเงินกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งสอนสนุกมาก อาจารย์ท่านนี้เปิดสอนวิชา ‘การวางแผนการเงินส่วนบุคคล’ โอ้โห้ ใครจะไปคิดว่าการเข้าเรียนคาบแรกของวิชานั้นสามารถเปลี่ยนชีวิตเรามาถึงทุกวันนี้

“คาบนั้นอาจารย์ตั้งคำถามว่า เคยคิดไหมว่า เราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไร แล้วหลังจากที่ไม่ได้ทำงานแล้วจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน และต้องใช้เงินเท่าไรในอีกกว่า 20 ปี ที่คุณไม่ได้ทำงาน หรือทำงานไม่ไหวแล้ว

“เราเขียนลงกระดาษ ถ้าเรากลับมาทำงานใช้ทุนที่มหาวิทยาลัย จะได้เงินเดือนอยู่ที่ 7,600 บาท หักลบค่าใช้จ่ายอย่างประหยัด และเกษียณตอนอายุ 55 ปี แม่เจ้า ! เราจะอยู่ได้แค่ 4 ปี เท่านั้น เงินเราจะหมดตอนอายุ 59 ปี แล้วเราต้องตายตอนอายุ 60 ปีเหรอ อาจารย์ถามต่อว่าแล้วถ้าไม่ตายจะทำอย่างไร ภาพพ่อกับแม่ที่ทำงานเหนื่อยมากๆ ในช่วงวัยเกษียณของเขาก็ลอยมา เราคิดทันทีว่าเราต้องไม่เป็นอย่างนั้น เราจึงเริ่มวางแผนการเงินของตัวเองทันทีตั้งแต่วินาทีนั้น”

เรื่องเงินเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก (เกินไป)

“หลังจากเรียนจบถึงแม้เงินเดือนเราจะน้อยมาก เก็บได้แค่หลักร้อย แต่เราบอกกับตัวเองเสมอว่าเราจะทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้ไม่ได้

“ความโชคดีของยุคสมัยนั้นที่เราเพิ่งเรียนจบคือ ดอกเบี้ยเงินฝากสูง สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการฝากประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะดอกเบี้ยสูงมาก ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ เก็บเงินซื้อทอง เรายึดหลักไว้เลยว่า ‘ ทำอะไรได้ ต้องทำเลย ’ แม้มันจะเป็นจุดเล็กๆ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้น

“ต่อมาเราเริ่มคิดว่าถ้าหลังจากอายุ 55 ปี แล้วเราต้องอยู่ต่อไปอีก 30 ปี เงินเท่านี้อาจจะไม่มั่นคงพอ คำถามคือแล้วจะทำอย่างไร เพราะเราเป็นแค่มนุษย์เงินเดือน บ้านก็ต้องซื้อ รถก็ต้องผ่อน ง่ายๆ เลยคือเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเงินทั้งหมดว่ามีอะไรที่พอจะช่วยเราได้บ้าง

“ความรู้ทางการเงินเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สามารถเอามาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน คุณจะสามารถลดรายจ่ายของตัวเองได้เป็นแสนๆ เพียงแค่คุณรู้เรื่องเหล่านี้ติดตัวไว้ สำหรับเรามันคุ้มมากจริงๆ

“อย่างตอนที่เราซื้อบ้านของตัวเองหลังแรก แค่มีความรู้ทางการเงินก็ช่วยให้เราปิดหนี้เร็วขึ้นถึง 9 ปี ลดดอกเบี้ยได้ 700,000 บาท สามารถซื้อรถได้คันหนึ่งเลย แค่พียงเรารู้ว่าตอนเราส่งค่าบ้าน ถ้าเราส่งมากกว่าเดิมนิดเดียวแค่ 500-2,000 เท่าที่เราจ่ายไหว เราจะสามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น รวมถึงลดค่าดอกเบี้ยได้อีกมาก หรือการรีไฟแนนซ์ก็ทำให้เราได้เงินกลับมาเป็นหลักแสน ซึ่งมันประหยัดเงินเราไปได้เยอะมาก”

วางแผนวันนี้ เพื่อ ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ในวันหน้า

“ในการวางแผนด้านการเงินต้องมี 3 ขั้นตอน คือ หนึ่ง สร้างสมดุลทางการเงิน สร้างสมดุลทางการเงิน รายรับ-รายจ่าย สมดุลสินทรัพย์-หนี้สิน รู้จักสถานการณ์การเงินของตนเองเสมอ เราสามารถผ่อนทุกอย่างได้ แต่ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ และเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายได้ จำเป็นต้องมี

“สอง สร้างความมั่นคง สำหรับเราคือการเก็บเงิน วางแผนเรื่องประกันชีวิต และการลงทุนในกองทุนรวม พอเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น เราก็เริ่มศึกษาเรื่องประกัน เราวางแผนไว้เลยว่า ตอนอายุ 60 ปี จะมีเงินประกันก้อนแรกออกมา เป็นเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณที่ทำให้เราอุ่นใจ ตอนอายุ 72 ปี เราจะมีเงินประกันก้อนที่สองออกมา เราก็สามารถใช้เงินก้อนนี้ต่อจากก้อนแรก และเมื่ออายุ 80 เงินประกันก้อนสุดท้ายจะครบกำหนด ก้อนนี้จะเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งเพียงพอสำหรับดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิตแน่นอน

“และสาม สร้างความมั่งคั่ง เราจึงต่อยอดเงินเย็นด้วยการลงทุนในหุ้นแบบที่ตัวเองไม่เดือดร้อน เป็นเงินที่เราพร้อมจะเสียและพร้อมเสี่ยง แต่อย่าคาดหวังกับมันมากเกินไปจนมาทำร้ายเราเด็ดขาด

“การออมเงินด้วยการฝากประจำเป็นความมั่นคงแต่ผลตอบแทนต่ำมาก นอกจากการออมเงินแล้ว การสร้างความมั่งคั่งก็คือการลงทุน เรารู้ตัวว่าเราไม่ได้มีเงินลงทุนมาก ดังนั้นเราเลยหาการลงทุนที่เหมาะกับเรา เราเจอสิ่งที่เรียกว่า DCA กองทุนรวม คือการหักเงินเดือนทุกๆ เดือนไปลงทุนในกองทุนรวม 1,000 บาท ซึ่งผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และช่วยสร้างวินัยในการออมและลงทุน เพราะเราต้องลงทุนต่อเนื่องสม่ำเสมอ เผลอพักเดียวเงินเก็บก้อนนั้นก็กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ ของเราแล้ว

“บางคนบอกว่า ลำบากวันนี้ วันไหนกว่าจะได้สุขสบาย มีเงินก็รีบใช้ เดี๋ยวตายไปไม่ได้ใช้ เราลองมาเปลี่ยนความคิดว่า เราจะวางแผนการเงินให้ตัวเองสบายวันนี้ และสบายไปถึงวันหน้าด้วย ถ้าเราวางระบบให้ดี มันจะทำงานอัตโนมัติไปเรื่อยๆ”

อย่ากดดันตัวเอง แต่ต้องเริ่มทำทันที

“เราภูมิใจกับตัวเองเสมอว่าเราโชคดีมากนะ ที่เมื่อรู้เรื่องนี้ ตอนอายุ 22 ปี แล้วลงมือทำมันทันที ทำให้เราในวัย 49 ปี เป็นชีวิตที่โปร่งโล่งสบายมาก เราก็เดินหน้าทำงานของเราไป เมื่อไรที่เราล้ม แน่นอนว่าจะมีอะไรบางอย่างมารองรับเรา ไม่ให้เราเจ็บหนักแน่นอน

“สิ่งที่เราค้นพบคือมันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย มันผ่านไปทีละเดือนทีละปี จนเป้าหมายที่เราตั้งไว้เริ่มเห็นเป็นความจริงขึ้นมา แค่คิดว่าวัยเกษียณเราจะใช้ชีวิตได้สงบและอยู่โดยพึ่งพาตัวเองได้ เราก็มีความสุขแล้ว หลายคนทุกข์เพราะเรื่องเงิน เราเรียนรู้จากอดีตว่าครอบครัววันนั้นมันทุกข์ขนาดไหน พ่อแม่ดิ้นรนขนาดไหน จึงไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้มันมาสร้างความไม่สบายใจให้กับเรา ในทางกลับกันเราต้องอุ่นใจกับมันต่างหากถึงจะถูกต้อง

“สำหรับผู้ที่เริ่มต้น อย่าเพิ่งกดดันตัวเองมากนัก ขั้นตอนการรู้จักตัวเอง การสร้างสมดุลการเงินตัวเองให้ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่อย่ารอเวลา เตือนตัวเองเสมอว่าถ้าเป็นเรื่องการเงินต้องทำทันที และต้องศึกษาให้ดีอย่างถี่ถ้วน และถูกต้องด้วย ชีวิตเราก็จะเบาสบายอย่างที่เราต้องการได้จริงๆ”

“สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากไหน ไม่แน่ใจว่าข้อมูลใดบ้างที่เชื่อถือได้ เว็บไซต์ รู้เรื่องเงิน. com เป็นอีกหนึ่งแหล่งรวบรวมข้อมูลที่อาจารย์เห็นว่ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งกับคนที่กำลังจะเริ่มต้น และคนที่กำลังหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้มีทั้งข้อมูลที่เป็น How to ขั้นตอนการจัดการต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน รวมไปถึงข้อมูลสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับการเงิน มาตรการต่างๆ ที่ออกมาจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือเป็นผลประโยชน์โดยตรงกับเราซึ่งสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์นี้เลย ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงาที่น่าเชื่อถือมาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อาจารย์เองใช้ศึกษาหาความรู้อยู่เป็นประจำ

“การใช้งานเว็บไซต์เองก็ง่าย ไม่ยุ่งยาก และครอบคลุมคนทุกวัย หลากหลายกลุ่มอาชีพ ถ้าลองเข้าไปใช้เวลากับมันสักวันละนิด ไม่มีทางกลับมาตัวเปล่าแน่นอน เพราะความรู้เหล่านี้สามารถนำมาใช้จริงได้เลย”

www.รู้เรื่องเงิน.com

มนุษย์ต่างวัย แนะนำแหล่งข้อมูลดีๆ สำหรับคนทุกเจนเนอเรชันที่อยากเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินให้กับตัวเอง

www . รู้เรื่องเงิน. com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลความรู้ทางการเงิน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรระดับประเทศ 12 หน่วยงาน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานประกันสังคม, ธนาคารออมสิน, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ, และ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

ภายในเว็บไซต์ มีการแบ่งหมวดหมู่ข้อมูลความรู้ทางการเงินให้เราสามารถเลือกใช้งานได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเลือกตามช่วงวัยที่มีการแบ่งเป็นวัยเรียน วัยเริ่มทำงาน วัยผู้ใหญ่ หรือวัยเกษียณ หรือเลือกตามลักษณะอาชีพ เช่น เกษตรกร อาชีพอิสระ หรือข้าราชการ โดยเมื่อกดเข้าไปเราจะพบบทความที่เกี่ยวข้องรวบรวมเอาไว้ให้เลือกอ่านได้อย่างสะดวก ง่ายต่อการค้นหา

ใครที่อยากเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน สามารถเข้าไปหาความรู้ที่ถูกรวบรวมมาไว้ให้อย่างครบถ้วน ทั้งการวางแผนทางการเงิน การออม ภาษี การลงทุน แหล่งเงินทุนในการกู้ยืม ไปจนถึงภัยทางด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ แถมยังมีเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน ทั้งโปรแกรมคำนวณลดหนี้, โปรแกรมคำนวณการออมเพื่อการเกษียณ โปรแกรมคำนวณสำหรับลงทุน ที่จะช่วยให้การจัดการทางการเงินเป็นเรื่องไม่ยากจนเกินไป

วิชาการเงิน = วิชาชีวิต ยิ่งรู้เร็ว เริ่มเร็ว คุณก็จะยิ่งสามารถเข้าถึงอิสรภาพทางการเงินได้มากขึ้น

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ